“4–10 ธันวาคม วิวรณ์ 1–5: ‘พระสิริและอานุภาพจงมีแด่ … พระเมษโปดกตลอดไปเป็นนิตย์,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2021)
“4–10 ธันวาคม วิวรณ์ 1–5,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023
4–10 ธันวาคม
วิวรณ์ 1–5
“พระสิริและอานุภาพจงมีแด่ … พระเมษโปดกตลอดไปเป็นนิตย์”
หนังสือ วิวรณ์ อาจเข้าใจยากสำหรับเด็ก แต่หนังสือเล่มนี้มีหลักคำสอนสำคัญที่สวยงามและเรียบง่ายเช่นกัน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหากพวกเขาเห็นพระเยซูคริสต์ในนิมิต ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับนิมิตของยอห์นถึงพระเยซูในหนังสือ วิวรณ์
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันสามารถฉายแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอด
ใน วิวรณ์ 1:20 พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปรียบเทียบศาสนจักรของพระองค์กับเชิงเทียน ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพวกเขาสามารถฉายแสงสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพที่มีแหล่งกำเนิดแสงที่แตกต่างกัน เช่น หลอดไฟ เทียน และดวงอาทิตย์ ขณะท่านอ่าน “คันประทีปเจ็ดคันนั้นก็คือคริสตจักรทั้งเจ็ด” (วิวรณ์ 1:20) เชื้อเชิญให้เด็กชี้ไปยังภาพของแสงที่กล่าวในข้อนี้ ช่วยเด็กสนทนาว่าเรา ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซู จะเป็นเหมือนแสงเทียนได้อย่างไร—ตัวอย่างเช่น เมื่อเราทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น
-
ร้องเพลงเกี่ยวกับการเป็นแสงสว่างต่อผู้อื่น เช่น “พระเยซูอยากให้ฉันเป็นลำแสง” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 38–39) แบ่งปันวิธีที่ท่านเห็นเด็กดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และเป็นแสงสว่างให้คนรอบข้าง แบ่งปันว่าการเป็นแสงสว่างให้ผู้อื่นช่วยให้ท่านรู้สึกใกล้ชิดกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร
ฉันสามารถอัญเชิญพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตฉัน
อุปลักษณ์เรื่องพระเยซูทรงยืนเคาะประตูสามารถช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพระองค์ทรงต้องการใกล้ชิดพวกเขา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขณะท่านอ่าน วิวรณ์ 3:20 ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดที่ประตูจาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เชื้อเชิญให้เด็กจินตนาการว่าพระเยซูกำลังเคาะประตูบ้านของพวกเขา ขอให้พวกเขาพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำ
-
เชื้อเชิญให้เด็กเล่าให้ท่านฟังถึงเวลาที่พวกเขาเฝ้ารอใครบางคนมาเยี่ยมบ้านซึ่งพวกเขาตื่นเต้นที่จะได้เจอ การเฝ้ารอบุคคลนั้นมาเคาะประตูรู้สึกเป็นอย่างไร? จะเป็นอย่างไรหากเราไม่เปิดให้บุคคลนั้นเข้ามาเลย? อ่าน วิวรณ์ 3:20 และให้เด็กผลัดกันถือภาพพระเยซูและทำเป็นเคาะประตู สมาชิกชั้นเรียนคนอื่นๆ อาจทำเป็นเปิดประตู เราทำอะไรได้บ้างเพื่อให้พระเยซูใกล้ชิดเรา แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นพระองค์?
พระเยซูคริสต์เป็นพระองค์เดียวที่มีค่าควรแก่การเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน
ยอห์นเรียนรู้จากนิมิตของท่านว่าพระเยซูคริสต์เท่านั้น (หมายถึงพระเมษโปดก) ที่สามารถเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราและทำให้แผนของพระบิดาเกิดสัมฤทธิผล (หมายถึงหนังสือที่มีตราผนึก)
กิจกรรมที่ทำได้
-
ก่อนเข้าชั้นเรียนให้ห่อ หนังสือภาพพระกิตติคุณ โดยใช้กระดาษหรือเชือก ใช้วลีสำคัญสองสามวลีจาก วิวรณ์ 5:1–10 บรรยายนิมิตที่ยอห์นเห็น ให้เด็กดูหนังสือ และบอกพวกเขาว่าวิธีเดียวที่จะเปิดหนังสือคือหาภาพพระเยซูที่ท่านซ่อนไว้ในห้อง เมื่อพวกเขาพบภาพแล้วให้เปิดหนังสือและแบ่งปันภาพบางภาพในหนังสือกับเด็กซึ่งแสดงถึงพรที่มีอยู่เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (เช่น พระวิหาร บัพติศมา และครอบครัว) เป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดเป็นเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปได้
-
สรุปนิมิตที่บรรยายไว้ใน วิวรณ์ 5:1–10 และเชื้อเชิญให้เด็กแสดงท่าทางประกอบว่ายอห์นและคนอื่นรู้สึกอย่างไรในส่วนต่างๆ ของนิมิต ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจทำเป็นร้องไห้เมื่อไม่มีใครเปิดหนังสือได้ หรือพวกเขาอาจรื่นเริงใจเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดหนังสือ
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
หากฉันยึดมั่นในพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด ฉันจะได้รับพรที่ยิ่งใหญ่ในสวรรค์
“อุ่นและไม่เย็นหรือไม่ร้อน” หมายความว่าอย่างไรสำหรับท่าน? พิจารณาถึงวิธีที่จะช่วยให้เด็กเป็นตรงข้ามกับความอุ่น—และกระตือรือร้นในความมุ่งมั่นต่อพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน วิวรณ์ 3:5, 12, 21 และอธิบายคำที่เด็กอาจไม่รู้ “ชนะ” หมายถึงอะไร? เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปพรหนึ่งอย่างที่สัญญาไว้ในข้อเหล่านี้และแบ่งปันกับชั้นเรียน
-
อ่าน วิวรณ์ 3:15–16 ด้วยกัน ขอให้เด็กพูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือน่าอร่อยที่สุดเมื่อมันร้อน (เช่น ซุป) หรือเย็น (เช่น ไอศกรีม) ความอุ่นเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจะกีดกั้นเราจากพรที่สัญญาไว้ในข้อ 5 ข้อ 12 และข้อ 21 ได้อย่างไร?
-
บนกระดานเขียน อุ่น พร้อมกับคำพ้องบางคำ เช่น ไม่เต็มใจ เฉยเมย หรือ ไม่สนใจ ใช้คำเหล่านี้เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่าทำไมพระเจ้าไม่ทรงต้องการให้เราอุ่นๆ เราจะใช้คำใดได้บ้างเพื่ออธิบายว่าพระองค์ทรงต้องการให้เราเป็นอย่างไร? แบ่งปันว่าทำไมท่านจึงต้องการยึดมั่นอย่างเต็มที่กับพระผู้ช่วยให้รอด และเชิญชวนให้เด็กแบ่งปันความคิดของพวกเขาด้วย
ฉันสามารถเลือกให้พระเยซูคริสต์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตฉันได้
ท่านจะช่วยเด็กที่ท่านสอนให้เปิดใจและชีวิตของพวกเขาสู่เดชานุภาพและอิทธิพลของพระเยซูคริสต์อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขณะท่านอ่าน วิวรณ์ 3:20 ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดที่ประตูจาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เพื่อช่วยเด็กดึงความหมายจากภาพ เชื้อเชิญให้พวกเขาจับคู่กันเพื่อตอบคำถามอย่างเช่น ท่านคิดว่าทำไมพระเยซูทรงเคาะประตู? ทำไมถึงไม่มีลูกบิดประตูอยู่ด้านนอก? การให้พระเยซูเข้ามาในชีวิตเราหมายความว่าอย่างไร?
-
ขอให้เด็กเขียนบนกระดานถึงวิธีต่างๆ ที่จะ “เปิดประตู” ให้พระเยซู ตัวอย่างเช่น การรับใช้ผู้อื่น การอ่านพระคัมภีร์ การรักษาพันธสัญญาที่เราทำไว้เมื่อรับบัพติศมา และการรับส่วนศีลระลึก
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระองค์เดียวที่มีค่าควรแก่การเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน
นิมิตที่บรรยายไว้ใน วิวรณ์ 5 สอนว่าพระเยซูคริสต์องค์เดียวเท่านั้นที่มีค่าควรและสามารถทำการชดใช้และช่วยเราให้รอดจากบาปได้
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กเล่าให้ฟังเวลาที่พวกเขาต้องการให้ใครบางคนทำอะไรบางอย่างที่พวกเขาทำไม่ได้ด้วยตนเอง ขอให้พวกเขาอ่าน วิวรณ์ 5:1–10 และมองหาสิ่งที่จำเป็นต้องทำซึ่งมีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้นที่สามารถทำได้ (อธิบายว่าพระเมษโปดกคือพระเยซูคริสต์และหนังสือหมายถึงแผนของพระผู้เป็นเจ้า) พระเยซูทรงทำอะไรเพื่อเราซึ่งไม่มีใครอื่นทำได้?
-
ขอให้เด็กหาเพลงสวดหรือเพลงเด็กที่เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ (เช่น “พระผู้ช่วยให้รอดผู้งดงาม,” เลียโฮนา, ต.ค. 1998, พ4) เนื้อร้องสอนอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์? เพลงนี้เป็นเหมือนบทเพลงสวดที่ร้องสรรเสริญพระเยซูคริสต์ใน วิวรณ์ 5:9–10 อย่างไร?
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันกับครอบครัวถึงวิธีที่พวกเขาสามารถอัญเชิญอิทธิพลของพระผู้ช่วยให้รอดมาสู่บ้านของพวกเขาได้