“26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6: ‘ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
26 ตุลาคม–1 พฤศจิกายน
มอรมอน 1–6
“ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ”
ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 1–6 ให้ไตร่ตรองสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากแบบอย่างของมอรมอน บันทึกสิ่งที่ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำ
บันทึกความประทับใจของท่าน
มอรมอนไม่ได้บันทึก “เรื่องราวไว้โดยครบถ้วน” ของ “ภาพอันน่าพรั่นพรึง” ของความชั่วร้ายและการนองเลือดที่เขาเห็นในบรรดาชาวนีไฟทั้งหมด (มอรมอน 2:18; 5:8) แต่สิ่งที่เขาบันทึกไว้ใน มอรมอน 1–6 มากพอจะเตือนสติเราว่าคนชอบธรรมกลับกลายเป็นคนชั่วร้ายได้มากเพียงใด ท่ามกลางความชั่วร้ายที่แพร่ไปทั่ว ไม่มีใครตำหนิมอรมอนได้เมื่อเขาเหนื่อยหน่ายและถึงกับท้อแท้ด้วย ทว่าจากทั้งหมดที่เขาเห็นและประสบ เขาไม่เคยสูญเสียสำนึกในพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าและความเชื่อมั่นของเขาที่ว่าการกลับใจเป็นวิธีได้รับพระเมตตานั้น และถึงแม้ผู้คนของมอรมอนเองไม่ยอมรับคำเชื้อเชิญแกมขอร้องของเขาให้กลับใจ แต่เขารู้ว่าเขามีผู้ฟังกลุ่มใหญ่กว่านั้นให้ชักชวน “ดูเถิด” เขาประกาศ “ข้าพเจ้าเขียนถึงทั่วสุดแดนแผ่นดินโลก” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เขาเขียนถึง ท่าน (ดู มอรมอน 3:17–20) และข่าวสารของเขาถึงท่านวันนี้เป็นข่าวสารเดียวกันกับที่ได้ช่วยให้ชาวนีไฟรอดในสมัยของพวกเขา นั่นคือ “เชื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ … กลับใจและเตรียมยืนอยู่หน้าบัลลังก์พิพากษาของพระคริสต์” (มอรมอน 3:21–22)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันสามารถดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมแม้มีความชั่วร้ายอยู่รอบด้าน
ช่วงต้นบทที่หนึ่งของมอรมอน ท่านจะสังเกตเห็นความแตกต่างสำคัญๆ ระหว่างมอรมอนกับคนรอบข้างเขา ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 1 ท่านอาจจะเปรียบเทียบคุณสมบัติและความปรารถนาของมอรมอนกับผู้คนของเขา สังเกตผลที่มาถึงเขาและคนเหล่านั้น (ท่านจะพบตัวอย่างหนึ่งในข้อ 14–15) ท่านเรียนรู้อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมในโลกที่ชั่วร้าย
ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 2–6 ให้มองหาต่อไปว่ามอรมอนแสดงศรัทธาของเขาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์อย่างไรแม้มีอิทธิพลชั่วร้ายรอบข้างเขา
โทมนัสตามพระประสงค์ของพระเจ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืนและแท้จริง
เมื่อมอรมอนเห็นโทมนัสของผู้คน เขาหวังว่าคนเหล่านั้นจะกลับใจ แต่ “โทมนัสของพวกเขาหาใช่เพื่อการกลับใจ” (มอรมอน 2:13—นั่นไม่ใช่โทมนัสตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแท้จริง (ดู 2 โครินธ์ 7:8–11) ชาวนีไฟรู้สึกโทมนัสตามความประสงค์ของโลก (ดู มอรมอน 2:10–11) เพื่อเข้าใจความแตกต่างระหว่างโทมนัสตามพระประสงค์ของพระเจ้ากับโทมนัสตามความประสงค์ของโลก ท่านอาจจะทำแผนภูมิเพื่อบันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้จาก มอรมอน 2:10–15 เกี่ยวกับโทมนัสสองแบบนี้ แผนภูมิของท่านอาจมีลักษณะดังนี้:
โทมนัสตามพระประสงค์ของพระเจ้า |
โทมนัสตามความประสงค์ของโลก |
---|---|
โทมนัสตามพระประสงค์ของพระเจ้า มาหาพระเยซู (ข้อ 14) | โทมนัสตามความประสงค์ของโลก สาปแช่งพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 14) |
โทมนัสตามพระประสงค์ของพระเจ้า | โทมนัสตามความประสงค์ของโลก |
โทมนัสตามพระประสงค์ของพระเจ้า | โทมนัสตามความประสงค์ของโลก |
ขณะท่านใคร่ครวญสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ให้พิจารณาว่าสิ่งนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อการพยายามเอาชนะบาปของท่านและเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น
ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคดอร์ฟ, “ท่านสามารถทำได้!” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 55–57 ด้วย
ฉันควรยอมรับพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตฉันเสมอ
มอรมอนบันทึกความอ่อนแอที่เขาเห็นในชาวนีไฟว่า คนเหล่านั้นไม่ยอมรับวิธีที่พระเจ้าทรงอวยพรพวกเขา ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์กระตุ้นให้เรา “หาวิธีตระหนักและจดจำพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า … ขอให้ท่านสวดอ้อนวอนและไตร่ตรองโดยถามว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งข่าวสารที่ตรงกับฉันใช่ไหม ฉันเห็นพระหัตถ์ของพระองค์ในชีวิตฉันหรือไม่ … ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระองค์ทรงรักเราและประทานพรเรามากกว่าที่พวกเราส่วนใหญ่ตระหนัก” (“โอ้จงจำ จงจำไว้” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 86, 88)
ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 3:3, 9 ท่านจะไตร่ตรองว่าท่านกำลังยอมรับอิทธิพลของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตท่านอย่างไร พรใดเกิดขึ้นเมื่อท่านยอมรับอิทธิพลของพระองค์ อะไรคือผลของการไม่ยอมรับพระองค์ (ดู มอรมอน 2:26)
พระเยซูคริสต์ทรงยืนกางพระพาหุให้ท่าน
ชาวนีไฟไม่ยอมรับคำสอนของมอรมอน แต่เขามีความหวังว่าบันทึกของเขาจะมีอิทธิพลต่อท่าน ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 5:8–24 และ 6:16–22 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับผลของบาป ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับความรู้สึกของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูต่อท่าน แม้เมื่อท่านทำบาป ท่านเคยรู้สึกว่าพระเยซูคริสต์ทรงกางพระพาหุให้ท่านอย่างไร ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรอันเนื่องจากความรู้สึกนี้
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
มอรมอน 1:2
การเป็นคน “ช่างสังเกต” หมายความว่าอย่างไร ท่านสามารถหาข้อคิดได้ในบทความของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เรื่อง “ช่างสังเกต” (เลียโฮนา ธ.ค. 2006, 15–20) ของประทานของการเป็นคนช่างสังเกตเป็นพรแก่มอรมอนอย่างไร และจะเป็นพรแก่เราอย่างไร
มอรมอน 1:1–6, 15; 2:1–2
เด็กๆ ในครอบครัวท่านเข้าใจหรือไม่ว่าพวกเขาสามารถพัฒนาคุณสมบัติและพลังทางวิญญาณอันสำคัญยิ่งแม้จะอายุยังน้อย แบบอย่างของมอรมอนจะช่วยพวกเขาได้ ท่านอาจจะทำลำดับเหตุการณ์วัยเด็กและวัยหนุ่มของมอรมอนโดยใช้อายุและเหตุการณ์ที่ให้ไว้ใน มอรมอน 1:1–6, 15 และ 2:1–2 ขณะท่านสนทนาคุณสมบัติและประสบการณ์ของมอรมอน จงชี้ให้เห็นคุณสมบัติที่บุตรธิดาของท่านมีซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านและคนรอบข้าง
มอรมอน 2:18–19
มอรมอนใช้คำพูดใดบรรยายโลกที่เขาอยู่ เขายังคงมีความหวังแม้มีความชั่วร้ายอยู่รอบด้านอย่างไร ครอบครัวเราจะทำแบบเดียวกันได้อย่างไร
มอรมอน 3:12
มอรมอนรู้สึกอย่างไรต่อคนรอบข้าง แม้พวกเขาเป็นคนชั่วร้าย เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาความรักแบบเดียวกับมอรมอน
มอรมอน 5:2
เหตุใดเราจึงลังเลที่จะเรียกหาพระบิดาบนสวรรค์เมื่อเรากำลังลำบาก เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพึ่งพาพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้น
มอรมอน 5:16–18
เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเห็นภาพความหมายของการ “ถูกต้อนไปมาดังแกลบต้องลม” (ข้อ 16) ให้ฉีกกระดาษแผ่นหนึ่งเป็นชิ้นเล็กๆ และให้สมาชิกครอบครัวเป่าให้ปลิวไปรอบๆ อธิบายให้พวกเขาฟังว่าแกลบคือเปลือกที่กะเทาะจากเมล็ดข้าว และเบาพอที่จะเป่าให้ปลิวได้ การอยู่ “โดยปราศจากพระคริสต์และพระผู้เป็นเจ้าในโลก” (ข้อ 16) เหมือนเป็นแกลบต้องลมอย่างไร
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย