“6–12 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4: ‘พวกท่านต้องเกิดใหม่,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“6–12 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
6–12 กุมภาพันธ์
ยอห์น 2–4
“พวกท่านต้องเกิดใหม่”
ขณะที่ท่านอ่าน ยอห์น 2–4 พระวิญญาณจะทรงสอนหลายสิ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของท่าน จดบันทึกการกระตุ้นเตือนของพระองค์ ท่านอาจจะพบข้อคิดทางวิญญาณเพิ่มเติมจากแนวคิดการศึกษาในโครงร่างนี้
บันทึกความประทับใจของท่าน
ที่งานสมรสในหมู่บ้านคานา พระคริสต์ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น—เหตุการณ์ที่ยอห์นเรียกว่า “หมายสำคัญครั้งแรก” (ยอห์น 2:11) นั่นเป็นจริงมากกว่าหนึ่งความหมาย แม้จะเป็นปาฏิหาริย์ครั้งแรกที่พระเยซูทรงทำอย่างเปิดเผย แต่เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นอันน่าอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่งเช่นกัน—ซึ่งก็คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงใจเราขณะที่เราเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดของเรามากขึ้น ปาฏิหาริย์นี้ของชีวิตเริ่มต้นด้วยการตัดสินใจติดตามพระเยซูคริสต์ เปลี่ยนและดำเนินชีวิตให้ดีขึ้นผ่านพระองค์ ปาฏิหาริย์นี้สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้จนการ “เกิดใหม่” เป็นวิธีอธิบายการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง (ยอห์น 3:7) แต่การเกิดใหม่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นสานุศิษย์ พระดำรัสของพระคริสต์ต่อหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำเตือนเราว่าถ้าเราอยู่บนเส้นทางนี้ต่อไป ในที่สุดพระกิตติคุณจะกลายเป็น “บ่อน้ำพุ” ในตัวเรา “พลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 4:14)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
สิ่งอัศจรรย์ของพระเยซูคริสต์ “แสดงพระสิริของพระองค์”
ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นใน ยอห์น 2:1–11 ท่านอาจได้รับข้อคิดเพิ่มเติมโดยพิจารณามุมมองของผู้คนต่างๆ ที่อยู่ที่นั่น รวมทั้งมารีย์ สานุศิษย์ และคนอื่นๆ ถ้าท่านได้เห็นเหตุการณ์ที่อธิบายไว้ที่นี่ ความประทับใจของท่านที่มีต่อพระเยซูจะเป็นอย่างไร? สิ่งอัศจรรย์นี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์?
ฉันต้องเกิดใหม่เพื่อเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า
เมื่อนิโคเดมัสมาหาพระเยซูเป็นส่วนตัว เขาเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ละเอียดรอบคอบ ต่อมาเขาปกป้องพระเยซูต่อหน้าสาธารณชน (ดู ยอห์น 7:45–52) และสมทบกับผู้เชื่อที่งานฝังพระศพพระผู้ช่วยให้รอด (ดู ยอห์น 19:38–40) ท่านพบคำสอนอะไรบ้างใน ยอห์น 3:1–21 ที่อาจจะดลใจนิโคเดมัสให้ติดตามพระเยซูและเกิดใหม่?
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “การเกิดใหม่โดยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าผ่านศาสนพิธี” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 103) บัพติศมาและการยืนยันของท่าน—การ “เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ” (ยอห์น 3:5) มีบทบาทอะไรในการเกิดใหม่? ท่านกำลังทำอะไรเพื่อดำเนินกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ต่อไป? (ดู แอลมา 5:11–14)
ดู โมไซยาห์ 5:7; 27:25–26; เดวิด เอ. เบดนาร์, “ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 24–27 ด้วย
พระบิดาบนสวรรค์ทรงแสดงความรักต่อฉันผ่านพระเยซูคริสต์
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์สอนว่า “ความจริง ข้อสำคัญข้อแรกที่เกี่ยวข้องกับนิรันดรคือพระผู้เป็นเจ้าทรงรัก เรา ด้วยสุดพระทัย สุดพระพลานุภาพ สุดพระปรีชาสามารถ และสุดพระฤทธานุภาพ ของพระองค์” (“พรุ่งนี้พระยาห์เวห์จะทรงทำการอัศจรรย์ท่ามกลางพวกท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 126) ท่านเคยรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าผ่านของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์เมื่อใด?
ศีลระลึกให้เวลาใคร่ครวญความรักของพระผู้เป็นเจ้าและของประทานแห่งพระบุตรของพระองค์ เพลงสวดศีลระลึกเพลงใดช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักนี้? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ศีลระลึกมีความหมายมากขึ้น?
ในขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับคำสอนและการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดต่อไป ให้ถามตนเองว่าสิ่งที่ท่านอ่านช่วยให้ท่านเข้าใจและรู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร
พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นวิญญาณหรือ?
บางคนอาจสับสนกับพระดำรัสของพระเยซูที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ งานแปลของโจเซฟ สมิธสำหรับข้อนี้ให้คำชี้แจงที่สำคัญดังนี้ “พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะประทานพระวิญญาณของพระองค์แก่คนเช่นนั้น” (ใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 4:26 ในคู่มือพระคัมภีร์) การเปิดเผยยุคปัจจุบันสอนเช่นกันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:22–23; ดู ปฐมกาล 5:1–3; ฮีบรู 1:1–3 ด้วย)
พระคริสต์ทรงมอบน้ำดำรงชีวิตให้ฉัน
พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์รับสั่งกับหญิงชาวสะมาเรียว่าคนที่ดื่มน้ำที่พระองค์ทรงมอบให้จะไม่กระหายอีกเลย? พระกิตติคุณเปรียบเสมือนน้ำดำรงชีวิตอย่างไร?
ข่าวสารประการหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่หญิงชาวสะมาเรียคือวิธีที่เรานมัสการสำคัญกว่าสถานที่ซึ่งเรานมัสการ (ดู ยอห์น 4:21–24) ท่านกำลังทำอะไรเพื่อ “นมัสการพระบิดาด้วยวิญญาณและความจริง”? (ยอห์น 4:23)
ดู คู่มือพระคัมภีร์, “นมัสการ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org; ดีน เอ็ม. เดวีส, “พรของการนมัสการ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 93–95 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
ยอห์น 2–4ขณะที่ครอบครัวท่านอ่านบทเหล่านี้สัปดาห์นี้ จงเอาใจใส่เป็นพิเศษว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้สิ่งประจำวัน—การเกิด ลม น้ำ และอาหาร—สอนความจริงทางวิญญาณอย่างไร ท่านสามารถใช้สิ่งใดบ้างในบ้านท่านสอนความจริงทางวิญญาณ?
2:261:346:44:11 -
ยอห์น 2:13–17ครอบครัวของท่านต้องไม่นำอิทธิพลที่ไม่บริสุทธิ์อะไรเข้าไปในบ้านบ้างเพื่อที่บ้านของท่านจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์—เหมือนพระวิหาร? ท่านจะทำอะไรเพื่อไม่นำสิ่งเหล่านั้นเข้าไป?
-
ยอห์น 3:1–6พูดคุยกับครอบครัวของท่านเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของการตั้งครรภ์และการให้กำเนิด—กระบวนการสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีปัญญา พระเยซูทรงสอนว่าเราต้องเกิดใหม่ก่อนเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เหตุใดการเกิดใหม่จึงเป็นอุปลักษณ์ที่ดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เราจำเป็นต้องทำก่อนจึงจะสามารถเข้าอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าได้? เราจะประสบกระบวนการเกิดใหม่ทางวิญญาณอย่างไร?
-
ยอห์น 3:16–17เชิญสมาชิกครอบครัวกล่าวย้ำข้อเหล่านี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเองราวกับว่าพวกเขากำลังอธิบายให้เพื่อนฟัง พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้เรารู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?
-
ยอห์น 4:5–15พระผู้ช่วยให้รอดทรงกำลังสอนอะไรเราเมื่อพระองค์ทรงเปรียบเทียบพระกิตติคุณกับน้ำดำรงชีวิต? บางทีครอบครัวของท่านอาจดูน้ำกำลังไหลและอธิบายคุณสมบัติของน้ำ เหตุใดเราต้องดื่มน้ำทุกวัน? พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เปรียบเสมือน “บ่อน้ำพุพลุ่งขึ้นถึงชีวิตนิรันดร์” ในทางใดบ้าง? (ยอห์น 4:14)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย