“17–23 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15: ‘พระวจนะของพระเจ้าจำเริญขึ้นและแพร่ขยายออกไป,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“17–23 กรกฎาคม กิจการของอัครทูต 10–15,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
17–23 กรกฎาคม
กิจการของอัครทูต 10–15
“พระวจนะของพระเจ้าจำเริญขึ้นและแพร่ขยายออกไป”
อ่าน กิจการของอัครทูต 10–15 อย่างถี่ถ้วน โดยให้เวลาพระวิญญาณทรงกระตุ้นเตือนท่านด้วยความคิดและความรู้สึก มีอะไรให้ท่านเรียนรู้ในบทเหล่านี้?
บันทึกความประทับใจของท่าน
ระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระเยซูคริสต์มักท้าทายประเพณีและความเชื่อที่มีมาช้านานของผู้คน สิ่งนี้ไม่ได้หยุดลงหลังจากพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เมื่อพระองค์ยังคงนำทางศาสนจักรของพระองค์โดยการเปิดเผย ตัวอย่างเช่น ในระหว่างพระชนม์ชีพของพระเยซู เหล่าสาวกของพระองค์สั่งสอนพระกิตติคุณให้เพื่อนชาวยิวเท่านั้น แต่ไม่นานหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นพระชนม์และเปโตรกลายเป็นผู้นำของศาสนจักรบนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์ทรงเปิดเผยต่อเปโตรว่าถึงเวลาสั่งสอนพระกิตติคุณให้ผู้ไม่ใช่ชาวยิวแล้ว แนวคิดเรื่องการแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนต่างชาติดูเหมือนไม่ใช่เรื่องแปลกในปัจจุบัน แล้วอะไรคือบทเรียนสำหรับเราในเรื่องนี้? บางทีบทเรียนหนึ่งก็คือในศาสนจักรทั้งในสมัยโบราณและปัจจุบัน พระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักทรงนำทางผู้นำที่พระองค์ทรงเลือกไว้ (ดู อาโมส 3:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38) การเปิดเผยต่อเนื่องเป็นเครื่องหมายสำคัญยิ่งของศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่ของพระเยซูคริสต์ เฉกเช่นเปโตร เราต้องเต็มใจยอมรับการเปิดเผยต่อเนื่องและดำเนินชีวิต “ตามพระวจนะทุกคำของพระผู้เป็นเจ้า” (ลูกา 4:4) รวมทั้ง “ทุกสิ่งที่ [พระองค์] ทรงเปิดเผยมาแล้ว, ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเปิดเผยขณะนี้” และ “เรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่อีกหลายเรื่อง” ที่พระองค์จะทรงเปิดเผย “เกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักแห่งความเชื่อ 1:9)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
“พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง”
ชาวยิวหลายรุ่นเชื่อว่าการเป็น “พงศ์พันธุ์ของอับราฮัม” หรือสายเลือดแท้ของอับราฮัมหมายความว่าพระผู้เป็นเจ้าชอบพระทัยยอมรับและทรงเลือกบุคคลนั้น (ดู ลูกา 3:8) พวกเขาถือว่าคนอื่นเป็นคนต่างชาติที่ “ไม่สะอาด” และพระผู้เป็นเจ้าไม่ชอบพระทัย ใน กิจการของอัครทูต 10 พระเจ้าทรงสอนอะไรเปโตรเกี่ยวกับคนที่ “ชอบพระทัยพระองค์” (กิจการของอัครทูต 10:35) ท่านพบหลักฐานอะไรในบทนี้ที่ยืนยันว่าชีวิตของโครเนลิอัสเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า? ไตร่ตรองความหมายของข้อความที่ว่า “พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง” (ข้อ 34; ดู 1 นีไฟ 17:35 ด้วย) เหตุใดการรู้ความจริงนี้จึงสำคัญสำหรับท่าน?
เหมือนชาวยิวผู้ดูถูกคนที่ไม่ใช่พงศ์พันธุ์ของอับราฮัม ท่านเคยพบว่าตนเองตั้งสมมติฐานอย่างไร้เมตตาหรือโดยไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับคนที่ต่างจากท่านหรือไม่? ท่านจะเอาชนะนิสัยนี้ได้อย่างไร? การพยายามทำกิจกรรมที่เรียบง่ายนี้สักสองสามวันติดต่อกันอาจเป็นเรื่องน่าสนใจ นั่นคือ เมื่อท่านปฏิสัมพันธ์กับใครก็ตาม พยายามนึกในใจว่า “คนนี้เป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า” ขณะทำเช่นนี้ ท่านสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในวิธีที่ท่านคิดและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น?
ดู 1 ซามูเอล 16:7; 2 นีไฟ 26:13, 33; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 92–95 ด้วย
กิจการของอัครทูต 10; 11:1–18;15
พระบิดาบนสวรรค์ทรงสอนฉันเป็นบรรทัดมาเติมบรรทัดผ่านการเปิดเผย
เมื่อเปโตรเห็นนิมิตที่บรรยายไว้ใน กิจการของอัครทูต 10 ทีแรกเขาพยายามทำความเข้าใจและ “คิดสงสัยเรื่องนิมิตที่เห็นนั้นว่ามีความหมายอย่างไร” (ข้อ 17) ทว่าพระเจ้าประทานความเข้าใจให้เปโตรมากขึ้นเมื่อเขาแสวงหา ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 10, 11 และ 15 ให้สังเกตว่าความเข้าใจนิมิตของเปโตรลึกซึ้งขึ้นตามกาลเวลาอย่างไร ท่านเคยแสวงหาและได้รับความเข้าใจมากขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างไรเมื่อท่านมีคำถาม?
กิจการของอัครทูต 10, 11 และ 15 เล่ากรณีตัวอย่างที่พระเจ้าทรงกำกับดูแลผู้รับใช้ของพระองค์ผ่านการเปิดเผย การบันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับการเปิดเผยขณะอ่านบทเหล่านี้อาจจะช่วยได้ พระวิญญาณตรัสกับท่านในวิธีใดบ้าง?
ดู เควนทิน แอล. คุก, “พรจากการเปิดเผยต่อเนื่องต่อศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผยส่วนตัวเพื่อนำทางชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 96–100 ด้วย
ฉันเป็นชาวคริสต์เพราะฉันเชื่อในพระเยซูคริสต์และทำตามพระองค์
อะไรสำคัญเกี่ยวกับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นคริสต์ศาสนิกชน? (ดู กิจการของอัครทูต 11:26) การเป็นที่รู้จักในฐานะคริสต์ศาสนิกชนมีความหมายต่อท่านอย่างไร? พิจารณาความสำคัญของชื่อ ตัวอย่างเช่น นามสกุลของครอบครัวท่านมีความหมายต่อท่านอย่างไร? เหตุใดชื่อศาสนจักรจึงสำคัญสำหรับท่าน? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 115:4) การรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับเราโดยพันธสัญญาหมายความว่าอย่างไร? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77)
ดู โมไซยาห์ 5:7–15; แอลมา 46:13–15; 3 นีไฟ 27:3–8; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ชื่อที่ถูกต้องของศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 87–90 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
กิจการของอัครทูต 10:17, 20เราเคยมีประสบการณ์ทางวิญญาณและต่อมาสงสัยสิ่งที่เรารู้สึกหรือเรียนรู้หรือไม่? เราจะให้คำแนะนำอะไรกันได้บ้างที่อาจจะช่วยให้เราเอาชนะความสงสัยของเรา? (ดู นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “ความทรงจำสำคัญทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 18–22)
-
กิจการของอัครทูต 10:34–35ท่านจะสอนครอบครัวของท่านได้อย่างไรว่า “พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง”? (กิจการของอัครทูต 10:34) บางทีท่านอาจแสดงภาพผู้คนจากภูมิหลังและวัฒนธรรมต่างๆ ขณะครอบครัวของท่านอ่านข้อเหล่านี้ ความจริงในข้อเหล่านี้ควรมีอิทธิพลต่อการกระทำของเราอย่างไร? (ดูตัวอย่างเช่น “ฉันเดินกับเธอ” [หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 78–79])
-
กิจการของอัครทูต 12:1–17ครอบครัวของท่านสามารถแสดงเรื่องราวที่เปโตรถูกจำคุกและสมาชิกของศาสนจักรรวมตัวกันสวดอ้อนวอนให้เขา เราได้รับพรจากการสวดอ้อนวอนเมื่อใด? มีคนที่เรารู้สึกได้รับการดลใจให้สวดอ้อนวอนเพื่อเขาหรือไม่ เช่น ผู้นำศาสนจักรหรือคนที่ครอบครัวท่านรัก? การสวดอ้อนวอน “อย่างกระตือรือร้น” หมายความว่าอย่างไร? (กิจการของอัครทูต 12:5; ดู แอลมา 34:27 ด้วย)
-
กิจการของอัครทูต 14ขณะที่ท่านอ่านบทนี้ด้วยกัน สมาชิกครอบครัวบางคนอาจจดบันทึกพรที่มาถึงสานุศิษย์และศาสนจักร สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ อาจสังเกตเห็นการต่อต้านหรือการทดลองที่สานุศิษย์พบเจอ เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้เรื่องยุ่งยากทั้งหลายเกิดกับคนชอบธรรม?
-
กิจการของอัครทูต 15:1–21ข้อเหล่านี้อธิบายถึงความขัดแย้งในศาสนจักรว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสจำเป็นต้องรักษากฏของโมเสสรวมถึงการเข้าสุหนัตหรือไม่ อัครสาวกทำอย่างไรเกี่ยวกับความขัดแย้งนี้? เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากตัวอย่างนี้เกี่ยวกับการที่ผู้นำศาสนจักรกำกับดูแลงานของศาสนจักร?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ฉันเดินกับเธอ” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 78–79