“22–28 กุมภาพันธ์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18–19: ‘ค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“22–28 กุมภาพันธ์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18–19” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2021
22–28 กุมภาพันธ์
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18–19
“ค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่”
การเปิดเผยต่างๆ ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาประทานให้ตามสภาวการณ์เฉพาะด้านราว 200 ปีก่อน แต่หลักธรรมที่สอนใช้ได้ตลอดไป มองหาหลักธรรมเหล่านี้ขณะที่ท่านอ่าน และพิจารณาว่าประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร
บันทึกความประทับใจของท่าน
มาร์ตินกับลูซี แฮร์ริสมีฟาร์มสวยที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองพอลไมรา นิวยอร์ก พวกเขาใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้มา ทำให้พวกเขาสามารถเลี้ยงดูครอบครัวและมีฐานะชื่อเสียงดีในชุมชน แต่ในปี 1829 ปรากฏว่าจะจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนได้ต่อเมื่อมาร์ตินจำนองฟาร์มเพื่อนำเงินมาจ่ายให้ผู้พิมพ์ มาร์ตินมีประจักษ์พยานในพระคัมภีร์มอรมอน แต่ลูซีไม่มี ถ้ามาร์ตินจำนองฟาร์มและพระคัมภีร์มอรมอนขายไม่ดี เขาจะสูญเสียฟาร์มและทำลายชีวิตแต่งงานของเขาได้ มีบางช่วงที่เราทุกคนประสบคำถามคล้ายกับที่มาร์ตินประสบมาตลอด นั่นคือ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มีค่าอะไรต่อฉัน? ฉันยินดีเสียสละอะไรเพื่อช่วยสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า? นั่นอาจช่วยให้เราจดจำว่าไม่มีใครเคยจ่ายราคาเพื่อเป็นพรแก่ลูกหลานมนุษย์สูงกว่าพระเยซูคริสต์ “ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสิ่งทั้งปวง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:18)
มาร์ตินตัดสินใจจำนองฟาร์มของเขา การเสียสละของเขาจ่ายค่าพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอน 5,000 เล่มแรก และเวลานี้ อีก 190 กว่าล้านเล่มทำให้จิตวิญญาณหลายล้านดวงทั่วโลกได้รับพร
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนได้จาก วิสุทธิชน, 1:76–84
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–16
พระเจ้าทรงชื่นชมยินดีเมื่อเรากลับใจ
สังเกตว่าใช้คำ กลับใจ และ การกลับใจ ทั่ว หลักคำสอนและพันธสัญญา 18 และ 19 บ่อยเพียงใด และไตร่ตรองสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากคำเหล่านี้ทุกครั้งที่ใช้ พิจารณา หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–16 เป็นพิเศษ ข้อเหล่านี้มีผลอย่างไรต่อความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับการกลับใจ—การกลับใจของท่านเองและหน้าที่ในการเชื้อเชิญผู้อื่นให้กลับใจ?
ดู แอลมา 36:18–21; เดล จี. เรนลันด์ “การกลับใจ: การเลือกอันน่าปีติยินดี” เลียโฮนา พ.ย. 2016, 121–124 ด้วย
ฉันสามารถได้ยินสุรเสียงของพระเจ้าในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา
ถ้ามีคนถามท่านว่าสุรเสียงของพระเจ้าเป็นอย่างไร ท่านจะตอบว่าอย่างไร? ตรึกตรองคำถามนี้ขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:34–36 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสุรเสียงของพระเจ้าจากการอ่านพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อได้ยินสุรเสียงของพระองค์ชัดขึ้น?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:15–20
พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อเราจะได้กลับใจและมาหาพระองค์
พันธสัญญาใหม่บรรยายการทนทุกข์ของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีจากมุมมองของคนที่สังเกตเห็นเหตุการณ์นี้ ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:15–20 พระเยซูคริสต์รับสั่งเรื่องการทนทุกข์ด้วยพระดำรัสของพระองค์เอง ขณะที่ท่านอ่านเรื่องราวส่วนตัวอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ให้มองหาคำและวลีที่พูดถึงการทนทุกข์ของพระผู้ช่วยให้รอด พิจารณาว่าแต่ละคำหรือแต่ละวลีสอนอะไรท่าน เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัยทนทุกข์? ท่านอาจจะบันทึกความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อท่าน
ดู ยอห์น 15:13; โมไซยาห์ 3:7; แอลมา 7:11–12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–13
หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:26–27, 34–41
พรของพระผู้เป็นเจ้ายิ่งใหญ่กว่าทรัพย์สมบัติของแผ่นดินโลก
พระคัมภีร์มอรมอนขายไม่ดีในพอลไมรา และด้วยเหตุนี้มาร์ติน แฮร์ริสจึงต้องขายฟาร์มส่วนใหญ่ของเขาเพื่อชำระหนี้ (ดู “The Contributions of Martin Harris,” Revelations in Context, 7–8) ไตร่ตรองการเสียสละดังกล่าว—และพรที่ท่านได้รับเพราะการเสียสละนั้น—ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะคิดถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงขอให้ท่านเสียสละด้วย ท่านพบอะไรในข้อเหล่านี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านเสียสละด้วยความ “ชื่นชมยินดี” และ “ความยินดี”? (ดู ข้อ 15–20 ด้วย)
สันติสุขมาจากการเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์และติดตามพระองค์
พิจารณาพระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอด “จงเรียนรู้จากเรา” ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19? บันทึกความคิดของท่าน และไตร่ตรองว่าความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดช่วยให้ท่านพบสันติสุขอย่างไร “เดินด้วยความสุภาพอ่อนน้อมแห่งพระวิญญาณ [ของพระองค์]” มีความหมายต่อท่านอย่างไร?
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:1–5สมาชิกครอบครัวอาจจะแบ่งปัน “หลายครั้ง” (ข้อ 2) ที่พระวิญญาณทรงแสดงให้ประจักษ์ต่อพวกเขาว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง เช่นที่ทรงแสดงต่อออลิเวอร์ คาวเดอรี ครอบครัวท่านจะ “วางใจในเรื่องซึ่งเขียนไว้” (ข้อ 3) ในพระคัมภีร์ได้อย่างไร? ท่านจะสร้างรากฐานของครอบครัวท่านบน “ศิลา” (ข้อ 4) ของพระกิตติคุณได้อย่างไร?
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–13; 19:16–19สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–13 และใส่ชื่อตนเองแทนคำว่า “จิตวิญญาณ” และ “คนทั้งปวง” จากนั้นท่านจะสนทนาว่าข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจค่าของเราต่อพระบิดาและพระบุตรอย่างไร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19)
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:21–25ชื่อของสมาชิกครอบครัวท่านมีความหมายพิเศษหรือไม่? ท่านอาจจะพูดคุยกันว่าเหตุใดชื่อจึงสำคัญและการรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเราหมายความว่าอย่างไร (ดู โมไซยาห์ 5:7) นี่เป็นโอกาสดีที่จะช่วยสมาชิกครอบครัวเตรียมรับพระนามของพระคริสต์ไว้กับพวกเขาเมื่อพวกเขารับบัพติศมา
-
หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:15–20เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านมีประสบการณ์ที่มีความหมายกับข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะอ่านข้อดังกล่าวขณะให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ (ภาพที่มาพร้อมโครงร่างนี้) จากนั้นสมาชิกครอบครัวจะแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เพลงสวดที่ชื่นชอบสักเพลงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจะอัญเชิญพระวิญญาณเช่นกัน
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ฉันเฝ้าพิศวง” เพลงสวด บทเพลงที่ 89