“เรารักผู้ใดเราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น”
ประสบการณ์ที่เราทนรับการตีสอนนั้นสามารถขัดเกลาและเตรียมเราให้พร้อมรับสิทธิพิเศษทางวิญญาณที่สำคัญยิ่งขึ้น
พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่มีความคาดหวังสูง ความคาดหวังที่พระองค์ทรงมีต่อเราตรัสไว้โดยพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ในพระดำรัสนี้ “เราอยากให้เจ้าดีพร้อมแม้ดังเรา, หรือพระบิดาของเจ้าผู้ทรงสถิตอยู่ในสวรรค์ทรงดีพร้อม” (3 นีไฟ 12:48) พระองค์ทรงวางแผนที่จะทำให้เราบริสุทธิ์เพื่อให้เรา “ทนรัศมีภาพซีเลสเชียล” (คพ. 88:22) และ “พำนักในที่ประทับของพระองค์” ได้ (โมเสส 6:57) พระองค์ทรงทราบว่าสิ่งนั้นเรียกร้องอะไร และเพื่อทำให้การเปลี่ยนสภาพของเราอยู่ในวิสัยที่ทำได้ พระองค์จึงประทานพระบัญญัติและพันธสัญญาของพระองค์ ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และที่สำคัญที่สุดคือการชดใช้และการฟื้นคืนชีวิตของพระบุตรที่รักของพระองค์
ในทั้งหมดนี้ พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าคือให้เราซึ่งเป็นบุตรธิดาของพระองค์สามารถได้รับปีติสูงสุด ได้อยู่กับพระองค์ชั่วนิรันดร์ และเป็นแม้ดังเช่นพระองค์ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์อธิบายว่า “การพิพากษาครั้งสุดท้ายไม่เพียงเป็นการประเมินความดีความชั่วทั้งหมด—หรือสิ่งที่เรา ทำเท่านั้น แต่เป็นการยอมรับผลในบั้นปลายของการกระทำและความคิด—หรือสิ่งที่เรา เป็น การกระทำด้วยการแสดงออกแต่เพียงภายนอกจึงยังไม่พอ พระบัญญัติ ศาสนพิธี และพันธสัญญาแห่งพระกิตติคุณมิใช่รายการเงินฝากที่ต้องฝากไว้ในบัญชีสวรรค์ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์คือแผนซึ่งแสดงให้เราเห็นวิธีที่จะเป็นอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้เราเป็น”1
น่าเศร้าที่ชาวคริสต์สมัยใหม่จำนวนมากไม่ยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกร้องอย่างมากจากผู้ที่เชื่อในพระองค์ และมองพระองค์ค่อนไปทางคนรับใช้ “ที่เรียกใช้ได้ทุกเมื่อ” หรือนักบำบัดซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้คน “รู้สึกดีเกี่ยวกับตนเอง”2 มุมมองทางศาสนานั่นเองที่ “ไม่ได้เสแสร้งเปลี่ยนแปลงชีวิต”3 “ตรงกันข้าม” ดังที่นักเขียนคนหนึ่งประกาศ “พระผู้เป็นเจ้าซึ่งปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ทั้งของชาวคริสต์และชาวฮีบรูมิได้ทรงขอเพียงการผูกมัดตนเท่านั้น แต่ทรงขอชีวิตของเรา พระผู้เป็นเจ้าแห่งพระคัมภีร์ไบเบิลทรงจัดการเรื่องของชีวิตและความตาย หาใช่เรื่องสวยงามไม่ และทรงเรียกร้องความรักที่เสียสละ มิใช่อะไรก็ได้ครึ่งๆ กลางๆ”4
