พันธสัญญาเดิม 2022
28 พฤศจิกายน–4 ธันวาคม นาฮูม; ฮาบากุก; เศฟันยาห์: “การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม”


“28 พฤศจิกายน–4 ธันวาคม นาฮูม; ฮาบากุก; เศฟันยาห์: ‘การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“28 พฤศจิกายน–4 ธันวาคม นาฮูม; ฮาบากุก; เศฟันยาห์” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

ภาพ
พระเยซูทอดพระเนตรดวงดาว

“การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม” (ฮาบากุก 3:6) ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่ โดย เอวา ทิโมธี

28 พฤศจิกายน–4 ธันวาคม

นาฮูม; ฮาบากุก; เศฟันยาห์

“การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม”

ท่านสามารถศึกษาพระคัมภีร์ได้ชั่วชีวิตและยังพบข้อคิดใหม่ๆ อย่ารู้สึกว่าท่านต้องเข้าใจทุกอย่างตอนนี้ จงสวดอ้อนวอนขอให้ช่วยท่านรับรู้ข่าวสารที่ท่านต้องการวันนี้

บันทึกความประทับใจของท่าน

บ่อยครั้งการอ่านพันธสัญญาเดิมหมายถึงการอ่านคำพยากรณ์เกี่ยวกับการทำลายล้าง พระเจ้าทรงเรียกศาสดาพยากรณ์มาเตือนคนชั่วบ่อยๆ ว่าการพิพากษาของพระองค์อยู่บนพวกเขา การปฏิบัติศาสนกิจของนาฮูม ฮาบากุก และเศฟันยาห์เป็นตัวอย่างที่ดี ศาสดาพยากรณ์ทั้งสามท่านบอกรายละเอียดที่น่าสะพรึงกลัวล่วงหน้าถึงการล่มสลายของเมืองต่างๆ ที่ดูแข็งแกร่งและเรืองอำนาจ—นีนะเวห์ บาบิโลน และแม้กระทั่งเยรูซาเล็ม แต่นั่นเมื่อหลายพันปีก่อน เหตุใดการอ่านคำพยากรณ์เหล่านี้ในปัจจุบันจึงมีค่า?

ถึงแม้เมืองที่ชั่วร้ายและจองหองเหล่านั้นถูกทำลายไปแล้ว แต่ความจองหองและความชั่วร้ายยังอยู่ ในโลกปัจจุบัน บางครั้งเรารู้สึกได้ว่ารายล้อมไปด้วยความชั่วที่ศาสดาพยากรณ์สมัยก่อนตำหนิ เราอาจถึงกับตรวจพบร่องรอยเหล่านี้ในใจเราเอง คำพยากรณ์เหล่านี้ในพันธสัญญาเดิมเปิดเผยว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับความจองหองและความชั่ว และสอนว่าเราสามารถหันหลังให้ความชั่วร้ายเหล่านี้ บางทีนั่นอาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่เรายังคงอ่านคำพยากรณ์สมัยโบราณเหล่านี้ในปัจจุบัน นาฮูม ฮาบากุก เศฟันยาห์ และคนอื่นๆ ไม่ได้เป็นแค่ศาสดาพยากรณ์ที่บอกล่วงหน้าเรื่องหายนะเท่านั้น—แต่เป็นศาสดาพยากรณ์ที่พยากรณ์ถึงการปลดปล่อยผู้คนของพระเจ้าด้วย คำอธิบายเรื่องการทำลายล้างลดความรุนแรงลงโดยการเชื้อเชิญให้มาหาพระคริสต์และรับพระเมตตาของพระองค์: “จงแสวงหาพระยาห์เวห์ … จงแสวงหาความชอบธรรม จงแสวงหาความถ่อมใจ” (เศฟันยาห์ 2:3) นี่เป็นวิธีของพระเจ้าในสมัยโบราณ และเป็นวิธีของพระองค์ในปัจจุบัน “การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม” (ฮาบากุก 3:6)

ดูคำอธิบายพอสังเขปของหนังสือเหล่านี้ได้จาก “นาฮูม” “ฮาบากุก” และ “เศฟันยาห์” ในคู่มือพระคัมภีร์

ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

นาฮูม 1

พระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยเดชานุภาพและพระเมตตา

พันธกิจของนาฮูมคือบอกล่วงหน้าเรื่องการทำลายนีนะเวห์—เมืองหลวงของจักรวรรดิอัสซีเรียที่ใช้ความรุนแรงทำให้อิสราเอลกระจัดกระจายและทารุณยูดาห์ นาฮูมเริ่มต้นโดยพูดถึงพระพิโรธของพระผู้เป็นเจ้าและเดชานุภาพอันหาใดเทียบได้ของพระองค์ แต่เขาพูดถึงพระเมตตาและพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าด้วย ท่านอาจระบุข้อใน บทที่ 1 ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจพระคุณลักษณะแต่ละอย่างเหล่านี้—และพระคุณลักษณะอื่นของพระผู้เป็นเจ้าที่ท่านสังเกตเห็น ท่านคิดว่าเหตุใดการรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวกับพระเจ้าจึงสำคัญ?

บางคนอาจพบว่ายากในการทำให้คำสอนในพระคัมภีร์ที่ว่า “พระยาห์เวห์ประเสริฐ” (นาฮูม 1:7) สอดคล้องกับคำสอนที่ว่าพระองค์จะทรง “แก้แค้นคู่อริของพระองค์” (นาฮูม 1:2) ในพระคัมภีร์มอรมอน โคริแอนทอนบุตรชายของแอลมามีคำถามคล้ายกัน “เกี่ยวกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าในการลงโทษผู้ทำบาป” (แอลมา 42:1) เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าและพระเมตตานั้นเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมอย่างไร ให้อ่านคำตอบของแอลมาที่ให้กับโคริแอนทอนใน แอลมา 42

ภาพ
ป้อมปราการที่เป็นหิน

“พระ‍ยาห์‌เวห์ประ‌เสริฐ ทรงเป็นที่กำ‌บังแข็ง‍แกร่งในวัน‍ยาก‍ลำ‌บาก” (นาฮูม 1:7)

ฮาบากุก

ฉันสามารถวางใจพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระเจ้า

แม้แต่ศาสดาพยากรณ์บางครั้งก็มีคำถามเกี่ยวกับวิธีของพระเจ้า ฮาบากุกผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงที่ความชั่วร้ายแพร่ไปทั่วยูดาห์เริ่มต้นบันทึกของเขาด้วยคำถามต่อพระเจ้า (ดู ฮาบากุก 1:1–4) ท่านจะสรุปข้อกังวลของฮาบากุกว่าอย่างไร? ท่านเคยมีความรู้สึกคล้ายกันหรือไม่?

พระเจ้าทรงตอบคำถามของฮาบากุกโดยตรัสว่าพระองค์จะทรงส่งคนเคลเดีย (คนบาบิโลน) มาลงโทษยูดาห์ (ดู ฮาบากุก 1:5–11) แต่ฮาบากุกยังไม่สบายใจ เพราะดูเหมือนไม่ยุติธรรมที่พระเจ้าจะทรงเฝ้าดูโดยไม่ทำอะไร “เมื่อคนอธรรม [บาบิโลน] กลืนคนที่ชอบธรรมกว่า [ยูดาห์]” (ดู ข้อ 12–17) ท่านพบอะไรใน ฮาบากุก 2:1–4 ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านวางใจพระเจ้าเมื่อท่านมีคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ?

ฮาบากุก บทที่ 3 เป็นคำสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าและแสดงศรัทธาในพระองค์ ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับถ้อยคำของฮาบากุกใน ข้อ 17–19? น้ำเสียงของข้อเหล่านี้ต่างจาก ฮาบากุก 1:1–4 อย่างไร? ไตร่ตรองว่าท่านจะพัฒนาศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นได้อย่างไรแม้เมื่อชีวิตดูเหมือนไม่ยุติธรรม

ดู ฮีบรู 10:32–39; 11; หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–6; โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “การรอคอยพระเจ้า: ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 90–94 ด้วย

เศฟันยาห์

“จงแสวงหาพระยาห์เวห์ ทุกคนที่ถ่อมใจบนแผ่นดิน”

เศฟันยาห์พยากรณ์ว่าคนยูดาห์จะถูกคนบาบิโลนทำลายสิ้นเพราะความชั่วร้ายของพวกเขา “เราจะกวาด‍ล้างทุก‍อย่างไปจากพื้นพิภพ พระ‍ยาห์‌เวห์ ตรัสดัง‍นี้แหละ” (เศฟันยาห์ 1:2) แต่เศฟันยาห์กล่าวด้วยว่าพระองค์จะทรงปกปักรักษา “คนที่เหลืออยู่” (เศฟันยาห์ 3:13) ขณะที่ท่านอ่านคำพยากรณ์เหล่านี้ ให้สังเกตเจตคติและพฤติกรรมหลายๆ แบบที่นำยูดาห์และคนกลุ่มอื่นไปสู่ความพินาศ—ดู เศฟันยาห์ 1:4–6,12; 2:8, 10,15; 3:1–4 เป็นพิเศษ จากนั้นให้มองหาคุณสมบัติของคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษา—ดู เศฟันยาห์ 2:1–3; 3:12–13, 18–19 ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าทรงมีข่าวสารอะไรให้ท่านในข้อเหล่านี้?

เศฟันยาห์ 3:14–20 พูดถึงปีติของคนชอบธรรมหลังจากพระเจ้าทรง “ขับไล่ศัตรูของเจ้าไปแล้ว” (ข้อ 15) พรใดที่สัญญาไว้ในข้อเหล่านี้สะดุดใจท่าน? เหตุใดการรู้เกี่ยวกับพรเหล่านี้จึงสำคัญต่อท่าน? ท่านอาจจะเปรียบเทียบข้อเหล่านี้กับประสบการณ์ที่บรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 17 และไตร่ตรองว่าพระเยซูคริสต์ทรงรู้สึกอย่างไรกับผู้คนของพระองค์—รวมทั้งตัวท่าน

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

นาฮูม 1:7พระเจ้าทรงเป็นเหมือน “ที่กำบังแข็งแกร่ง” อย่างไร? ครอบครัวท่านอาจจะสร้างที่กำบังหรือป้อมปราการง่ายๆ ในบ้านและสนทนา นาฮูม 1:7 ขณะอยู่ในนั้น อะไรทำให้วันของเราเป็น “วันยากลำบาก”? พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เสริมความแข็งแกร่งให้เราอย่างไร? เราแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรา “เข้า‍มา​ลี้‍ภัย​อยู่​ [วางใจ] ใน​พระ‍องค์”?

ฮาบากุก 2:14เราจะช่วยให้คำพยากรณ์ในข้อนี้เกิดสัมฤทธิผลได้อย่างไร?

ฮาบากุก 3:17–19เราเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของฮาบากุกในข้อเหล่านี้?

เศฟันยาห์ 2:3ท่านอาจเล่นเกมซึ่งให้สมาชิกครอบครัวหาคำว่า “ความชอบธรรม” และ “ความถ่อมใจ” ในหน้าที่มีคำอื่นหลายๆ คำ จากนั้นพวกเขาอาจพูดคุยเกี่ยวกับตัวอย่างความชอบธรรมและความถ่อมใจที่พวกเขาเห็นในกันและกัน แสวงหาความชอบธรรมและความถ่อมใจหมายความว่าอย่างไร?

เศฟันยาห์ 3:14–20เราพบอะไรใน เศฟันยาห์ 3:14–20 ที่ทำให้เราต้องการ “ร้องเพลง … เปรมปรีดิ์และรื่นเริงด้วยเต็มใจ”? ครอบครัวท่านอาจจะร้องเพลงสวดหรือเพลงที่นึกออกขณะพวกเขาอ่านข้อเหล่านี้

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “เร่งแสวงหาพระเจ้าหนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 67

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

จงอดทน บางครั้งเราต้องการคำตอบให้กับคำถามของเราเดี๋ยวนั้น แต่ความเข้าใจลึกซึ้งทางวิญญาณใช้เวลาและจะบังคับไม่ได้ ดังที่พระเจ้ารับสั่งกับฮาบากุก “จงคอยสักหน่อย มันจะมาถึงแน่นอน” (ฮาบากุก 2:3)

ภาพ
พระเยซูเสด็จลงมาและทรงสวมฉลองพระองค์สีแดง

“พระยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้าทรงอยู่ท่ามกลางเจ้าเป็นนักรบ” (เศฟันยาห์ 3:17) พระองค์เสด็จมาครองและปกครองอีกครั้ง โดย แมรีย์ อาร์. เซาเออร์

พิมพ์