“20–26 มกราคม 1 นีไฟ 11–15: ‘มีอาวุธคือความชอบธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“20–26 มกราคม 1 นีไฟ 11–15” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
20–26 มกราคม
1 นีไฟ 11–15
“มีอาวุธคือความชอบธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า”
ท่านมองเห็นตัวท่านใน 1 นีไฟ 11–15 หรือไม่ ข้อใดมีค่าต่อท่านและครอบครัวมากที่สุด
บันทึกความประทับใจของท่าน
เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานสำคัญยิ่งให้ศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ทำ บ่อยครั้งพระองค์จะประทานนิมิตครั้งใหญ่ให้ศาสดาพยากรณ์ท่านนั้นเพื่อช่วยให้เขาเข้าใจจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ โมเสสเห็นนิมิตของ “แผ่นดินโลกนี้, และผู้อยู่อาศัยในนั้น, และฟ้าสวรรค์ด้วย” (โมเสส 1:36) อัครสาวกยอห์นเห็นประวัติศาสตร์ของโลกและการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด (ดูหนังสือวิวรณ์) โจเซฟ สมิธเห็นพระบิดาและพระบุตร (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17–18) ลีไฮเห็นนิมิตซึ่งแสดงให้เห็นการเดินทางที่เราต้องไปถึงพระผู้ช่วยให้รอดและความรักของพระองค์
ดังที่บันทึกไว้ใน 1 นีไฟ 11–14 นีไฟเห็นการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด อนาคตลูกหลานของลีไฮในแผ่นดินที่สัญญาไว้ และจุดหมายปลายทางแห่งงานของพระผู้เป็นเจ้าในยุคสุดท้าย นิมิตนี้ช่วยเตรียมให้นีไฟพร้อมทำงานที่อยู่ตรงหน้าเขา อีกทั้งช่วยเตรียมท่านด้วย—เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานให้ท่านทำในอาณาจักรของพระองค์ ท่านอยู่ในหมู่ “วิสุทธิชนของศาสนจักรของพระเมษโปดก” ที่นีไฟเห็น “ซึ่งกระจัดกระจายอยู่บนทั่วพื้นพิภพ; และ พวกเขามีอาวุธคือความชอบธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในรัศมีภาพอันยิ่งใหญ่” (1 นีไฟ 14:14)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระเยซูคริสต์มาเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระองค์
เพื่อช่วยให้นีไฟเข้าใจความหมายของต้นไม้ที่บิดาของเขาเห็น เทพองค์หนึ่งจึงแสดงให้เขาเห็น “พระบุตรของพระบิดานิรันดร์” (1 นีไฟ 11:21) นีไฟจึงสรุปได้ว่าต้นไม้เป็นสิ่งแทนความรักของพระผู้เป็นเจ้า แต่นิมิตยังไม่สิ้นสุด ขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรอง 1 นีไฟ 11 ท่านพบอะไรที่ช่วยให้ท่านเข้าใจสาเหตุที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเครื่องหมายสูงสุดแห่งความรักของพระผู้เป็นเจ้า
เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสัญลักษณ์อื่นในความฝันของลีไฮ ให้ดู 1 นีไฟ 11:35–36; 12:16–18; และ 15:21–30
ดู ยอห์น 3:16ด้วย
พระเจ้าทรงเตรียมทางสำหรับการฟื้นฟู
นีไฟไม่ได้มีชีวิตอยู่จนเห็นส่วนใหญ่ของสิ่งที่เขาเห็นในนิมิต ท่านคิดว่าเหตุใดการรู้เรื่องเหล่านี้จึงมีค่าต่อนีไฟ เหตุใดการรู้เรื่องเหล่านี้จึงมีค่าต่อ ท่าน ท่านอาจจะถามคำถามนี้ทุกครั้งที่ท่านอ่านบางสิ่งที่นีไฟเห็นในนิมิตของเขา
ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่นีไฟเห็น: อนาคตของผู้คนของเขา (ดู บทที่ 12) การตั้งอาณานิคมของอเมริกาและการปฏิวัติอเมริกา (ดู บทที่ 13:12–19) การละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ (ดู บทที่ 13:20–29) และการฟื้นฟูพระกิตติคุณ (ดู บทที่ 13:32–42)
“ศาสนจักรอันเรืองอำนาจและน่าชิงชัง” ที่นีไฟเห็นคืออะไร
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์อธิบายว่า “ศาสนจักรอันเรืองอำนาจและน่าชิงชัง” ที่นีไฟพูดถึงคือ “ปรัชญาหรือองค์กรใดก็ตามที่คัดค้านความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า และ ‘การเป็นเชลย’ ซึ่ง ‘ศาสนจักร’ นี้หมายมั่นนำวิสุทธิชนไปจะไม่ใช่การกักขังทางกายมากเท่ากับการเป็นเชลยของความคิดผิดๆ” (“ยืนเป็นพยานของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, มี.ค. 2015, 20)
ใครคือชายที่นีไฟเห็นผู้ซึ่งพระวิญญาณ “กระทำ” ต่อเขาให้ออก “เดินทางไปบนผืนน้ำกว้างใหญ่”
นีไฟเห็นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงดลใจคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสให้ทำการเดินทางอันเลื่องลือนี้ไปอเมริกา วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1493 โคลัมบัสเขียนเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ว่า “งานใหญ่และน่าอัศจรรย์เหล่านี้ไม่ได้ถือเป็นความดีความชอบของข้าพเจ้าแต่ประการใด … เพราะสติปัญญาที่ไร้ความช่วยเหลือของมนุษย์ไม่อาจเข้าใจเรื่องเช่นนั้นได้ พระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าทรงมีให้ความทุ่มเทของมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของผู้รับใช้ที่ชอบแนวคิดของพระองค์จนถึงขั้นลงมือทำสิ่งที่เห็นชัดว่าไม่อยู่ในวิสัยจะทำได้” (The Annals of America [Encyclopedia Britannica, Inc., 1976], 1:5)
พระคัมภีร์ยุคสุดท้ายฟื้นฟู “สิ่งที่แจ้งชัดและมีค่า”
นีไฟเห็นในนิมิตว่าพระคัมภีร์ไบเบิล—ซึ่งท่านเรียกว่าเป็น “บันทึกของชาวยิว”—จะมี “หลายสิ่งที่แจ้งชัดและมีค่าถูกนำออกไปจาก [หนังสือเล่มนี้]” (1 นีไฟ 13:23, 28) อย่างไรก็ดี ท่านเห็นเช่นกันว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ผ่าน “หนังสือเล่มอื่น”—พระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ยุคสุดท้ายเล่มอื่น (ดู 1 นีไฟ 13:39–40) พระคัมภีร์มอรมอนช่วยให้เราเข้าใจความจริงที่มีค่าอะไรบ้าง ชีวิตท่านต่างไปอย่างไรเพราะสิ่งที่แจ้งชัดและมีค่าเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟู
ดู “ความจริงที่แจ้งชัดและมีค่า,” เลียโฮนา, มี.ค. 2008, 68–73; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระคัมภีร์มอรมอน: ชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพระคัมภีร์เล่มนี้” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 60–63 ด้วย
พระเจ้าจะทรงตอบฉันถ้าฉันทูลถามด้วยศรัทธาพร้อมด้วยใจที่อ่อนโยน
ท่านเคยรู้สึกเหมือนท่านไม่ได้รับการเปิดเผยส่วนตัว—ว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ตรัสกับท่านหรือไม่ นีไฟให้คำแนะนำอะไรพี่ๆ เมื่อพวกเขารู้สึกแบบนี้ ท่านจะประยุกต์ใช้คำแนะนำของนีไฟในชีวิตท่านได้อย่างไร และท่านจะใช้คำแนะนำนี้ช่วยคนอื่นๆ ได้อย่างไร
ดู เจคอบ 4:8; แอลมา 5:46; 26:21–22
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
1 นีไฟ 11–14
ขณะครอบครัวท่านอ่านบทเหล่านี้ ท่านอาจจะหยุดเป็นช่วงๆ และถามคำถามทำนองนี้: นีไฟเห็นอะไรในนิมิตที่ทำให้เขามีความสุข อะไรทำให้เขาเสียใจ เพราะเหตุใด
1 นีไฟ 13:20–42
เพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจคุณค่าของความจริงที่ “แจ้งชัดและมีค่า” ในพระคัมภีร์มอรมอน ให้เปรียบเทียบข้อความที่เขียนชัดเจนกับข้อความที่เขียนหวัดๆ เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์จึงทรงต้องการให้สอนความจริงของพระองค์อย่างชัดเจน สมาชิกครอบครัวอาจจะแสดงประจักษ์พยานถึงความจริงที่ “แจ้งชัดและมีค่า” บางอย่างที่พวกเขาได้เรียนรู้จากพระคัมภีร์มอรมอน
1 นีไฟ 14:12–15
เหตุใดเราจึง “มีอาวุธคือความชอบธรรมและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า” เมื่อเราดำเนินชีวิตซื่อตรงต่อพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า
1 นีไฟ 15:8–11
ครอบครัวท่านจะแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างเมื่อพวกเขา “ทูลถามพระเจ้า” เราเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของนีไฟ
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย