“18–24 กันยายน 2 โครินธ์ 8–13: ‘พระเจ้าทรงรักคนที่ให้ด้วยใจยินดี,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“18–24 กันยายน 2 โครินธ์ 8–13,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023
18–24 กันยายน
2 โครินธ์ 8–13
“พระเจ้าทรงรักคนที่ให้ด้วยใจยินดี”
การบันทึกความประทับใจทางวิญญาณจะช่วยให้ท่านจดจำสิ่งที่ท่านเรียนรู้ระหว่างศึกษาพระคัมภีร์ ท่านอาจจะเขียนในสมุดบันทึกการศึกษา ทำหมายเหตุไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ เพิ่มหมายเหตุในแอปพลิเคชันคลังค้นคว้า หรือบันทึกเสียงความคิดของท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
ท่านจะทำอะไรหากท่านได้ยินว่าวิสุทธิชนกลุ่มหนึ่งในอีกเขตหนึ่งกำลังลำบากด้วยความขัดสน? นั่นเป็นสถานการณ์ที่เปาโลพูดกับวิสุทธิชนชาวโครินธ์ใน 2 โครินธ์ 8–9 เขาหวังจะชักชวนวิสุทธิชนชาวโครินธ์ให้บริจาคบางส่วนแก่วิสุทธิชนที่ขัดสน แต่นอกเหนือจากที่ขอให้บริจาค คำพูดของเปาโลมีความจริงที่ลึกซึ้งอยู่ในนั้นเกี่ยวกับการให้ “แต่ละคนจงให้ตามที่เขาคิดหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ให้ด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ให้ด้วยความจำใจ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนที่ให้ด้วยใจยินดี” (2 โครินธ์ 9:7) ในสมัยของเรา ยังคง มี วิสุทธิชนทั่วโลกที่ต้องการความช่วยเหลือ บางครั้งส่วนใหญ่ที่เราทำเพื่อพวกเขาได้คืออดอาหารและบริจาคเงินอดอาหาร ในกรณีอื่นๆ เราอาจจะให้แก่บุคคลนั้นโดยตรง ไม่ว่าการเสียสละของเราเป็นแบบใด เราควรสำรวจเจตนาในการให้ของเรา การเสียสละของเราเป็นการแสดงความรักหรือไม่? ความรักนั่นเองที่ทำให้ผู้ให้รู้สึกยินดี
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันสามารถแบ่งปันสิ่งที่มีด้วยใจยินดีเพื่อเป็นพรแก่คนยากจนและคนขัดสน
มีคนขัดสนมากมายทั่วโลก เราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ให้คำแนะนำดังนี้ “ไม่ว่าจะรวย หรือ จน เราต้อง ‘ทำสุดกำลังของเรา’ เมื่อผู้อื่นต้องการความช่วยเหลือ [ดู มาระโก 14:6, 8] … [พระผู้เป็นเจ้า] จะทรงช่วยท่านและนำทางท่านในการเป็นสานุศิษย์ที่มีการุณยธรรม หากท่านต้องการและสวดอ้อนวอนหาวิธีรักษาพระบัญญัติที่พระองค์ประทานแก่เราครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างจริงจัง” (“เราทั้งหลายไม่ได้เป็นขอทานหรอกหรือ?,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 41)
อ่าน 2 โครินธ์ 8:1–15; 9:6–15 โดยจดบันทึกหลักธรรมที่เปาโลสอนเกี่ยวกับการดูแลคนยากจนและคนขัดสน คำแนะนำของเปาโลสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านอย่างไร? ท่านอาจจะสวดอ้อนวอนขอการนำทางว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นพรแก่คนขัดสน พึงแน่ใจว่าได้บันทึกความประทับใจที่ท่านได้รับและทำตามนั้น
ดู โมไซยาห์ 4:16–27; แอลมา 34:27–29; รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระบัญญัติข้อสำคัญข้อสอง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 96–100 ด้วย
2 โครินธ์ 11:1–6, 13–15; 13:5–9
“ท่านจงพิจารณาดูตัวของท่านว่าท่านตั้งอยู่ในความเชื่อหรือไม่”
ทุกวันนี้ เช่นเดียวกับในสมัยของเปาโล มีคนเหล่านั้นที่พยายามนำเราให้ห่างจาก “ความบริสุทธิ์ต่อพระคริสต์” (2 โครินธ์ 11:3) ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำตามที่เปาโลแนะนำว่า “ท่านจงพิจารณาดูตัวของท่านว่าท่านตั้งอยู่ในความเชื่อหรือไม่” (2 โครินธ์ 13:5) ท่านอาจเริ่มกระบวนการนี้โดยคิดว่า “อยู่ในศรัทธา” หมายความว่าอย่างไร ท่านรู้ได้อย่างไรว่าท่านอยู่ในศรัทธา? มองหาโอกาสที่ท่านจะได้สำรวจตัวเอง
ในการตรวจสอบส่วนหนึ่ง ท่านอาจไตร่ตรองวลี “ความเรียบง่ายในพระคริสต์” (ดู 2 โครินธ์ 11:3) ท่านพบความเรียบง่ายในพระคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์อย่างไร? จิตใจของท่านอาจ “ถูกทำให้หลงไปจากความเรียบง่าย [นั้น]” อย่างไร? ท่านพบคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อะไรบ้างใน 2 โครินธ์ 11:1–6, 13–15?
พิจารณาคำแนะนำนี้จากประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟด้วยว่า “ถ้าท่านเคยคิดว่าพระกิตติคุณไม่มีผลดีต่อท่าน ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านถอยกลับไปมองดูชีวิตท่านจากมุมมองที่สูงกว่าและทำให้วิธีของท่านเรียบง่ายสู่การเป็นสานุศิษย์ เน้นหลักคำสอนพื้นฐาน หลักธรรม และการประยุกต์ใช้พระกิตติคุณ ‹ƒข้าพเจ้าสัญญาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำทางและทรงอวยพรท่านบนเส้นทางสู่ชีวิตที่บรรลุผลสำเร็จ และพระกิตติคุณจะมีผลดีต่อท่านมากขึ้น” (“มีผลดีมากทีเดียว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 22)
พระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดมากพอจะช่วยให้ฉันพบความเข้มแข็งในความอ่อนแอ
เราไม่รู้ว่า “หนามในเนื้อ” ของเปาโลคืออะไร แต่เราทุกคนมีหนามของเราเองซึ่งเราหวังว่าพระเจ้าจะทรงขจัดออกไปจากชีวิตเรา นึกถึงหนามของท่านขณะอ่าน 2 โครินธ์ 12:5–10 และไตร่ตรองสิ่งที่ท่านเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในข้อเหล่านี้ เปาโลสอนอะไรในข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการทดลองและความอ่อนแอ? “พระคุณของพระผู้เป็นเจ้าเพียงพอ” กับท่านมีความหมายต่อท่านอย่างไร?
ดู โมไซยาห์ 23:21–24; 24:10–15; อีเธอร์ 12:27; โมโรไน 10:32–33 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
2 โครินธ์ 8–9เราพบอะไรในบทเหล่านี้ที่ดลใจให้เรายื่นมือช่วยเหลือคนยากจนและคนอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ? อาจเป็นเวลาดีที่จะวางแผนและรับใช้คนขัดสนด้วยกันเป็นครอบครัว
-
2 โครินธ์ 9:6–7ครอบครัวท่านรู้จักคนที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ “ให้ด้วยใจยินดี” หรือไม่? เราจะทำให้การรับใช้ผู้อื่นเป็นเรื่องน่ายินดีมากขึ้นได้อย่างไร? สมาชิกในครอบครัวที่อายุน้อยกว่าอาจทำป้ายที่เขียนว่า “ฉันเป็นผู้ให้ด้วยใจยินดี” ท่านสามารถมอบเหรียญตราให้สมาชิกในครอบครัวได้ทุกเมื่อที่เห็นพวกเขารับใช้กันด้วยใจยินดี
-
2 โครินธ์ 10:3–7ท่านจะสอนครอบครัวท่านเกี่ยวกับการ “สู้รบ” กับความชั่วร้ายได้อย่างไร? ครอบครัวท่านอาจจะอยากสร้างกำแพงหรือป้อมปราการด้วยเก้าอี้หรือผ้าห่ม? กิจกรรมนี้จะนำไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับวิธีทำลายสิ่งที่นำเราออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้าและวิธี “ยึดกุมความคิดทุกประการให้มาเชื่อฟังพระคริสต์” เราใช้ “อาวุธ” อะไรควบคุมความคิดของเรา? (ดู เอเฟซัส 6:11–18)
-
2 โครินธ์ 11:3ครอบครัวท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจดจ่อมากขึ้นกับ “ความเรียบง่ายในพระคริสต์”?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ลำธารเล็กๆ พูดว่า ‘จงให้’” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 116