2010–2019
ความปรารถนา
เมษายน 2011


2:3

ความปรารถนา

เพื่อบรรลุจุดหมายนิรันดร์ของเรา เราต้องปรารถนาและพยายามมีคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการเป็นสัตภาวะนิรันดร์

ข้าพเจ้าเลือกพูดเรื่องความสำคัญของ ความปรารถนา และหวังว่าเราแต่ละคนจะสำรวจใจตนดูว่าจริงๆ แล้วเราปรารถนาสิ่งใดและเราจัดลำดับความปรารถนาที่สำคัญที่สุดของเราอย่างไร

ความปรารถนาบงการลำดับความสำคัญของเรา ลำดับความสำคัญหล่อหลอมการเลือกของเรา และการเลือกกำหนดการกระทำของเรา ความปรารถนาที่เราทำตามเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงของเรา สิ่งที่เราทำสำเร็จ และสิ่งที่เราจะเป็น

ข้าพจ้าขอพูดถึงความปรารถนาบางประการทั่วไปก่อน ในความเป็นมนุษย์เรามีความต้องการพื้นฐานทางกายบางอย่าง ความปรารถนาที่จะสนองความต้องการเหล่านี้ผลักดันการเลือกของเราและกำหนดการกระทำของเรา สามตัวอย่างต่อไปนี้จะแสดงให้เห็นว่าบางครั้งเราแทนที่ความปรารถนาเหล่านี้ด้วยความปรารถนาอื่นที่เราเห็นว่าสำคัญกว่า

หนึ่ง อาหาร เรามีความต้องการพื้นฐานด้านอาหาร แต่ความปรารถนานั้นแทนที่ได้ชั่วครั้งชั่วคราวด้วยความปรารถนาที่แรงกล้ากว่าซึ่งก็คือการอดอาหาร

สอง ที่หลบภัย สมัยเป็นเด็กอายุ 12 ขวบข้าพเจ้าต้านความปรารถนาจะมีที่หลบภัยเพราะมีความปรารถนาแรงกล้ากว่านั้นคืออยากใช้เวลาค้างคืนในป่าตามข้อกำหนดของลูกเสือ ข้าพเจ้ากลับเป็นหนึ่งในเด็กผู้ชายหลายคนที่ออกจากเต็นท์สุขสบายไปหาวิธีสร้างที่หลบภัยและต่อเตียงแบบง่ายๆ จากวัสดุธรรมชาติที่เราหาได้

สาม การนอนหลับ แม้แต่ความปรารถนาพื้นฐานนี้ก็ยังถูกแทนที่ชั่วคราวได้ด้วยความปรารถนาที่สำคัญกว่า สมัยเป็นทหารหนุ่มในกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิยูทาห์ ข้าพเจ้าเรียนรู้ตัวอย่างเรื่องนี้จากทหารชำนาญศึกนายหนึ่ง

ในช่วงเดือนแรกๆ ของสงครามเกาหลี กองร้อยทหารปืนใหญ่ประจำกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิยูทาห์ริชฟิลด์ถูกเรียกเข้าประจำการ กองร้อยดังกล่าวบัญชาการโดยร้อยเอกเรย์ ค็อกซ์ ประกอบด้วยทหารมอรมอนราว 40 นาย หลังจากฝึกเพิ่มและมีกองหนุนจากที่อื่นมาเสริม พวกเขาถูกส่งไปเกาหลีที่พวกเขาประสบกับการต่อสู้ดุเดือดที่สุดของสงครามคราวนั้น ในการสู้รบครั้งหนึ่งพวกเขาต้องตอบโต้การจู่โจมทันควันของทหารราบฝ่ายตรงข้ามหลายร้อยนาย การโจมตีแบบที่บุกทำลายกองร้อยทหารปืนใหญ่กองอื่น

นี่เกี่ยวอะไรกับการเอาชนะความปรารถนาจะนอนหลับ? ในระหว่างคืนวิกฤติคืนหนึ่งเมื่อทหารราบฝ่ายตรงข้ามเคลื่อนผ่านแนวหน้าเข้ามาในเขตแนวหลังที่มีปืนใหญ่ ร้อยเอกคนนั้นให้ต่อสายโทรศัพท์จากสนามรบเข้ามาในเต็นท์ของเขาและสั่งให้ทหารยามลาดตระเวนจำนวนมากโทรหาเขาโดยตรงทุกชั่วโมงตลอดคืนที่ยาวนานนั้น ทหารยามจึงต้องตื่นตลอดเวลา แต่ก็หมายความว่าร้อยเอกค๊อกซ์ถูกขัดจังหวะการนอนหลายครั้งเช่นกัน “คุณทำได้อย่างไร?” ข้าพเจ้าถามเขา คำตอบของเขาแสดงให้เห็นพลังของความปรารถนาที่เหนือกว่า

“ผมรู้ว่าถ้าเราได้กลับบ้าน ผมจะเจอกับพ่อแม่ของเด็กหนุ่มเหล่านั้นตามท้องถนนในเมืองเล็กๆ ของเรา และผมไม่อยากพบหน้าพวกเขาถ้าลูกชายพวกเขาไม่ได้กลับบ้านเพราะผมไม่ได้ทำตามหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชา”1

นี่คือตัวอย่างของพลังความปรารถนาที่เหนือกว่าในด้านลำดับความสำคัญและการกระทำ! นี่คือแบบอย่างอันทรงพลังสำหรับเราทุกคนผู้รับผิดชอบสวัสดิภาพของผู้อื่น—บิดามารดา ผู้นำในศาสนจักร และครูทุกคน!

ตอนจบของเรื่องนี้คือเช้าตรู่หลังจากคืนที่เขาแทบไม่ได้นอน ร้อยเอกค็อกซ์นำทหารของเขาตีโต้ทหารราบฝ่ายตรงข้าม จับเชลยศึกได้ 800 คน และพวกเขาได้รับบาดเจ็บเพียงสองนาย ค็อกซ์ได้เหรียญกล้าหาญและกองร้อยของเขาได้รับ Presidential Unit Citation [บำเหน็จความดีความชอบจากประธานาธิบดี] สำหรับวีรกรรมอันโดดเด่น และเฉกเช่นทหารหนุ่มของฮีลามัน (ดู แอลมา 57:25–26) ทหารทุกนายได้กลับบ้าน2

พระคัมภีร์มอรมอนมีคำสอนมากมายเกี่ยวกับความสำคัญของความปรารถนา

หลังจากอีนัสทูลวิงวอนพระเจ้าหลายชั่วโมง พระองค์รับสั่งว่าบาปของเขาได้รับการอภัย จากนั้นเขา “เริ่มรู้สึกปรารถนาให้ …, พี่น้อง [ของเขา] มีความผาสุก” (อีนัส 1:9) เขาเขียนว่า “และ … หลังจากข้าพเจ้าได้สวดอ้อนวอนและทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถแล้ว, พระเจ้าตรัสแก่ข้าพเจ้า: เราจะให้เจ้าตามความปรารถนาของเจ้า, เพราะศรัทธาของเจ้า” (ข้อ 12) สังเกตองค์ประกอบสำคัญสามอย่างที่มาก่อนพรที่สัญญาไว้: ความปรารถนา การทำงาน และศรัทธา

ในโอวาทของแอลมาเรื่องศรัทธา เขาสอนว่าศรัทธาสามารถเริ่มต้น “ไม่ได้มากไปกว่า [ความ] ปรารถนาที่จะเชื่อ” ถ้าเราจะ “ให้ความปรารถนานี้เกิดผลในเรา” (แอลมา 32:27)

การสอนครั้งสำคัญอีกครั้งเกี่ยวกับความปรารถนา โดยเฉพาะเกี่ยวกับสิ่งที่ควรเป็นความปรารถนาสูงสุดของเรา เกิดขึ้นในประสบการณ์ของกษัตริย์ชาวเลมันที่ผู้สอนศาสนาชื่อแอรันสอนเขา เมื่อการสอนของแอรันดึงดูดความสนใจของกษัตริย์ กษัตริย์ถามว่า “ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรเพื่อจะเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า” และ “มีชีวิตนิรันดร์?” (แอลมา 22:15) แอรันตอบว่า “หากท่านปรารถนาสิ่งนี้, … หากท่านจะกลับใจจากบาปทั้งหมดของท่าน, และจะน้อมกายลง ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า, และเรียกหาพระนามของพระองค์ด้วยศรัทธา, และเชื่อว่าท่านจะได้รับ, เมื่อนั้นท่านจะได้รับความหวังซึ่งท่านปรารถนา” (ข้อ 16)

กษัตริย์ทำตามและประกาศในการสวดอ้อนวอนอย่างมีพลังว่า “ข้าพระองค์จะทิ้งบาปทั้งหมดของข้าพระองค์เพื่อรู้จักพระองค์, … และได้รับการช่วยให้รอดในวันสุดท้าย” (ข้อ 18) ด้วยการให้คำมั่นและการระบุความปรารถนาสูงสุดของเขา คำสวดอ้อนวอนของเขาได้รับคำตอบอย่างน่าอัศจรรย์

ศาสดาพยากรณ์แอลมามีความปรารถนาแรงกล้าอยากป่าวร้องการกลับใจแก่คนทั้งปวง แต่ท่านเข้าใจว่าท่านไม่ควรปรารถนาจะใช้กำลังบังคับเพราะท่านสรุปว่า “พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเที่ยงธรรม, … ประทานให้มนุษย์ตามความปรารถนาของพวกเขา, ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อความตายหรือเพื่อชีวิต” (แอลมา 29:4) ทำนองเดียวกัน ในการเปิดเผยยุคปัจจุบันพระเจ้าทรงประกาศว่าพระองค์ ”จะพิพากษามนุษย์ทั้งปวงตามงานของพวกเขา, ตามความปรารถนาของใจพวกเขา” (ค&พ. 137:9)

เราพร้อมจริงหรือที่จะให้พระผู้พิพากษานิรันดร์ของเราให้ความสำคัญขนาดนี้กับสิ่งที่เราปรารถนาจริงๆ?

พระคัมภีร์หลายข้อพูดถึงสิ่งที่เราปรารถนาในแง่ของสิ่งที่เราแสวงหา “คนที่แสวงหาเราแต่แรกจะพบเรา, และจะไม่ถูกทอดทิ้ง” (ค&พ. 88:83) “เจ้าจงแสวงหาของประทานที่ดีที่สุดอย่างตั้งใจจริง” (ค&พ. 46:8) “เขาผู้ที่แสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียรจะพบ” (1 นีไฟ 10:19) “จงมาอยู่ใกล้เราและเราจะเข้ามาอยู่ใกล้เจ้า; จงแสวงหาเราอย่างขยันหมั่นเพียรและเจ้าจะได้พบเรา; ขอ, และเจ้าจะได้รับ; เคาะ, และจะเปิดมันให้เจ้า” (ค&พ. 88:63)

การปรับเปลี่ยนความปรารถนาของเราใหม่เพื่อให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องของนิรันดรไม่ใช่เรื่องง่าย เราทุกคนถูกล่อลวงให้ปรารถนาสิ่งทางโลกสี่อย่าง ได้แก่ ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ความภาคภูมิใจ และอำนาจ เราอาจจะปรารถนาสิ่งเหล่านี้ แต่เราไม่ควรกำหนดให้สิ่งดังกล่าวมีความสำคัญสูงสุด

คนที่ความปรารถนาสูงสุดของพวกเขาคือการได้ครอบครองสมบัติพัสถานจะตกหลุมพรางของวัตถุนิยม พวกเขาไม่เอาใจใส่คำเตือนที่ว่า “อย่าแสวงหาความมั่งคั่งหรือสิ่งที่ไร้ประโยชน์ของโลกนี้” (แอลมา 39:14; ดู เจคอบ 2:18 ด้วย)

คนที่ปรารถนาชื่อเสียงหรืออำนาจควรทำตามแบบอย่างของแม่ทัพโมโรไนผู้องอาจกล้าหาญ เขาไม่ได้รับใช้เพื่อ “อำนาจ” หรือเพื่อ “เกียรติยศของโลก” (แอลมา 60:36)

เราพัฒนาความปรารถนาอย่างไร? น้อยคนมีวิกฤตแบบที่ผลักดันแอรอน ราลสตัน3 แต่ประสบการณ์ของเขาให้บทเรียนอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับการพัฒนาความปรารถนา ขณะราลสตันเดินเข้าไปในหุบเขาลึกไกลโพ้นทางใต้ของรัฐยูทาห์ ก้อนหินหนัก 800 ปอนด์ (360 กิโลกรัม) หล่นมาทับแขนขวาของเขา เขาพยายามเอาแขนออกจากก้อนหินอยู่คนเดียวห้าวัน เมื่อเกือบจะยอมแพ้และยอมรับความตาย เขาเห็นภาพเด็กผู้ชายวัยสามขวบกำลังวิ่งมาหาและเขาใช้แขนซ้ายช้อนตัวเด็กขึ้นมา ราลสตันเข้าใจว่านี่เป็นภาพของลูกชายในอนาคตและมั่นใจว่าตนจะยังมีชีวิตอยู่ได้ เขาจึงรวบรวมความกล้าและลงมือช่วยชีวิตตนเองอย่างสุดกำลังก่อนหมดแรง เขาหักกระดูกแขนขวาสองท่อนที่ก้อนหินทับอยู่แล้วใช้มีดพับตัดแขนข้างนั้น จากนั้นก็รวบรวมกำลังเดินไปห้าไมล์ (8 กิโลเมตร) เพื่อขอความช่วยเหลือ4 นี่เป็นตัวอย่างของพลังความปรารถนาอันล้นเหลือ! เมื่อเราเห็นภาพว่าเราสามารถเป็นอะไรได้ ความปรารถนาและพลังของเราที่จะกระทำจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

พวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยประสบวิกฤติร้ายแรงสุดขีดเช่นนี้ แต่เราทุกคนพบเจอหลุมพรางที่อาจขัดขวางไม่ให้เราก้าวหน้าสู่จุดหมายนิรันดร์ ถ้าความปรารถนาอันชอบธรรมของเราแรงกล้าพอ ความปรารถนาเหล่านั้นจะผลักดันเราให้ตัดและเฉือนตัวเองออกจากการเสพติดและแรงกดดันกับความสำคัญอื่นๆ อันเป็นบาป ซึ่งขัดขวางความก้าวหน้านิรันดร์ของเรา

เราควรจดจำว่าความปรารถนาอันชอบธรรมจะตื้นเขิน ชั่ววูบ หรือชั่วคราวไม่ได้ ความปรารถนานั้นต้องจริงใจ เด็ดเดี่ยว และถาวร เมื่อถูกผลักดัน เราจะแสวงหาสภาพที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายไว้ สภาพที่เรา “เอาชนะความชั่วร้ายของ [ชีวิตเรา] และหมดความปรารถนาจะทำบาปทุกอย่าง”5 นั่นเป็นการตัดสินใจส่วนตัว ตามที่เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์กล่าว:

“เมื่อบอกว่าผู้คน ‘หมดความปรารถนาจะทำบาป’ พวกเขา และพวกเขาเท่านั้น ที่ตัดสินใจอย่างรอบคอบว่าจะทำให้ตนหมดความปรารถนาผิดๆ เหล่านั้นโดยยินดี ‘ทิ้งบาปของพวกเขา’ เพื่อจะได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้า”

“ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เราปรารถนาอย่างไม่ลดละ เมื่อเวลาผ่านไป เราจะกลายเป็นสิ่งนั้นในท้ายที่สุดและจะได้รับสิ่งนั้นในนิรันดร”6

การหมดสิ้นความปรารถนาจะทำบาปทุกอย่างเป็นเรื่องสำคัญ แต่ชีวิตนิรันดร์เรียกร้องมากกว่านั้น เพื่อบรรลุจุดหมายนิรันดร์ของเรา เราต้องปรารถนาและดำรงตนให้มีคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการเป็นสัตภาวะนิรันดร์ ตัวอย่างเช่น สัตภาวะนิรันดร์ให้อภัยทุกคนที่ทำผิดต่อพวกเขา พวกเขาให้สวัสดิภาพของผู้อื่นมาก่อนตนเอง พวกเขารักบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า ถ้านี่ดูยากเกินไป—และแน่นอนว่าไม่ง่ายสำหรับเราทุกคน—ขอให้เราเริ่มด้วยความปรารถนาจะมีคุณสมบัติเช่นนั้น และร้องทูล พระบิดาบนสวรรค์ที่รักของเราขอให้ทรงช่วยเราจัดการกับความรู้สึกของเรา พระคัมภีร์มอรมอนสอนเราว่าเราควร “สวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจ, เพื่อ [เรา] จะเปี่ยมด้วยความรักนี้, ซึ่งพระองค์ประทานให้ทุกคนซึ่งเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของพระบุตรของพระองค์, พระเยซูคริสต์”(โมโรไน 7:48)

ข้าพเจ้าทิ้งท้ายด้วยตัวอย่างสุดท้ายของความปรารถนาที่ชายหญิงทุกคนควรให้ความสูงสุด—คนที่ปัจจุบันแต่งงานแล้วและคนที่เป็นโสด ทุกคนควรปรารถนาและจริงจังกับการได้แต่งงานเพื่อนิรันดร คนที่แต่งงานในพระวิหารแล้วควรทำสุดความสามารถเพื่อรักษาการแต่งงานเอาไว้ คนที่เป็นโสดควรปรารถนาจะแต่งงานในพระวิหารและทุ่มเททำสิ่งสำคัญๆ เพื่อให้ได้แต่งงานในพระวิหาร เยาวชนและหนุ่มสาวโสดควรต่อต้านแนวคิดที่ถูกต้องทางการเมืองแต่เป็นเท็จชั่วนิรันดร์ แนวคิดที่ทำลายความสำคัญของการแต่งงานและการมีบุตร7

ชายโสดทั้งหลายได้โปรดพิจารณาคำท้าในจดหมายฉบับนี้ที่เขียนโดยหญิงโสดท่านหนึ่ง เธอวิงวอนแทน “ธิดาที่ชอบธรรมของพระผู้เป็นเจ้าผู้กำลังมองหาคู่ครองที่มีค่าควร แต่ดูเหมือนผู้ชายตาบอดและสับสนว่าการเสาะหาธิดาที่ดีเยี่ยมและยอดเยี่ยมเหล่านี้ของพระบิดาบนสวรรค์ การจีบพวกเธอ และการเต็มใจทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ในพระนิเวศน์ของพระเจ้าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขาหรือไม่” เธอทิ้งท้ายว่า “ชายโสดแอลดีเอสหลายคนที่นี่มีความสุขกับการไปออกเดทเที่ยวเล่นสนุกสาน แต่ไม่มีความปรารถนาจะทำข้อผูกมัดใดๆ กับผู้หญิง”8

ข้าพเจ้าแน่ใจว่าชายหนุ่มบางคนที่ขวนขวายเสาะแสวงหาคงต้องการให้ข้าพเจ้าเสริมว่ามีหญิงสาวบางคนที่มีความปรารถนาจะแต่งงานอย่างมีค่าควรและมีบุตรน้อยกว่าความปรารถนาต่องานอาชีพหรือเกียรติยศชื่อเสียงของมนุษย์ ทั้งชายและหญิงจำเป็นต้องมีความปรารถนาอันชอบธรรมที่จะนำพวกเขาไปสู่ชีวิตนิรันดร์

ขอให้เราจดจำว่าความปรารถนาบงการลำดับความสำคัญของเรา ลำดับความสำคัญหล่อหลอมการเลือกของเรา และการเลือกกำหนดการกระทำของเรา นอกจากนี้การกระทำและความปรารถนาของเรายังทำให้เรากลายเป็นบางอย่างด้วย ไม่ว่าจะเป็นมิตรแท้ ครูที่มีพรสวรรค์ หรือผู้มีคุณสมบัติคู่ควรรับชีวิตนิรันดร์

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ผู้ซึ่งความรัก คำสอน และการชดใช้ของพระองค์ทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ เหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราปรารถนาจะเป็นเหมือนพระองค์ ทั้งนี้เพื่อสักวันหนึ่งเราจะได้กลับไปรับความบริบูรณ์แห่งปีติในที่ประทับของพระองค์ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

  1. เรย์ ค็อกซ์, สัมภาษณ์โดยผู้เขียน, 1 ส.ค. 1985, เมาท์พลีแซนท์ ยูทาห์, ยืนยันสิ่งที่เขาพูดกับข้าพเจ้าในโพรโว ยูทาห์ ราว ค.ศ. 1953.

  2. ดู Richard C. Roberts, Legacy: The History of the Utah National Guard (2003), 307–14; “Self-Propelled Task Force,” National Guardsman, May 1971, ปกหลัง; Miracle at Kapyong: The Story of the 213th (ภาพยนตร์ที่สร้างโดยมหาวิทยาลัยเซาเธิร์นยูทาห์, 2002).

  3. ดู Aron Ralston, Between a Rock and a Hard Place (2004).

  4. Ralston, Between a Rock and a Hard Place, 248.

  5. ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 226.

  6. ดู นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ “ตามความปรารถนาของใจเรา” เลียโฮนา, มกราคม 1997, 22, 24.

  7. ดู จูลี บี. เบ็ค “การสอนหลักคำสอนเรื่องครอบครัว” เลียโฮนา, มีนาคม 2011, 32–37.

  8. จดหมายลงวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2006.