“18–24 เมษายน อพยพ 18–20: ‘ทุกอย่างที่พระเจ้าตรัสนั้น พวกข้าพเจ้าจะทำตาม,’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“18–24 เมษายน อพยพ 18–20,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
18–24 เมษายน
อพยพ 18–20
“ทุกอย่างที่พระเจ้าตรัสนั้น พวกข้าพเจ้าจะทำตาม”
ซิสเตอร์มิเชลล์ เครกสอนว่า “ในฐานะสานุศิษย์ [ของพระเยซูคริสต์] ท่านสามารถได้รับการดลใจและการเปิดเผยส่วนตัวที่สอดคล้องกับพระบัญญัติของพระองค์ซึ่งเหมาะสมกับท่าน” (“สมรรถภาพทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 21) บันทึกและปฏิบัติตามการดลใจที่ท่านได้รับขณะอ่าน อพยพ 18–20
บันทึกความประทับใจของท่าน
การเดินทางของชาวอิสราเอลจากอียิปต์ถึงเชิงเขาซีนายเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์—การสำแดงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของพลังความรักและพระเมตตาของพระเจ้าซึ่งหาที่เปรียบมิได้ อย่างไรก็ตามพระเจ้าทรงมีพระพรสำหรับคนที่ทำมากกว่าหนีออกจากอียิปต์และทำให้ตนเองหายหิวและกระหายทางร่างกาย พระองค์ทรงต้องการให้พวกเขาเป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ เป็น “ของล้ำค่า” และเป็น “ชนชาติบริสุทธิ์” ของพระองค์ (อพยพ 19:5–6) ทุกวันนี้พรของพันธสัญญานี้ขยายเกินกว่าเพียงหนึ่งชนชาติหรือผู้คน พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้บุตรธิดาของพระองค์ทุกคนเป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ เพื่อ “ฟังเสียง [ของพระองค์] จริงๆ และรักษาพันธสัญญา [ของพระองค์] ไว้” (อพยพ 19:5) เพราะพระองค์ทรงแสดงพระกรุณา “ความรักมั่นคงต่อคนที่รัก [พระองค์] และรักษาบัญญัติ [ของพระองค์] จนถึงนับพันชั่วอายุคน” (อพยพ 20:6)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
ฉันสามารถช่วย “แบกภาระ” ในการทำงานของพระเจ้า
ขณะที่ท่านอ่านคำแนะนำที่โมเสสได้รับจากเยโธรพ่อตาของเขา ให้ไตร่ตรองว่าท่านจะเป็นเหมือน “คนที่ไว้ใจได้” อย่างไร (บางครั้งแปลว่าคน “น่าเชื่อถือ”) ที่อธิบายไว้ใน ข้อที่ 21 ท่านจะช่วย “แบกภาระ” ของผู้นำศาสนจักรของท่านได้อย่างไร? (ข้อ 22) ตัวอย่างเช่น คำแนะนำนี้ประยุกต์ใช้กับความพยายามในการปฏิบัติศาสนกิจของท่านอย่างไร?
ท่านอาจพิจารณาว่าในบางครั้งท่านก็เป็นเหมือนโมเสสที่พยายามทำสิ่งต่างๆ มากเกินไปหรือไม่ คำแนะนำของเยโธรนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับท่านได้อย่างไร?
ดู โมไซยาห์ 4:27; เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “ผู้ดูแล,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 121–124
ผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าเป็นสมบัติของพระองค์
พิจารณาว่าการเป็น “ของล้ำค่า” ของพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร (อพยพ 19:5) ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันได้มอบคำอธิบายเกี่ยวกับวลีนี้ไว้ว่า “คำภาษาฮีบรูคำว่า ล้ำค่า ในพันธสัญญาเดิมถูกแปลมาว่า ซีกัลลาห์ ซึ่งหมายถึง ‘ทรัพย์สินที่มีคุณค่า’ หรือ ‘สมบัติ’ … สำหรับเราที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าจะระบุว่าเป็นผู้คน ล้ำค่า ของพระองค์เป็นคำชมที่ยอดเยี่ยมที่สุด” (“Children of the Covenant,” Ensign, May 1995, 34) การรู้ว่าการรักษาพันธสัญญาของท่านทำให้ท่านเป็น “ของล้ำค่า” มีอิทธิพลต่อวิธีการใช้ชีวิตของท่านอย่างไร?
ดู เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง, “การเป็นคนในพันธสัญญา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 80–83
ประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์จำต้องมีการเตรียมพร้อม
พระเจ้าทรงบอกกับโมเสสว่าลูกหลานอิสราเอลต้องเตรียมตัวก่อนจึงจะ “เข้าเฝ้าพระเจ้า” (อพยพ 19:10–11, 17) และรักษาพันธสัญญากับพระองค์ได้ (ดู อพยพ 19:5) ท่านทำอะไรเพื่อเตรียมรับประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตของท่าน เช่น การเข้าพระวิหารหรือรับส่วนศีลระลึก? ท่านทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมตัวอย่างเต็มที่มากขึ้นสำหรับประสบการณ์เหล่านี้? นึกถึงกิจกรรมทางวิญญาณอื่นๆ ที่ต้องมีการเตรียม และให้ไตร่ตรองว่าการเตรียมของท่านจะส่งผลต่อประสบการณ์ที่ท่านมีอย่างไร
พระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตา
ขณะที่ท่านอ่าน อพยพ 20 ให้พิจารณาว่าพระบัญญัติสิบประการข้อใดที่ท่านรู้สึกว่าท่านเชื่อฟังอยู่ และข้อใดที่ท่านรู้สึกว่าท่านสามารถเชื่อฟังอย่างซื่อสัตย์มากขึ้น ท่านสามารถเลือกพระบัญญัติหนึ่งข้อเพื่อนำมาพิจารณาและจากนั้นศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมด้วยการอ่านพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง (ดู คู่มือพระคัมภีร์ ที่ scriptures.ChurchofJesusChrist.org) หรือข่าวสารการประชุม (ดูที่ topics section ของ conference.ChurchofJesusChrist.org) พิจารณาถึงพรที่มาถึงผู้ที่เชื่อฟังพระบัญญัติในการศึกษาของท่าน พรเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาและความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อท่านอย่างไร?
ดู แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์, “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 118–120
เป็นสิ่งสำคัญที่จะให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตของฉัน
การอ่าน อพยพ 20:1–7 อาจทำให้ท่านนึกถึงลำดับความสำคัญในชีวิตของท่าน—ท่านสามารถจดไว้ในรายการ มี “ผู้เป็นเจ้า” หรือ “รูปเคารพ” อะไรบ้างที่เป็นไปได้ (อพยพ 20:3–4) ที่อาจล่อลวงให้ท่านมอบความสำคัญก่อนพระผู้เป็นเจ้า? การให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกสามารถช่วยท่านเกี่ยวกับสิ่งสำคัญอื่นๆ ในชีวิตของท่านได้อย่างไร? ท่านได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อเพิ่มการมุ่งเน้นไปที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?
ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ห้ามมีพระผู้เป็นเจ้าอื่น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 72–75
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและการสังสรรค์ในครอบครัว
-
อพยพ 18:8–12ประจักษ์พยานของโมเสสเกี่ยวกับการปลดปล่อยของพระผู้เป็นเจ้ามีผลอย่างไรต่อเยโธร? พระเจ้าทรงทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อะไรสำหรับครอบครัวเรา? เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของเรากับใครได้บ้าง? เราจะเก็บรักษาประสบการณ์เหล่านั้นไว้สำหรับลูกหลานในอนาคตได้อย่างไร?
-
อพยพ 18:13–26ข้อเหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ครอบครัวของท่านคิดเกี่ยวกับการรับใช้ของผู้นำศาสนจักรในท้องที่ของท่าน เช่น อธิการ ผู้นำเยาวชน หรือครูปฐมวัย พวกเขามีความรับผิดชอบอะไรบ้างที่อาจดู “หนักเหลือกำลัง” (อพยพ 18:18) สำหรับคนเดียวที่จะรับผิดชอบ? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยยกภาระของพวกเขาให้เบาขึ้น?
-
อพยพ 20:3–17นึกถึงวิธีที่มีความหมายเพื่อพูดคุยถึงพระบัญญัติสิบประการเป็นครอบครัว ตัวอย่างเช่น ท่านอาจเขียนพระบัญญัติใน อพยพ 20:3–17 บนแถบกระดาษสิบแผ่น สมาชิกในครอบครัวสามารถจัดลำดับออกมาสองหมวด: (1) เคารพพระผู้เป็นเจ้า และ (2) รักผู้อื่น (ดู มัทธิว 22:36–40) พิจารณาเลือกพระบัญญัติหนึ่งหรือสองข้อในแต่ละวันในสัปดาห์นี้ และสนทนากันในรายละเอียดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเชื่อฟังพระบัญญัตินี้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ครอบครัวของเราอย่างไร? พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื่อฟังพระบัญญัติข้อนี้อย่างไร?
-
อพยพ 20:12เพื่อให้เข้าใจ อพยพ 20:12 ดียิ่งขึ้น ให้ครอบครัวของท่านค้นหาคำจำกัดความของคำว่า “ให้เกียรติ” จะช่วยได้ จากนั้นสมาชิกครอบครัวอาจทำรายการสิ่งที่เราทำได้เพื่อให้เกียรติบิดามารดาของเรา ท่านอาจร้องเพลงเกี่ยวกับการให้เกียรติบิดามารดา เช่น “ฉันจะเชื่อฟังอย่างรวดเร็ว” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 197) จากนั้นใช้แนวคิดบางอย่างในรายการของท่านเพื่อเขียนข้อใหม่ลงในเพลง
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “รักษาพระบัญญัติ” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 68