ข้าพเจ้าต้องการพูดถึงเจตคติและวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เราต้องมีหากเราต้องทำให้ได้ตามความคาดหวังสูงของพระบิดาบนสวรรค์ นั่นคือ การเต็มใจยอมรับและแม้กระทั่งพยายามแก้ไข การแก้ไขสำคัญอย่างยิ่งหากเราจะปรับชีวิตให้สอดคล้อง “ตามการเป็นมนุษย์ที่ดีพร้อม [นั่นคือ] ตามระดับขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์” (เอเฟซัส 4:13) เปาโลพูดถึงการแก้ไขหรือการตีสอนจากเบื้องบนว่า “เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตีสอนผู้ที่พระองค์ทรงรัก” (ฮีบรู 12:6) แม้ว่าสิ่งนี้มักจะเป็นเรื่องยากที่จะอดทน แต่อันที่จริง เราควรดีใจที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นว่าเราคุ้มค่ากับเวลาและความยุ่งยากที่พระองค์จะทรงแก้ไขเรา
การตีสอนจากเบื้องบนมีจุดประสงค์อย่างน้อยสามประการ คือ (1) ชักชวนให้เรากลับใจ (2) ขัดเกลาและชำระเราให้บริสุทธิ์ และ (3) บางครั้งเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปในทางที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบว่าดีกว่า
พิจารณาเรื่องการกลับใจเป็นอันดับแรก เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการให้อภัยและการชำระให้สะอาด พระเจ้าทรงประกาศว่า “เรารักผู้ใดเราก็ตักเตือนและตีสอนผู้นั้น เหตุฉะนั้นจงมีความกระตือรือร้น และกลับใจเสียใหม่” (วิวรณ์ 3:19) พระองค์ตรัสอีกว่า “และผู้คนของเราจำต้องถูกตีสอนจนกว่าพวกเขาจะเรียนรู้การเชื่อฟัง, หากจำเป็น, โดยสิ่งซึ่งพวกเขาทนทุกข์” (คพ. 105:6; ดู คพ. 1:27 ด้วย) ในการเปิดเผยยุคสุดท้าย พระเจ้าทรงบัญชาผู้นำระดับสูงสี่คนของศาสนจักรให้กลับใจ (ดังที่พระองค์อาจทรงบัญชาพวกเราหลายคน) เนื่องจากพวกเขาไม่ได้สั่งสอนบุตรธิดามากพอ “ตามพระบัญญัติ” และไม่ได้ “ขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น” (ดู คพ. 93:41–50) พี่ชายของเจเร็ดในพระคัมภีร์มอรมอนกลับใจเมื่อพระเจ้าทรงยืนอยู่ในเมฆและทรงสนทนากับท่าน “ตลอดเวลาสามชั่วโมง … และทรงว่ากล่าวท่านเพราะท่านไม่จดจำที่จะเรียกหาพระนามของพระเจ้า” (อีเธอร์ 2:14) เพราะการตอบสนองต่อคำตักเตือนดังกล่าวด้วยความเต็มใจยิ่ง ต่อมาพี่ชายของเจเร็ดจึงได้รับสิทธิพิเศษให้เห็นพระผู้ไถ่เมื่อทรงอยู่ในโลกก่อนเกิดและได้รับคำแนะนำจากพระองค์ (ดู อีเธอร์ 3:6–20) ผลของการตีสอนจากพระผู้เป็นเจ้าคือการกลับใจซึ่งนำไปสู่ความชอบธรรม (ดู ฮีบรู 12:11)
นอกเหนือจากการกระตุ้นให้เรากลับใจ ประสบการณ์ที่เราทนรับการตีสอนนั้นสามารถขัดเกลาและเตรียมเราให้พร้อมรับสิทธิพิเศษทางวิญญาณที่สำคัญยิ่งขึ้น พระเจ้าตรัสว่า “ผู้คนของเราต้องรับการทดลองในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง, เพื่อพวกเขาจะพร้อมรับรัศมีภาพที่เรามีไว้ให้พวกเขา, แม้รัศมีภาพของไซอัน; และคนที่จะไม่ทนการตีสอนก็ไม่คู่ควรกับอาณาจักรของเรา” (คพ. 136:31) พระองค์ตรัสในอีกข้อหนึ่งว่า “เพราะคนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นผู้จะไม่อดทนต่อการตีสอน, แต่ปฎิเสธเรา, จะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ไม่ได้” (คพ. 101:5; ดู ฮีบรู 12:10 ด้วย) ดังที่เอ็ลเดอร์พอล วี. จอห์นสันกล่าวเมื่อเช้านี้ เราพึงเอาใจใส่มิใช่ถือโทษโกรธเคืองสิ่งที่ช่วยให้เราสวมสภาพของพระองค์
ผู้ติดตามของแอลมาตั้งชุมชนไซอันขึ้นในเมืองฮีลัม แต่กลับถูกนำไปสู่การเป็นเชลย พวกเขาไม่สมควรได้รับความทุกข์ทรมานนั้น—น่าจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ—แต่บันทึกกล่าวว่า
“กระนั้นก็ตามพระเจ้าทรงเห็นสมควรที่จะตีสอนผู้คนของพระองค์; แท้จริงแล้ว, พระองค์ทรงทดลองความอดทนของพวกเขาและศรัทธาของพวกเขา
“กระนั้นก็ตาม—ผู้ใดก็ตามที่มอบความไว้วางใจในพระองค์ผู้เดียวกันนั้นพระองค์จะทรงยกขึ้นในวันสุดท้าย. แท้จริงแล้ว, และเป็นไปดังนั้นกับคนพวกนี้” (โมไซยาห์ 23:21–22)
พระเจ้าทรงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้พวกเขาและทรงทำให้สัมภาระของพวกเขาเบาลงจนถึงขนาดที่พวกเขาแทบไม่รู้สึกถึงสัมภาระที่แบกอยู่ จากนั้นทรงปลดปล่อยพวกเขาในที่สุด (ดู โมไซยาห์ 24:8–22) ศรัทธาของพวกเขาเข้มแข็งขึ้นอย่างมากจากประสบการณ์ที่ได้รับ และมีสัมพันธภาพพิเศษกับพระเจ้าชั่วกาลนาน
พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้อีกรูปแบบหนึ่งของการตีสอนหรือการแก้ไขเพื่อนำทางเราไปสู่อนาคตที่เราไม่คาดฝันหรือไม่อาจคาดฝัน แต่พระองค์ทรงทราบว่านั่นคือหนทางที่ดีกว่าสำหรับเรา ประธานฮิวจ์ บี. บราวน์ อดีตสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองและที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของท่าน ท่านเล่าเรื่องการซื้อฟาร์มสภาพทรุดโทรมแห่งหนึ่งในแคนาดาเมื่อหลายปีก่อน ขณะท่านไปทำความสะอาดและซ่อมแซมทรัพย์สินอยู่นั้น ท่านพบพุ่มไม้ผลต้นหนึ่งซึ่งโตสูงจนเกินหกฟุต (1.8 ม.) แต่ไม่ออกผล ท่านจึงลิดกิ่งจนเหลือเป็นตอเล็กๆ แล้วท่านก็เห็นหยดน้ำคล้ายหยาดน้ำตาบนตอเล็กๆ เหล่านี้ราวกับว่าพุ่มไม้ผลต้นนั้นกำลังร้องไห้และท่านคิดว่าได้ยินพุ่มไม้พูด
“ท่านทำอย่างนี้กับฉันได้อย่างไร ฉันกำลังงอกงามออกอย่างนั้น … แต่ท่านมาตัดฉันลงแบบนี้ ต้นไม้ต้นอื่นๆ ในสวนต้องดูแคลนฉันแน่เลย … ท่านทำอย่างนี้กับฉันได้อย่างไร ฉันนึกว่าท่านเป็นคนดูแลสวนที่นี่เสียอีก”
ประธานบราวน์ตอบว่า “ฟังนะ เจ้าพุ่มไม้น้อย ฉันเป็นคนดูแลสวนที่นี่ และฉันรู้ว่าฉันอยากให้เจ้าเป็นอะไร ฉันไม่ได้ตั้งใจให้เจ้าเป็นไม้ใหญ่ให้ผลหรือให้ร่มเงา แต่ฉันต้องการให้เจ้าเป็นพุ่มไม้ผล แล้วสักวันหนึ่ง เจ้าพุ่มไม้น้อยเอ๋ย เมื่อเจ้าออกผลเต็มต้น เจ้าจะพูดว่า ‘ขอบคุณท่านผู้ดูแลสวนที่รักฉันมากพอจะตัดฉันลง’ ”
หลายปีต่อมา ประธานบราวน์เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามในกองทัพแคนาดาประจำการที่ประเทศอังกฤษ เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับบังคับบัญชาประสบเคราะห์ร้ายจากการสู้รบ ประธานบราวน์จึงจ่อคิวที่จะได้เลื่อนขั้นเป็นนายพล และถูกเรียกตัวไปลอนดอน ถึงแม้ว่าท่านจะมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการเลื่อนขั้น แต่ท่านถูกปฏิเสธเพราะท่านเป็นมอรมอน ผู้บัญชาการพูดในทำนองว่า “คุณสมควรได้รับตำแหน่งนี้ แต่ผมให้คุณไม่ได้” สิ่งที่ประธานบราวน์หวัง สวดอ้อนวอนขอ และเตรียมตัวมาตลอดระยะเวลา 10 ปีหลุดมือไปในช่วงเวลานั้นเนื่องจากการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัด ประธานบราวน์รำลึกเรื่องราวของท่านต่อไปว่า
“ข้าพเจ้าขึ้นรถไฟเดินทางกลับ … ด้วยใจแหลกสลาย ด้วยความขมขื่นในจิตวิญญาณข้าพเจ้า … เมื่อมาถึงเต็นท์ … ข้าพเจ้าโยนหมวกลงบนเตียงผ้าใบ กำหมัดสะบัดขึ้นฟ้าพลางพูดว่า ‘พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงทำอย่างนี้กับข้าพระองค์ได้อย่างไร ข้าพระองค์ทำทุกอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสม ไม่มีอะไรอีกแล้วที่ข้าพระองค์น่าจะทำ—ควรทำ—หรือยังไม่ได้ทำ พระองค์ทรงทำอย่างนี้กับข้าพระองค์ได้อย่างไร’ ข้าพเจ้าขมขื่นยิ่งนัก
“ทันใดนั้นข้าพเจ้าได้ยินเสียง ข้าพเจ้าจำน้ำเสียงเช่นนี้ได้ นั่นคือเสียงข้าพเจ้าเอง เสียงนั้นพูดว่า ‘ฉันเป็นคนดูแลสวนที่นี่ และฉันรู้ว่าฉันอยากให้เจ้าทำอะไร’ ความขมขื่นหมดไปจากจิตวิญญาณข้าพเจ้า และข้าพเจ้าทรุดตัวลงคุกเข่าข้างเตียงผ้าใบเพื่อทูลขออภัยให้แก่ความไม่สำนึกคุณของข้าพเจ้า …
“… เกือบ 50 ปีให้หลัง เวลานี้ ข้าพเจ้ามองขึ้นไปหา [พระผู้เป็นเจ้า] และทูลว่า ‘ขอบพระทัยพระผู้ทรงดูแลสวนที่ทรงตัดข้าพระองค์ ที่ทรงรักข้าพระองค์มากพอที่จะทำให้ข้าพระองค์เจ็บปวด’”5
พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบว่า ฮิวจ์ บี. บราวน์ จะต้องเป็นอะไรและต้องทำอย่างไรจึงจะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น พระองค์ทรงเปลี่ยนวิถีของท่านเพื่อเตรียมท่านให้พร้อมรับการเป็นอัครสาวกศักดิ์สิทธิ์
หากเราปรารถนาจากใจจริงและพยายามบรรลุความคาดหวังอันสูงส่งของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา พระองค์จะทรงดูแลให้เราได้รับความช่วยเหลือทุกอย่างที่เราต้องได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการปลอบโยน การเสริมสร้างความเข้มแข็ง หรือการตีสอน หากเราเปิดใจที่จะยอมรับ การแก้ไขที่จำเป็นจะมาในหลายรูปแบบจากหลายแหล่ง อาจจะมาในวิถีทางของการสวดอ้อนวอนเมื่อพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับความคิดและจิตใจเราผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู คพ. 8:2) อาจมาในรูปแบบของการสวดอ้อนวอนที่ได้รับคำตอบว่าไม่หรือแตกต่างจากที่เราคาดหวังไว้ การตีสอนอาจเกิดขึ้นขณะศึกษาพระคัมภีร์และได้รับการเตือนให้รู้ถึงข้อบกพร่อง การไม่เชื่อฟัง หรือเพียงแต่บอกเรื่องที่เราละเลย
การแก้ไขสามารถมาผ่านทางคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าให้ส่งเสริมความสุขของเรา พระองค์ทรงวางอัครสาวก ศาสดาพยากรณ์ ผู้ประสาทพร อธิการ และคนอื่นๆ ไว้ในศาสนจักรยุคปัจจุบันเช่นเดียวกับในสมัยโบราณ “เพื่อเตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนที่จะรับใช้ เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น” (เอเฟซัส 4:12) บางสิ่งที่พูดในการประชุมใหญ่ครั้งนี้อาจมาสู่ท่านเป็นการเรียกให้กลับใจหรือเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากท่านเอาใจใส่สิ่งนั้นย่อมจะยกท่านให้สูงขึ้น เราสามารถช่วยกันในฐานะเพื่อนสมาชิกในศาสนจักร นี่คือเหตุผลหลักข้อหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงจัดตั้งศาสนจักรขึ้นมา แม้ยามที่เราเผชิญคำวิพากษ์วิจารณ์อันโหดร้ายจากบุคคลที่ไม่ค่อยนึกถึงใจเราหรือรักเราเพียงน้อยนิด จะเป็นการดีหากเราอ่อนน้อมพอที่จะพิจารณาคัดสิ่งเป็นประโยชน์ต่อเรามาใช้
การแก้ไขสามารถมาจากคู่ครองได้ ซึ่งหวังว่าการแก้ไขนั้นจะอ่อนโยน เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ที่เพิ่งกล่าวปราศรัยกับเรารำลึกถึงชีวิตแต่งงานช่วงแรกๆ เมื่อจีนีน ภรรยาของท่านแนะนำให้ท่านมองคนอื่นตรงๆ เวลาที่ท่านพูดคุยด้วย “คุณมองพื้น มองเพดาน มองหน้าต่าง มองทุกที่ยกเว้นดวงตาของพวกเขา” เธอกล่าว ท่านยอมรับคำตักเตือนอันอ่อนโยนนั้น และนั่นทำให้ท่านเป็นที่ปรึกษาและทำงานกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เคยรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาเต็มเวลาภายใต้การกำกับดูแลของประธานสก็อตต์ ข้าพเจ้าเป็นพยานได้ว่าท่านมองตรงเข้าไปในดวงตาของอีกฝ่ายในการสนทนา ข้าพเจ้าบอกได้อีกว่าเมื่อใครจำเป็นต้องมีการแก้ไข การมองเช่นนั้นสามารถทะลุทะลวงจิตใจได้เลยทีเดียว
บิดามารดาสามารถแก้ไขและต้องแก้ไข แม้ตีสอนเพื่อไม่ให้บุตรธิดาของตนต้องหลุดลอยเคว้งคว้างไปตกอยู่ใต้ความเมตตาของปฏิปักษ์ผู้ไร้ความเมตตาและผู้สนับสนุนของเขา ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์สังเกตว่าเมื่อผู้ใดอยู่ในฐานะที่จะแก้ไขผู้อื่นแต่กลับไม่ทำเช่นนั้น ผู้นั้นกำลังเห็นแก่ตนเอง พึงระลึกว่าการว่ากล่าวควรกระทำโดยไม่ชักช้า ด้วยความเฉียบขาดหรือชัดเจน “เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจ; และจากนั้นในเวลาต่อมาจงแสดงความรักเพิ่มขึ้นต่อคนที่ท่านว่ากล่าว, เกลือกเขาจะถือว่าท่านเป็นศัตรูของเขา” (คพ. 121:43)
พึงระลึกว่าหากเราต่อต้านการแก้ไข คนอื่นๆ อาจหยุดแก้ไขเราแม้ว่าพวกเขาจะรักเราก็ตาม หากเราไม่ทำตามการตีสอนของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า พระองค์จะทรงหยุดเช่นกัน พระองค์ตรัสว่า “พระวิญญาณของเราจะไม่พากเพียรกับมนุษย์เสมอไป” (อีเธอร์ 2:15) ในที่สุดแล้ว การตีสอนส่วนมากของเราควรมาจากข้างใน—นั่นคือ เราควรเป็นผู้แก้ไขตนเอง วิธีหนึ่งที่ทำให้เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินผู้ล่วงลับ เพื่อนร่วมงานที่รักของเรากลายเป็นสานุศิษย์ผู้สะอาดบริสุทธิ์และอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนั้นคือการวิเคราะห์ผลงานของท่านในงานมอบหมายและภารกิจทุกอย่าง ด้วยความปรารถนาที่จะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย ท่านตัดสินใจแน่วแน่ที่จะค้นหาว่าท่านจะทำอะไรได้ดีกว่าเดิมบ้างแล้วหมั่นประยุกต์ใช้บทเรียนที่ท่านเรียนรู้ทุกบท
เราทุกคนสามารถบรรลุความคาดหวังสูงของพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าความสามารถและพรสวรรค์ของเราจะมากหรือน้อย โมโรไนรับรองว่า “หากท่านจะปฏิเสธตนจากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง, และรักพระผู้เป็นเจ้าด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกำลังของท่าน, เมื่อนั้นพระคุณของ [พระผู้เป็นเจ้า] จึงเพียงพอสำหรับท่าน, เพื่อโดยพระคุณของพระองค์ท่านจะดีพร้อมในพระคริสต์” (โมโรไน 10:32) ความมุมานะพากเพียรและอุทิศตนในส่วนของเรานั่นเองที่นำมาซึ่งพระคุณอันทำให้เกิดอำนาจและความสามารถดังกล่าว ความพยายามที่รวมถึงการยอมจำนนต่อพระหัตถ์ที่ตีสอนของพระผู้เป็นเจ้ารวมทั้งการกลับใจทั้งหมดอย่างแท้จริง ขอให้เราสวดอ้อนวอนทูลขอการแก้ไขอันเป็นการดลใจจากความรักของพระองค์
ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงค้ำจุนท่านเมื่อท่านบากบั่นให้เป็นไปตามความคาดหวังสูงของพระองค์และประทานความสุขตลอดจนสันติสุขอันบริบูรณ์ที่จะตามมา ข้าพเจ้าทราบว่าท่านกับข้าพเจ้าสามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระผู้เป็นเจ้าและพระคริสต์ ข้าพเจ้าน้อมเป็นพยานด้วยความเชื่อมั่นเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรผู้เป็นที่รักของพระองค์ตลอดจนศักยภาพแห่งปีติที่เรามีเนื่องจากพระองค์ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน