“6–12 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4: ‘พวกท่านต้องเกิดใหม่,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“6–12 กุมภาพันธ์ ยอห์น 2–4,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023
6–12 กุมภาพันธ์
ยอห์น 2–4
“พวกท่านต้องเกิดใหม่”
ในชั้นเรียนปฐมวัยสั้นๆ ท่านจะไม่มีเวลาสอนหลักธรรมสำคัญทุกข้อใน ยอห์น 2–4 แสวงหาการทรงนำทางวิญญาณเกี่ยวกับสิ่งที่จะเน้นเพื่อให้ตรงกับความต้องการและความสนใจของเด็กมากที่สุด
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เพื่อกระตุ้นให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้และประสบ ถามพวกเขาว่าพวกเขาทำอะไรเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อเป็น “ผู้หาคนดั่งหาปลา” (มัทธิว 4:19) ท่านอาจต้องการทบทวนบทเรียนของสัปดาห์ที่แล้วกับพวกเขา
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันจำเป็นต้องรับบัพติศมาและการยืนยันเพื่อกลับไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์
เด็กที่ท่านสอนกำลังเตรียมเดินก้าวสำคัญเพื่อไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์อีกครั้งโดยรับบัพติศมา (เกิดจากน้ำ) และรับการยืนยัน (เกิดจากพระวิญญาณ) ท่านจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจความสำคัญของศาสนพิธีทั้งสองนี้ได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
สรุปเรื่องราวของพระเยซูทรงสอนนิโคเดมัส (ดู ยอห์น 3:1–10) สัญญากับเด็กว่าเมื่อพวกเขารับบัพติศมา พระบิดาบนสวรรค์จะทรงมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้พวกเขา
-
ให้เด็กดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้และขอให้พวกเขาอธิบายภาพวาด อ่าน ยอห์น 3:5 และเป็นพยานว่าเราจำเป็นต้องรับบัพติศมาและการยืนยันเพื่ออยู่กับพระบิดาบนสวรรค์อีกครั้ง
-
ขอให้เด็กพูดคุยกันว่าพวกเขาล้างมืออย่างไร ให้ดูภาพ เด็กผู้หญิงรับบัพติศมา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 104) และช่วยเด็กเปรียบเทียบการล้างมือด้วยน้ำกับการเป็นคนสะอาดทางวิญญาณผ่านบัพติศมา
พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน พระองค์จึงประทานพระผู้ช่วยให้รอดแก่ฉัน
ท่านจะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ความจริงอันล้ำค่านี้ได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กเติมประโยคทำนองนี้ให้สมบูรณ์: “เพราะพ่อแม่รักฉัน พวกท่านจึง …” อ่าน ยอห์น 3:16 จากนั้นช่วยให้เด็กแต่ละคนพูดซ้ำ ยอห์น 3:16 โดยแทนที่คำว่า “โลก” ด้วยชื่อของตนเอง ช่วยให้เด็กสังเกตว่าพระคัมภีร์ข้อนี้กล่าวว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงทำอะไรเพราะพระองค์ทรงรักเรา เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปพระเยซู ให้พวกเขาแบ่งปันภาพวาดของตนและแสดงความรักที่มีต่อพระผู้ช่วยให้รอด
-
ร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับพระเยซู เช่น “พระองค์ทรงส่งพระบุตร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 20–21) ให้เด็กชูภาพพระเยซูทุกครั้งที่ร้องคำว่า “พระบุตร” “พระเยซู” หรือ “พระผู้ช่วยให้รอด”
พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “น้ำดำรงชีวิต” ของฉัน
เด็กในชั้นเรียนของท่านเข้าใจได้กับความรู้สึกกระหายน้ำ ท่านจะใช้ประสบการณ์นั้นช่วยให้เด็กเข้าใจได้อย่างไรว่าเราต้องการน้ำดำรงชีวิตที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบให้มากเพียงใด?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ใช้ภาพใน โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เล่าเรื่องของพระเยซูกับหญิงที่บ่อน้ำ (ดู ยอห์น 4:5–15) ขอให้เด็กเล่าเรื่องซ้ำ
-
ให้ดูน้ำแก้วหนึ่งและพูดคุยกับเด็กว่าทำไมเราต้องการน้ำ สรุป ยอห์น 4:5–15 พอสังเขปและเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ประทานชีวิตแก่วิญญาณเรา เฉกเช่นน้ำให้ชีวิตแก่ร่างกายของเรา
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
ฉันสามารถให้เกียรติมารดาของฉันเช่นเดียวกับพระเยซูทรงให้เกียรติพระมารดาของพระองค์
ณ งานสมรสที่หมู่บ้านคานา มารีย์บอกพระเยซูว่าเหล้าองุ่นหมด ตามงานแปลของโจเซฟ สมิธ พระเยซูตรัสตอบพระมารดาของพระองค์โดยตรัสถามว่าเธอต้องการให้พระองค์ทรงทำอะไรให้เธอและตรัสว่าจะทรงทำตามนั้น พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างถึงวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อมารดาของเรา
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน ยอห์น 2:1–11 และผลัดกันเล่าเรื่องด้วยคำพูดของพวกเขาเอง
-
ขอให้เด็กเขียนสิ่งที่มารดาของพวกเขาอาจต้องการให้ช่วย เชื้อเชิญให้พวกเขาฝึกสิ่งที่พวกเขาจะพูดกับมารดาโดยถามคล้ายกับพระเยซูว่า “ท่านต้องการให้เราทำอะไรให้ท่าน?”
-
เชื้อเชิญคุณแม่บางคนมาชั้นเรียนและแบ่งปันสิ่งที่ลูกๆ ของพวกเธอทำเพื่อแสดงความเคารพต่อพวกเธอ
การรับบัพติศมาและการยืนยันเปรียบเสมือนการเกิดใหม่
เมื่อเรารับบัพติศมา ซึ่งพระเยซูทรงเรียกว่าการ “เกิดจากน้ำ” เราได้รับการปลดบาปและสามารถ “เข้าในแผ่นดินของพระเจ้า” (ยอห์น 3:5) ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเข้าใจได้อย่างไรว่าการเกิดใหม่หมายถึงอะไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ทำแถบคำที่มีพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 3:3 และให้เด็กเรียงลำดับให้ถูกต้อง การรับบัพติศมาและการยืนยันเหมือนการเกิดใหม่อย่างไร?
-
ให้ดูภาพทารกแรกเกิดและภาพคนที่รับบัพติศมาและการยืนยัน (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 104–105) เราเหมือนทารกแรกเกิดหลังจากเรารับบัพติศมาและการยืนยันอย่างไร? (ดู ยอห์น 3:3–5)
-
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันความทรงจำเกี่ยวกับบัพติศมาของพวกเขา อ่าน โมไซยาห์ 18:8–10 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 เพื่อทบทวนพันธสัญญาบัพติศมา สอนเด็กว่าการรับศีลระลึกอย่างพิจารณาไตร่ตรองทุกสัปดาห์เป็นวิธีดำเนินกระบวนการของการเกิดใหม่
-
ช่วยเด็กท่องจำ หลักแห่งความเชื่อ 1:4
พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน พระองค์จึงทรงส่งพระบุตรของพระองค์มา
ท่านจะช่วยให้เด็กรู้ได้อย่างไรว่าการส่งพระเยซูคริสต์มายังแผ่นดินโลกเป็นการแสดงความรักของพระบิดาบนสวรรค์?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กๆ วาดรูปของขวัญชิ้นโปรดของพวกเขาและคนที่ให้ของขวัญชิ้นนั้น จากนั้นให้เด็กคนหนึ่งอ่าน ยอห์น 3:16 พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบของขวัญอะไรให้เรา? ของขวัญชิ้นนี้แสดงถึงความรักของพระองค์อย่างไร?
-
ขอให้เด็กค้นหาคำตอบของคำถามที่ว่า “เหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระเยซูคริสต์มาให้เรา?” ขณะพวกเขาอ่าน ยอห์น 3:16–17 หรือร้องเพลงหรือฟัง “พระองค์ทรงส่งพระบุตร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 20–21)
พระเยซูคริสต์ทรงมอบ “น้ำดำรงชีวิต” ให้ฉัน
เฉกเช่นพระเยซูทรงใช้น้ำสอนหญิงชาวสะมาเรีย ท่านสามารถใช้น้ำสอนเด็กๆ ได้ว่าเหตุใดเราจึงต้องการพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
กิจกรรมที่ทำได้
-
โดยใช้ ยอห์น 4:5–23 เขียนประโยคสรุปจากเรื่องราวของหญิงที่บ่อน้ำ ขอให้เด็กอ้างอิงถึงข้อเหล่านี้เพื่อจัดประโยคให้อยู่ในลำดับที่ถูกต้อง พระเยซูทรงพยายามสอนอะไรหญิงคนนั้น?
-
แจกน้ำดื่มให้เด็ก และขอให้พวกเขาแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขากระหายน้ำ พูดคุยกันว่ารู้สึกอย่างไรที่สุดท้ายก็ได้ดื่มน้ำ เชื้อเชิญให้เด็กบอกสิ่งที่ทำให้เราพอใจชั่วขณะ อาทิ น้ำหนึ่งถ้วย สิ่งใดเหมือน “น้ำดำรงชีวิต” ที่สามารถทำให้เราพอใจได้ตลอดไป?
-
เขียนบนกระดานว่า พระกิตติคุณเหมือนน้ำอย่างไร? ขอให้เด็กคิดว่าพวกเขาจะตอบคำถามนี้อย่างไรขณะที่พวกเขาอ่าน ยอห์น 4:5–23
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ท่านอาจจะขอให้เด็กเอาน้ำให้สมาชิกครอบครัวดื่มเมื่อพวกเขากลับถึงบ้าน ขณะทำเช่นนั้นพวกเขาสามารถแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับน้ำดำรงชีวิตได้