พันธสัญญาใหม่ 2023
27 พฤศจิกายน–3 ธันวาคม ยอห์น 1–3; ยูดา: “พระ‍เจ้า​ทรง​เป็น​ความ​รัก”


“27 พฤศจิกายน–3 ธันวาคม ยอห์น 1–3; ยูดา: ‘พระ‍เจ้า​ทรง​เป็น​ความ​รัก,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2021)

“27 พฤศจิกายน–3 ธันวาคม ยอห์น 1–3; ยูดา,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

พระเยซูคริสต์ทรงแย้มพระสรวลขณะประทับกับเด็กที่ยิ้มแย้มแจ่มใส

ความรักที่สมบูรณ์ โดย เดล พาร์สัน

27 พฤศจิกายน–3 ธันวาคม

ยอห์น 1–3 ; ยูดา

“พระ‍เจ้า​ทรง​เป็น​ความ​รัก”

สาส์นของยอห์น และ ยูดา สอนเกี่ยวกับความรักและแสงสว่างของพระบิดาบนสวรรค์ ขณะที่ท่านศึกษาสัปดาห์นี้ ไตร่ตรองว่าเหตุใดเด็กที่ท่านสอนจึงต้องการแสงสว่างและความรักของพระองค์ในชีวิตพวกเขา พึงจดจำว่าให้พิจารณากิจกรรมทั้งหมดในโครงร่างนี้ ไม่ใช่แค่กิจกรรมที่ระบุไว้สำหรับเด็กกลุ่มอายุที่ท่านสอน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูอย่างไรหรือเหตุใดพวกเขาจึงคิดว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูทรงเป็นเหมือนแสงสว่างแก่เรา

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

1 ยอห์น 1:5–7; 2:8–11

การทำตามพระเยซูนำแสงสว่างมาสู่ชีวิตฉัน

ยอห์นเขียนเกี่ยวกับแสงสว่างเพื่อสอนเกี่ยวกับอิทธิพลของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูในชีวิตเรา พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับแสงสว่างที่ทั้งสองพระองค์ประทานให้ได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กบอกสิ่งที่ให้แสงสว่าง พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับประโยชน์ของแสงสว่าง เช่น ช่วยให้ต้นไม้เติบโต ทำให้เรามองเห็น และให้ความอบอุ่น เพื่อเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงนำแสงสว่างมาให้เราอย่างไร พวกเขาอาจผลัดกันส่องไฟไปที่ภาพของพระเยซูคริสต์ขณะพูดว่า “พระ‍เจ้า​ทรง​เป็น​ความ​สว่าง” (1 ยอห์น 1:5) เป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์สามารถนำแสงสว่างเข้ามาในชีวิตเราเมื่อเราพยายามทำตามสิ่งที่พระองค์ตรัส

  • เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันถือภาพหลอดไฟหรือเทียน ขณะที่เด็กแต่ละคนถือภาพ ช่วยให้เขานึกถึงวิธีหนึ่งที่เราจะนำแสงสว่างของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา

1 ยอห์น 4:10–11, 20–21

ฉันแสดงความรักของฉันต่อพระผู้เป็นเจ้าเมื่อฉันแสดงความรักต่อผู้อื่น

ช่วยให้เด็กเห็นการเชื่อมโยงระหว่างความรักที่พวกเขามีให้พระบิดาบนสวรรค์กับความรักที่พวกเขาแสดงต่อบุตรธิดาของพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 1 ยอห์น 4:11 ให้เด็กฟัง และร้องเพลงเกี่ยวกับความรักของพระผู้เป็นเจ้า เช่น “พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 16–17) ขอให้เด็กสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักพวกเขา หลังแต่ละคำตอบ เชื้อเชิญให้เด็กกอดตัวเองและกล่าวว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นความรัก และพระผู้เป็นเจ้าทรงรักฉัน”

  • อ่าน 1 ยอห์น 4:21 ให้เด็กฟัง เชื้อเชิญให้พวกเขาพูดคุยหรือแสดงท่าทางประกอบวิธีต่างๆ ที่พวกเขาจะแสดงความรักให้เพื่อนได้ เช่น การกอดหรือทำการ์ดให้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เพื่อนของเรารู้สึกอย่างไร? พระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้สึกอย่างไรเมื่อเราทำสิ่งที่แสดงความเมตตาต่อผู้อื่น?

1 ยอห์น 2:3–5; 5:3

ฉันแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าเมื่อฉันรักษาพระบัญญัติของพระองค์

ยอห์นสอนว่า “พระบัญญัติของ” พระผู้เป็นเจ้า “ไม่เป็นภาระหนักเกินไป” (1 ยอห์น 5:3) แต่การปฏิบัติตามพระบัญญัติเป็นวิธีแสดงความรักต่อพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 1 ยอห์น 5:3 และขอให้เด็กฟังว่าข้อนี้กล่าวอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถแสดงว่าเรารักพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญให้เด็กบอกพระบัญญัติให้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาทำได้ เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติของพระบิดาบนสวรรค์?

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพที่แสดงวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถแสดงให้พระบิดาบนสวรรค์เห็นว่าพวกเขารักพระองค์ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจวาดรูปตนเองรักษาพระบัญญัติข้อหนึ่ง

  • ร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับการเชื่อฟัง เช่น “เลือกทางที่ถูก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 82–83) เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราเชื่อฟัง?

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

1 ยอห์น 2:8–11; 4:7–8, 20–21

ฉันแสดงความรักของฉันต่อพระผู้เป็นเจ้าเมื่อฉันแสดงความรักต่อผู้อื่น

ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจได้อย่างไรว่าการรักพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวข้องกับการรักคนรอบข้างเรา—แม้คนที่อาจแตกต่างจากเราหรือรักได้ยาก?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กจินตนาการว่ามีคนใหม่เพิ่งเข้าเรียนที่โรงเรียนหรือวอร์ดของพวกเขาและยังไม่รู้จักใครที่นั่น บุคคลนี้อาจรู้สึกอย่างไร? เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน 1 ยอห์น 4:7–8 ข้อนี้แนะนำอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อบุคคลนี้? แบ่งปันสถานการณ์สมมุติที่คล้ายกัน หรือขอให้เด็กนึกถึงสถานการณ์ซึ่งพวกเขาอาจมีโอกาสแสดงความรัก

  • ขอให้เด็กอ่าน 1 ยอห์น 4:7–8, 20–21 และเชื้อเชิญให้พวกเขาแต่ละคนเขียนหนึ่งประโยคที่สรุปสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุดในข้อเหล่านี้ หลังจากพวกเขาแบ่งปันประโยคของพวกเขาแล้ว ให้เล่าเรื่องราวจากชีวิตท่านหรือจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก หรือ เลียโฮนา ที่ท่านรู้สึกว่าแสดงถึงสิ่งที่ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอน (ดู ตัวอย่างเช่น “กล่าวทักทายฮาลิม,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2019, พ18–พ19) เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันตัวอย่างของพวกเขาเอง เราจะแสดงความรักต่อคนรอบข้างได้อย่างไร?

1 ยอห์น 2:3–6; 4:17–18; 5:2–5

ฉันแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าเมื่อฉันรักษาพระบัญญัติของพระองค์

การเชื่อฟังพระบัญญัติสามารถทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเราเข้าใจความจริงที่สอนใน 1 ยอห์น 5:3 ท่านสามารถช่วยให้เด็กเห็นว่าพระบัญญัติไม่ใช่ภาระแต่เป็นโอกาสแสดงความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กเขียนบนกระดานถึงวิธีที่พวกเขาสามารถแสดงให้พระผู้เป็นเจ้าเห็นว่าพวกเขารักพระองค์ จากนั้นร่วมกันอ่าน 1 ยอห์น 2:5–6; 5:2–5 สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม การเชื่อฟังพระบัญญัติแสดงให้เห็นว่าเรารักพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร?

ครอบครัวคุกเข่าสวดอ้อนวอนด้วยกัน

การรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าช่วยเราชนะโลก

  • อ่าน 1 ยอห์น 4:17 และอธิบายให้เด็กฟังว่าการ “มี​ความ​มั่น‍ใจ​ใน​วัน​พิพาก‌ษา” หมายถึงการมีความมั่นใจและสันติสุขเมื่อพวกเขายืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา ข้อนี้สอนอะไรถึงสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะมีความมั่นใจนี้? เราจะทำสิ่งใดได้บ้างในเวลานี้เพื่อจะมีความมั่นใจต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า?

ยูดา 1:18–22

ฉันสามารถซื่อสัตย์ได้แม้เมื่อคนอื่นล้อเลียนฉัน

เพราะเราเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ บางครั้งคนอื่นๆ จึงล้อเลียนเราเพราะความเชื่อของเราหรือวิถีชีวิตของเรา ข้อเหล่านี้มีคำแนะนำของยูดาถึงวิธีคงความซื่อสัตย์ในสถานการณ์เช่นนั้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กแบ่งปันช่วงเวลาที่ผู้อื่นล้อเลียนพวกเขาหรือคนที่พวกเขารู้จักเพราะพวกเขาทำสิ่งที่ถูกต้อง เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน ยูดา 1:18–22 และมองหาวิธีที่เราจะยังคงมีความซื่อสัตย์ต่อไปเมื่อเราถูกเยาะเย้ยหรือถูกล้อเลียน เขียนสิ่งที่พวกเขาพบบนกระดาน และสนทนาวิธีที่พวกเขาสามารถทำตามคำแนะนำนี้ได้

  • สรุปความฝันของลีไฮ (ดู 1 นีไฟ 8:1–35) โดยขอให้เด็กสองสามคนอ่านจาก 1 นีไฟ 8:26–28, 33 สนทนาว่าผู้คนในอาคารใหญ่และกว้างเหมือนกับคนชอบเยาะเย้ยที่ยูดาพูดถึงอย่างไร เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้คนเหล่านั้นที่ล้อเลียนเราหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเชื่อมีอิทธิพลต่อเรา? (ดู 1 นีไฟ 8:30, 33)

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

กระตุ้นให้เด็กวางแผนทำบางสิ่งเพื่อแบ่งปันแสงสว่างของพวกเขากับครอบครัว

ปรับปรุงการสอนของเรา

เด็กกระตือรือร้น บางครั้งท่านอาจรู้สึกว่าความซุกซนของเด็กทำให้พวกเขาไม่มีจิตใจจะเรียนรู้ แต่ท่านสามารถต่อยอดจากธรรมชาติวิสัยที่ไม่อยู่นิ่งของพวกเขาโดยเชื้อเชิญให้พวกเขาทำท่าทางประกอบ วาดรูป หรือร้องเพลงเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณ (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 25–26)