“6–12 มกราคม 1 นีไฟ 1–7: ‘ข้าพเจ้าจะไปและทำ’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“6–12 มกราคม 1 นีไฟ 1–7” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
6–12 มกราคม
1 นีไฟ 1–7
“ข้าพเจ้าจะไปและทำ”
นีไฟบันทึก “เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า” (1 นีไฟ 6:3) ขณะที่ท่านศึกษาบันทึกของนีไฟ จงเอาใจใส่เรื่องของพระผู้เป็นเจ้าที่ท่านพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความประทับใจจากพระวิญญาณ
บันทึกความประทับใจของท่าน
พระคัมภีร์มอรมอนเริ่มด้วยเรื่องราวของครอบครัวจริงที่กำลังประสบความลำบากจริง เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล แต่มีหลายเรื่องเกี่ยวกับเรื่องราวนี้ที่อาจฟังคล้ายๆ หลายครอบครัวในปัจจุบัน ครอบครัวนี้อาศัยอยู่ในโลกของความชั่วร้ายที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ แต่พระเจ้าทรงสัญญากับพวกเขาว่าถ้าพวกเขาจะติดตามพระองค์ พระองค์จะทรงนำพวกเขาไปสู่ความปลอดภัย ตลอดทางพวกเขามีช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี พวกเขาประสบพรและปาฏิหาริย์มากมาย แต่พวกเขามีการถกเถียงและความขัดแย้งมากพอกัน นานๆ ครั้งในพระคัมภีร์จะมีเรื่องยาวของครอบครัวที่พยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ บิดาที่พยายามจรรโลงศรัทธาในครอบครัวของเขา บุตรชายที่ตัดสินใจว่าพวกเขาจะเชื่อบิดาหรือไม่ มารดาที่วิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยของบุตร พี่น้องที่อิจฉากัน ขัดแย้งกัน—และบางครั้งให้อภัยกัน สรุปคือ มีพลังแท้จริงในการทำตามแบบอย่างศรัทธาที่ครอบครัวนี้แสดงให้เห็น—แม้พวกเขาจะไม่ดีพร้อม
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระคัมภีร์มีค่ามาก
หกบทแรกของพระคัมภีร์มอรมอนมีหลายข้ออ้างถึงหนังสือศักดิ์สิทธิ์ บันทึกศักดิ์สิทธิ์ และพระวจนะของพระเจ้า ขณะที่ท่านอ่าน 1 นีไฟ 1–6 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสาเหตุที่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า “มีค่ามาก” (1 นีไฟ 5:21) ข้อเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระคัมภีร์ ท่านพบอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านตั้งใจค้นคว้าพระคัมภีร์มากขึ้น
ดู “Scriptures Legacy” (วีดิทัศน์, ChurchofJesusChrist.org) ด้วย
พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์
ตามจุดประสงค์ที่กล่าวไว้ในหน้าชื่อเรื่อง—เพื่อให้คนทั้งปวงมั่นใจว่าพระเยซูคือพระคริสต์—พระคัมภีร์มอรมอนเริ่มต้นด้วยนิมิตอันน่าทึ่งที่ลีไฮเห็นพระผู้ช่วยให้รอด ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากสิ่งที่ลีไฮเห็น งาน “สำคัญยิ่งและน่าอัศจรรย์” ของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตท่านมีอะไรบ้าง (1 นีไฟ 1:14)
เมื่อฉันแสวงหาและวางใจพระเจ้า พระองค์ทรงทำให้ใจฉันอ่อนลงได้
ถึงแม้เลมัน เลมิวเอล กับนีไฟโตมาในครอบครัวเดียวกันและมีประสบการณ์คล้ายกัน แต่มีความต่างกันมากทีเดียวระหว่างวิธีที่พวกเขาขานรับพระบัญชาที่บิดาของพวกเขาได้รับในบทนี้ ขณะที่ท่านอ่าน 1 นีไฟ 2 จงดูว่าท่านบอกได้หรือไม่ว่าเหตุใดใจของนีไฟจึงอ่อนลงส่วนใจพี่ๆ ไม่เป็นเช่นนั้น ท่านอาจจะนึกถึงการขานรับพระบัญชาจากพระเจ้าของท่านเอง ไม่ว่าจะผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ ท่านรู้สึกเมื่อใดว่าพระเจ้าทำให้ใจท่านอ่อนลงเพื่อท่านจะยอมรับพระบัญชาและคำแนะนำของพระองค์
พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเตรียมทางให้ฉันทำตามพระประสงค์ของพระองค์
เมื่อพระเจ้าทรงบัญชาให้ลีไฮกับครอบครัวไปนำแผ่นจารึกทองเหลืองมาจากเลบัน พระองค์ไม่ได้ประทานคำแนะนำแน่ชัดว่าจะทำให้พระบัญชานี้สำเร็จได้อย่างไร บ่อยครั้งพระบัญญัติข้ออื่นหรือการเปิดเผยส่วนตัวที่เราได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าก็เป็นเช่นนั้น และนี่อาจทำให้เรารู้สึกเหมือนพระองค์ทรงเรียกร้องให้ทำ “สิ่งยาก” (1 นีไฟ 3:5) อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านเกี่ยวกับการที่นีไฟขานรับพระบัญชาจากพระเจ้าใน 1 นีไฟ 3:7, 15–16 มีสิ่งใดหรือไม่ที่ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ “ไปและทำ”
ขณะที่่ท่านศึกษา 1 นีไฟ 1–7 ให้มองหาวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมทางให้ลีไฮกับครอบครัว พระองค์ทรงทำสิ่งนี้เพื่อท่านอย่างไร
ดู สุภาษิต 3:5–6; 1 นีไฟ 17:3; “Obedience,” Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.org; ชุดวีดิทัศน์พระคัมภีร์มอรมอนบน ChurchofJesusChrist.org หรือแอปพลิเคชันคลังค้นคว้าพระกิตติคุณด้วย
การจดจำงานของพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้ฉันมีศรัทธาที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์
เมื่อเลมันกับเลมิวเอลรู้สึกว่าอยากจะพร่ำบ่น พวกเขามักจะมีนีไฟและลีไฮให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ และเตือนพวกเขา เมื่อท่านรู้สึกว่าอยากจะพร่ำบ่น การอ่านถ้อยคำของนีไฟกับลีไฮจะให้คำแนะนำและมุมมองที่มีค่า นีไฟกับลีไฮพยายามช่วยสมาชิกครอบครัวสร้างศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร (ดู 1 นีไฟ 4:1–3; 5:1–8; 7:6–21) ท่านเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของพวกเขาที่จะช่วยท่านครั้งต่อไปเมื่อท่านถูกล่อลวงให้พร่ำบ่นหรือต่อต้าน
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
1 นีไฟ 1–7
ตลอด 1 นีไฟ 1–7 ท่านอาจจะกระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวสังเกตปฏิกิริยาระหว่างสมาชิกในครอบครัวของลีไฮกับซาไรยาห์ เราสามารถเรียนรู้อะไรจากความสัมพันธ์เหล่านี้ที่สามารถช่วยครอบครัวเราได้
1 นีไฟ 2:20
หลักธรรมใน 1 นีไฟ 2:20 กล่าวย้ำบ่อยครั้งทั่วพระคัมภีร์มอรมอน สมาชิกครอบครัวท่านจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้กับชีวิตพวกเขาได้อย่างไรขณะศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนด้วยกันปีนี้ ท่านอาจจะทำโปสเตอร์คำสัญญาของพระเจ้าในข้อนี้ด้วยกันและติดไว้ในบ้าน อาจจะใช้โปสเตอร์เป็นเครื่องเตือนใจให้สนทนาเป็นระยะๆ ว่าท่านเคยเห็นพระเจ้าทรงทำให้ครอบครัวท่านรุ่งเรืองอย่างไรเมื่อท่านรักษาพระบัญญัติของพระองค์ ท่านอาจจะบันทึกประสบการณ์เหล่านี้ไว้บนโปสเตอร์
1 นีไฟ 2:11–13; 3:5–7
ครอบครัวท่านอาจจะได้ประโยชน์จากการบันทึกความแตกต่างระหว่างการขานรับพระบัญชาจากพระเจ้าของเลมันและเลมิวเอลกับการขานรับพระบัญชาจากพระเจ้าของนีไฟ เราสามารถเรียนรู้อะไรจาก 1 นีไฟ 2:11–13; 3:5–7 เกี่ยวกับการพร่ำบ่น พรใดเกิดขึ้นเมื่อเราใช้ศรัทธา
1 นีไฟ 3:19–20; 5:10–22; 6
ข้อเหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ครอบครัวท่านจดบันทึกเหตุการณ์และประสบการณ์สำคัญๆ จากชีวิตท่าน ท่านอาจจะเริ่มทำบันทึกครอบครัว คล้ายกับบันทึกที่นีไฟและลีไฮทำเกี่ยวกับประสบการณ์ครอบครัวของพวกเขา ท่านจะรวมอะไรไว้ในบันทึกครอบครัวท่านได้บ้าง
1 นีไฟ 7:19–21
เราประทับใจอะไรเกี่ยวกับแบบอย่างของนีไฟในข้อเหล่านี้ ครอบครัวเราได้รับพรอย่างไรเมื่อเรา “ให้อภัย [กัน] อย่างหมดใจ”
สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย