“19–25 ตุลาคม 3 นีไฟ 27–4 นีไฟ: ‘ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“19-25 ตุลาคม 3 นีไฟ 27–4 นีไฟ” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
19–25 ตุลาคม
3 นีไฟ 27–4 นีไฟ
“ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้”
พระเจ้าทรงบัญชาสานุศิษย์ของพระองค์ให้เขียนสิ่งที่พวกเขาประสบ (ดู 3 นีไฟ 27:23–24) ขณะท่านศึกษาให้จดประสบการณ์ทางวิญญาณที่ท่านมี
บันทึกความประทับใจของท่าน
คำสอนของพระเยซูคริสต์ไม่ใช่แค่ปรัชญาสวยงามให้ไตร่ตรอง แต่เป็นยิ่งกว่านั้น—คือมุ่งหมายจะเปลี่ยนชีวิตเรา หนังสือ 4 นีไฟ ให้ตัวอย่างอันน่าทึ่งของเรื่องนี้ โดยแสดงให้เห็นว่าพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเปลี่ยนผู้คนได้รอบด้านเพียงใด หลังจากพระเยซูทรงปฏิบัติศาสนกิจช่วงสั้นๆ ความขัดแย้งหลายศตวรรษระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมันก็สิ้นสุดลง สองประชาชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องความแตกแยกและความจองหองกลายเป็น “หนึ่งเดียว, เป็นลูกของพระคริสต์” (4 นีไฟ 1:17) และพวกเขาเริ่มมี “สิ่งของทั้งหมดเพื่อใช้ร่วมกันในบรรดาพวกเขา” (4 นีไฟ 1:3) “ความรักของพระผู้เป็นเจ้า … อยู่ในใจผู้คน” และ “ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้ในบรรดาผู้คนทั้งปวงที่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา” (4 นีไฟ 1:15–16) นี่คือวิธีที่คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเปลี่ยนชาวนีไฟกับชาวเลมัน คำสอนเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนท่านอย่างไร
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์มีชื่อเรียกตามพระนามของพระองค์
เมื่อสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอดเริ่มสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ทั่วแผ่นดิน มีคำถามเกิดขึ้นซึ่งกับบางคนอาจดูเหมือนไม่สำคัญ—คำถามนั้นคือศาสนจักรควรชื่ออะไร (ดู 3 นีไฟ 27:1–3) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความสำคัญของชื่อนี้จากพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 27:4–12 ในปี 1838 พระเจ้าทรงเปิดเผยชื่อศาสนจักรของพระองค์ในปัจจุบัน (ดู คพ. 115:4) ไตร่ตรองแต่ละคำในชื่อนั้น คำเหล่านี้ช่วยให้เรารู้อย่างไรว่าเราเป็นใคร เราเชื่ออะไร และเราควรประพฤติตนอย่างไร
ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน “ชื่อที่ถูกต้องของศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 87–80; เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ความสำคัญของชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 101–105 ด้วย
เมื่อฉันทำให้ความปรารถนาของฉันบริสุทธิ์ ฉันกลายเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์มากขึ้น
ท่านจะทูลว่าอย่างไรถ้าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสถามท่านเช่นเดียวกับที่ตรัสถามสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “เจ้าปรารถนาอะไรจากเรา” (3 นีไฟ 28:1) นึกถึงคำถามนี้ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับประสบการณ์ของสานุศิษย์พระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 28:1–11 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความปรารถนาของใจสานุศิษย์จากคำตอบของพวกเขาต่อพระดำรัสถามของพระองค์ ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า “เพื่อจะไปถึงจุดหมายปลายทางนิรันดร์ เราจะต้องปรารถนาและทำงานให้ได้ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้เพื่อเป็นสัตภาวะนิรันดร์ … เราจะปรารถนาเป็นเหมือน [พระเยซูคริสต์]” (“ความปรารถนา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 44–45) ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ความปรารถนาของใจท่านชอบธรรมมากขึ้น (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลง [ที่เกิด] กับร่างกาย” ของสานุศิษย์สามคน ดู 3 นีไฟ 28:37 และ “สัตภาวะที่แปรสภาพ” คู่มือพระคัมภีร์ scriptures.ChurchofJesusChrist.org)
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันและความสุข
ท่านนึกภาพออกหรือไม่ว่าการมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาหลังการเสด็จเยือนของพระผู้ช่วยให้รอดนั้นเป็นอย่างไร ผู้คนมีสันติสุขเช่นนี้เป็นเวลานาน—เกือบ 200 ปีได้อย่างไร ขณะที่ท่านศึกษา 4 นีไฟ 1:1–18 ท่านอาจจะทำเครื่องหมายหรือบันทึกการเลือกที่ผู้คนทำเพื่อประสบชีวิตที่เป็นพรเช่นนี้
ไตร่ตรองสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อช่วยให้ครอบครัว วอร์ด หรือชุมชนของท่านอยู่กันความเป็นหนึ่งเดียวกันและความสุขมากขึ้นเช่นเดียวกับผู้คนใน 4 นีไฟ ท่านสามารถดำเนินชีวิตตามคำสอนใดของพระเยซูคริสต์ได้ครบถ้วนมากขึ้นจึงจะบรรลุเป้าหมายนี้ ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจและดำเนินชีวิตตามคำสอนเหล่านี้
ความชั่วร้ายนำไปสู่ความแตกแยกและโทมนัส
น่าเศร้าที่สังคมไซอันใน 4 นีไฟ (ดู โมเสส 7:18 ด้วย) แตกสลายในที่สุด ขณะที่ท่านอ่าน 4 นีไฟ 1:19–49 ให้มองหาเจตคติและพฤติกรรมอันเป็นเหตุให้สังคมนี้ล่มสลาย ท่านเห็นสัญญาณของเจตคติหรือพฤติกรรมเหล่านี้ในตัวท่านบ้างหรือไม่
ดู “บทที่ 18: จงระวังความจองหอง” คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (2014), 229–240 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
3 นีไฟ 27:13–21
ข้อเหล่านี้จะช่วยให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจดีขึ้นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ทรงอ้างถึง “พระกิตติคุณของพระองค์” หลังจากอ่านและสนทนาข้อเหล่านี้แล้ว ท่านจะขอให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนสรุปให้ได้หนึ่งประโยคว่าพระกิตติคุณคืออะไร
3 นีไฟ 27:23–26
เราเป็นอย่างไรบ้างกับการบันทึกสิ่งที่เราแต่ละคนหรือครอบครัวเราเคย “เห็นและได้ยิน” เหตุใดการจดบันทึกเรื่องทางวิญญาณจึงเป็นเรื่องสำคัญ
3 นีไฟ 27:30–31
เพื่อช่วยให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจปีติที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงบรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ ท่านจะเล่นเกมซึ่งสมาชิกครอบครัวไปซ่อนตัวและให้สมาชิกครอบครัวคนหนึ่งพยายามหา เกมนี้จะนำไปสู่การสนทนาว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ต้องหาสมาชิกครอบครัวให้ครบทุกคนเพื่อจะ “ไม่มีผู้ใดในพวกเขาหายไป” เราจะช่วยให้ครอบครัวเรายังคงเข้มแข็งในพระกิตติคุณหรือกลับมาได้อย่างไรถ้าพวกเขาออกไป
3 นีไฟ 28:17–18, 36–40
เราสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของมอรมอนเมื่อเขาไม่เข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับสานุศิษย์ชาวนีไฟสามคน เราจะทำอะไรได้บ้างเมื่อเราไม่เข้าใจทุกอย่างเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณ ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงห่วงใยท่าน พระองค์จะทรงฟังและจะทรงตอบคำถามส่วนตัวของท่าน พระองค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของท่านในวิธีของพระองค์และในเวลาของพระองค์ ดังนั้น ท่านต้องเรียนรู้ที่จะฟังสุรเสียงของพระองค์” (“การได้รับประจักษ์พยานถึงแสงสว่างและความจริง,” เลียโฮนา พ.ย. 2014, 21)
4 นีไฟ 1:15
เพื่อลดความขัดแย้งในบ้าน สมาชิกครอบครัวอาจจะตั้งเป้าหมายว่าสัปดาห์นี้จะรักกันมากขึ้น หลังจากสัปดาห์นี้ผ่านไป ให้ทบทวนความก้าวหน้าด้วยกันและสนทนาว่าการแสดงความรักมากขึ้นมีผลต่อครอบครัวท่านอย่างไร
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย