พันธสัญญาใหม่ 2023
4–10 ธันวาคม วิวรณ์ 1–5: “พระ‍สิริ​และ​อานุ‌ภาพจง​มี​แด่ … พระ‍เมษ‌โป‌ดกตลอด‍ไป​เป็น​นิตย์”


“4–10 ธันวาคม วิวรณ์ 1–5: ‘พระสิริและอานุภาพจงมีแด่ … พระเมษโปดกตลอดไปเป็นนิตย์,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)

“4–10 ธันวาคม วิวรณ์ 1–5,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2023

แกะนั่งบนพื้นหญ้า

4–10 ธันวาคม

วิวรณ์ 1–5

“พระ‍สิริ​และ​อานุ‌ภาพจง​มี​แด่ … พระ‍เมษ‌โป‌ดกตลอด‍ไป​เป็น​นิตย์”

ท่านอาจจะจดคำถามที่มีเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านอ่านใน วิวรณ์ จากนั้นท่านจะหาคำตอบของคำถามหรือสนทนากับสมาชิกครอบครัวหรือในชั้นเรียนของศาสนจักร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ท่านเคยพยายามแสดงให้ผู้อื่นเห็นหรือไม่ว่าท่านรู้สึกอย่างไรระหว่างประสบการณ์แรงกล้าทางวิญญาณ? ภาษาประจำวันอาจไม่สามารถบรรยายความรู้สึกและความประทับใจทางวิญญาณได้ดีพอ ทั้งนี้อาจจะเป็นสาเหตุให้ยอห์นใช้สัญลักษณ์และภาพพจน์มากมายอธิบายการเปิดเผยอันยิ่งใหญ่ของเขา เขาอาจจะกล่าวเพียงว่าเขาเห็นพระเยซูคริสต์ แต่เพื่อช่วยให้เราเข้าใจประสบการณ์ของเขา เขาพูดถึงพระผู้ช่วยให้รอดโดยใช้คำอย่างเช่น “พระเนตรของพระองค์เหมือนอย่างเปลวไฟ” “มีดาบสองคมที่คมกริบออกมาจากพระโอษฐ์” และ “พระพักตร์ของพระองค์เหมือนอย่างดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงแรงกล้า” (วิวรณ์ 1:14–16) ขณะที่ท่านอ่านหนังสือ วิวรณ์ ลองพยายามค้นหาข่าวสารที่ยอห์นต้องการให้ท่านเรียนรู้และรู้สึกแม้ท่านจะไม่เข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ในสัญลักษณ์เหล่านั้น เหตุใดเขาจึงเปรียบเทียบคริสตจักรกับคันประทีป ซาตานกับพญานาค และพระเยซูคริสต์กับลูกแกะ สุดท้ายแล้ว ท่านไม่ต้องเข้าใจสัญลักษณ์ทุกอย่างใน วิวรณ์ ก็เข้าใจสาระสำคัญในนั้น รวมทั้งสาระที่โดดเด่นที่สุด นั่นคือ พระเยซูคริสต์และผู้ติดตามพระองค์จะมีชัยชนะเหนืออาณาจักรของมนุษย์และของซาตาน

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

นิมิตของยอห์นสอนเกี่ยวกับแผนของพระบิดาบนสวรรค์ในการช่วยบุตรธิดาของพระองค์ให้รอดอย่างไร

หนังสือ วิวรณ์ เข้าใจยาก แต่อย่าท้อ คำสัญญาของยอห์นอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านพยายามต่อไป “เขาทั้งหลายผู้ที่ อ่าน ก็เป็นสุขแล้ว, และเขาทั้งหลายผู้ที่ ได้ยินและเข้าใจ ถ้อยคำของคำพยากรณ์นี้, และ เชื่อฟัง สิ่งเหล่านั้นซึ่งเขียนไว้ในนั้น, เพราะเวลาแห่งการเสด็จมาของพระเจ้าใกล้เข้ามาแล้ว” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, วิวรณ์ 1:3 [คู่มือพระคัมภีร์] เน้นตัวเอน)

วิธีหนึ่งในการศึกษา วิวรณ์ คือการมองหาความเชื่อมโยงกับแผนแห่งความรอด ภาพรวมทั่วไปนี้อาจช่วยท่านได้:

  • บทที่ 5 และ 12 บรรยายเหตุการณ์ในชีวิตก่อนเกิด

  • บทที่ 6–11, 13–14, 16–19 พูดถึงชีวิตมรรตัยและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของแผ่นดินโลก

  • บทที่ 2–3, 15, 20–22 บรรยายการพิพากษาครั้งสุดท้ายและรัศมีภาพที่รอคอยผู้ซื่อสัตย์

ขณะที่ท่านอ่าน ให้ถามตัวเองว่า “สิ่งนี้สอนอะไรฉันเกี่ยวกับแผนของพระผู้เป็นเจ้า? พระผู้เป็นเจ้าทรงทำอะไรเพื่อช่วยให้ฉันเอาชนะความชั่วร้ายและกลับไปหาพระองค์? คำสัญญาของพระองค์ที่มีต่อคนซื่อสัตย์มีอะไรบ้าง?”

ถ้ารู้ว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 77 อธิบายสัญลักษณ์บางอย่างที่ใช้ใน วิวรณ์ ก็อาจเป็นประโยชน์เช่นกัน นอกจากนี้ งานแปลของโจเซฟ สมิธยังชี้แจงข้อพระคัมภีร์หลายตอนใน วิวรณ์ ดังนั้นโปรดตรวจสอบคู่มือพระคัมภีร์เป็นประจำ

คู่มือพระคัมภีร์, “ยอห์น,” “วิวรณ์ซึ่งทรงสำแดงแก่ยอห์น

วิวรณ์ 1

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรผู้ทรงพระชนม์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์

วิวรณ์ บทแรกบรรยายการปรากฏของพระเยซูคริสต์ต่อยอห์นในนิมิต บางทีท่านอาจเขียนรายการทุกอย่างในบทนี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เช่น พระองค์คือใคร พระองค์ทรงทำอะไรเพื่อเรา และพระองค์ทรงเป็นอย่างไร

สิ่งที่ท่านเรียนรู้บางอย่างจะมาจากสัญลักษณ์ ไตร่ตรองสิ่งที่พระเจ้าอาจกำลังพยายามสอนท่านเกี่ยวกับพระองค์เองผ่านสัญลักษณ์เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น สังเกตว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียกพระองค์เองว่า “ทรงเป็นอยู่ ทรงเคยเป็นอยู่” และ “เป็นต้นและปลาย” เหตุใดท่านจึงคิดว่าเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญ? เรื่องเหล่านี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด?

วิวรณ์ 2–3

พระเยซูคริสต์ทรงรู้จักฉันเป็นส่วนตัวและจะทรงช่วยฉันเอาชนะความท้าทายต่างๆ

พระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดใน วิวรณ์ 2–3 เปิดเผยว่าพระองค์เข้าพระทัยความสำเร็จและการดิ้นรนของแต่ละสาขาของคริสตจักรในสมัยของยอห์น พระองค์ทรงสรรเสริญความพยายามของวิสุทธิชนและทรงเตือนพวกเขาถึงสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนด้วย ท่านเรียนรู้อะไรจากการสรรเสริญและคำเตือนของพระผู้ช่วยให้รอด?

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเข้าใจความสำเร็จและการดิ้นรน ของท่าน เช่นกัน และพระองค์ทรงต้องการช่วยท่าน สังเกตคำสัญญาที่พระองค์ประทานแก่ผู้ที่เอาชนะได้บ่อยครั้ง ท่านประทับใจอะไรกับสัญญาเหล่านี้? พระเจ้าอาจต้องการให้ท่านเอาชนะอะไร? ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อรับความช่วยเหลือจากพระองค์?

วิวรณ์ 4–5

พระเยซูคริสต์เท่านั้นทรงสามารถทำให้แผนของพระบิดาบนสวรรค์เป็นไปได้

ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์จาก วิวรณ์ 4 และเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จาก วิวรณ์ 5? พิจารณาว่าจะต้องเป็นอย่างไรเมื่อเราทุกคนตระหนักว่าพระเยซูคริสต์ (“พระเมษโปดก”) จะทรงทำให้แผนของพระบิดาบนสวรรค์เป็นไปได้ (พระผู้ช่วยให้รอดสามารถ “เปิดหนังสือและ … แกะตราเจ็ดดวง” [วิวรณ์ 5:5]) เหตุใดพระเยซูคริสต์องค์เดียวเท่านั้นที่ทำได้? ท่านจะแสดงศรัทธาของท่านในพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของท่านได้อย่างไร?

ดู โยบ 38:4–7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 77:1–7 ด้วย

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

วิวรณ์ 1:20เหตุใดพระเยซูจึงเปรียบศาสนจักรของพระองค์กับคัน‍ประ‌ทีป​? (ดู มัทธิว 5:14–16) ร้องเพลงเกี่ยวกับวิธีที่เราจะเป็นเหมือนแสงคัน‍ประ‌ทีป​ เช่น “ส่องไป” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 64)

วิวรณ์ 2–3สมมติว่ามีคนขอให้ยอห์นมอบข่าวสารให้ครอบครัวท่านเหมือนข่าวสารที่เขาให้คริสตจักรต่างๆ ในสมัยของเขา เขาจะพูดว่าอะไรเป็นไปด้วยดีอยู่? ท่านจะปรับปรุงได้อย่างไร?

วิวรณ์ 3:15–16หลังจากอ่านข้อเหล่านี้ ครอบครัวของท่านอาจดื่มเครื่องดื่มอุณหภูมิห้องที่มีรสชาติดีกว่าเมื่อร้อนหรือเย็น การเป็นแต่อุ่นๆ ทางวิญญาณหมายความว่าอย่างไร?

วิวรณ์ 3:20ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดกำลังเคาะประตู (ดูท้ายโครงร่างนี้) ขณะครอบครัวของท่านอ่าน วิวรณ์ 3:20 ทำไมพระเยซูถึงเคาะแทนที่จะเข้ามาข้างใน? สมาชิกในครอบครัวอาจผลัดกันเคาะประตู จากนั้นคนอื่นในครอบครัวอาจแนะนำวิธีที่เราจะ “เปิดประตู” ให้พระผู้ช่วยให้รอดและให้สมาชิกครอบครัวเข้ามา ท่านรู้สึกอย่างไรที่มีพระผู้ช่วยให้รอดในบ้านของเรา?

วิวรณ์ 4:10–11การนมัสการพระบิดาบนสวรรค์หมายความว่าอย่างไร? เรารู้อะไรเกี่ยวกับพระองค์ที่ทำให้เราอยากนมัสการพระองค์

วิวรณ์ 5:6, 12–13เหตุใดจึงเรียกพระเยซูคริสต์ว่า “พระเมษโปดก”? เรื่องนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระองค์?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงสวดที่แนะนำ: “ครั้งหนึ่งเยซูเกิดต่ำต้อยเพลงสวด บทเพลงที่ 91

ปรับปรุงการสอนของเรา

กระตุ้นให้ถามคำถาม คำถามเป็นตัวบ่งชี้ว่าสมาชิกครอบครัวพร้อมเรียนรู้และให้ข้อคิดว่าพวกเขากำลังตอบรับอย่างไรต่อสิ่งที่พวกเขาได้รับการสอน สอนครอบครัวท่านให้รู้วิธีหาคำตอบในพระคัมภีร์ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)

พระคริสต์ทรงเคาะประตู

ให้พระองค์เข้ามา โดย เกรก เค. โอลเซ็น