“31 กรกฎาคม–6 สิงหาคม กิจการของอัครทูต 22–28: ‘เป็นผู้รับใช้และเป็นสักขีพยาน,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“31 กรกฎาคม–6 สิงหาคม กิจการของอัครทูต 22–28,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
31 กรกฎาคม–6 สิงหาคม
กิจการของอัครทูต 22–28
“เป็นผู้รับใช้และเป็นสักขีพยาน”
ความประทับใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์มักจะมาเงียบๆ และบางครั้งมาชั่วประเดี๋ยว การบันทึกความประทับใจของท่านจะทำให้ท่านได้ใคร่ครวญถึงความประทับใจได้ลึกซึ้งมากขึ้น ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 22–28 ให้จดความคิดและความรู้สึกที่มาถึงท่านและใช้เวลาไตร่ตรอง
บันทึกความประทับใจของท่าน
“เมื่อเรากำลังทำกิจธุระของพระเจ้า” ประธานโธมัส เอส. มอนสันสัญญาว่า “เรามีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า” (“พึงเรียนรู้ พึงทำ พึงเป็น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 77) แต่เราไม่มีสิทธิ์ได้ถนนที่ราบเรียบและธารน้ำไม่ขาดสายของความสำเร็จ เราไม่ต้องมองหาไกลก็เห็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ได้จากอัครสาวกเปาโล กิจธุระของเขาจากพระผู้ช่วยให้รอดคือ “นำนามของเราไปถึงบรรดาคนต่างชาติ และบรรดากษัตริย์ และไปถึงพวกอิสราเอล” (กิจการของอัครทูต 9:15) ใน กิจการของอัครทูต บทที่ 22–28 เราเห็นเปาโลทำกิจธุระของเขาสำเร็จลุล่วงและเผชิญการต่อต้านใหญ่หลวง—โซ่ตรวน การจองจำ การทารุณกรรมร่างกาย เรือล่ม และแม้กระทั่งงูกัด แต่เราเห็นเช่นกันว่าพระเยซู “ทรงมายืนอยู่ข้างเปาโลตรัสว่า เจ้าจงมีใจกล้า” (กิจการของอัครทูต 23:11) ประสบการณ์ของเปาโลเป็นเครื่องเตือนใจที่สร้างแรงบันดาลใจว่าการเรียกของพระเจ้าเพื่อ “ประกาศกิตติคุณ [ของพระองค์] ด้วยเสียงแห่งความชื่นชมยินดี” มาพร้อมกับสัญญาว่า “จงรื่นเริงใจและยินดีเถิด, เพราะเราอยู่ท่ามกลางเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:4–5; ดู มัทธิว 28:19–20 ด้วย)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
กิจการของอัครทูต 22:1–21; 26:1–29
เหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์แบ่งปันประจักษ์พยานอย่างองอาจ
เมื่อเปาโลกล่าวประจักษ์พยานอันทรงพลังที่บันทึกไว้ใน กิจการของอัครทูต 22 และ 26 เขากำลังถูกทหารโรมันจับเป็นนักโทษ คนที่เขาพูดด้วยมีอำนาจลงโทษเขาถึงตาย แต่เขาเลือกกล่าวคำพยานอย่างองอาจเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ และ “นิมิตจากสวรรค์” (กิจการของอัครทูต 26:19) ที่เขาได้รับ อะไรเป็นแรงบันดาลใจท่านเกี่ยวกับถ้อยคำของเขา? พิจารณาโอกาสที่มีให้ท่านแบ่งปันประจักษ์พยานของท่าน ตัวอย่างเช่น เพื่อนของท่านรู้หรือไม่ว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์? หรือครั้งสุดท้ายที่ท่านบอกครอบครัวว่าท่านได้รับประจักษ์พยานในพระกิตติคุณอย่างไรคือเมื่อใด?
เมื่อเด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธถูกเยาะเย้ยเพราะเล่าเรื่องนิมิตแรกของเขา เขาได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีที่เปาโลเป็นพยานถึงนิมิตของเขา (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:24–25) ท่านจะสรุปสิ่งที่โจเซฟ สมิธเรียนรู้จากเปาโลว่าอย่างไร? ท่านเรียนรู้อะไรบ้างจากพยานสองคนนี้ของพระเยซูคริสต์?
ดู นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “เราพูดถึงพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 88–91 ด้วย
กิจการของอัครทูต 23:10–11; 27:13–25, 40–44
พระเจ้าทรงยืนอยู่ข้างคนที่พยายามรับใช้พระองค์
ตามที่การปฏิบัติศาสนกิจของเปาโลแสดงให้เห็นชัดเจน ความยุ่งยากทั้งหลายในชีวิตเราไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงเห็นด้วยกับเราหรือยอมรับงานที่เราทำอยู่ อันที่จริง บางครั้งในช่วงยากลำบากนี่เองที่เรารู้สึกถึงความช่วยเหลือของพระองค์มากที่สุด อาจจะเป็นเรื่องน่าสนใจถ้าทบทวนสิ่งที่เราเพิ่งอ่านเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของเปาโลและเขียนแจกแจงบางอย่างที่เขาอดทน (ดูตัวอย่างใน กิจการของอัครทูต 14:19–20; 16:19–27; 21:31–34; 23:10–11; 27:13–25, 40–44) พระเจ้าทรงยืนเคียงข้างเขาอย่างไร? พระองค์ทรงยืนเคียงข้างท่านอย่างไร?
กิจการของอัครทูต 24:24–27; 26:1–3, 24–29; 27
มีความปลอดภัยและสันติสุขในการเอาใจใส่ถ้อยคำของผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า
ตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของเปาโล เขาแสดงประจักษ์พยานอันเปี่ยมด้วยพลังเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ คนมากมายยอมรับพยานของเขา แต่ไม่ใช่ทุกคน ขณะที่ท่านอ่าน กิจการของอัครทูต 24:24–27 และ กิจการของอัครทูต 26:1–3, 24–29 ให้มองหาคำและวลีที่แสดงปฏิกิริยาของขุนนางโรมันต่อไปนี้ในยูเดียต่อคำสอนของเปาโล
-
เฟลิกส์
-
เฟสทัส
-
กษัตริย์อากริปปา
ขณะโดยสารเรือไปกรุงโรมเพื่อรับการไต่สวนจากซีซาร์ เปาโลพยากรณ์ว่า “อันตรายและความเสียหายมาก” จะเกิดกับเรือและผู้โดยสาร (กิจการของอัครทูต 27:10) อ่าน บทที่ 27 เพื่อดูว่าพวกลูกเรือที่มาด้วยกันมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำเตือนของเปาโล ท่านพบบทเรียนให้ตัวท่านบ้างหรือไม่ในประสบการณ์ของพวกเขา?
ท่านเคยมีปฏิกิริยาเหมือนคนเหล่านี้หรือไม่เมื่อท่านได้ยินคำสอนของผู้นำศาสนจักร? การมีปฏิกิริยาแบบนี้อาจเกิดผลอะไรบ้าง? ท่านเรียนรู้อะไรจากเรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับการเอาใจใส่คำแนะนำของพระเจ้าผ่านผู้รับใช้ของพระองค์?
ดู 2 นีไฟ 33:1–2; ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “เสียงเตือน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 108–111; “ทำตามศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่,” คำสอนของประธานศาสนจักร: เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (2014), 147–155
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
กิจการของอัครทูต 24:16ก่อนเปลี่ยนใจเลื่อมใส เปาโลมีประวัติทำความผิดมากมายต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่เพราะเขายินดีกลับใจ เขาจึงสามารถพูดได้ว่า “เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงอุตส่าห์ประพฤติตามมโนธรรมที่ดีเสมอ ไม่ให้ผิดต่อพระเจ้าและต่อมนุษย์” (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 135:4–5 ด้วย) เราจะขจัดความรู้สึกผิดต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อผู้อื่นได้อย่างไร?
-
กิจการของอัครทูต 26:16–18ในข้อเหล่านี้พระเจ้าทรงเรียกเปาโลให้ทำอะไร? เรามีโอกาสใดให้ทำสิ่งที่คล้ายคลึงกัน?
-
กิจการของอัครทูต 28:1–9มีใครในครอบครัวท่านชอบงูบ้าง? ท่านอาจต้องการขอให้บุคคลนั้นหรือสมาชิกครอบครัวอีกคนเล่าเรื่องที่อยู่ใน กิจการของอัครทูต 28:1–9 ลูกๆ ของท่านอาจจะชอบวาดรูปเรื่องเหล่านี้หรือแสดงประกอบเรื่อง เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรจากเรื่องราวเหล่านี้? บทเรียนหนึ่งอาจจะเป็นว่าพระเจ้าทรงทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับผู้รับใช้ของพระองค์ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเปรียบเทียบคำสัญญาที่ทำไว้ใน มาระโก 16:18 กับสัมฤทธิผลของคำสัญญาเหล่านั้นในประสบการณ์ของเปาโล ท่านอาจจะหาคำสัญญาที่ผู้รับใช้คนหนึ่งของพระเจ้าทำไว้ในคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุดเช่นกัน—อาจจะเป็นคำสัญญาที่มีความหมายต่อครอบครัวท่าน—และติดไว้ในบ้านของท่าน เราจะแสดงศรัทธาของเราว่าคำสัญญานี้จะเกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร?
-
กิจการของอัครทูต 28:22–24เฉกเช่นศาสนจักรในสมัยของเปาโล (เรียกว่า “ลัทธิ” ใน ข้อ 22) ศาสนจักรทุกวันนี้ถูก “ต่อต้าน” บ่อยครั้ง เมื่อผู้คนพูดต่อต้านพระผู้ช่วยให้รอดและศาสนจักรของพระองค์ เปาโลโต้ตอบอย่างไร? เราสามารถเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของเปาโล?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “พระผู้ไถ่ฉันทรงพระชนม์” เพลงสวด บทเพลงที่ 58