“13–19 กุมภาพันธ์ มัทธิว 5; ลูกา 6: ‘ท่านก็เป็นสุข,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“13–19 กุมภาพันธ์ มัทธิว 5; ลูกา 6,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
13–19 กุมภาพันธ์
มัทธิว 5; ลูกา 6
“ท่านก็เป็นสุข”
เอาใจใส่ความประทับใจที่ท่านได้รับขณะอ่าน มัทธิว 5 และ ลูกา 6 และบันทึกในสมุดบันทึกการศึกษาหรือด้วยวิธีอื่น โครงร่างนี้สามารถช่วยท่านระบุหลักธรรมสำคัญบางประการในบทเหล่านี้ แต่จงเปิดใจให้หลักธรรมอื่นๆ ที่ท่านค้นพบในการศึกษาด้วย
บันทึกความประทับใจของท่าน
ณ จุดนี้ในระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ เห็นชัดว่าคำสอนของพระเยซูจะไม่เหมือนคำสอนที่ผู้คนในสมัยของพระองค์เคยได้ยิน คนยากจนจะได้รับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าหรือ? คนสุภาพอ่อนโยนจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดกหรือ? คนถูกข่มเหงย่อมเป็นสุขหรือ? พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีไม่สอนเรื่องเช่นนั้น และคนที่เข้าใจกฎของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงก็จะรับรู้ความจริงในพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอด “ตาแทนตา” และ “เกลียดชังศัตรูของท่าน” เป็นกฎที่ต่ำกว่า (มัทธิว 5:38, 43) แต่พระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อสอนกฎที่สูงกว่า (ดู 3 นีไฟ 15:2–10) ซึ่งกำหนดไว้เพื่อสักวันหนึ่งจะช่วยให้เรา “ดีพร้อมเหมือนอย่างที่พระบิดา [ของเรา] ผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม” (มัทธิว 5:48)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
มัทธิว 5:1–12; ลูกา 6:20–26, 46–49
ความสุขอันยั่งยืนเกิดจากการดำเนินชีวิตตามวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงสอน
ทุกคนต้องการมีความสุข แต่ใช่ว่าทุกคนจะมองหาความสุขในที่เดียวกัน บางคนค้นหาความสุขในอำนาจและตำแหน่งทางโลก หลายคนค้นหาในความมั่งคั่งหรือใฝ่หาความสมปรารถนาทางกาย พระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อสอนวิธีพบความสุขอันยั่งยืน สอนสิ่งที่จะทำให้เป็นสุขอย่างแท้จริง ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการได้รับความสุขอันยั่งยืนจาก มัทธิว 5:1–12 และ ลูกา 6:20–26? สิ่งนี้ต่างจากทัศนะเรื่องความสุขของโลกอย่างไร?
ข้อเหล่านี้ร่วมกับ ลูกา 6:46–49 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์? ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อพัฒนาคุณสมบัติที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้?
ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ผู้เป็นสุข,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย
“ท่านทั้งหลายเป็นเกลือแห่งโลก”
เกลือใช้กันมานานเพื่อถนอมอาหาร เพิ่มรสชาติ และทำให้บริสุทธิ์ เกลือมีความหมายทางศาสนาสำหรับชาวอิสราเอลเช่นกัน เกลือเกี่ยวข้องกับสัตวบูชาสมัยโบราณภายใต้กฎของโมเสส (ดู เลวีนิติ 2:13; กันดารวิถี 18:19) เมื่อเกลือหมดรสเค็ม เกลือจะไร้ค่า หรือ “ไม่เป็นประโยชน์อะไร” (มัทธิว 5:13) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกลือผสมหรือปนเปื้อนสารอื่น
ระลึกถึงเรื่องนี้ไว้เสมอขณะไตร่ตรอง มัทธิว 5:13 ท่านจะรักษารสชาติของท่านในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์อย่างไร? ท่านจะทำงานรักษาและชำระให้สะอาดเหมือนเกลือแห่งโลกอย่างไร?
ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 103:9–10 ด้วย
กฎของพระคริสต์เข้ามาแทนที่กฎของโมเสส
เหล่าสาวกอาจประหลาดใจเมื่อได้ยินพระเยซูตรัสว่าความชอบธรรมของพวกเขาต้องมากกว่าความชอบธรรมของพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี (ดู มัทธิว 5:20) ผู้อวดอ้างว่าตนรักษากฎของโมเสสได้ดี
ขณะที่ท่านอ่าน มัทธิว 5:21–48 และ ลูกา 6:27–35 ท่านอาจจะทำเครื่องหมายทั้งพฤติกรรมที่เรียกร้องในกฎของโมเสส (“ท่านทั้งหลายได้ยินว่า …”) และสิ่งที่พระเยซูทรงสอนเพื่อยกระดับพฤติกรรมเหล่านี้ ท่านคิดว่าเหตุใดวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดจึงเป็นกฎที่สูงกว่า?
ตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงสอนอะไรใน มัทธิว 5:27–28 เกี่ยวกับการรับผิดชอบต่อความคิดของเรา? ท่านจะควบคุมความคิดและความรู้สึกที่เข้ามาในความคิดและหัวใจของท่านให้มากขึ้นได้อย่างไร? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45)
พระบิดาบนสวรรค์ทรงคาดหวังให้ฉันดีพร้อมหรือไม่?
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า
“คำว่า ดีพร้อม แปลมาจากคำภาษากรีกว่า teleios ซึ่งหมายถึง ‘ครบถ้วน’ … รูปกริยาที่เป็นนามคือ teleiono ซึ่งหมายถึง ‘ไปถึงจุดไกลสุด พัฒนาเต็มที่ สำเร็จ หรือสิ้นสุด’ โปรดสังเกตว่าคำนี้ไม่ได้มีนัย ‘อิสระจากความผิดพลาด’; แต่มีนัย ‘บรรลุเป้าหมายที่อยู่ไกล’ …
“… พระเจ้าทรงสอนว่า ‘เจ้าไม่สามารถทนพระสิริของพระผู้เป็นเจ้าในขณะนี้…; ดังนั้น, จงดำเนินต่อไปด้วยความอดทนจนกว่าเจ้าจะได้รับการทำให้ดีพร้อม’ [หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:13]
“เราต้องไม่ท้อใจหากความพยายามอย่างจริงใจเพื่อให้บรรลุความดีพร้อมเวลานี้ดูเหมือนยากลำบากอย่างยิ่งและไม่สิ้นสุด ความดีพร้อมอยู่ระหว่างดำเนินการ ความดีพร้อมจะมาครบถ้วนหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์และผ่านพระเจ้าเท่านั้น ความดีพร้อมรอคอยทุกคนที่รักพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (“Perfection Pending,” Ensign, Nov. 1995, 86, 88)
ดู 2 เปโตร 1:3–11; โมโรไน 10:32–33; หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:69; เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม—ในที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 40–42 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
มัทธิว 5:1–9หลักธรรมใดใน มัทธิว 5:1–9 จะช่วยให้บ้านของท่านเป็นสถานที่ซึ่งมีความสุขมากขึ้น? ท่านอาจเลือกหนึ่งหรือสองหลักธรรมที่ดูเหมือนสำคัญเป็นพิเศษต่อครอบครัวของท่าน ตัวอย่างเช่น เราพบคำสอนอะไรที่สามารถช่วยให้เราเป็นผู้สร้างสันติบ้าง? (ดู มัทธิว 5:21–25, 38–44) เราจะตั้งเป้าหมายอะไรได้บ้าง? เราจะติดตามผลอย่างไร?
-
มัทธิว 5:13รับประทานอาหารที่ปรุงรสด้วยเกลือและอาหารชนิดเดียวกันที่ไม่ใส่เกลือ เราสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้าง? การเป็น “เกลือแห่งโลก” หมายความว่าอย่างไร? เราจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร?
-
มัทธิว 5:14–16เพื่อช่วยให้ครอบครัวท่านเข้าใจความหมายของการเป็น “ความสว่างของโลก” ท่านอาจจะสำรวจต้นกำเนิดของความสว่างในบ้านท่าน ละแวกบ้าน และโลก การแสดงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อท่านปิดบังแสงอาจจะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น พระเยซูทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก”? (มัทธิว 5:14) ใครเป็นเหมือนความสว่างสำหรับครอบครัวเรา? เราจะเป็นแสงสว่างให้ผู้อื่นได้อย่างไร? (ดู 3 นีไฟ 18:16, 24–25)
-
มัทธิว 5:43–45ขณะที่ครอบครัวท่านอ่านพระวจนะของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ ท่านอาจพูดถึงใครที่ท่านรู้สึกว่าท่านสามารถรัก เป็นพร และสวดอ้อนวอนให้ได้ เราจะเพิ่มความรักให้กับพวกเขาได้อย่างไร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ส่องไป” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 96