“4–10 พฤษภาคม โมไซยาห์ 11–17: ‘แสงสว่าง … ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“4–10 พฤษภาคม โมไซยาห์ 11–17” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
4–10 พฤษภาคม
โมไซยาห์ 11–17
“แสงสว่าง … ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย”
ถ้อยคำของอบินาไดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งอย่างน้อยก็ในสมาชิกคนหนึ่งแห่งราชสำนักของกษัตริย์โนอาห์ (ดู โมไซยาห์ 17:2–4) อ่าน โมไซยาห์ 11–17 พร้อมกับสวดอ้อนวอนในใจขอให้ท่านได้รับการกระตุ้นเตือนว่าท่านจะเปลี่ยนได้อย่างไร
บันทึกความประทับใจของท่าน
ไฟกองโตเกิดจากประกายไฟลูกเดียว อบินาไดเป็นคนเดียวที่เป็นพยานยืนยันความผิดของกษัตริย์ผู้เรืองอำนาจกับคนในราชสำนัก ถ้อยคำของเขาถูกคนส่วนใหญ่ปฏิเสธ และเขาถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ประจักษ์พยานของเขาในพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น “แสงสว่าง … ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย” (โมไซยาห์ 16:9) จุดประกายบางอย่างในตัวแอลมาปุโรหิตหนุ่ม และประกายไฟของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสค่อยๆ ขยายวงกว้างขณะแอลมานำคนอื่นๆ มาสู่การกลับใจและศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เปลวเพลิงที่ฆ่าอบินาไดมอดดับในที่สุด แต่ไฟแห่งศรัทธาที่ถ้อยคำของเขาก่อไว้จะมีอิทธิพลยั่งยืนต่อชาวนีไฟ—และต่อคนที่อ่านถ้อยคำของเขาวันนี้ พวกเราส่วนใหญ่จะไม่เผชิญกับสิ่งที่อบินาไดเผชิญมาแล้วเพราะประจักษ์พยานของเรา แต่เราทุกคนมีชั่วขณะที่การติดตามพระเยซูคริสต์เป็นการทดสอบความกล้าหาญและศรัทธาของเรา การศึกษาประจักษ์พยานของอบินาไดอาจจะพัดโหมเปลวเพลิงแห่งประจักษ์พยานและความกล้าในใจเราเช่นกัน
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันสามารถยึดมั่นความจริง แม้เมื่อฉันยืนเดียวดาย
ลองนึกดูว่าน่าท้อใจเพียงใดเมื่ออบินาไดป่าวร้องการกลับใจต่อคนที่ดูเหมือนไม่สนใจจะเปลี่ยนทางชั่วของตนแต่อย่างใด ข่าวสารของเขาถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่อบินาไดไม่ยอมแพ้
ท่านเคยรู้สึกเหมือนยืนเดียวดายในการปกป้องความจริงเมื่อใด ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 11–13 และ 17 ท่านเรียนรู้อะไรที่จะช่วยให้ท่านพร้อมเมื่อพระเจ้าทรงต้องการให้ท่านปกป้องพระกิตติคุณของพระองค์ ท่านเรียนรู้หลักธรรมอะไรอีกบ้างจากแบบอย่างของอบินาได
ฉันต้องปรับใจให้เข้าใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
บรรดาปุโรหิตของกษัตริย์โนอาห์คุ้นเคยกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า—พวกเขาสามารถอ้างข้อพระคัมภีร์และมีสิทธิ์สอนพระบัญญัติ แต่พระบัญญัติเหล่านั้น “ไม่มีเขียนอยู่ในใจ [พวกเขา]” และพวกเขา “ไม่ปรับใจสู่ความเข้าใจ” (โมไซยาห์ 13:11; 12:27 ด้วยเหตุนี้ชีวิตพวกเขาจึงไม่เปลี่ยน
ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 12:19–30 ให้ไตร่ตรองว่าการปรับใจท่านให้เข้าใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านเปลี่ยนวิธีที่ท่านเรียนพระกิตติคุณหรือไม่
พระเจ้าจะทรงสนับสนุนผู้รับใช้ของพระองค์ในงานของพระองค์
ในด้านหนึ่ง ประสบการณ์ของอบินาไดให้ตัวอย่างมากมายของวิธีที่พระเจ้าทรงสนับสนุนผู้รับใช้ของพระองค์—ท่านสามารถหาตัวอย่างเหล่านี้ได้ใน โมไซยาห์ 13:1–9 อีกด้านหนึ่ง พระเจ้าทรงยอมให้อบินาไดถูกข่มเหง ถูกจองจำ และเป็นมรณสักขีเพราะประจักษ์พยานของเขาด้วย ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่เปิดเผยว่าอบินาไดวางใจพระเจ้า แบบอย่างของอบินาไดส่งผลอย่างไรต่อวิธีที่ท่านมองการเรียกและความรับผิดชอบของท่าน
พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อฉัน
กษัตริย์โนอาห์กับพวกปุโรหิตเชื่อว่าความรอดมาทางกฎของโมเสส อบินาไดต้องการให้พวกเขารู้ว่าความรอดมาทางพระเมสสิยาห์ พระเยซูคริสต์ ใน โมไซยาห์ 14–15 ให้สังเกตคำและวลีที่พูดถึงพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์ทรงทนทุกข์เพื่อท่าน ข้อใดช่วยให้ความรักและความสำนึกคุณต่อพระองค์ลึกซึ้งขึ้น
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทั้งพระบิดาและพระบุตรอย่างไร
ข้อเหล่านี้บางครั้งทำให้เราสับสนเพราะดูเหมือนอบินาไดกำลังสอนว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์เดียวกัน แต่เรารู้ว่าพระองค์ทรงเป็นคนละองค์ อบินาไดหมายความว่าอย่างไร เขาสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบุตร—พระเยโฮวาห์—จะทรงเป็นพระผู้ไถ่ (ดู โมไซยาห์ 15:1) สถิตอยู่ในเนื้อหนัง ส่วนหนึ่งเป็นมนุษย์ส่วนหนึ่งเป็นพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 2–3) พระองค์ทรงยอมตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทุกประการ (ข้อ 5–9) เพราะเหตุนี้ พระเยซูคริสต์จึงทรงเป็นทั้งพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและตัวแทนทางโลกที่สมบูรณ์แบบของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา (ดู ยอห์น 14:6–10)
อบินาไดอธิบายต่อไปว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบิดาเช่นกันในความหมายที่ว่าเมื่อเรายอมรับการไถ่ของพระองค์ เรากลายเป็น “พงศ์พันธุ์ของพระองค์” (โมไซยาห์ 15:11–12) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราเกิดใหม่ทางวิญญาณผ่านพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 5:7)
ดู ยอห์น 5:25–27; 8:28–29; 17:20–23; “The Father and the Son,” Ensign, Apr. 2002, 12–18 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
โมไซยาห์ 11–13; 17
อบินาไดกับแอลมาเป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้ภักดีต่อความจริง แม้เมื่อคนไม่นิยมทำเช่นนั้น สมาชิกในครอบครัวท่านอาจจะกำลังประสบภาวะกดดันทางสังคมให้ปรับเปลี่ยนมาตรฐานของตน พวกเขาเรียนรู้อะไรบ้างจากอบินาไดกับแอลมาเกี่ยวกับการยึดมั่นความจริง งานศิลป์ที่มากับโครงร่างนี้จะช่วยให้ครอบครัวท่านเห็นภาพเรื่องนี้ หลังจากศึกษาบทเหล่านี้ ท่านอาจจะให้แสดงบทบาทสมมติของสถานการณ์ชีวิตจริงเพื่อให้สมาชิกครอบครัวฝึกตอบสนองภาวะกดดันให้ปรับเปลี่ยนมาตรฐานของพวกเขา หรือท่านอาจจะเล่าประสบการณ์ที่ท่านเคยยึดมั่นความจริง
โมไซยาห์ 12:33–37; 13:11–24
การมีพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า “เขียนอยู่ในใจ [เรา]” หมายความว่าอย่างไร (โมไซยาห์ 13:11) ท่านอาจจะเขียนแนวคิดบางประการ (หรือวาดภาพแนวคิดของท่าน) บนกระดาษรูปหัวใจแผ่นใหญ่ เหตุใดพระบัญญัติจึงมีค่าต่อเรา เราจะเขียนพระบัญญัติไว้ในใจเราได้อย่างไร
โมไซยาห์ 14
ในบทนี้ท่านจะพบหลายคำและหลายวลีที่พูดถึงพระเยซูคริสต์ ครอบครัวท่านอาจจะเขียนคำและวลีที่พบออกมาเป็นข้อๆ สมาชิกครอบครัวรู้สึกอย่างไรกับพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อเราศึกษาคำและวลีเหล่านี้
โมไซยาห์ 15:26–27; 16:1–13
ข้อเหล่านี้บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าถ้าพระเยซู “ไม่เสด็จมาในโลก” (โมไซยาห์ 16:6) หรือถ้าพวกเขาไม่ติดตามพระองค์ สิ่งดีอะไรเกิดขึ้นบ้างเพราะพระองค์เสด็จมาและทรงชดใช้ให้เรา ดูวีดิทัศน์ “Why We Need a Savior” (ChurchofJesusChrist.org) ด้วย
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย