“28 พฤศจิกายน–4 ธันวาคม นาฮูม; ฮาบากุก; เศฟันยาห์: ‘การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“28 พฤศจิกายน–4 ธันวาคม นาฮูม; ฮาบากุก; เศฟันยาห์” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
28 พฤศจิกายน–4 ธันวาคม
นาฮูม; ฮาบากุก; เศฟันยาห์
“การเสด็จของพระองค์ก็เป็นดังดั้งเดิม”
ความรักที่ท่านมีต่อพระคัมภีร์อาจมีอิทธิพลทรงพลังต่อเด็กที่ท่านสอน ให้พวกเขาเห็นว่าท่านขอบพระทัยพระคำของพระผู้เป็นเจ้าเพียงใด
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันยืนและแสร้งเป็นศาสดาพยากรณ์ในพันธสัญญาเดิมที่ยืนอยู่ “บนหอคอย” เหมือนฮาบากุก (ฮาบากุก 2:1) ขอให้พวกเขาบอกเด็กคนอื่นๆ ถึงบางอย่างที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้สัญญาของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลเสมอ
ศาสดาพยากรณ์ฮาบากุกรู้สึกหนักใจกับความชั่วร้ายที่เขาเห็นท่ามกลางชาวยูดาห์ (ดู ฮาบากุก 1:2–4) พระเจ้าประทานความมั่นใจแก่เขาว่าสัญญาของพระองค์จะเกิดสัมฤทธิผลในเวลาของพระองค์ (ดู ฮาบากุก 2:3)
กิจกรรมที่ทำได้
-
แบ่งปันตัวอย่างของสิ่งต่างๆ ที่ดีต่อเมื่อเรารอเท่านั้น—เช่น ผลไม้ที่ต้องรอให้สุกหรือแป้งขนมปังที่ต้องอบ จะเกิดอะไรขึ้นหากเราพยายามกินผลไม้หรือแป้งขนมปังก่อนที่จะสุก? เล่าเรื่องศาสดาพยากรณ์ฮาบากุกผู้ต้องการรู้ว่าเมื่อใดพระเจ้าจะทรงยุติความชั่วร้ายที่เขาเห็นรอบตัวเขา อ่านคำตอบของพระเจ้าให้เด็กฟังใน ฮาบากุก 2:3 เน้นว่าฮาบากุกจำเป็นต้องรอให้สัญญาของพระเจ้าเกิดสัมฤทธิผล เช่นเดียวกับที่เราต้องรอในบางครั้ง แบ่งปันช่วงเวลาที่ท่านต้องรอคอยพร
-
ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้—ตัวอย่างเช่น พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาแผ่นดินโลกหรือเราสามารถอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง ในแต่ละตัวอย่าง เชื้อเชิญให้เด็กพูดทวนวลี “จงคอยสักหน่อยมันจะมาถึงแน่นอน”
ฉันสามารถช่วยเติมเต็มแผ่นดินโลกด้วยความรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
ฮาบากุกพยากรณ์ถึงวันที่ทั้งโลกจะรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ คำพยากรณ์นั้นเริ่มเกิดสัมฤทธิผลในสมัยของเรา พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เด็กเป็นส่วนหนึ่งของสัมฤทธิผลนี้ได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูขวดโหลเปล่า และให้สิ่งของเล็กๆ กับเด็กแต่ละคน ขอให้เด็กแต่ละคนแบ่งปันบางสิ่งที่พระเยซูทรงทำหรือทรงสอนแล้วใส่สิ่งของที่พวกเขาได้รับลงในขวดโหล อ่านออกเสียง ฮาบากุก 2:14 และอธิบายว่าเช่นเดียวกับที่เด็กเติมความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าในขวดโหล เราก็สามารถเติมเต็มโลกด้วยความรู้เกี่ยวกับพระองค์ได้เช่นกัน
-
ให้เด็กดูแผนที่โลก (ดู แผนที่ทางประวัติศาสตร์ของศาสนจักร, แผนที่หมายเลข 7, “แผนที่โลก”) ช่วยพวกเขาค้นหาสถานที่ซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่และสถานที่ซึ่งผู้สอนศาสนาที่พวกเขารู้จักรับใช้อยู่ แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ทุกคนทั่วแผ่นดินโลกรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เราจะช่วยสอนผู้อื่นเกี่ยวกับพระเยซูได้อย่างไร? บอกเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านเคยเห็นพวกเขาทำซึ่งสอนท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ช่วยให้พวกเขานึกถึงสิ่งอื่นที่พวกเขาสามารถทำได้
-
ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณ เช่น “ฉันอยากเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 90) เราจะเล่าเรื่องพระเยซูคริสต์ให้ผู้อื่นฟังได้อย่างไร? ดูหลักแห่งความเชื่อเพื่อหาแนวคิดบางประการ
“จงแสวงหาพระยาห์เวห์”
เศฟันยาห์สอนว่าเราควรแสวงหาพระเจ้าในช่วงเวลาของความชั่วร้ายอย่างยิ่ง เช่นในยุคสุดท้ายนี้ ไตร่ตรองว่าท่านจะกระตุ้นให้เด็กแสวงหาพระองค์อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพของพระเยซู และอ่าน เศฟันยาห์ 2:3 ให้เด็กฟัง เชื้อเชิญให้พวกเขาใช้มือครอบตาเหมือนแว่นตาและมองภาพทุกครั้งที่ท่านอ่านคำว่า “แสวงหา” อธิบายว่าศาสดาพยากรณ์เศฟันยาห์ต้องการให้ผู้คนแสวงหาพระเจ้า เราแสวงหาพระเจ้าอย่างไร? เราจะหาพระองค์ได้จากที่ใด?
-
ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ หรือนึกถึงเกมอื่นที่กระตุ้นให้เด็กแสวงหาพระเจ้า เล่นหรือร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ เช่น “เร่งแสวงหาพระเจ้า” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 67) สนทนาว่าเพลงนี้สอนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่เราจะพบพระเยซูคริสต์ในชีวิตเรา
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
“พระยาห์เวห์ประเสริฐทรงเป็นที่กำบังแข็งแกร่งในวันยากลำบาก”
เราแต่ละคนต้องเผชิญกับ “วันยากลำบาก” ของตนเอง ท่านจะช่วยให้เด็กหันมาหาพระเจ้า “เข้ามาลี้ภัยอยู่ในพระองค์” และพบความปลอดภัยทางวิญญาณในวันยากลำบากของพวกเขาได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพที่กำบังหรือป้อมปราการ มีเหตุผลอะไรบ้างที่ผู้คนอาจต้องการป้อมปราการ? เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน นาฮูม 1:7 เพื่อดูว่าศาสดาพยากรณ์นาฮูมกล่าวว่าอะไรเป็นเหมือนที่กำบังหรือป้อมปราการสำหรับเรา พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถปกป้องเราจากอะไร?
-
เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพตนเองและครอบครัวอยู่ภายในที่กำบังหรือป้อมปราการ กระตุ้นให้พวกเขาเขียนคำไว้รอบที่กำบังที่บรรยายถึงอิทธิพลชั่วร้ายบางอย่างในโลก เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนคำภายในที่กำบังที่อธิบายถึงพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงขอให้เราทำอะไรเพื่อรับความเข้มแข็งและความคุ้มครองจากพระองค์? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:24)
ฉันสามารถมีปีติในพระเยซูคริสต์ แม้ว่าสิ่งต่างๆ จะไม่ดี
ฮาบากุกอธิบายถึงการทดลองบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับผู้คนของเขา รวมถึงต้นไม้หรือเถาวัลย์ที่ไม่มีผล จากนั้นเขากล่าวว่าแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น “ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าจะร่าเริงในพระยาห์เวห์”
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน ฮาบากุก 3:17 และระบุการทดลองที่อธิบายไว้ในข้อนี้ บุคคลจะรู้สึกอย่างไรหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น? ช่วยให้เด็กนึกถึงการทดลองที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขา จากนั้นอ่าน ข้อ 18–19 ด้วยกันเพื่อเรียนรู้ว่าฮาบากุกบอกว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเขาก็ตาม
-
ช่วยเด็กค้นหาแบบอย่างอื่นๆ ของผู้คนในพระคัมภีร์ที่ชื่นชมยินดีในพระเจ้าแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก พวกเขาสามารถหาแบบอย่างได้ใน กิจการของอัครทูต 16:19–25; โมไซยาห์ 24:10–15; และข่าวสารของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ “สำนึกคุณในทุกสภาวการณ์” (เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 70–77) โดยเฉพาะในหัวข้อ “สำนึกคุณในสภาวการณ์ของเรา” เหตุใดคนเหล่านี้จึงมีปีติในช่วงเวลาที่ยากลำบาก? เราจะทำตามแบบอย่างของพวกเขาได้อย่างไร?
ผู้ที่ติดตามพระเยซูคริสต์จะพบสันติสุขและปีติ
เศฟันยาห์ 3:14–20 อธิบายถึงวันที่น่าปีติยินดีเมื่อพระเยซูคริสต์ “กษัตริย์แห่งอิสราเอล” จะทรงปกครองท่ามกลางผู้คนของพระองค์และ “ทรงเริงร่าเพราะ [เรา] ด้วยการร้องเพลงเสียงดัง” (ข้อ 15, 17)
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน เศฟันยาห์ 3:14 ด้วยกัน จากนั้นเชื้อเชิญให้เด็กแต่ละคนเลือกหนึ่งข้อใน เศฟันยาห์ 3:15–20 แล้วศึกษาโดยมองหาสิ่งที่สามารถช่วยให้เรา “เปรมปรีดิ์และรื่นเริง” ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ
-
ช่วยเด็กหาเพลงสวดหรือเพลงสำหรับเด็กที่ช่วยให้พวกเขา “เปรมปรีดิ์และรื่นเริงด้วยเต็มใจ” (เศฟันยาห์ 3:14) ร้องเพลงด้วยกันสองสามเพลง และกระตุ้นให้เด็กพูดถึงปีติที่พวกเขาพบในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ขอให้เด็กเขียนข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ที่พวกเขาต้องการแบ่งปันกับครอบครัว (หรือเขียนให้พวกเขา)