พบปีติผ่านการรับใช้ด้วยความรัก
ขอให้เราแสดงความรักและความซาบซึ้งต่อการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านการุณยธรรมอันเรียบง่ายของการรับใช้ของเรา
พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าหวังว่าท่านที่มาเยือนซอลท์เลคจะมีโอกาสชื่นชมสีสันและกลิ่นหอมของดอกไม้งามยามฤดูใบไม้ผลิรอบเทมเปิลสแควร์
ฤดูใบไม้ผลินำแสงสว่างและชีวิตกลับคืนมา—โดยเตือนเราผ่านวัฏจักรของฤดูกาลให้ระลึกถึงพระชนม์ชีพ การพลีพระชนม์ชีพ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเจ้าและพระผู้ไถ่ของเรา พระเยซูคริสต์ เพราะ “สิ่งทั้งปวง … กล่าวคำพยานถึง [พระองค์]” (โมเสส 6:63)
ตรงข้ามกับฉากหลังที่สวยงามของฤดูใบไม้ผลิและสัญลักษณ์ของความหวังคือโลกของความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความสับสน ข้อเรียกร้องของชีวิตประจำวัน—การศึกษา งานอาชีพ การเลี้ยงดูบุตร การบริหารงานศาสนจักรและการเรียก กิจกรรมทางโลก แม้แต่ความเจ็บปวดและโทมนัสของความป่วยไข้ตลอดจนเรื่องสลดใจที่คาดไม่ถึง—ทำให้เราอ่อนล้าลงได้ เราจะทำให้ตัวเราหลุดพ้นจากการท้าทายอันซับซ้อนของชีวิตและความไม่แน่นอนเพื่อพบสันติสุขในใจและความสุขได้อย่างไร
บ่อยครั้งเราเหมือนพ่อค้าวัยหนุ่มจากบอสตันในปี 1849 ตามเรื่องเล่าบอกว่าเขาถูกดึงเข้าไปพัวพันกับการขุดทองในแคลิฟอร์เนีย เขาขายทรัพย์สินทั้งหมดแล้วไปแสวงโชคในแม่น้ำแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีคนบอกว่าเต็มไปด้วยทองคำก้อนใหญ่มากจนแทบจะแบกไม่ไหว
วันแล้ววันเล่าไม่สิ้นสุด ชายหนุ่มจุ่มตะแกรงร่อนทองลงไปในน้ำและได้แต่ความว่างเปล่า อย่างเดียวที่เขาได้คือก้อนหินกองโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความท้อแท้ทอดอาลัยเขาจึงคิดจะถอนตัวจนกระทั่งวันหนึ่ง นักสำรวจแร่สูงอายุผู้มีประสบการณ์พูดกับเขาว่า “ได้หินกองโตขนาดนั้นเชียวหรือ พ่อหนุ่ม”
ชายหนุ่มตอบว่า “ไม่มีทองเลยครับ ผมกำลังจะกลับบ้าน”
ขณะเดินไปที่หินกองนั้น นักสำรวจแร่พูดว่า “โอ้โห มีทองนี่นา เธอต้องรู้ว่าจะหาได้ที่ไหน” เขาหยิบหินใส่มือสองก้อนแล้วกระทบกัน หินก้อนหนึ่งแตกออกเผยให้เห็นเกล็ดทองประปรายส่องประกายแวววาวในแสงแดด
โดยที่เห็นถุงหนังโป่งพองคาดอยู่ที่เอวนักสำรวจแร่ ชายหนุ่มจึงพูดว่า “ผมกำลังหาทองคำก้อนใหญ่เหมือนที่อยู่ในถุงของคุณน่ะครับ ไม่ใช่เกล็ดเล็กๆ แบบนี้”
นักสำรวจแร่สูงอายุยื่นถุงให้ชายหนุ่มผู้คิดว่าในถุงคงมีทองก้อนโตหลายๆ ก้อน แต่เขาตกใจเมื่อเห็นว่าถุงเต็มไปด้วยเกล็ดทองหลายพันเกล็ด
นักสำรวจแร่สูงอายุบอกว่า “เจ้าลูกชาย ฉันคิดว่าเธอมัวแต่หาทองก้อนใหญ่จนเธอไม่ได้เก็บเกล็ดทองล้ำค่าเหล่านี้ใส่ถุงให้เต็ม การค่อยๆ สะสมเกล็ดเล็กๆ เหล่านี้จะทำให้เธอร่ำรวยมหาศาล”
เรื่องนี้อธิบายความจริงทางวิญญาณที่แอลมาสอนฮีลามันบุตรชายของเขา:
“โดยเรื่องเล็กและเรียบง่ายสิ่งสำคัญจะเกิดขึ้น …
“… และโดยวิธีเล็กๆ น้อยๆ พระเจ้า … ทรงทำให้ความรอดเกิดแก่จิตวิญญาณเป็นอันมาก” (แอลมา 37:6–7)
พี่น้องทั้งหลาย พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เรียบง่ายไม่ว่าเราจะพยายามทำให้ซับซ้อนเพียงใดก็ตาม เราควรพยายามทำให้ชีวิตเราเรียบง่ายเหมือนกัน ไม่ยึดติดกับอิทธิพลนอกกาย แต่จดจ่อกับสิ่งสำคัญที่สุด
อะไรคือสิ่งเรียบง่ายและมีค่าของพระกิตติคุณที่นำความชัดเจนและจุดประสงค์มาสู่ชีวิตเรา อะไรคือเกล็ดทองพระกิตติคุณที่การค่อยๆ สั่งสมตามครรลองของชีวิตเราจะให้ผลตอบแทนเป็นสมบัติล้ำค่า—ของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์
ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีหลักธรรมอันเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง—แม้บริสุทธิ์—ประการหนึ่งซึ่งครอบคลุมทั้งหมดในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ถ้าเราน้อมรับหลักธรรมนี้สุดหัวใจและทำให้เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตเรา หลักธรรมดังกล่าวจะชำระเราและทำให้เราบริสุทธิ์จนเราสามารถอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าได้อีกครั้ง
พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงหลักธรรมนี้เมื่อพระองค์ทรงตอบฟาริสีคนหนึ่งที่ทูลถามว่า “อาจารย์เจ้าข้า ในธรรมบัญญัตินั้นข้อใดสำคัญที่สุด
“พระเยซูทรงตอบเขาว่า จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า
“นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อใหญ่และข้อต้น
“ข้อที่สองก็เหมือนกันคือจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:36–40)
ต่อเมื่อเรารักพระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์สุดจิตสุดใจและสิ้นสุดความคิดของเราเท่านั้นเราจึงจะสามารถแบ่งปันความรักของเรากับเพื่อนบ้านผ่านการกระทำจากความเมตตาและการรับใช้—ซึ่งเป็นวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงรักและรับใช้เราทุกคนถ้าพระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางเราเวลานี้
เมื่อความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์—หรือจิตกุศล—ห่อหุ้มเรา เราจะคิด รู้สึก และกระทำเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูจะทรงคิด รู้สึก และกระทำมากขึ้น แรงจูงใจและความปรารถนาจากส่วนลึกของใจเราจะเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงแบ่งปันความปรารถนานี้กับอัครสาวกในคืนก่อนการตรึงกางเขน พระองค์ตรัสว่า:
“เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย คือให้เจ้ารักซึ่งกันและกัน [ดังเรารักเจ้า] … …
“ถ้าเจ้าทั้งหลายรักกันและกัน ดังนี้แหละคนทั้งปวงก็จะรู้ได้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:34–35)
ความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสไว้นั้นเป็นความรักเชิงปฏิบัติ ไม่ประจักษ์ผ่านวีรกรรมและการกระทำใหญ่โต แต่ผ่านการกระทำอันเรียบง่ายจากความเมตตาและการรับใช้
มีหลากหลายวิธีและสภาวการณ์ที่เราสามารถรับใช้และรักผู้อื่น ข้าพเจ้าขอแนะนำสักสองสามวิธี
หนึ่ง จิตกุศลเริ่มที่บ้าน หลักธรรมสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ควรปกครองบ้านทุกหลังคือการปฏิบัติกฎทองคำ—พระดำรัสเตือนของพระเจ้าที่ว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน” (มัทธิว 7:12) ลองสมมุติดูสักครู่ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าท่านเป็นฝ่ายได้รับคำพูดหรือการกระทำที่ขาดความยั้งคิด โดยแบบอย่างของเราขอให้เราสอนสมาชิกครอบครัวให้รักกันและกัน
อีกที่หนึ่งที่เรามีโอกาสมากมายให้รับใช้คือในศาสนจักร วอร์ดและสาขาของเราควรเป็นสถานที่ซึ่งกฎทองคำชี้นำคำพูดและการกระทำที่เรามีต่อกันอยู่เสมอ การปฏิบัติต่อกันอย่างเมตตา พูดจาสนับสนุนและให้กำลังใจกัน มีความละเอียดอ่อนต่อความต้องการของกันและกันจะทำให้เราสร้างความรักความปรองดองในหมู่สมาชิกวอร์ด ที่ใดมีจิตกุศล ที่นั่นย่อมไม่มีการซุบซิบนินทาหรือวาจาจ้วงจาบ
สมาชิกวอร์ด ทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน สามารถเป็นหนึ่งเดียวในการรับใช้เพื่อเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่น เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เอ็ลเดอร์มาร์คัส บี. แนช แห่งสาวกเจ็ดสิบ ประธานภาคตะวันตกเฉียงเหนือ อเมริกาใต้ รายงานว่า โดยการมอบหมายให้ “ผู้เข้มแข็งทางวิญญาณไปหาผู้อ่อนแอ” พวกเขากำลังช่วยเยาวชนและผู้ใหญ่ที่แข็งขันน้อยหลายร้อยคน โดยผ่านความรักและการรับใช้ “ทีละคน” พวกเขากำลังกลับมา การกระทำจากความเมตตาเหล่านี้สร้างสายสัมพันธ์อันแนบแน่นและยั่งยืนในหมู่คนที่เกี่ยวข้อง—ทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้รับความช่วยเหลือ ความทรงจำอันล้ำค่ามากมายล้วนเกี่ยวข้องกับการรับใช้เช่นนั้น
เมื่อข้าพเจ้านึกถึงหลายปีที่ข้าพเจ้าบริหารงานศาสนจักร ความทรงจำลึกซึ้งที่สุดบางอย่างของข้าพเจ้าคือเวลาที่ข้าพเจ้ากับสมาชิกวอร์ดร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือคนบางคน
ตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าจำได้สมัยเป็นอธิการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่สมาชิกวอร์ดที่แข็งขันหลายคนขณะทำความสะอาดหลุมอาหารหมักที่ฟาร์มสวัสดิการของสเตค งานนี้ไม่น่าอภิรมย์เลย! บราเดอร์ที่แข็งขันน้อยคนหนึ่งไม่ได้มาโบสถ์หลายปีแล้วรับคำเชื้อเชิญให้มาช่วยเรา เพราะความรักและการผูกมิตรที่เขารู้สึกได้ขณะทำงานและคุยกันในหลุมอาหารหมักเหม็นๆ เขาจึงกลับมาโบสถ์และต่อมาได้รับการผนึกในพระวิหารกับภรรยาและลูกๆ การผูกมิตรของเราผ่านการรับใช้เป็นพรแก่ลูก หลาน และเหลนของเขาเวลานี้ หลายคนรับใช้งานเผยแผ่ แต่งงานในพระวิหาร และกำลังเลี้ยงดูครอบครัวนิรันดร์—งานสำคัญยิ่งเกิดจากการกระทำอันเรียบง่าย เกล็ดทองเล็กๆ หนึ่งเกล็ด
ส่วนที่สามที่เราสามารถรับใช้อยู่ในชุมชนของเรา เราสามารถแสดงน้ำใจต่อคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราได้เมื่อเราแสดงความรักและความห่วงใยด้วยความบริสุทธิ์ใจ หลายท่านสวมเสื้อยืด มือที่ช่วยเหลือ และทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อบรรเทาทุกข์และปรับปรุงชุมชนของท่าน หนุ่มสาวโสดในสเตคเซนได ประเทศญี่ปุ่นบำเพ็ญประโยชน์อันประมาณค่ามิได้ในการค้นหาสมาชิกหลังเกิดมหันตภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ มีวิธีการนับไม่ถ้วนให้รับใช้
เราผูกมิตรกับคนที่เรารับใช้โดยผ่านความเมตตาและการรับใช้ที่จริงใจ มิตรภาพเหล่านี้จะทำให้พวกเขาเข้าใจการอุทิศตนที่เรามีต่อพระกิตติคุณมากขึ้น และปรารถนาจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรามากขึ้น
เพื่อนที่ดีของข้าพเจ้า เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินผู้ล่วงลับ พูดถึงพลังของหลักธรรมนี้เมื่อท่านกล่าวว่า “ความเมตตาคือเนื้อแท้ของความยิ่งใหญ่ … คือหนังสือเดินทางที่เปิดประตูและสร้างมิตรสหาย ทำให้จิตใจอ่อนโยนและหล่อหลอมมิตรภาพที่สามารถดำรงอยู่ชั่วชีวิต” (“คุณธรรมแห่งความเมตตา” เลียโฮนา พ.ค. 2005 หน้า 33)
อีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถรับใช้ลูกๆ ของพระบิดาบนสวรรค์คือผ่านการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา—ไม่เพียงเป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาเท่านั้นแต่เป็นมิตรสหายและเพื่อนบ้านด้วย ความเจริญของศาสนจักรในอนาคตจะไม่เกิดขึ้นเพียงเพราะไปเคาะประตูบ้านคนแปลกหน้า แต่จะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิก พร้อมด้วยผู้สอนศาสนาของเรา เปี่ยมด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์ เล็งเห็นความต้องการและตอบสนองความต้องการเหล่านั้นในวิญญาณของการรับใช้ด้วยจิตกุศล
เมื่อเราทำเช่นนี้ พี่น้องทั้งหลาย คนใจซื่อสัตย์จะรู้สึกถึงความจริงใจและความรักของเรา หลายคนจะอยากรู้จักเรามากขึ้น จากนั้นศาสนจักรจะแผ่ขยายจนเต็มแผ่นดินโลก ลำพังผู้สอนศาสนาไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความสนใจและการรับใช้ของสมาชิกทุกคนด้วย
ในการรับใช้ทั้งหมดของเรานั้น เราต้องรู้สึกไวต่อการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ สุรเสียงสงบแผ่วเบาจะบอกให้เรารู้ว่าใครต้องการความช่วยเหลือและเราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า “สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะรับใช้กันในอาณาจักร …บ่อยครั้งการรับใช้ของเราเป็นการให้กำลังใจธรรมดาๆ …ช่วยทำงานง่ายๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ …จากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ แต่ตั้งใจนั้นน่าชื่นชมยินดียิ่งนัก!” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ [2006] หน้า 90)
ประธานโธมัส เอส. มอนสันแนะนำดังนี้
“ความต้องการของผู้อื่นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราทุกคนสามารถทำบางอย่างเพื่อช่วยใครสักคน
“… จนกว่าเราจะไม่นึกถึงตนเองในการรับใช้ผู้อื่น ชีวิตเราก็จะมีความหมายขึ้นมาบ้าง” (“วันนี้ฉันทำอะไรให้ใครบ้าง” เลียโฮนา พ.ย. 2009 หน้า 103, 104)
พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่าคุณลักษณะสำคัญที่สุดของพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ที่เราควรปรารถนาและพยายามให้มีอยู่ในตัวเราคือของประทานแห่งจิตกุศล “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (โมโรไน 7:47) ของประทานดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถรักและรับใช้ผู้อื่นเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดได้
ศาสดาพยากรณ์มอรมอนสอนเราถึงความสำคัญสูงสุดแห่งของประทานนี้และบอกเราว่าเราจะได้มาอย่างไร: “ดังนั้น, พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า, จงสวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจ, เพื่อท่านจะเปี่ยมด้วยความรักนี้, ซึ่งพระองค์ประทานให้ทุกคนซึ่งเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของพระบุตรของพระองค์, พระเยซูคริสต์, เพื่อท่านจะกลับกลายเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า; เพื่อว่าเมื่อพระองค์จะเสด็จมาปรากฏ เราจะเป็นเหมือนพระองค์, เพราะเราจะเห็นพระองค์ดังที่พระองค์ทรงดำรงอยู่; เพื่อเราจะมีความหวังนี้; เพื่อพระองค์จะทรงทำให้เราบริสุทธิ์แม้ดังที่พระองค์ทรงบริสุทธิ์” (โมโรไน 7:48)
สิ่งสำคัญยิ่งเกิดขึ้นโดยเรื่องเรียบง่ายและเล็ก เฉกเช่นทองเกล็ดเล็กๆ ที่สั่งสมตามกาลเวลาจนเป็นสมบัติก้อนโต การกระทำเล็กๆ น้อยๆ และเรียบง่ายจากความเมตตาและการรับใช้จะสั่งสมในชีวิตเราจนเราเปี่ยมด้วยความรักที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์ การอุทิศตนต่องานของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ความรู้สึกสงบและปีติจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราแสดงน้ำใจต่อกัน
ขณะใกล้ถึงเทศกาลอีสเตอร์ ขอให้เราแสดงความรักและความซาบซึ้งต่อการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านการุณยธรรมอันเรียบง่ายของการรับใช้พี่น้องชายหญิงของเราที่บ้าน ที่โบสถ์ และในชุมชนของเรา ข้าพเจ้าน้อมสวดอ้อนวอนเพื่อสิ่งนี้ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน