“2–8 พฤศจิกายน มอรมอน 7–9: ‘ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“2–8 พฤศจิกายน มอรมอน 7–9” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2020
2–8 พฤศจิกายน
มอรมอน 7–9
“ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า”
มอรมอนและโมโรไนมีศรัทธาว่าบันทึกของพวกเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มีชีวิตอยู่ในยุคสุดท้าย ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 7–9 ให้เขียนความประทับใจที่มาถึงท่านว่าท่านจะประยุกต์ใช้สิ่งที่กำลังเรียนรู้ได้อย่างไร
บันทึกความประทับใจของท่าน
มอรมอนและโมโรไนรู้ว่าการอยู่โดดเดี่ยวในโลกที่ชั่วร้ายนั้นเป็นอย่างไร สำหรับโมโรไนความโดดเดี่ยวต้องสาหัสอย่างยิ่งหลังจากบิดาของเขาสิ้นชีพในสงครามและชาวนีไฟถูกทำลาย “ข้าพเจ้าแม้คงอยู่ผู้เดียว” เขาเขียน “ข้าพเจ้าไม่มีเพื่อนทั้งไม่มีที่จะไป” (มอรมอน 8:3, 5) สถานการณ์อาจดูเหมือนสิ้นหวัง แต่โมโรไนพบความหวังในประจักษ์พยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและความรู้ของเขาที่ว่า “จุดประสงค์อันเป็นนิรันดร์ของพระเจ้าจะดำเนินต่อไป” (มอรมอน 8:22) และโมโรไนรู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอน—บันทึกที่เวลานี้เขากำลังพยายามทำให้เสร็จสมบูรณ์ บันทึกที่วันหนึ่งจะ “ส่องสว่างออกจากความมืด” และนำคนมากมายมา “สู่ความรู้เรื่องพระคริสต์” จะมีบทบาทสำคัญในจุดประสงค์นิรันดร์เหล่านั้น (มอรมอน 8:16; 9:36) ศรัทธาของโมโรไนในคำสัญญาเหล่านี้ทำให้เขาประกาศต่อผู้อ่านพระคัมภีร์เล่มนี้ในอนาคตว่า “ข้าพเจ้าพูดกับท่านราวกับท่านอยู่ต่อหน้า” และ “ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านจะมีถ้อยคำของข้าพเจ้าอยู่กับท่าน” (มอรมอน 8:35; 9:30) เวลานี้เรา มี ถ้อยคำของเขา และงานของพระเจ้า กำลัง ดำเนินต่อไป ส่วนหนึ่งเพราะมอรมอนและโมโรไนซื่อตรงต่อพันธกิจของพวกเขาแม้เมื่อพวกเขาอยู่โดดเดี่ยว
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันต้องเชื่อในพระเยซูคริสต์และ “ยึดมั่น” พระกิตติคุณของพระองค์
ถ้อยคำสุดท้ายที่มอรมอนบันทึกไว้ใน มอรมอน 7 กล่าวกับผู้สืบตระกูลของชาวเลมันในยุคสุดท้าย แต่มีความจริงสำหรับเราทุกคน ข่าวสารของมอรมอนสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ เหตุใดมอรมอนจึงเลือกข่าวสารนี้เพื่อสรุปงานเขียนของเขา
มอรมอน 7:8–10; 8:12–22; 9:31–37
พระคัมภีร์มอรมอนมีค่าใหญ่หลวง
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันถามว่า “ถ้ามีคนมอบเพชรหรือทับทิม หรือ พระคัมภีร์มอรมอนให้ท่าน ท่านจะเลือกอย่างไหน พูดตามตรงคืออย่างไหน มี ค่าต่อท่านมากกว่า” (“พระคัมภีร์มอรมอน: ชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพระคัมภีร์เล่มนี้” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 61)
มอรมอนและโมโรไนรู้ว่าบันทึกที่พวกเขาเก็บรักษาจะมีค่าใหญ่หลวงในสมัยของเรา ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเสียสละมากเพื่อเตรียมและคุ้มครองบันทึก ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 7:8–10; 8:12–22; และ 9:31–37 ให้พิจารณาว่าเหตุใดบันทึกจึงมีค่ามากในสมัยของเรา ท่านหาข้อคิดเพิ่มเติมได้ใน 1 นีไฟ 13:38–41; 2 นีไฟ 3:11–12; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 33:16; 42:12–13 ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านรู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนมีค่าใหญ่หลวง
พระคัมภีร์มอรมอนเขียนเพื่อยุคสมัยของเรา
พระเยซูคริสต์ทรงแสดงให้โมโรไนเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อพระคัมภีร์มอรมอนออกมา (ดู มอรมอน 8:34–35) และสิ่งที่โมโรไนเห็นนำเขาให้คำเตือนอย่างอาจหาญสำหรับยุคสมัยของเรา ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 8:26–41 และ 9:1–30 ให้ไตร่ตรองว่ามีสัญญาณใดในชีวิตท่านที่บ่งบอกเจตคติและการกระทำเหล่านี้หรือไม่ ท่านจะทำอะไรต่างจากนี้
ตัวอย่างเช่น มอรมอน 9:1–30 ประกอบด้วยข่าวสารของมอรมอนต่อการขาดความเชื่อในพระเยซูคริสต์ที่เขาเห็นล่วงหน้าว่าแพร่ไปทั่วในสมัยของเรา ท่านอาจจะบันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากถ้อยคำของเขาเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้:
-
ความสำคัญของการเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าแห่งการเปิดเผยและปาฏิหาริย์ (ข้อ 7–20)
-
คำแนะนำที่โมโรไนให้เรา (ข้อ 21–30)
ท่านเรียนรู้อะไรจากโมโรไนที่สามารถช่วยนำท่านให้เข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
ขณะที่ท่านอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นและสนทนาหลักธรรมใดจึงจะตรงกับความต้องการของครอบครัวท่าน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ
มอรมอน 7:5–7, 10; 9:11–14
ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์และสาเหตุที่เราต้องการพระผู้ช่วยให้รอด
มอรมอน 7:8–10
เราเรียนรู้อะไรในการศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนของเราปีนี้ที่ได้ช่วยเพิ่มพลังความเชื่อของเราในพระคัมภีร์ไบเบิล เพื่อเริ่มการสนทนา ท่านจะอ่านพระคัมภีร์บางข้อด้วยกันจากพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์ไบเบิลที่สอนความจริงคล้ายกัน เช่น แอลมา 7:11–13 และ อิสยาห์ 53:3–5 หรือ 3 นีไฟ 15:16–24 และ ยอห์น 10:16
มอรมอน 8:1–9
การอยู่คนเดียวเหมือนโมโรไนน่าจะรู้สึกอย่างไร อะไรทำให้เราประทับใจเกี่ยวกับงานที่เขาทำสำเร็จ
มอรมอน 8:12, 17–21; 9:31
ท่านอาจจะให้ครอบครัวอ่านข้อเหล่านี้แล้วอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ “ยกเว้นในกรณีของพระบุตรที่ดีพร้อมองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ คนไม่ดีพร้อมคือคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานด้วย … เมื่อท่านเห็นความไม่ดีพร้อม พึงระลึกว่าข้อจำกัดเช่นนั้น ไม่ได้ อยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์ของงานนี้” (“ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 94) เหตุใดการเพ่งเล็งความบกพร่องของผู้อื่น รวมทั้งคนที่เขียนพระคัมภีร์มอรมอนจึงเป็นอันตราย
มอรมอน 8:36–38
การรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราหมายความว่าอย่างไร เหตุใดบางคนจึงอับอายที่จะรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเขา เราจะองอาจในประจักษ์พยานของเราถึงพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร
มอรมอน 9:16–24
ต้องมีส่วนผสมบางอย่างเพื่อทำให้การทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือสูตรอาหารประสบผลสำเร็จ ท่านอาจจะทำการทดลองหรือทำอาหารจานโปรดเป็นครอบครัวก่อนอ่าน มอรมอน 9:16–24 ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ (โดยเฉพาะ ข้อ 20–21) ให้มองหา “ส่วนผสม” จำเป็นที่ทำให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ เราเห็นปาฏิหาริย์อะไรบ้างในโลกรอบตัวและในครอบครัว
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย