“จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”
ความมีเมตตาสามารถนำปีติและความเป็นหนึ่งเดียวมาสู่บ้านของท่าน ห้องเรียนของท่าน วอร์ดของท่าน และโรงเรียนของท่าน
ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันเรียนรู้บทเรียนสำคัญจากกุลสตรีคนหนึ่งที่เป็นผู้พูดเยาวชนในวอร์ดดิฉัน ดิฉันประทับใจเมื่อเธอสอนและเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ด้วยความเชื่อมั่น เธอจบการพูดด้วยข้อความว่า “เมื่อฉันทำให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิต ชีวิตฉันราบรื่นขึ้น ฉันมีความโอบอ้อมอารีต่อคนที่ฉันรักมากขึ้น และฉันเต็มไปด้วยปีติ”
ดิฉันสังเกตเยาวชนหญิงคนนี้อยู่ห่างๆ ตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา เธอทักทายทุกคนด้วยแววตาเปล่งประกายและรอยยิ้มบนใบหน้า ดิฉันเฝ้ามองเธอยินดีกับความสำเร็จของเยาวชนคนอื่นๆ ยุวนารีสองคนรายงานดิฉันว่าเยาวชนหญิงคนนี้ตัดสินใจยกเลิกบัตรชมภาพยนตร์เมื่อเธอรู้ว่านั่นจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่เป็น “คุณธรรมและงดงาม”1 เธอมีความรัก โอบอ้อมอารี และเชื่อฟัง เธอมาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่ตัวคนเดียว และชีวิตเธอประสบการท้าทายมาโดยตลอด ดิฉันจึงสงสัยมาโดยตลอดว่าเธอรักษาวิญญาณที่มีความสุขและอ่อนโยนของเธอด้วยวิธีใด แต่เมื่อเยาวชนหญิงคนนี้กล่าวคำพยานว่า “ฉันให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิต” ดิฉันจึงได้รับคำตอบ
“เราเชื่อในการเป็นคนซื่อสัตย์, แน่วแน่, บริสุทธิ์, มีเมตตา, มีคุณธรรม, และในการทำดีต่อมนุษย์ทั้งปวง” รายการที่เขียนไว้อย่างไพเราะของคุณลักษณะแบบพระคริสต์ในหลักแห่งความเชื่อข้อสิบสามนี้จะเตรียมเราให้พร้อมรับพรพระวิหารและชีวิตนิรันดร์
ดิฉันต้องการมุ่งเน้นคำหนึ่งในคำเหล่านี้—นั่นคือคำว่า มีเมตตามีเมตตา (Benevolent) เป็นคำไพเราะที่เราไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินแปลว่า “ปรารถนาดีต่อผู้อื่น”2 การมีเมตตาคือมีความโอบอ้อมอารี มีเจตนาดี และมีจิตกุศล หลายท่านเรียนรู้แนวคิดเกี่ยวกับความมีเมตตาสมัยอยู่ในปฐมวัยและจำเพลงนี้ได้ขึ้นใจ
ฉันจะเมตตาต่อผู้คนถ้วนหน้า
เพราะว่านั่นเป็นสิ่งดี
ฉันพูดกับตัวเองว่า “จำไว้ให้ดี
ความเมตตาเริ่มที่เรา”3
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเราเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างมีเมตตา พระเยซูทรงรักทุกคนและทรงรับใช้ทุกคน การทำให้ชีวิตเรามีศูนย์กลางที่พระเยซูคริสต์จะช่วยให้เรามีคุณลักษณะแห่งความเมตตา เพื่อให้เราพัฒนาคุณสมบัติแบบพระคริสต์เช่นเดียวกันนี้ เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและ “ดำเนินในวิถีของพระองค์”4
จากคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีเราเรียนรู้ว่าเราต้องรักทุกคน เรื่องราวเริ่มต้นในลูกาบทที่ 10 เมื่อบาเรียนคนหนึ่งทูลถามพระผู้ช่วยให้รอดว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์”
คำตอบคือ “จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของเจ้า ด้วยสุดกำลังและสิ้นสุดความคิดของเจ้า และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”
บาเรียนคนนั้นจึงทูลถามต่อว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” นั่นเป็นคำถามน่าสนใจที่บาเรียนคนหนึ่งจะถาม เนื่องจากชาวยิวมีเพื่อนบ้านอยู่ทางเหนือคือชาวสะมาเรียซึ่งพวกเขาไม่ชอบอย่างมากถึงขนาดที่เมื่อต้องเดินทางจากเยรูซาเล็มไปกาลิลี พวกเขายอมเดินไกลขึ้นเพื่อผ่านไปทางหุบเขาจอร์แดนโดยไม่เดินผ่านเมืองสะมาเรีย
พระเยซูทรงตอบคำถามของบาเรียนโดยทรงเล่าคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี ดังนี้
“มีชายคนหนึ่งลงไปจากกรุงเยรูซาเล็มจะไปยังเมืองเยรีโค และเขาถูกพวกโจรปล้น โจรนั้นได้แย่งชิงเสื้อผ้าของเขาและทุบตี แล้วก็ละทิ้งเขาไว้เกือบจะตายแล้ว …
“แต่ชาวสะมาเรียคนหนึ่ง เมื่อเดินทางมาถึงคนนั้น ครั้นเห็นแล้วก็มีใจเมตตา
“เข้าไปหาเขาเอาผ้าพันบาดแผลให้พลางเอาน้ำมันกับเหล้าองุ่นเทใส่บาดแผลนั้น แล้วให้เขาขึ้นขี่สัตว์ของตนเอง พามาถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง และรักษาพยาบาลเขาไว้
“วันรุ่งขึ้นเมื่อจะไป เขาก็เอาเงินสองเดนาริอันมอบให้เจ้าของโรงแรม บอกว่า จงรักษาเขาไว้เถิด และเงินที่จะเสียเกินนี้ เมื่อกลับมาฉันจะใช้ให้”5
แตกต่างจากปุโรหิตชาวยิวและชาวเลวีที่เดินผ่านชายบาดเจ็บชนชาติเดียวกัน ชาวสะมาเรียคนนี้มีความโอบอ้อมอารีโดยไม่สนใจความแตกต่าง เขาแสดงออกถึงคุณลักษณะของความมีเมตตาแบบพระคริสต์ พระเยซูทรงสอนเราผ่านเรื่องนี้ว่าทุกคนคือเพื่อนบ้านของเรา
เมื่อไม่นานมานี้ที่ปรึกษาคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเล่าประสบการณ์ที่สอนว่าเพื่อนบ้านแต่ละคนสำคัญเพียงใด ขณะมองไปยังผู้เข้าร่วมประชุม เขาเห็นเด็กคนหนึ่งถือกล่องสีเทียนบรรจุสีเทียนหลากหลายสี เมื่อมองไปที่สมาชิกหลายคนในวอร์ด ทำให้เขานึกได้ว่าสมาชิกเหล่านั้นเหมือนกับสีเทียน พวกเขาดูคล้ายกัน ทว่าแต่ละคนมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว
เขากล่าวว่า “เฉดสีที่สมาชิกนำมาสู่วอร์ดและโลกนี้เป็นเฉดสีของแต่ละคนล้วนๆ ทุกคนมีความเข้มแข็งและความอ่อนแอของตนเอง มีความปรารถนาและความฝันส่วนตัว แต่เมื่อมาอยู่รวมกันสมาชิกเหล่านั้นผสมกลมกลืนเป็นวงล้อสีเดียวในความเป็นหนึ่งเดียวทางวิญญาณ …
“ความเป็นหนึ่งเดียวคือคุณสมบัติทางวิญญาณอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกอันหอมหวานแห่งสันติสุขและจุดประสงค์อันมาจากการเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว … คือการต้องการให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดีที่สุดมากเท่ากับที่ตนเองต้องการ … คือการรู้ว่าไม่มีใครมาทำอันตรายคุณได้ [นั่นหมายความว่าคุณจะไม่มีวันโดดเดี่ยว]”6
เราสร้างความเป็นหนึ่งเดียวดังกล่าวและแบ่งปันสีเฉพาะตัวของเราผ่านความมีเมตตา อันได้แก่ การแสดงความโอบอ้อมอารีของแต่ละคน
ท่านเคยรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่ ท่านสังเกตเห็นคนโดดเดี่ยวที่กำลังอยู่ในความทุกข์โศกหรือไม่ เยาวชนหญิงทั้งหลาย ดิฉันเฝ้ามองขณะท่านนำสีเฉพาะตัวของท่านเข้าไปเติมสีสันให้ชีวิตผู้อื่นด้วยรอยยิ้ม คำพูดอ่อนหวาน หรือข้อความให้กำลังใจ
ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนเราถึงวิธีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนของเราและทุกคนที่เราพบเมื่อท่านบอกเยาวชนหญิงของศาสนจักรว่า “เยาวชนหญิงทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอร้องท่านให้กล้าที่จะเลิกตัดสินและวิพากษ์ตำหนิคนรอบข้าง กล้าให้ทุกคนเข้ากลุ่ม ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นที่รักและมีคุณค่า”7
เราสามารถทำตามแบบอย่างของชาวสะมาเรียผู้ใจดีและ “เปลี่ยนโลก” ของคนเพียงหนึ่งคนด้วยการเป็นคนมีเมตตา8 ดิฉันขอเชื้อเชิญให้ท่านแต่ละคนกระทำแบบชาวสะมาเรียอย่างน้อยหนึ่งอย่างในสัปดาห์หน้า ท่านอาจต้องเอื้อมออกไปหาคนอื่นๆ นอกเหนือจากเพื่อนที่คบหาตามปกติ หรือเอาชนะความเขินอายของท่าน ท่านอาจใช้ความกล้าหาญเลือกรับใช้คนที่ปฏิบัติไม่ดีต่อท่าน ดิฉันสัญญาว่าหากท่านจะทำนอกเหนือจากสิ่งที่ทำง่ายๆ ท่านจะรู้สึกดีมากในใจที่ความโอบอ้อมอารีจะเริ่มเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของท่าน ท่านจะเห็นว่าความมีเมตตาสามารถนำปีติและความเป็นหนึ่งเดียวมาสู่บ้านของท่าน ห้องเรียนของท่าน วอร์ดของท่าน และโรงเรียนของท่าน “จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”
พระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงทรงรักทุกคนเท่านั้น พระองค์ทรงรับใช้ทุกคนด้วย จงขยายคุณความดีของท่านออกไปสู่คนมากมาย คนทุกรุ่นทุกวัยสามารถได้รับพรจากการรับใช้ที่โอบอ้อมอารีของท่าน ตั้งแต่สมัยประธานมอนสันยังเป็นเด็กหนุ่ม ท่านมีที่พิเศษในใจแก่ผู้สูงวัยเสมอ ท่านตระหนักถึงคุณค่าของการแวะไปเยี่ยม การยิ้มแย้มหรือการบีบมือบอบบาง เหี่ยวย่น การกระทำอันเรียบง่ายที่แสดงถึงจิตกุศลเช่นนั้นนำสีสันมาสู่ชีวิตหนึ่งที่บางครั้งอยู่ในวันเวลาแห่งความเศร้าหมองที่โดดเดี่ยวและยาวนาน ดิฉันขอเชื้อเชิญให้ท่านแต่ละคนเอาใจใส่ปู่ย่าตายายของท่านและผู้สูงวัย มองไปรอบๆ ที่โบสถ์ในวันพรุ่งนี้และหาผู้ที่ท่านจะเติมสีของท่านในชีวิตพวกเขาได้ ท่านไม่ต้องทำอะไรมาก---เพียงแต่เรียกชื่อทักทาย พูดคุยสั้นๆ และคอยช่วยเหลือ ท่านอาจเปิดประตูให้หรือขอไปช่วยงานบ้านหรือทำสวน งานซึ่งท่านที่อายุยังน้อยคิดว่าเป็นงานง่ายๆ อาจเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับคนสูงอายุก็ได้ “จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”
บางครั้งการมีเมตตาเป็นเรื่องยากที่สุดในครอบครัวเราเอง ครอบครัวจะเข้มแข็งต้องใช้ความพยายาม “จงร่าเริง ช่วยเหลือ และนึกถึงผู้อื่น ปัญหามากมายภายในบ้านเกิดขึ้นเพราะสมาชิกในครอบครัวพูดและกระทำอย่างเห็นแก่ตัวหรือไร้ความเมตตา จงเอาใจใส่กับความต้องการของสมาชิกคนอื่นๆ ของครอบครัว แสวงหาที่จะเป็นผู้สร้างสันติแทนที่จะเยาะเย้ย ลงไม้ลงมือ และทะเลาะเบาะแว้ง”9 “จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”
พระเยซูทรงรักเด็กๆ ทรงอุ้มพวกเขา และทรงให้พรพวกเขา10 เฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด ท่านสามารถเป็นพรแก่เด็กทุกคนได้ด้วยความโอบอ้อมอารีของท่านเช่นกัน ไม่เพียงเฉพาะเด็กๆ ในบ้านท่านเท่านั้น
ท่านอาจไม่รู้ว่าชีวิตและแบบอย่างของท่านจะส่งผลต่อเด็กเล็กๆ อย่างไร ดิฉันเพิ่งได้รับข้อความจากเพื่อนคนหนึ่งที่ดูแลศูนย์รับเลี้ยงเด็กในโรงเรียนมัธยมปลายของท้องที่ ในโรงเรียนมัธยมปลายนี้มีเยาวชนชายหญิงหลายคนเป็นสมาชิกของศาสนจักร เธอเล่าประสบการณ์ให้ดิฉันฟังดังนี้ “ขณะเดินผ่านห้องโถงกับเด็กเล็กๆ ดิฉันรู้สึกดีที่ได้เห็นฝาประตูล็อคเกอร์ด้านในหลายบานมีรูปพระเยซูหรือรูปพระวิหารติดอยู่ เด็กคนหนึ่งเห็นรูปพระเยซูติดอยู่ฝาประตูล็อคเกอร์ที่เปิดอยู่ [ของเยาวชนหญิง] และพูดว่า ‘ดูนั่นสิ พระเยซูอยู่ที่โรงเรียนเราด้วย!’ นักเรียนคนนั้นน้ำตาคลอเมื่อเธอก้มลงกอดเด็ก ดิฉันขอบคุณเยาวชนหญิงคนนั้นสำหรับแบบอย่างที่ดีต่อคนรอบข้างเธอ ช่างเชิดชูจิตวิญญาณที่รู้ว่ามีเยาวชนมากมายที่พยายามยืนหยัดเพื่อความจริงและความชอบธรรม ทำส่วนของตนเองที่จะอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชีวิต แม้ว่าบางครั้งจะเป็นเรื่องยากเมื่อมีเสียงรบกวนและความรุนแรงในโลกรอบตัว เรามีเยาวชนที่ยอดเยี่ยมจำนวนหนึ่งในศาสนจักร”
ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง! เยาวชนหญิงทั้งหลาย ท่าน กำลังเปลี่ยนแปลงโลกโดยให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิตท่าน ท่านกำลัง “เป็นสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้ท่านเป็น”11
ขอบคุณที่ท่านดำเนินชีวิตอย่างมีเมตตา ไม่ว่าจะเป็นการให้คนที่แตกต่างจากเราเข้ากลุ่มด้วย ความโอบอ้อมอารีที่ท่านมีต่อเพื่อน ผู้สูงวัย ครอบครัวของท่าน และเด็กๆ การที่ท่านเป็นเพื่อนบ้านให้แก่ผู้โดดเดี่ยวและผู้ที่เผชิญการท้าทายและความปวดร้าว เมื่อท่านมีเมตตา ท่านกำลัง “ชี้ทางให้ผู้อื่นไปสู่ความสว่างของพระผู้ช่วยให้รอด”12 ขอบคุณที่ท่านระลึกว่า “ความเมตตาเริ่มที่เรา”
ดิฉันรู้ว่าประธานโธมัส เอส. มอนสันเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ชีวิตท่านเป็นต้นแบบของความมีเมตตาที่เราเรียนรู้จากท่านได้ จงทำตามศาสดาพยากรณ์ เรียนรู้จากแบบอย่างของท่านและฟังคำพูดของท่าน ดิฉันเชื่อในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และรู้ว่าโดยผ่านโจเซฟ สมิธ ฐานะปุโรหิตได้รับการฟื้นฟูสู่แผ่นดินโลก
ดิฉันรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์และทรงรักเราทุกคน พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อทุกคน ดิฉันสวดอ้อนวอนขอให้เรามีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิตและ “ดำเนินตามวิถีของพระองค์” โดยรักและรับใช้กัน13 โดยการทำเช่นนี้ ดิฉันรู้ว่าเราจะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นเพราะ “เราเชื่อในการเป็นคน … มีเมตตา”14 ดิฉันเป็นพยานถึงสิ่งนี้ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน