“21–27 พฤศจิกายน โยนาห์; มีคาห์: ‘พระองค์ท่านพอพระทัยในความรักมั่นคง” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“21–27 พฤศจิกายน โยนาห์; มีคาห์” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
21–27 พฤศจิกายน
โยนาห์; มีคาห์
“พระองค์ท่านพอพระทัยในความรักมั่นคง [พระเมตตา]”
ขณะที่ท่านบันทึกความประทับใจ ให้คิดว่าหลักธรรมในโยนาห์และมีคาห์เกี่ยวข้องอย่างไรกับสิ่งที่ท่านเรียนรู้มาตลอดในพระคัมภีร์
บันทึกความประทับใจของท่าน
โยนาห์อยู่บนเรือที่มุ่งหน้าไปเมืองทารชิช ไม่มีอะไรผิดกับการแล่นเรือไปทารชิช ยกเว้นว่าเรืออยู่ห่างจากเมืองนีนะเวห์ที่โยนาห์ควรจะไปให้ข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เมื่อเรือปะทะพายุใหญ่ โยนาห์จึงรู้ว่านั่นเป็นเพราะเขาไม่เชื่อฟัง ด้วยการคะยั้นคะยอของโยนาห์ บรรดาลูกเรือจึงโยนเขาลงไปในทะเลลึกเพื่อหยุดพายุ เหมือนจะเป็นจุดจบของโยนาห์และการปฏิบัติศาสนกิจของเขา แต่พระเจ้าไม่ทรงเลิกหวังในตัวโยนาห์—เช่นเดียวกับที่พระองค์ไม่ทรงเลิกหวังในคนนีนะเวห์และไม่ทรงเลิกหวังในตัวเรา ตามที่มีคาห์สอน พระเจ้าไม่พอพระทัยในการกล่าวโทษเรา แต่ “พระองค์ท่านพอพระทัยในความรักมั่นคง [พระเมตตา]” เมื่อเราหันมาหาพระองค์ “พระองค์ท่านจะทรงหวนกลับมาเมตตาเราอีก และจะทรงเหยียบความผิดทั้งหลายของเราไว้ พระองค์จะทรงเหวี่ยงบาปทั้งสิ้นของเราลงไปในที่ลึกของทะเล” (มีคาห์ 7:18–19)
ดูคำอธิบายพอสังเขปของหนังสือโยนาห์และมีคาห์ได้จาก “โยนาห์” และ “มีคาห์” ในคู่มือพระคัมภีร์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเจ้าทรงเมตตาทุกคนที่หันมาหาพระองค์
หนังสือโยนาห์แสดงให้เห็นเหนือสิ่งอื่นใดว่าพระเจ้าทรงเมตตาเพียงใดเมื่อเรากลับใจ ขณะที่ท่านอ่านโยนาห์ ให้มองหาตัวอย่างพระเมตตาของพระองค์ ไตร่ตรองว่าท่านเคยประสบพระเมตตานั้นในชีวิตท่านอย่างไร ท่านเรียนรู้อะไรที่สามารถช่วยให้ท่านเมตตาผู้อื่นมากขึ้น?
การเห็นพระเมตตาของพระเจ้ามักดลบันดาลให้เกิดความรู้สึกรักและสำนึกคุณ แต่โยนาห์ “ไม่ … พอใจ” และ “โกรธ [มาก]” (โยนาห์ 4:1) เมื่อพระเจ้าทรงเมตตาต่อคนนีนะเวห์ผู้เป็นศัตรูของอิสราเอล เหตุใดโยนาห์จึงรู้สึกเช่นนี้? ท่านเคยมีความรู้สึกคล้ายกันหรือไม่? ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงพยายามช่วยให้โยนาห์เข้าใจอะไรใน บทที่ 4?
ไตร่ตรองคำสอนใน มีคาห์ 7:18–19 ความจริงเหล่านี้ช่วยให้โยนาห์เปลี่ยนเจตคติของเขาเกี่ยวกับพระเจ้าและคนนีนะเวห์อย่างไร?
ดู ลูกา 15:11–32; เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ความยุติธรรมและพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ย. 2013, 20–25 ด้วย
บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าจำเป็นต้องได้ยินพระกิตติคุณ
นีนะเวห์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอัสซีเรียศัตรูของอิสราเอลที่ขึ้นชื่อเรื่องความรุนแรงและความโหดร้าย สำหรับโยนาห์อาจดูเหมือนไม่น่าจะจริงที่คนนีนะเวห์พร้อมยอมรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและกลับใจ แต่ดังที่ประธานดัลลิน เอช. โอคส์สอน “เราไม่ควรตั้งตนเป็นผู้ตัดสินว่าใครพร้อมหรือใครไม่พร้อม พระเจ้าทรงรู้ใจบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ ถ้าเราสวดอ้อนวอนขอการดลใจ พระองค์จะทรงช่วยให้เราพบคนที่พระองค์ทรงทราบว่าอยู่ ‘ในการเตรียมพร้อมที่จะฟังพระวจนะ” (แอลมา 32:6)” (“การแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 58–59) ท่านเรียนรู้อะไรจาก โยนาห์ 3 ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านแบ่งปันพระกิตติคุณแม้กับคนที่อาจดูเหมือนไม่พร้อมจะเปลี่ยน?
อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าเปรียบเทียบเจตคติของโยนาห์ (ดู โยนาห์ 1; 3–4) กับความรู้สึกของแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์ (ดู โมไซยาห์ 28:1–5; แอลมา 17:23–25)
ดู 3 นีไฟ 18:32 ด้วย
พระเยซูคริสต์ทรงอ้างข้อเขียนของมีคาห์
ทราบกันดีว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงอ้างอิสยาห์และสดุดี ท่านทราบหรือไม่ว่าพระองค์ทรงอ้างมีคาห์หลายครั้งด้วย? พิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ และไตร่ตรองว่าเหตุใดข้อเหล่านี้จึงสำคัญต่อพระผู้ช่วยให้รอด เหตุใดจึงสำคัญต่อท่าน?
มีคาห์ 4:11–13 (ดู 3 นีไฟ 20:18–20) พระเจ้าทรงเปรียบเทียบการรวบรวมยุคสุดท้ายกับการเก็บเกี่ยวข้าวสาลี (ดู แอลมา 26:5–7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:3–4) การเปรียบเทียบนี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับการรวบรวมอิสราเอล?
มีคาห์ 5:8–15 (ดู 3 นีไฟ 21:12–21) ข้อเหล่านี้บอกอะไรท่านเกี่ยวกับผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า (“คนที่เหลืออยู่ของยาโคบ”) ในวันเวลาสุดท้าย?
มีคาห์ 7:5–7 (ดู มัทธิว 10:35–36) ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดการ “มองดูพระยาห์เวห์” ก่อนจึงสำคัญ? เหตุใดคำแนะนำดังกล่าวจึงสำคัญในปัจจุบัน?
“พระยาห์เวห์ทรงประสงค์อะไรจากเจ้า?”
มีคาห์เชื้อเชิญให้เราจินตนาการว่าการ “เข้ามาเฝ้าพระยาห์เวห์และกราบไหว้พระเจ้าเบื้องสูง” (มีคาห์ 6:6) น่าจะเป็นอย่างไร? ข้อ 6–8 บอกอะไรท่านเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญต่อพระเจ้าขณะที่พระองค์ทรงประเมินชีวิตท่าน?
ดู มัทธิว 7:21–23; 25:31–40; เดล จี. เรนลันด์, “ทำความยุติธรรม รักความเมตตา และดำเนินชีวิตไปกับพระเจ้าของเจ้าด้วยความถ่อมใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 109–112 ด้วย
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
โยนาห์ 1–4ลูกๆ ของท่านอาจจะชอบทำท่าที่เล่าเรื่องราวของโยนาห์ เช่น ทำท่าวิ่งหนี ทำเสียงเหมือนทะเลบ้าคลั่ง หรือทำท่าถูกปลาตัวใหญ่กลืน (ดู ศาสดาพยากรณ์โยนาห์” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) ถามสมาชิกครอบครัวว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของโยนาห์ ดูบทเรียนหนึ่งตัวอย่างจากโยนาห์ในข้อ 7 ของเพลง “ทำตามศาสดา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 58–59)
-
โยนาห์ 3โยนาห์เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณ? เรารู้จักใครที่จะได้รับพรจากการฟังข่าวสารพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์?
-
มีคาห์ 4:1–5ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ อะไรจะนำสันติสุขและความรุ่งเรืองมาให้ผู้คนของพระเจ้า? เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้คำพยากรณ์นี้เกิดสัมฤทธิผลในบ้านเรา?
-
มีคาห์ 5:2ท่านอาจจะติดรูปพระกุมารเยซูกับพระมารดาของพระองค์ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 33) ไว้ด้านหนึ่งของห้องและอีกด้านติดรูปนักปราชญ์ อ่าน มีคาห์ 5:2 และ มัทธิว 2:1–6 ด้วยกัน คำพยากรณ์ของมีคาห์ช่วยให้นักปราชญ์พบพระเยซูอย่างไร? สมาชิกครอบครัวอาจย้ายรูปนักปราชญ์ไปไว้ใกล้ๆ รูปพระเยซู ครอบครัวท่านอาจจะชอบดูวีดิทัศน์เรื่อง “The Christ Child: A Nativity Story” (ChurchofJesusChrist.org)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: ดู “ข้าจะไปที่พระองค์บัญชา” เพลงสวด บทเพลงที่ 136