จงตามเรามา
18–24 พฤษภาคม โมไซยาห์ 25–28: “จึงเรียกคนเหล่านั้นว่าผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า”


“18–24 พฤษภาคม โมไซยาห์ 25–28: ‘จึงเรียกคนเหล่านั้นว่าผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“18–24 พฤษภาคม โมไซยาห์ 25–28” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020

เทพปรากฏต่อแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาผู้บุตร โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

18–24 พฤษภาคม

โมไซยาห์ 25–28

“จึงเรียกคนเหล่านั้นว่าผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า”

หลังจาก “สุรเสียงของพระเจ้ามาถึง [แอลมา]” ท่านจดสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับท่าน “เพื่อท่านจะได้มีไว้” (โมไซยาห์ 26:13, 33) ท่านจะทำตามแบบอย่างของแอลมาอย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

หลังจากที่แยกกันอยู่คนและแผ่นดินเกือบสามชั่วอายุคน ชาวนีไฟเป็นกลุ่มเดียวอีกครั้ง ผู้คนของลิมไฮ ผู้คนของแอลมา และผู้คนของโมไซยาห์—แม้กระทั่งผู้คนของเซราเฮ็มลาที่ไม่ได้สืบตระกูลมาจากนีไฟ—เวลานี้ทั้งหมด “นับอยู่กับชาวนีไฟ” (โมไซยาห์ 25:13) พวกเขาจำนวนมากต้องการเป็นสมาชิกของศาสนจักรที่แอลมาสถาปนาไว้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ทุกคนที่ “ปรารถนาจะน้อมรับพระนามของพระคริสต์” จึงรับบัพติศมา “และจึงเรียกคนเหล่านั้นว่าผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 25:23–24) หลังจากความขัดแย้งและการเป็นเชลยหลายปี ดูเหมือนในที่สุดชาวนีไฟจะมีช่วงเวลาของความสงบสุข

แต่ไม่นาน ผู้ไม่เชื่อก็เริ่มข่มเหงวิสุทธิชน สิ่งที่น่าปวดร้าวใจอย่างยิ่งคือผู้ไม่เชื่อมากมายเหล่านี้เป็น— “อนุชนรุ่นหลัง” (โมไซยาห์ 26:1) ลูกหลานของผู้เชื่อรวมทั้งพวกบุตรของโมไซยาห์และบุตรคนหนึ่งของแอลมาด้วย จากนั้นปาฏิหาริย์เกิดขึ้น และเรื่องราวของปาฏิหาริย์ครั้งนั้นให้ความหวังแก่บิดามารดาที่ปวดร้าวหลายรุ่น แต่เรื่องราวการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาไม่ได้เฉพาะสำหรับบิดามารดาของบุตรธิดาที่ดื้อรั้นเท่านั้น การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงเป็นปาฏิหาริย์ที่ต้องเกิดขึ้นในเราทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

โมไซยาห์ 26:1–6

ฉันต้องรับผิดชอบศรัทธาและประจักษ์พยานของฉันเอง

คนที่ได้ยินโอวาทของกษัตริย์เบ็นจามินประสบการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอย่างน่าอัศจรรย์ (ดู โมไซยาห์ 5:1–7) แต่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่สามารถส่งต่อให้ลูกหลานเหมือนมรดกได้ เราทุกคนต้องประสบการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยตัวเราเอง ขณะที่ท่านอ่านใน โมไซยาห์ 26:1–6 เกี่ยวกับ “อนุชนรุ่นหลัง” ของชาวนีไฟที่ไม่เชื่อ ลองสังเกตผลจากความไม่เชื่อของพวกเขา ท่านอาจจะนึกถึงคนที่ท่านประสงค์จะนำพวกเขามาหาพระคริสต์เช่นกัน แม้ท่านไม่สามารถให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสแก่พวกเขาได้ แต่พระวิญญาณจะกระซิบบอกสิ่งที่ท่าน สามารถ ทำได้เพื่อช่วยให้พวกเขาพบศรัทธา ขณะที่ท่านอ่านใน โมไซยาห์ 25–28 เกี่ยวกับวิธีที่แอลมาและสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ ช่วยอนุชนรุ่นหลัง ท่านอาจจะมีความคิดเพิ่มเติม

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–29 ด้วย

โมไซยาห์ 26:6–39

ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระผู้เป็นเจ้าหมายมั่นทำตามพระประสงค์ของพระองค์

บางครั้งเราอาจจะคิดว่าผู้นำศาสนจักรเช่นแอลมารู้สิ่งถูกต้องที่ต้องทำเสมอ ใน โมไซยาห์ 26 เราอ่านเรื่องปัญหาในศาสนจักรที่แอลมาไม่เคยแก้ไขมาก่อน และ “ท่านกลัวว่าท่านจะทำผิดในสายพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 26:13) แอลมาทำอะไรในสถานการณ์นี้ (ดู โมไซยาห์ 26:13–14, 33–34, 38–39) ประสบการณ์ของแอลมาบอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะแก้ไขปัญหายากๆ ในครอบครัวท่านหรือการรับใช้ในศาสนจักร

การเขียนความจริงที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยต่อแอลมาใน โมไซยาห์ 26:15–32 ออกมาเป็นข้อๆ อาจจะน่าสนใจเช่นกัน สังเกตว่าความจริงบางประการเหล่านี้ไม่ได้ตอบคำถามของแอลมาโดยตรง สิ่งนี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนและการเปิดเผยส่วนตัวที่จะได้รับ

โมไซยาห์ 27:8–37

ชายหญิงทุกคนต้องเกิดใหม่

เห็นได้ชัดว่าแอลมาผู้บุตรต้องเกิดใหม่ทางวิญญาณ เพราะเขากับพวกบุตรของโมไซยาห์เป็น “คนบาปที่ชั่วช้าที่สุดจริงๆ” ผู้เที่ยวไป “ทำลายศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 28:4; 27:10) แต่หลังจากเปลี่ยนใจเลื่อมใสไม่นาน แอลมาเป็นพยานว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมีประโยชน์—และจำเป็น—สำหรับทุกคน: “อย่าประหลาดใจ” ท่านกล่าว “ที่มนุษย์ ทั้งปวง … ต้องเกิดใหม่” (โมไซยาห์ 27:25; เน้นตัวเอน) นั่นรวมถึงท่านด้วย

ขณะที่ท่านอ่านประสบการณ์ของแอลมาใน โมไซยาห์ 27:8–37 ท่านอาจจะลองนำตัวท่านเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของเขา ท่านไม่ได้พยายามทำลายศาสนจักร แต่ท่านสามารถนึกถึงสิ่งที่ตัวท่านต้องเปลี่ยน เช่นเดียวกับบิดาของแอลมา ใครกำลังสนับสนุนท่านและสวดอ้อนวอนให้ท่าน “ด้วยศรัทธามาก” ประสบการณ์ใดช่วย “ทำให้ [ท่าน] เชื่อมั่นถึงเดชานุภาพและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า”(โมไซยาห์ 27:14) “สิ่งสำคัญยิ่ง” อะไรบ้างที่พระเจ้าทรงทำให้ท่านหรือครอบครัวท่านที่ท่านควร “นึกถึง” (โมไซยาห์ 27:16) ท่านเรียนรู้อะไรจากคำพูดและการกระทำของแอลมาผู้บุตรเกี่ยวกับความหมายของการเกิดใหม่ คำถามต่อไปนี้อาจช่วยท่านประเมินความก้าวหน้าของท่านในกระบวนการเกิดใหม่

ดู โมไซยาห์ 5:6–9; แอลมา 36; “Conversion” (Gospel Topics, topics.ChurchofJesusChrist.orgด้วย)

แอลมาผู้บุตรถูกแบกมายังบ้านของบิดา

บิดาของเขาชื่นชมยินดี โดยวอลเตอร์ เรน

โมไซยาห์ 27:14, 19–24

พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเราและจะทรงตอบตามพระประสงค์ของพระองค์

ท่านอาจจะรู้จักพ่อแม่ในสถานการณ์ของแอลมาผู้บิดาที่บุตรชายหรือบุตรสาวของเขากำลังทำการเลือกที่เป็นภัย หรือท่านอาจจะเป็นพ่อแม่คนนั้น ท่านพบอะไรใน โมไซยาห์ 27:14, 19–24 ที่ให้ความหวังแก่ท่าน ข้อเหล่านี้จะมีผลต่อการสวดอ้อนวอนของท่านเพื่อผู้อื่นอย่างไร

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว

ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

โมไซยาห์ 25:5–11

ผู้คนของโมไซยาห์รู้สึกอย่างไรหลังจากเขาอ่านบันทึกของผู้คนของซีนิฟฟ์และผู้คนของแอลมาให้ฟัง ครอบครัวท่านจดบันทึกที่ท่านจะอ่านจากนั้นได้หรือไม่ ท่านอาจจะเพิ่มเข้าไปในบันทึกของท่านหรือเริ่มจดบันทึกของท่านเอง ท่านจะรวมอะไรไว้ในบันทึกที่อาจจะช่วยให้ครอบครัวท่าน (รวมทั้งคนรุ่นต่อๆ ไป) “เปี่ยมด้วยความปรีดียิ่ง” และเรียนรู้เกี่ยวกับ “พระคุณความดีที่พวกเขาได้รับโดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้า”(โมไซยาห์ 25:8 10)

โมไซยาห์ 25:16

เหตุใดจึงสำคัญที่ผู้คนของลิมไฮจะจดจำว่าพระเจ้าทรงปลดปล่อยพวกเขาจากการเป็นเชลย พระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อเราที่เราควรจดจำ

โมไซยาห์ 26:29–31; 27:35

ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ บุคคลต้องทำอะไรจึงจะได้รับการให้อภัย

โมไซยาห์ 27:21–24

ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ให้นึกถึงคนที่ครอบครัวท่านจะสวดอ้อนวอนและอดอาหารให้

โมไซยาห์ 27–28

เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเห็นภาพเรื่องราวในบทเหล่านี้ ท่านอาจจะให้พวกเขาวาดภาพคนที่เกี่ยวข้องและใช้ภาพเล่าเรื่องอีกครั้ง หรือพวกเขาอาจจะชอบแสดงเรื่องนี้ พวกเขาจะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่แอลมากับพวกบุตรของโมไซยาห์ประสบได้อย่างไร

สำหรับแนวคิดการสอนเด็กเพิ่มเติม ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

ปรับปรุงการสอนของเรา

ใช้ศิลปะหนังสือภาพพระกิตติคุณ และ LDS Media Library บน ChurchofJesusChrist.org มีภาพและวีดิทัศน์มากมายที่จะช่วยให้ [ครอบครัวท่าน] เห็นภาพแนวคิดหรือเหตุการณ์” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 22)

เทพปรากฏต่อแอลมาผู้บุตร

ภาพประกอบของเทพปรากฏต่อแอลมาผู้บุตร โดย เควิน คีลี