พันธสัญญาเดิม 2022
18–24 เมษายน อพยพ 18–20: “ทุกอย่างที่พระยาห์เวห์ตรัสนั้น พวกข้าพเจ้าจะทำตาม”


“18–24 เมษายน อพยพ 18–20: ‘ทุกอย่างที่พระยาห์เวห์ตรัสนั้น พวกข้าพเจ้าจะทำตาม’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“18–24 เมษายน อพยพ 18–20” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022

ภาพ
ภูเขา

ภูเขาในอียิปต์เชื่อกันว่าเป็นภูเขาซีนาย

18–24 เมษายน

อพยพ 18–20

“ทุกอย่างที่พระยาห์เวห์ตรัสนั้น พวกข้าพเจ้าจะทำตาม”

ขณะที่ท่านอ่าน อพยพ 18–20 ให้นึกถึงหลักธรรมที่จะมีความหมายต่อเด็กมากที่สุด ท่านอาจได้รับการดลใจให้เน้นหลักธรรมนอกเหนือจากที่เสนอแนะไว้ด้านล่าง

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันพระบัญญัติสิบประการหนึ่งข้อ (หรือทบทวนบางข้อกับพวกเขา) และสาเหตุที่พวกเขารู้สึกว่าสำคัญที่ต้องเชื่อฟังพระบัญญัติข้อนั้น

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

อพยพ 18:8–12

การแบ่งปันประจักษ์พยานของฉันสามารถเป็นพรแก่ผู้อื่น

เยโธรชื่นชมยินดีเมื่อโมเสสแบ่งปันสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อลูกหลานของอิสราเอล เรื่องนี้สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กที่ท่านสอนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้ว่าจริงกับคนอื่นๆ

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่านถ้อยคำต่อไปนี้จาก อพยพ 18:8 ให้เด็กฟัง: “โมเสสเล่าให้พ่อตาฟังถึงเหตุการณ์ทุกประการซึ่งพระยาห์เวห์ทรงทำ” ถามเด็กว่าพวกเขาจำสิ่งที่พระเจ้าทรงทำเพื่อช่วยให้ลูกหลานอิสราเอลหนีรอดจากอียิปต์ได้หรือไม่ (เพื่อช่วยให้พวกเขานึกออก ให้ดูภาพหน้ากิจกรรมจากบทเรียนก่อนๆ) พระเจ้าทรงทำสิ่งใดไปแล้วบ้างเพื่อช่วยเหลือเรา? ช่วยให้เด็กรู้ว่าเช่นเดียวกับโมเสส เราสามารถบอกคนอื่นๆ เกี่ยวกับสิ่งยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงทำเพื่อเรา

  • ชั้นเรียนปฐมวัยเป็นที่ซึ่งเหมาะให้เด็กได้ฝึกแบ่งปันประจักษ์พยานที่เรียบง่าย แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านกับพวกเขา และช่วยพวกเขาแบ่งปันความจริงพระกิตติคุณที่พวกเขาเชื่อให้กัน

อพยพ 20:3–17

พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติเพราะทรงต้องการให้ฉันมีความสุข

พระบัญญัติคือคำแนะนำของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อพบสันติสุขในชีวิตนี้และปีติในนิรันดร ท่านจะกระตุ้นให้เด็กๆ เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพจาก “พระบัญญัติสิบประการ” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) และเชิญเด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจบางตอนของเรื่องที่พวกเขาไม่คุ้นเคย

  • ขณะที่ท่านอ่านพระบัญญัติหลายข้อจาก อพยพ 20:3–17 ให้เด็กฟัง (หรือถอดความเป็นคำพูดที่พวกเขาเข้าใจได้) ให้พวกเขายกนิ้วหัวแม่มือขึ้นถ้าพระบัญญัตินั้นเกี่ยวกับสิ่งที่เราควรทำและเอาหัวแม่มือลงถ้าเกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่ควรทำ แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับความสุขที่มาจากการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ดู โมไซยาห์ 2:41)

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งกับเด็กเกี่ยวกับวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานพรแก่เราเมื่อเราเชื่อฟังพระบัญญัติ เช่น “รักษาพระบัญญัติ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 68) เชื้อเชิญให้เด็กฟังเนื้อร้องเพื่อหาให้พบว่าเราจะได้รับพรอะไรบ้างเมื่อเราเชื่อฟัง

อพยพ 20:12

ฉันสามารถให้เกียรติบิดามารดา

การให้เกียรติบิดามารดาเกี่ยวข้องมากกว่าการเพียงแค่เชื่อฟังพวกท่าน ช่วยให้เด็กเข้าใจวิธีอื่นที่พวกเขาสามารถให้เกียรติบิดามารดา

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยเด็กเรียนรู้วลี “จงให้เกียรติแก่บิดามารดาของเจ้า” (อพยพ 20:12) ถ้าจำเป็น ให้อธิบายว่า “ให้เกียรติ” ใครบางคนหมายถึงแสดงความเคารพพวกเขาหรือทำให้พวกเขามีความสุข พระเยซูทรงทำอะไรเพื่อถวายเกียรติพระบิดาบนสวรรค์? พระองค์ถวายเกียรติพระมารดาของพระองค์อย่างไร? (ดู ลูกา 2:48–51; ยอห์น 19:26–27) ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อให้เกียรติบิดามารดาของตน และเชื้อเชิญให้พวกเขาลงมือทำตามแนวคิดเหล่านั้น

  • เชื้อเชิญให้เด็กทำการ์ดขอบคุณบิดามารดา พวกเขาอาจจะเขียนหรือวาดสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อให้เกียรติบิดามารดาไว้ในการ์ด

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

อพยพ 18:13–26

ฉันสามารถช่วย “แบกภาระ” การทำงานของพระเจ้า

โมเสสเรียนรู้ว่าการพยายามนำลูกหลานอิสราเอลทั้งหมดด้วยตนเอง “ไม่ดี” (อพยพ 18:17) การรักและรับใช้กันจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้นำของเรา

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดวงกลมหลายๆ วงแทนสมาชิกในวอร์ดไว้บนกระดาน วาดวงกลมหนึ่งวงเขียนว่า อธิการ เหตุใดจึงเป็นปัญหาถ้าอธิการเป็นคนเดียวที่ช่วยเหลือทุกคน? อ่าน อพยพ 18:13–26 ด้วยกันเพื่อดูว่าเยโธรให้คำแนะนำอะไรเมื่อโมเสสพยายามทำทุกอย่างด้วยตนเอง ขอให้เด็กเขียนชื่อที่วงกลมวงอื่นแทนผู้นำวอร์ดคนอื่นๆ และสมาชิกที่ช่วยอธิการรับใช้ผู้อื่น ผู้นำและสมาชิกคนอื่นๆ เหล่านี้ทำให้ภาระของอธิการเบาลงอย่างไร? เราจะทำแบบเดียวกันได้อย่างไรเพื่อผู้นำวอร์ดของเรา? เพื่อบิดามารดาที่บ้าน??

  • ช่วยเด็กเขียนชื่อผู้นำในวอร์ดของท่าน ให้ชั้นเรียนเลือกหนึ่งคนและสนทนาว่าบุคคลนี้ทำอะไรเพื่อทำงานของพระเจ้าให้สำเร็จและเด็กจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วย

    ภาพ
    ผู้ชายจับมือทักทายผู้หญิง

    การรับใช้ผู้อื่นเป็นวิธีหนึ่งที่เราสามารถช่วยงานของพระเจ้า

อพยพ 20:1–7

การให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตฉันเป็นเรื่องสำคัญ

เราทุกคนมีสิ่งที่เราอาจถูกล่อลวงให้เห็นว่าสำคัญกว่าพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเรา ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการให้พระบิดาบนสวรรค์มาเป็นอันดับแรกได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน อพยพ 20:1–7 และอธิบายว่าสิ่งใดก็ตามที่เราเห็นว่าสำคัญกว่าพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเราสามารถเป็นเหมือน “พระเจ้าอื่น” และ “รูปสิ่งใด” ที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3–4 ถามเด็กว่าทำไมพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราให้พระองค์มาเป็นอันดับแรก พระองค์ทรงสัญญาพรอะไรบ้างถ้าเราทำเช่นนั้น? ถามเด็กว่าเราจะแสดงให้พระบิดาบนสวรรค์เห็นได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดในชีวิตเรา

  • นึกถึงภารกิจที่ขั้นตอนแรกสำคัญ เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือสวมถุงเท้าก่อนสวมรองเท้า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ทำสิ่งสำคัญก่อน? เปรียบเหมือนการให้พระบิดาบนสวรรค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตเราอย่างไร? แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าการให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกเป็นพรแก่ท่านอย่างไร และเชิญเด็กแบ่งปันประจักษ์พยานด้วย

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ เช่น “พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 16–17) เราเรียนรู้อะไรจากเพลงนี้ว่าเหตุใดการให้พระบิดาบนสวรรค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตเราจึงสำคัญ?

อพยพ 20:3–17

พระผู้เป็นเจ้าประทานพระบัญญัติเพราะทรงต้องการให้ฉันมีความสุข

เด็กน่าจะรักษาพระบัญญัติมากขึ้นถ้าพวกเขาเห็นว่าพระบัญญัติเป็นการแสดงความรักของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นโอกาสแสดงความรักของพวกเขาต่อพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • เตรียมกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่มีพระบัญญัติใน อพยพ 20:3–17 เขียนไว้บนนั้น เขียนตัวเลขหนึ่งถึงสิบไว้บนกระดาน และให้เด็กเรียงกระดาษให้ตรงกับเลขบนกระดาน พูดคุยกันว่าเราจะทำตามพระบัญญัติเหล่านี้ได้อย่างไร พวกเขาอาจจะดูแนวคิดในบทความ Gospel Topics “Ten Commandments” (topics.ChurchofJesusChrist.org)

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพคำสำคัญๆ จากพระบัญญัติเพื่อช่วยให้พวกเขาจำได้

  • เล่าเรื่องเกี่ยวกับโคลอี้จากข่าวสารของซิสเตอร์แคโรล เอ็ม. สตีเฟนส์เรื่อง “ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา” (เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 118–120) เรื่องนี้ช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุที่พระเจ้าประทานพระบัญญัติแก่เราอย่างไร? การเชื่อฟังแสดงให้เห็นว่าเรารักพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการจะทำเพราะสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในชั้นเรียน ช่วยพวกเขาทำสิ่งเตือนใจง่ายๆ ให้พวกเขานึกถึงสิ่งที่จะทำซึ่งพวกเขาสามารถนำกลับบ้านได้

ปรับปรุงการสอนของเรา

ช่วยให้เด็กรับรู้พระวิญญาณ เด็กสามารถรับรู้อิทธิพลของพระวิญญาณได้ สอนเด็กว่าความรู้สึกสงบ ความรัก และความอบอุ่นที่พวกเขามีเมื่อพวกเขาพูดถึงหรือร้องเพลงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

พิมพ์