“9–15 พฤศจิกายน อีเธอร์ 1–5: ‘ฉีกม่านความไม่เชื่อ’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“9–15 พฤศจิกายน อีเธอร์ 1-5” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
9–15 พฤศจิกายน
อีเธอร์ 1–5
“ฉีกม่านความไม่เชื่อ”
หนังสือของอีเธอร์เป็นบันทึกของชาวเจเร็ดผู้มาถึงแผ่นดินที่สัญญาไว้หลายศตวรรษก่อนชาวนีไฟ พระผู้เป็นเจ้าทรงดลใจโมโรไนให้รวมบันทึกของอีเธอร์ไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนเพราะเกี่ยวข้องกับสมัยของเรา ท่านรู้สึกว่าหนังสือนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตท่านอย่างไร
บันทึกความประทับใจของท่าน
แม้จะจริงที่ว่าวิถีของพระผู้เป็นเจ้าสูงกว่าเราและเราควรยอมรับพระประสงค์ของพระองค์เสมอ แต่พระองค์ทรงกระตุ้นให้เราคิดและกระทำด้วยตัวเราเองด้วย นี่เป็นหนึ่งบทเรียนที่เจเร็ดกับพี่ชายเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องการเดินทางไปแผ่นดินใหม่ซึ่ง “เลิศเลอกว่าแผ่นดินโลกทั้งปวง” ดูเหมือนจะเริ่มต้นในความคิดของเจเร็ด และพระเจ้าทรง “มีความสงสาร” และสัญญาจะประทานตามคำขอโดยตรัสว่า “เราจะทำกับเจ้าดังนี้เพราะเวลายาวนานนี้เจ้าได้ร้องขอต่อเรา” (ดู อีเธอร์ 1:38–43) และเมื่อพี่ชายของเจเร็ดตระหนักว่าในเรือที่จะพาพวกเขาไปแผ่นดินที่สัญญาไว้มืดมาก พระเจ้าจึงทรงเชื้อเชิญให้เขาเสนอวิธีแก้โดยตรัสถามคำถามที่ เรา มักจะทูลถาม พระองค์ ว่า “เจ้าอยากให้เราทำอะไรเพื่อเจ้า” (อีเธอร์ 2:23) ข่าวสารดูเหมือนจะเป็นว่าเราไม่ควรคาดหวังให้พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาเราทุกเรื่อง เราสามารถบอกความคิดและแนวคิดของเราเองกับพระองค์ และพระองค์จะทรงฟังและประทานการยืนยันของพระองค์หรือไม่ก็จะทรงแนะนำเราด้วยวิธีอื่น บางครั้งสิ่งเดียวที่แยกเราจากพรที่เราแสวงหาคือ “ม่านความไม่เชื่อ” ของเราเองและถ้าเราสามารถ “ฉีกม่าน” (อีเธอร์ 4:15) เราอาจประหลาดใจกับสิ่งที่พระเจ้าเต็มพระทัยทำเพื่อเรา
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
เมื่อฉันร้องทูลพระเจ้า พระองค์จะทรงมีความสงสารฉัน
อีเธอร์ 1:33–43 พูดถึงการสวดอ้อนวอนสามครั้งของพี่ชายของเจเร็ด ท่านเรียนรู้อะไรจากพระดำรัสตอบของพระเจ้าต่อการสวดอ้อนวอนแต่ละครั้ง ให้นึกถึงเวลาที่ท่านเคยประสบความสงสารของพระเจ้าขณะท่านร้องทูลพระองค์ในการสวดอ้อนวอน ท่านอาจต้องการบันทึกประสบการณ์นี้และแบ่งปันกับคนที่อาจจำเป็นต้องได้ยินประจักษ์พยานของท่าน
ฉันสามารถรับการเปิดเผยเพื่อชีวิตฉัน
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านเพิ่มสมรรถภาพทางวิญญาณเพื่อรับการเปิดเผย … จงเลือกทำงานทางวิญญาณที่ต้องใช้ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และได้ยินสุรเสียงของพระวิญญาณบ่อยขึ้นและชัดขึ้น” (“การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 96)
ขณะที่ท่านศึกษา อีเธอร์ 2; 3:1–6; และ 4:7–15 ท่านพบความจริงอะไรบ้างที่ช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีแสวงหาการเปิดเผยส่วนตัว ท่านอาจใช้สีๆ หนึ่งทำเครื่องหมายคำถามหรือข้อกังวลที่พี่ชายของเจเร็ดมีและสิ่งที่เขาทำเกี่ยวกับคำถามหรือข้อกังวลนั้น และใช้อีกสีหนึ่งทำเครื่องหมายวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือเขาและทำให้เขารู้พระประสงค์ของพระองค์ ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พี่ชายของเจเร็ดสนทนากับพระเจ้า และท่านเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้เกี่ยวกับวิธีเพิ่มการเปิดเผยในชีวิตท่าน
พระเจ้าจะทรงเตรียมฉันให้พร้อมข้าม “ห้วงลึกอันกว้างใหญ่” ของฉัน
เพื่อไปถึงแผ่นดินที่สัญญาไว้ ชาวเจเร็ดประสบอุปสรรคใหญ่คือการข้าม “ห้วงลึกอันกว้างใหญ่” (อีเธอร์ 2:25) วลี “ห้วงลึกอันกว้างใหญ่” สามารถเป็นวิธีที่เหมาะจะใช้อธิบายว่าบางครั้งเรารู้สึกว่าการทดลองและความท้าทายของเราเหมือนอะไร ในบางครั้ง เช่นเดียวกับกรณีของชาวเจเร็ด การข้าม “ห้วงลึกอันกว้างใหญ่” ของเราเองเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้บรรลุพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับเรา ท่านเห็นความคล้ายคลึงอะไรกับชีวิตท่านใน อีเธอร์ 2:16–25 พระเจ้าทรงเตรียมท่านให้พร้อมรับความท้าทายของท่านอย่างไร พระองค์อาจจะทรงขอให้ท่านทำอะไรตอนนี้เพื่อเตรียมรับสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการให้ท่านทำในอนาคต
พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างฉันตามรูปลักษณ์ของพระองค์
บนภูเขาเชเล็ม พี่ชายของเจเร็ดเรียนรู้มากเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและเกี่ยวกับตนเอง ท่านเรียนรู้อะไรจาก อีเธอร์ 3 เกี่ยวกับธรรมชาติทางกายและทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า ความจริงเหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจอัตลักษณ์และศักยภาพอันสูงส่งของท่านอย่างไร
พี่ชายเจเร็ดเป็นคนแรกที่เห็นพระเจ้าหรือไม่
พระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงองค์ต่อศาสดาพยากรณ์ท่านอื่นก่อนพี่ชายของเจเร็ด (ดูตัวอย่างใน โมเสส 7:4, 59) แล้วเหตุใดพระเจ้าตรัสกับเขาว่า “เราไม่เคยแสดงตนแก่มนุษย์” (อีเธอร์ 3:15) เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้คำอธิบายที่เป็นไปได้ดังนี้ “พระคริสต์กำลังตรัสกับพี่ชายของเจเร็ดว่า ‘เราไม่เคยแสดงตนแก่มนุษย์ ในลักษณะนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะความประสงค์ของเราเลย แต่ทั้งหมดเพราะศรัทธาของผู้เห็น’” (Christ and the New Covenant [1997], 23)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
อีเธอร์ 1:34–37
เราเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนให้ผู้อื่น ข้อเหล่านี้แสดงให้เห็นความจริงอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน
อีเธอร์ 2:16–3:6
แบบอย่างของพี่ชายของเจเร็ดสอนอะไรเราเกี่ยวกับวิธีหาคำตอบให้กับปัญหาและคำถามของเรา สมาชิกชั้นเรียนอาจจะแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาแสวงหาและได้รับคำตอบจากพระเจ้า
อีเธอร์ 4:11–12
หลังจากอ่านข้อเหล่านี้ สมาชิกครอบครัวจะจดสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่มีอิทธิพลต่อครอบครัวท่าน (เช่น ภาพยนตร์ เพลง เกม หรือผู้คน) บนแถบกระดาษและใส่ไว้ในชาม จากนั้นพวกเขาจะผลัดกันหยิบขึ้นมาหนึ่งชิ้นและสนทนาว่าสิ่งนั้น “ชักจูง [พวกเขา] ให้ทำดี” หรือไม่ (อีเธอร์ 4:12) ครอบครัวท่านรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจให้เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
อีเธอร์ 5
ท่านจะซ่อนของหรือขนมชิ้นหนึ่งไว้ในกล่องและให้สมาชิกครอบครัวคนหนึ่งมองดูในกล่องและบอกใบ้ให้คนที่เหลือทายว่าคืออะไร ขณะที่ท่านอ่าน อีเธอร์ 5 ด้วยกัน ให้สนทนาว่าเหตุใดจึงสำคัญที่พระเจ้าทรงใช้พยานในงานของพระองค์ เราจะแบ่งปันพยานของเราในพระคัมภีร์มอรมอนกับผู้อื่นได้อย่างไร
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย