“30 ธันวาคม–5 มกราคม หน้าคำนำพระคัมภีร์มอรมอน: ‘พยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“30 ธันวาคม–5 มกราคม หน้าคำนำพระคัมภีร์มอรมอน” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
30 ธันวาคม–5 มกราคม
หน้าคำนำพระคัมภีร์มอรมอน
“พยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์”
การศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนของท่านจะมีคุณภาพมากขึ้นถ้าท่านเริ่มโดยอ่านหน้าที่มาก่อน 1 นีไฟ ท่านพบอะไรที่เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
ท่านอ่านยังไม่ถึง 1 นีไฟ บทที่ 1 ก็เห็นชัดแล้วว่าพระคัมภีร์มอรมอนไม่ใช่หนังสือธรรมดา หน้าคำนำพูดถึงเรื่องราวภูมิหลังไม่เหมือนเรื่องใด—รวมไปถึงการเยือนของเหล่าเทพ บันทึกโบราณที่ฝังอยู่ข้างเนินเขานานหลายศตวรรษ และเกษตรกรต่ำต้อยคนหนึ่งที่แปลบันทึกโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า พระคัมภีร์มอรมอนไม่เพียงเป็นประวัติของอารยธรรมอเมริกาสมัยโบราณเท่านั้น แต่บรรจุ “ความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณอันเป็นนิจ” (คำนำพระคัมภีร์มอรมอน) และพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองทรงกำกับดูแลการมาปรากฏของพระคัมภีร์เล่มนี้—วิธีจารึก วิธีเก็บรักษา และวิธีทำให้มีอยู่ในสมัยของเรา ปีนี้ ขณะท่านอ่านพระคัมภีร์มอรมอน จงสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์เล่มนี้ และประยุกต์ใช้คำสอนในนั้น ท่านจะเชื้อเชิญพลังของพระคัมภีร์ดังกล่าวเข้ามาในชีวิตท่าน และท่านจะรู้สึกว่าท่านต้องการพูดเช่นเดียวกับพยานสามคนใน ประจักษ์พยาน ของพวกเขาว่า “อัศจรรย์ในสายตา [ของฉัน]”
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
หน้าชื่อเรื่องของพระคัมภีร์มอรมอน
พระคัมภีร์มอรมอนสามารถเสริมสร้างศรัทธาของฉันในพระเยซูคริสต์
หน้าชื่อเรื่องของพระคัมภีร์มอรมอน ให้มากกว่าชื่อเรื่อง นอกจากนี้ยังได้ระบุจุดประสงค์หลายประการของบันทึกศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วย ลองมองหาจุดประสงค์เหล่านี้ และจากนั้นขณะท่านศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนปีนี้ ให้บันทึกข้อพระคัมภีร์ที่ท่านรู้สึกว่าทำให้บรรลุจุดประสงค์เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ข้อใดช่วยทำให้ท่านมั่นใจ “ว่าพระเยซูคือพระคริสต์, พระผู้เป็นเจ้านิรันดร์”
พระคัมภีร์มอรมอน “วางแนวทางแผนแห่งความรอด”
แผนแห่งความรอดเป็นแผนของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อช่วยให้บุตรธิดาของพระองค์ได้รับความสูงส่งเช่นพระองค์ และประสบปีติที่พระองค์ทรงรู้สึก (ดู 2 นีไฟ 2:25–26) การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ทำให้แผนนี้เป็นไปได้ และทุกหลักคำสอน ศาสนพิธี พันธสัญญา และพระบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมุ่งหมายจะช่วยให้บรรลุแผนดังกล่าว
หากท่านต้องการเข้าใจแผนแห่งความรอด ไม่มีหนังสือเล่มใดให้อ่านดีไปกว่าพระคัมภีร์มอรมอน หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงแผนของพระผู้เป็นเจ้า—โดยใช้คำต่างกัน—มากกว่า 20 ครั้ง ระหว่างการศึกษาของท่านปีนี้ ให้สังเกตเวลามีการกล่าวถึงหรือพาดพิงถึงแผนของพระผู้เป็นเจ้าและสิ่งที่พระคัมภีร์มอรมอนกล่าวเกี่ยวกับแผนนั้น
ต่อไปนี้เป็นกิจกรรมให้ท่านเริ่มต้น อ่านข้อต่อไปนี้ และเขียนชื่อต่างๆ ที่ใช้กล่าวถึงแผนของพระผู้เป็นเจ้า: 2 นีไฟ 9:13; 11:5; และ แอลมา 12:32–34; 24:14; 41:2; 42:15–16 แต่ละชื่อเหล่านี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับแผนของพระบิดา
“ประจักษ์พยานของพยานสามคน”; “ประจักษ์พยานของพยานแปดคน”
ฉันสามารถเป็นพยานของพระคัมภีร์มอรมอน
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อท่านได้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง แม้ท่านไม่เคยเห็นแผ่นจารึกทองคำเหมือนพยานสามคนและพยานแปดคนก็ตาม ประจักษ์พยานของพยานเหล่านั้นเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านอย่างไร ท่านจะ “ให้นาม [ของท่าน] ไว้ต่อโลก, เพื่อเป็นพยานต่อโลก” ถึงสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนได้อย่างไร (“ประจักษ์พยานของพยานแปดคน”)
“ประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ”
การมาปรากฏของพระคัมภีร์มอรมอนเป็นปาฏิหาริย์
ถ้ามีคนถามท่านว่าพระคัมภีร์มอรมอนมาจากไหน ท่านจะตอบว่าอย่างไร ท่านจะอธิบายอย่างไรว่าพระหัตถ์ของพระเจ้าทรงนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา โจเซฟ สมิธพูดถึงการมาปรากฏของพระคัมภีร์มอรมอนว่าอย่างไร
“ประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ”
พระคัมภีร์มอรมอนแปลอย่างไร
พระคัมภีร์มอรมอนแปล “โดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า” เรารู้รายละเอียดไม่มากนักเกี่ยวกับขั้นตอนการแปลที่น่าอัศจรรย์ แต่เรารู้ว่าโจเซฟ สมิธเป็นผู้หยั่งรู้ ได้เครื่องมือช่วยแปลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมไว้ ได้แก่ ศิลาโปร่งใสสองก้อนเรียกว่าอูริมและทูมมิม และศิลาอีกก้อนเรียกว่าศิลาผู้หยั่งรู้ โจเซฟมองเห็นคำแปลภาษาอังกฤษของอักขระบนแผ่นจารึกในศิลาเหล่านี้ และท่านอ่านคำแปลให้ผู้จดบันทึกตาม ผู้จดแต่ละคนของโจเซฟเป็นพยานว่าเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าสำแดงในการแปลงานศักดิ์สิทธิ์นี้
ดู “Book of Mormon Translation” (Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
หน้าชื่อเรื่องของพระคัมภีร์มอรมอน
ครอบครัวท่านอาจจะเริ่มรายชื่อข้อต่างๆ จากพระคัมภีร์มอรมอนที่ได้สร้างศรัทธาของท่าน “ว่าพระเยซูคือพระคริสต์” และเพิ่มรายชื่อตลอดปี นี่อาจเป็นเวลาเหมาะจะวางแผนให้ครอบครัวอ่านพระคัมภีร์มอรมอนเช่นกันว่าท่านจะมารวมกันอ่านเมื่อใดและที่ใด สมาชิกครอบครัวแต่ละคนจะมีส่วนร่วมอย่างไร ดูความช่วยเหลือเพิ่มเติมใน “แนวคิดเพื่อปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวของท่าน” ตอนต้นหนังสือเล่มนี้
คำนำของพระคัมภีร์มอรมอน
ศิลาหลักคือศิลารูปลิ่มที่อยู่ตรงยอดของประตูโค้งเพื่อยึดศิลาก้อนอื่นให้อยู่ด้วยกัน เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็น “ศิลาหลักแห่งศาสนาของเรา” อย่างไร ท่านอาจจะสร้างหรือวาดภาพประตูโค้งที่มีศิลาหลักอยู่ตรงยอด เกิดอะไรขึ้นถ้านำศิลาหลักออกไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่มีพระคัมภีร์มอรมอน เราจะทำให้พระคัมภีร์มอรมอนเป็นศิลาหลักแห่งศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร
“ประจักษ์พยานของพยานสามคน”; “ประจักษ์พยานของพยานแปดคน”
สมาชิกครอบครัวของท่านอาจจะจดประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน เซ็นชื่อบนนั้น และคิดหาวิธีแบ่งปันประจักษ์พยานเหล่านั้นกับผู้อื่น
“ประจักษ์พยานของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ”
ในเรื่องราวของโจเซฟ สมิธ เราพบหลักฐานอะไรที่ยืนยันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีส่วนในการนำพระคัมภีร์มอรมอนออกมา
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย