“5–11 ธันวาคม ฮักกัย; เศคาริยาห์ 1–3; 7–14: ‘บริสุทธิ์แด่พระยาห์เวห์”’ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“5–11 ธันวาคม ฮักกัย; เศคาริยาห์ 1–3; 7–14” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
5–11 ธันวาคม
ฮักกัย; เศคาริยาห์ 1–3; 7–14
“บริสุทธิ์แด่พระยาห์เวห์”
การอ่านพระคัมภีร์เชื้อเชิญการเปิดเผย จงเปิดรับข่าวสารที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปิดเผยต่อท่านขณะอ่านฮักกัยและเศคาริยาห์
บันทึกความประทับใจของท่าน
หลังจากเป็นเชลยหลายสิบปี คนอิสราเอลกลุ่มหนึ่งได้รับอนุญาตให้กลับไปเยรูซาเล็ม น่าจะมีศาสดาพยากรณ์ฮักกัยและเศคาริยาห์รวมอยู่ด้วย บางคนในกลุ่มนี้จำได้ว่าเยรูซาเล็มเป็นอย่างไรก่อนถูกทำลาย ลองจินตนาการความรู้สึกของพวกเขาเมื่อเห็นเศษหินเศษปูนที่เคยเป็นบ้านของพวกเขา สถานนมัสการ และพระวิหารของพวกเขา ถึงคนที่สงสัยว่าพระวิหารจะเหมือน “พระนิเวศ [ของพระเจ้าที่] ประกอบด้วยศักดิ์ศรีเมื่อครั้งก่อน” (ฮักกัย 2:3) หรือไม่ ศาสดาพยากรณ์ฮักกัยกล่าวถึงพระดำรัสให้กำลังใจของพระเจ้าดังนี้ “ประชาชนทั้งสิ้นของแผ่นดินเอ๋ย จงเข้มแข็งเถิด พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้แหละ … จงทำงานเถิดเพราะเราอยู่กับเจ้าทั้งหลาย … อย่ากลัวเลย” “เราจะบรรจุนิเวศนี้ให้เต็มด้วยศักดิ์ศรี … และในสถานที่นี้เราจะให้สันติสุข” (ฮักกัย 2:4–5, 7,9)
แต่ไม่เฉพาะพระวิหารศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นที่ต้องสร้างใหม่ ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าถูกทำลายทางวิญญาณในหลายๆ ด้านด้วย และการสร้างคนบริสุทธิ์ขึ้นใหม่ใช้มากกว่าการตัดหินมาวางเรียงเป็นแนวเดียวกันเพื่อสร้างผนังพระวิหาร ปัจจุบันพระวิหารมีคำจารึกว่า “บริสุทธิ์ (ศักดิ์สิทธิ์) แด่พระเจ้า” และคำเหล่านั้นไม่เพียงประยุกต์ใช้กับอาคารเท่านั้นแต่กับวิถีชีวิตด้วย การสลักคำเหล่านี้ไว้บน “ลูกพรวนที่ผูกม้า” และ “หม้อปรุงอาหารทุกใบในเยรูซาเล็ม” (เศคาริยาห์ 14:20–21) เป็นประโยชน์ต่อเมื่อสลักไว้ในใจทุกดวงเช่นกัน ความบริสุทธิ์ที่แท้จริงเรียกร้องให้เรา “ติดตาม” (เศคาริยาห์ 1:6) พระวจนะและกฎของพระเจ้า โดยยอมให้เดชานุภาพของพระองค์เปลี่ยนธรรมชาติของเราเพื่อเราจะบริสุทธิ์เหมือนพระองค์ (ดู เลวีนิติ 19:2)
ดูคำอธิบายพอสังเขปของหนังสือฮักกัยและเศคาริยาห์ได้จาก “ฮักกัย” และ “เศคาริยาห์” ในคู่มือพระคัมภีร์
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
“จงพิจารณาความเป็นอยู่ของเจ้า”
มีสิ่งสำคัญมากมายให้ทำเพื่อสร้างเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ แต่หลังจาก 15 ปีผ่านไปตั้งแต่คนอิสราเอลกลับมา พระเจ้าไม่พอพระทัยที่พวกเขาไม่ได้ให้การสร้างพระวิหารขึ้นใหม่มีความสำคัญมากกว่าอย่างอื่น (ดู ฮักกัย 1:2–5; ดู เอสรา 4:24 ด้วย) ขณะที่ท่านอ่าน ฮักกัย 1; 2:1–9 พึงพิจารณาคำถามทำนองนี้: คนอิสราเอลประสบผลอะไรบ้างเพราะพวกเขาไม่สร้างพระวิหารให้เสร็จ? พระเจ้าทรงสัญญาพรอะไรกับพวกเขาถ้าพวกเขาสร้างพระนิเวศของพระองค์เสร็จ? ท่านอาจจะใช้โอกาสนี้ “พิจารณาความเป็นอยู่ของท่าน”—คิดทบทวนลำดับความสำคัญของท่านและวิธีที่ท่านจะทำให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของพระเจ้า
ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 95; เทอเรนซ์ เอ็ม. วินสัน, “สานุศิษย์ที่แท้จริงของพระผู้ช่วยให้รอด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 9–11 ด้วย
พระเจ้าทรงสามารถทำให้ฉันบริสุทธิ์
ซิสเตอร์แครอล เอฟ. แมคคองกีสอนว่า “ความบริสุทธิ์คือการเลือกทำสิ่งที่จะรักษาพระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้เป็นผู้นำทางเรา ความบริสุทธิ์คือการขจัดความโน้มเอียงตามธรรมชาติและกลายเป็น ‘วิสุทธิชนผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า’ [โมไซยาห์ 3:19] … ความหวังว่าเราจะบริสุทธิ์มีศูนย์รวมอยู่ในพระคริสต์ ในพระเมตตาและพระคุณของพระองค์” (“ความงดงามแห่งความบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 9–10) นึกถึงคำสอนเหล่านี้ขณะที่ท่านอ่านพระดำรัสของพระเจ้าที่ประทานผ่านศาสดาพยากรณ์เศคาริยาห์โดยกระตุ้นอิสราเอลให้เป็นคนบริสุทธิ์มากขึ้น: เศคาริยาห์ 1:1–6; 3:1–7; 7:8–10; 8:16–17 สังเกตสิ่งที่พระเจ้าทรงขอให้อิสราเอลทำเพื่อพระองค์จะทรงทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ได้ พระองค์ทรงช่วยให้ท่านบริสุทธิ์มากขึ้นอย่างไร?
เศคาริยาห์ 2:10–11; 8:1–8; 14:9–11, 20–21 อธิบายว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้าเมื่อทุกคนพำนักอยู่กับพระเจ้าในสภาพของความบริสุทธิ์ คำอธิบายเหล่านี้น่าจะมีความหมายอะไรต่อคนที่กำลังสร้างเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ในสมัยของเศคาริยาห์? มีความหมายอะไรต่อท่าน?
เศคาริยาห์ 9:9–11; 11:12–13; 12:10; 13:6–7; 14:1–9
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้
ข้อเขียนหลายข้อของเศคาริยาห์ชี้ไปที่การปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของพระเยซูคริสต์และการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ในที่สุด เปรียบเทียบคำพยากรณ์ต่อไปนี้จากเศคาริยาห์กับข้อที่เกี่ยวข้องจากพระคัมภีร์เล่มอื่น:
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดขณะศึกษาข้อเหล่านี้? เหตุใดการเข้าใจข้อเหล่านี้จึงสำคัญต่อท่าน?
ดู คู่มือพระคัมภีร์, “พระเมสสิยาห์” ด้วย (scriptures.ChurchofJesusChrist.org)
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
ฮักกัย 1:2–7ข้อเหล่านี้อาจกระตุ้นครอบครัวท่านให้ “พิจารณาความเป็นอยู่ของท่าน” สมาชิกครอบครัวอาจจะทำท่าประกอบวลีต่างๆ ใน ข้อ 6 ข้อนี้สอนอะไรเกี่ยวกับการเห็นค่าสิ่งต่างๆ ของโลกมากกว่าเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า? ท่านอาจจะหารือกันเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของครอบครัวท่าน การร้องเพลงเช่น “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41) อาจช่วยครอบครัวท่านประเมินสิ่งที่ท่านทำได้ดีและด้านที่ท่านจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
-
ฮักกัย 2:1–9เพื่อเกริ่นนำข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะเล่าเรื่องพระวิหารโพรโวซิตีเซนเตอร์ซึ่งสร้างขึ้นใหม่จากแทเบอร์นาเคิลที่ถูกไฟไหม้ (ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Provo City Center Temple Completed,” ChurchofJesusChrist.org) ขณะที่ครอบครัวท่านอ่าน ฮักกัย 2:1–9 ท่านอาจจะขอให้สมาชิกครอบครัวนึกถึงบางสิ่งในชีวิตเราที่อาจจะเหมือนงานสร้างพระวิหารที่ถูกทำลายขึ้นมาใหม่ พระเจ้าทรงสร้างเราขึ้นมาใหม่หลังจากเกิดเรื่องเศร้าและความยากลำบากอย่างไร?
-
เศคาริยาห์ 3:1–7ขณะที่ท่านอ่านข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะเอาเสื้อผ้าสกปรกให้ครอบครัวดู โยชูวารู้สึกอย่างไรเมื่อเขายืนต่อหน้าทูตสวรรค์ขณะสวมเสื้อผ้าสกปรก? บาปเหมือนเสื้อผ้าสกปรกอย่างไร? เศคาริยาห์ 3:1–7 สอนอะไรเราเกี่ยวกับการให้อภัย? จากนั้นท่านอาจจะทำความสะอาดเสื้อผ้าด้วยกันและพูดคุยเกี่ยวกับเดชานุภาพการชำระให้สะอาดจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด
-
เศคาริยาห์ 8:1–8เราประทับใจอะไรเกี่ยวกับนิมิตของเศคาริยาห์เรื่องอนาคตของเยรูซาเล็ม? เราพบอะไรในนั้นที่เราต้องการเห็นในชุมชนของเรา? เราจะอัญเชิญพระผู้ช่วยให้รอดมาประทับ “อยู่ท่ามกลาง [เรา]” ได้อย่างไร? (ดู แกรีย์ อี. สตีเวนสัน “บ้านศักดิ์สิทธิ์ พระวิหารศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 123–126)
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนพระเยซู” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41