“14–20 พฤศจิกายน อาโมส; โอบาดีห์: ‘จงแสวงหาพระยาห์เวห์และดำรงชีวิตอยู่’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“14–20 พฤศจิกายน อาโมส; โอบาดีห์” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
14–20 พฤศจิกายน
อาโมส; โอบาดีห์
“จงแสวงหาพระยาห์เวห์และดำรงชีวิตอยู่”
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถเปิดความคิดและใจเรารับข่าวสารในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่มุ่งหมายให้เราโดยเฉพาะ ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ท่านเรียนรู้อะไรสัปดาห์นี้?
บันทึกความประทับใจของท่าน
พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกเชื้อสายของอับราฮัมให้เป็นผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะ “เป็นพร” แก่คนทั้งปวง (ดู ปฐมกาล 12:2–3) แต่ในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจของอาโมส ผู้คนแห่งพันธสัญญาจำนวนมากกดขี่คนยากจนและไม่สนใจศาสดาพยากรณ์ ทำให้การนมัสการของพวกเขาว่างเปล่าและไร้ความหมาย (ดู อาโมส 2:6–16) จริงอยู่ที่ประเทศรอบอิสราเอลทำบาปใหญ่หลวงไม่แพ้กัน (ดู อาโมส 1; 2:1–5) แต่นั่นไม่ได้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า (ดู อาโมส 3:2) ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงส่งคนเลี้ยงสัตว์จากยูดาห์ชื่ออาโมสมาสั่งสอนการกลับใจแก่อาณาจักรแห่งอิสราเอล ต่อมา พระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศผ่านศาสดาพยากรณ์โอบาดีห์ด้วยว่าถึงแม้อาณาจักรยูดาห์ถูกทำลาย แต่พระเจ้าจะทรงรวบรวมและอวยพรผู้คนของพระองค์อีกครั้ง ผู้คนแห่งพันธสัญญาหันเหจากพระเจ้า ศาสดาพยากรณ์ทั้งสองท่านเป็นพยาน แต่พวกเขาจะไม่ถูกตัดขาดตลอดกาล เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความลี้ลับของพระองค์ต่อศาสดาพยากรณ์ผู้รับใช้ของพระองค์ (ดู อาโมส 3:7) เราสามารถถือเอาความลี้ลับนั้นเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์ยังทรงต้องการช่วยเราดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่เราทำไว้กับพระองค์
ดูคำอธิบายพอสังเขปของหนังสืออาโมสและโอบาดีห์ได้จาก “อาโมส” และ “โอบาดีห์” ในคู่มือพระคัมภีร์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเจ้าทรงเปิดเผยความจริงผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์
ใน อาโมส 3:3–6 ศาสดาพยากรณ์อาโมสยกหลายตัวอย่างของเหตุและผล เช่น เพราะสิงห์พบเหยื่อ สิงห์จึงคำราม เพราะวางกับดักไว้ล่อนก นกจึงติดกับ (สังเกตว่าในงานแปลของโจเซฟ สมิธข้อ 6 เปลี่ยนคำว่า “ทำ” เป็น “รู้” ) ใน ข้อ 7–8 อาโมสประยุกต์ใช้ตรรกะนี้กับศาสดาพยากรณ์ อะไรเป็นเหตุให้ศาสดาพยากรณ์พยากรณ์? ท่านเรียนรู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ขณะที่ท่านอ่าน อาโมส 7:10–15? ไตร่ตรองว่าเหตุใดท่านจึงขอบพระทัยที่พระเจ้ายังทรง “เปิดเผยความลี้ลับให้แก่ผู้รับใช้ของพระองค์ คือผู้เผยพระวจนะ” (อาโมส 3:7) ความจริงนี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า?
ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:38; 21:4–8; 35:13–14 ด้วย
“จงแสวงหาพระยาห์เวห์และดำรงชีวิตอยู่”
ขณะที่ท่านอ่าน อาโมส 4:6–13 ให้สังเกตการพิพากษาที่พระเจ้าทรงส่งมาบนคนอิสราเอล ข้อเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทรงหวังจะให้เกิดขึ้นหลังจากประสบการณ์เหล่านี้แต่ละครั้ง? (ดู ฮีลามัน 12:3) ให้นึกถึงการทดลองล่าสุดที่ท่านประสบ แม้การทดลองของท่านอาจไม่ได้ส่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่ให้ไตร่ตรองว่าการทดลองจะให้โอกาสท่านแสวงหาพระองค์อย่างไร
อ่าน อาโมส 5:4, 14–15 และไตร่ตรองว่าพระเจ้าทรง “พระกรุณา” (ข้อ 15) ต่อท่านอย่างไรเมื่อท่านแสวงหาพระองค์แม้ในช่วงการทดลองของท่าน
ดู โดนัล แอล. ฮอลล์สตรอม, “หันมาสู่พระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 97–100 ด้วย
พระวจนะของพระเจ้าสามารถสนองความหิวกระหายทางวิญญาณ
เราทุกคนประสบช่วงเวลาของความหิวกระหายทางวิญญาณ แต่เราไม่มีความจำเป็นต้อง “เดินโซเซจากทะเลนี้ไปทะเลโน้น” (อาโมส 8:12) พลางมองหาบางสิ่งมาสนองเรา เรารู้ว่าอะไรจะสนองความหิวทางวิญญาณนั้น และเราได้รับพรมากมายด้วยพระวจนะของพระเจ้า ขณะที่ท่านอ่าน อาโมส 8:11–12 ให้คิดว่าเหตุใดความอดอยากจึงเป็นการเปรียบเทียบที่ดีสำหรับการดำเนินชีวิตโดยไม่มีพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ท่านพบข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้างใน มัทธิว 5:6; ยอห์น 6:26–35; 2 นีไฟ 9:50–51; 32:3; อีนัส 1:4–8?
ดูเจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พระองค์ทรงโปรดให้คนอดอยากอิ่มด้วยสิ่งดี,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 76–78; Gospel Topics, “Apostasy,” topics.ChurchofJesusChrist.org ด้วย
ใครเป็น “พวกกู้ชาติ … ที่ภูเขาศิโยน”?
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ให้การตีความอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ของวลี “พวกกู้ชาติที่ภูเขาศิโยน” โดยเชื่อมโยงวลีดังกล่าวกับงานพระวิหารและประวัติครอบครัวว่า “[ในพระวิหาร] เราเป็นพวกกู้ชาติที่ภูเขาศิโยนอย่างแท้จริง นี่หมายความว่าอย่างไร? เฉกเช่นพระผู้ไถ่ของเราทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เป็นเครื่องพลีบูชาแทนมนุษย์ทุกคนเพื่อจะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราฉันใด เราก็เป็นฉันนั้นในระดับหนึ่งเมื่อเรามีส่วนในงานแทนคนตายในพระวิหาร กลายเป็นผู้ช่วยให้รอดของคนอีกด้านหนึ่งผู้ไม่มีหนทางก้าวหน้าเว้นแต่ผู้อยู่บนแผ่นดินโลกจะทำแทนพวกเขา” (ดู “คำปราศรัยปิดการประชุม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 129)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
อาโมส 3:7ท่านอาจจะทบทวนข่าวสารล่าสุดหลายๆ เรื่องจากประธานศาสนจักรและสนทนาสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อครอบครัวท่านผ่านประธานศาสนจักร เหตุใดการมีศาสดาพยากรณ์นำศาสนจักรจึงสำคัญ? เรารู้ได้อย่างไรว่าท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ที่แท้จริง? เรากำลังทำอะไรเพื่อทำตามคำแนะนำของท่าน?
-
อาโมส 5:4ครอบครัวท่านอาจจะทำโปสเตอร์เขียนข้อนี้แขวนไว้ในบ้าน แสวงหาพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร? เราแสวงหาพระองค์อย่างไร? เราได้รับพรอะไรบ้างเมื่อเราแสวงหาพระองค์? ท่านอาจจะเชิญสมาชิกครอบครัวแบ่งปันและสนทนาข้ออื่นที่สอนเกี่ยวกับการแสวงหาพระเจ้า เช่น มัทธิว 7:7–8; อีเธอร์ 12:41; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:63
-
อาโมส 8:11–12เด็กอาจชอบทำท่าประกอบวลีต่างๆ ในข้อเหล่านี้ เมื่อร่างกายเราหิวหรือกระหาย เราทำอะไร? เมื่อวิญญาณเราหิวหรือกระหาย เราทำอะไร? ท่านอาจจะดูวีดิทัศน์เรื่อง “The Great Apostasy” (ChurchofJesusChrist.org) และพูดคุยกันว่าการฟื้นฟูพระกิตติคุณสนองความหิวทางวิญญาณของเราอย่างไร
-
โอบาดีห์ 1:21การเป็น “พวกกู้ชาติ … ที่ภูเขาศิโยน” อาจหมายความว่าอย่างไรได้บ้าง? (ดูคำอธิบายหนึ่งที่เป็นไปได้ในคำกล่าวของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ใน “แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว”) บรรพชนคนใดของเราต้องการศาสนพิธีแห่งความรอด? เราจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพวกเขา?
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “เราขอบพระทัยสำหรับศาสดา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 10