“22–28 กุมภาพันธ์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18–19: ‘ค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: หลักคำสอนและพันธสัญญา 2021 (2020)
“22–28 กุมภาพันธ์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18–19” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2021
22–28 กุมภาพันธ์
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18–19
“ค่าของจิตวิญญาณยิ่งใหญ่”
ทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ให้ทรงช่วยท่านพบหลักธรรมใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18–19 ที่จะมีความหมายเป็นพิเศษต่อเด็ก
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:2 และอธิบายว่าพระวิญญาณทรงช่วยให้ออลิเวอร์ คาวเดอรีรู้ว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง บอกเด็กเกี่ยวกับประสบการณ์เมื่อพระวิญญาณทรงเป็นพยานต่อท่านว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง ให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขารู้สึกว่าพระคัมภีร์เป็นความจริง
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–12
เราแต่ละคนมีค่ายิ่งใหญ่ต่อพระผู้เป็นเจ้า
เมื่อเด็กรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักพวกเขา—และบุตรธิดาทุกคนของพระองค์—พวกเขาจะมั่นใจมากขึ้นและเมตตาผู้อื่นมากขึ้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
ช่วยเด็กพูด หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10 ตามท่านซ้ำหลายๆ ครั้ง อธิบายว่า “จิตวิญญาณ” หมายถึงบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า พูดทวน ข้อ 10 กับเด็กๆ คราวนี้ให้ใช้ชื่อเด็กแทนคำว่า “จิตวิญญาณ” (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ด้วย)
-
ช่วยให้เด็กคิดถึงสิ่งที่คนทั่วไปถือว่ามีค่า จากนั้นให้เด็กผลัดกันส่องกระจก และขณะส่องกระจก ให้บอกเด็กแต่ละคนว่าเขาเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าและมีค่ายิ่ง เป็นพยานว่าพวกเขามีค่าต่อพระบิดาบนสวรรค์มากกว่าทุกสิ่งที่พวกเขาคิดถึงก่อนหน้านี้
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:13–16
การแบ่งปันพระกิตติคุณทำให้เกิดปีติใหญ่หลวง
ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเชื้อเชิญผู้อื่นให้มาหาพระคริสต์และประสบปีติใหญ่หลวงอย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
บอกเด็กเกี่ยวกับบางอย่างที่ทำให้ท่านเกิดปีติ ให้เด็กแต่ละคนบอกบางอย่างที่ทำให้เขาเกิดปีติ อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:13, 16 อะไรทำให้พระเจ้าเกิดปีติ? พระองค์ตรัสว่าอะไรจะทำให้เราเกิดปีติ?
-
ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนา เช่น “ฉันอยากเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก หน้า 90) และช่วยให้เด็กๆ คิดหาวิธีที่พวกเขาสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณ รวมทั้งในบ้านของพวกเขาเอง เล่าตอนที่ท่านแบ่งปันพระกิตติคุณแล้วให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา
หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:18–19, 23–24
พระเยซูคริสต์ทรงเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์แม้ในเวลาที่ยาก
การที่พระผู้ช่วยให้รอดเต็มพระทัย “ดื่มถ้วยอันขมขื่น, และ [ไม่] ชะงัก” (ข้อ 18) เป็นแบบอย่างต่อเราทุกคนในเรื่องการทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ พิจารณาว่าท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทำตามแบบอย่างของพระเยซูอย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ขอให้เด็กบอกท่านว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ในภาพ สรุปสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:18–19 เกี่ยวกับการทนทุกข์ของพระองค์ด้วยคำพูดของท่านเอง เน้นว่าการทนทุกข์เพราะบาปของเราเป็นเรื่องยากที่สุดที่คนๆ หนึ่งเคยทำ แต่เพราะพระเยซูทรงรักพระบิดาและเรา พระองค์จึงทรงทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ฉันจะเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างไร?
-
ช่วยเด็กคิดท่าง่ายๆ ที่สอดคล้องกับวลีต่างๆ ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:23 อ่านข้อนี้หลายๆ ครั้งขณะเด็กทำท่า ช่วยให้พวกเขาคิดหาวิธีที่พวกเขาสามารถเรียนรู้จากพระคริสต์และฟังพระวจนะของพระองค์
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–12
เราแต่ละคนมีค่ายิ่งใหญ่ต่อพระผู้เป็นเจ้า
คนมากมายต่อสู้กับความรู้สึกด้อยค่า หลายคนใจร้ายต่อคนที่ต่างจากพวกเขา ข่าวสารอันทรงพลังของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10 สามารถเปลี่ยนวิธีที่เรามองตนเองและคนรอบข้าง
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กแต่ละคนเขียนชื่อของตนบนแผ่นกระดาษและส่งกระดาษไปรอบๆ ห้อง เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนสิ่งที่ชอบเกี่ยวกับคนที่มีชื่อบนกระดาษแต่ละแผ่นที่ได้รับ กระตุ้นพวกเขาให้มีเมตตาและระมัดระวังความเห็นของตน จากนั้นให้ช่วยเด็กอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10–12 และเชิญพวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับเรา อธิบายว่าเราทุกคนมีค่ามากต่อพระผู้เป็นเจ้าเพราะเราเป็นบุตรธิดาของพระองค์
-
ให้เด็กดูสิ่งที่มีค่าต่อท่านมาก เราปฏิบัติต่อสิ่งที่มีค่าต่อเราอย่างไร ขอให้เด็กคนหนึ่งอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:10 เราจะแสดงให้ผู้อื่นเห็นได้อย่างไรว่า “ค่าของจิตวิญญาณ [ของพวกเขา] ยิ่งใหญ่” ในสายตาเรา?
หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19
พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อฉัน
ท่านจะเชื้อเชิญวิญญาณของความคารวะเข้ามาในชั้นเรียนอย่างไรเพื่อให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถเป็นพยานต่อเด็กได้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงจ่ายราคาค่าบาปของพวกเขา?
กิจกรรมที่ทำได้
-
เล่าเรื่องพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพราะบาปของเรา (ดู บทที่ 51: พระเยซูทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี” เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่ หน้า 129–132 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้บน ChurchofJesusChrist.org) เชิญเด็กเล่าเรื่องนี้อีกครั้งด้วยคำพูดของพวกเขาเอง แล้วให้พวกเขาอ่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงบรรยายเหตุการณ์ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19 ว่าอย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากคำบรรยายของพระองค์?
-
เชื้อเชิญให้เด็กหลับตาขณะที่ท่านอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19 และคิดว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับพระผู้ช่วยให้รอด ช่วยให้เด็กดูเพลงใน เพลงสวด หรือ หนังสือเพลงสำหรับเด็ก ที่ช่วยให้พวกเขาแสดงความรู้สึกของตนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ (ดูดัชนีหัวข้อในหนังสือสองเล่มนี้) เชื้อเชิญให้เด็กร้องเพลงที่พวกเขาเลือกและแสดงประจักษ์พยานของพวกเขา
-
ช่วยเด็กท่องจำหลักแห่งความเชื่อข้อสาม
หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:26, 34–35, 38
พรของพระผู้เป็นเจ้าสำคัญยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติของแผ่นดินโลก
การพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนมีราคาแพง และโจเซฟ สมิธจ่ายไม่ไหว พระเจ้าทรงขอให้มาร์ติน แฮร์ริส “แบ่งปันส่วนหนึ่งของทรัพย์สมบัติ [ของเขา]” ฟาร์มที่รุ่งเรืองของเขาเพื่อจ่ายให้ผู้พิมพ์ (ข้อ 34) เราได้รับพรมากมายเพราะการเสียสละของมาร์ตินและอีกหลายคน
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนคำถามทำนองนี้บนกระดานเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:26, 34–35, 38: พระเจ้าทรงขอให้มาร์ติน แฮร์ริสทำอะไร? เหตุใดพระองค์ทรงขอให้เขาทำเช่นนั้น? พระองค์ทรงสัญญาอะไรเป็นการตอบแทน? เชื้อเชิญให้เด็กทำงานเป็นคู่เพื่อหาคำตอบในข้อเหล่านี้ ถามพวกเขาว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าพวกเขาเป็นมาร์ติน แฮร์ริส
-
ให้เด็กดูพระคัมภีร์มอรมอน และบอกบางอย่างที่ท่านรักเกี่ยวกับพระคัมภีร์เล่มนี้ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับพระคัมภีร์มอรมอน พูดคุยพอสังเขปเกี่ยวกับการเสียสละของมาร์ติน แฮร์ริสเพื่อจะพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนได้ (เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา หน้า 33) พระเจ้าตรัสอะไรกับมาร์ตินใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:38 ที่อาจจะช่วยให้เขาเปี่ยมด้วยศรัทธาและเชื่อฟัง? ช่วยให้เด็กคิดถึงสิ่งที่พวกเขาเสียสละได้เพื่อเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าหรือช่วยงานของพระองค์
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กคิดถึงคนที่พวกเขาจะช่วยได้โดยอาศัยสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 18 หรือ 19—ตัวอย่างเช่น เราทุกคนมีค่ามากต่อพระผู้เป็นเจ้า กระตุ้นพวกเขาให้วางแผนว่าพวกเขาจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ให้กับบุคคลนั้นอย่างไร