“30 มีนาคม–12 เมษายน อีสเตอร์: ‘พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“30 มีนาคม–12 เมษายน อีสเตอร์” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020
30 มีนาคม–12 เมษายน
อีสเตอร์
“พระองค์จะทรงลุกขึ้น … พร้อมด้วยปีกของพระองค์ที่รักษาหาย”
ขณะท่านอ่านพระคัมภีร์ที่แนะนำไว้ในบทนี้และใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าจะเน้นอะไรเพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดในวันอาทิตย์อีสเตอร์
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านทำเพื่อระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดในวันอีสเตอร์ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำ
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
1 นีไฟ 11:27; โมไซยาห์ 3:5; 15:7; ฮีลามัน 14:16–17
ศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนรู้ว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จมา
การเรียนรู้สิ่งที่ศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนสอนเกี่ยวกับพระพันธกิจและการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของพระเยซูคริสต์จะช่วยเสริมสร้างศรัทธาของเด็กในพระองค์
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดทรงรับบัพติศมา ทรงรักษาผู้อื่น ทรงถูกตรึงกางเขน และทรงเป็นสัตภาวะที่ฟื้นคืนชีวิต (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้หรือ หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 35, 41, 57, 59) ขอให้เด็กบอกท่านว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละภาพ อธิบายว่าหลายปีก่อนพระเยซูเสด็จมาแผ่นดินโลก พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนว่าพระเยซูจะทรงทำสิ่งเหล่านี้ อ่าน 1 นีไฟ 11:27; โมไซยาห์ 3:5; 15:7; และ ฮีลามัน 14:16–17 ช่วยเด็กจับคู่พระคัมภีร์เหล่านี้กับภาพที่สอดคล้องกัน
-
ขณะเด็กทำหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ให้พูดคุยเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ในภาพและสิ่งที่พวกท่านสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เล่าเรื่องอัศจรรย์บางอย่างที่พระเยซูทรงทำเพื่อเราให้เด็กฟัง
พระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์
สอนเด็กว่านอกจากคนที่เห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ในเยรูซาเล็มแล้ว คนหลายพันคนเห็นพระองค์เมื่อพระองค์ทรงปรากฏในอเมริกาด้วย
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอด ถามเด็กว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ หากจำเป็นให้ใช้ “บทที่ 53: พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขน” และ “บทที่ 54: พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์” เล่าเรื่องเหล่านี้ให้เด็กฟัง (เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 136–138, 139–144 หรือวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้องบน ChurchofJesusChrist.org)
-
ใช้ภาพจาก หนังสือภาพพระกิตติคุณ หรือ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับการเสด็จเยือนอเมริกาของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ ดังบรรยายไว้ใน 3 นีไฟ 11:1–17 เล่าเรื่องซ้ำหลายๆ รอบ โดยให้เด็กช่วยเล่า เน้นรายละเอียดที่ท่านรู้สึกว่าจะมีความหมายต่อเด็ก เน้นเป็นพิเศษว่าถึงแม้พระเยซูสิ้นพระชนม์บนกางเขน แต่ผู้คนจะได้เห็นว่าเวลานี้พระองค์ฟื้นคืนพระชนม์แล้ว ให้เด็กผลัดกันเล่าเรื่องนี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง
-
ร้องเพลง “Easter Hosanna” หรือข้อสุดท้ายของ “เรื่องในพระคัมภีร์มอรมอน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 68–69 (ภาษาอังกฤษ), 62–63) เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพบางสิ่งที่เพลงพูดถึง จากนั้นขอให้เด็กอธิบายภาพวาดของตนเองและบอกว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าได้อยู่ที่นั่นเมื่อพระเยซูเสด็จเยือนชาวนีไฟ
พระเยซูคริสต์ทรงรู้วิธีปลอบโยนฉัน
เพราะพระเยซูคริสต์ทรงทนรับ “ความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์” (แอลมา 7:11) พระองค์จึงทรงทราบว่าเรารู้สึกอย่างไรแม้ไม่มีใครทราบ
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่านสองสามบรรทัดแรกของ โมไซยาห์ 3:7 ให้เด็กฟังและเชื้อเชิญให้พวกเขาแสร้างทำเป็นว่าพวกเขากำลังรู้สึกถึง “ความเจ็บปวด … , ความหิวโหย, ความกระหาย, และความเหน็ดเหนื่อย [ความอ่อนล้า]” ขอให้เด็กเล่าเวลาที่พวกเขารู้สึกแบบนี้ จากนั้นให้บอกเด็กว่าข้อนี้อธิบายบางอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงรู้สึกเมื่อทรงทนทุกข์ในสวนเกทเสมนี เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทรงทราบว่าจะช่วยเราอย่างไรเมื่อเรารู้สึกเช่นนั้น
-
อ่านออกเสียง แอลมา 7:11 และถามเด็กว่าพวกเขารู้จักคนป่วยหรือคนที่เจ็บปวดหรือไม่ เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงรู้สึกถึง “ความเจ็บปวดและความป่วยไข้” ทั้งหมดของเราทั้งนี้เพื่อพระองค์จะเข้าพระทัยวิธีปลอบโยนเรา (แอลมา 7:12)
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
2 นีไฟ 9:10–15; แอลมา 11:41–45; 40:21–23
เพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ ฉันจะฟื้นคืนชีวิตด้วย
พระคัมภีร์มอรมอนอธิบายชัดเจนว่าการฟื้นคืนชีวิตหมายถึงอะไรและใครจะฟื้นคืนชีวิต ท่านจะช่วยให้เด็กค้นพบความจริงเหล่านี้ได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กบอกท่านว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ เขียนคำถามบนกระดานว่า ฟื้นคืนชีวิตหมายถึงอะไร และ ใครจะฟื้นคืนชีวิต ช่วยเด็กหาคำตอบใน 2 นีไฟ 9:10–15; แอลมา 11:41–45; และ แอลมา 40:21–23 แบ่งปันสิ่งที่พบกับชั้นเรียน
-
บอกเด็กว่าคนที่ท่านรู้จักสิ้นชีวิตแล้ว ขอให้พวกเขาแสร้งทำเป็นว่าท่านไม่รู้เรื่องการฟื้นคืนชีวิต พวกเขาจะช่วยให้ท่านเข้าใจเรื่องการฟื้นคืนชีวิตอย่างไร กระตุ้นให้พวกเขาใช้ 2 นีไฟ 9:10–15; แอลมา 11:41–45; หรือ แอลมา 40:21–23 สอนท่านเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต เชื้อเชิญให้พวกเขาแสดงประจักษ์พยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระผู้ช่วยให้รอดด้วยอันเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบของพวกเขา
อีนัส 1:2–8; โมไซยาห์ 27:8–24; แอลมา 13:11–12; 24:7–19
การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ชำระฉันให้สะอาดและเปลี่ยนแปลงฉัน
พระคัมภีร์มอรมอนให้ตัวอย่างมากมายของคนที่ถูกเปลี่ยนเพราะการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด พิจารณาว่าประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กกลับใจและหันไปหาพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูเสื้อสีขาวสะอาดกับเสื้อสีขาวที่มีรอยเปื้อน อ่าน แอลมา 13:11–12 ด้วยกัน ผู้คนได้รับการชำระให้สะอาดจากบาปอย่างไร ทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับบาป พูดคุยว่าท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านกลับใจและได้รับการให้อภัย แสดงประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดในการชำระเราให้สะอาดจากบาป
-
ให้เด็กเลือกเรียนรู้เกี่ยวกับคนใดคนหนึ่งต่อไปนี้: อีนัส (ดู อีนัส 1:2–8) แอลมาผู้บุตร (ดู โมไซยาห์ 27:8–24) หรือชาวแอนไท-นีไฟ-ลีไฮ (ดู แอลมา 24:7–19) ขณะที่ท่านอ่านเรื่องเหล่านี้ด้วยกัน ให้เด็กสังเกตว่าบุคคลนี้หรือคนกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงอย่างไรเพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราจะทำตามแบบอย่างของคนเหล่านี้ได้อย่างไร
โมไซยาห์ 3:7; 15:5; แอลมา 7:11
พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาป ความเจ็บปวด และความป่วยไข้ของฉันไว้กับพระองค์
นอกจากจะทรงทนทุกข์เพราะบาปของเราแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนรับความเจ็บปวด ความป่วยไข้ และความทุพพลภาพอื่นๆ ของเราเช่นกันเพื่อพระองค์จะทรงรู้วิธีปลอบโยนเรา
กิจกรรมที่ทำได้
-
มอบหมายให้เด็กค้นคว้าข้อต่อไปนี้คนละข้อเพื่อหาสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์: โมไซยาห์ 3:7; โมไซยาห์ 15:5; หรือ แอลมา 7:11 ให้เด็กเขียนสิ่งที่พวกเขาพบไว้บนกระดานและนึกถึงเวลาที่พวกเขารู้สึกแบบนี้ ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 7:12 เหตุใดพระเยซูทรงทนทุกข์ทั้งหมดนี้ เหตุใดการรู้ว่าพระองค์ทรงทนทุกข์สิ่งเหล่านี้เพื่อเราจึงสำคัญ
-
ร้องเพลงสวดเพลงหนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 59) เชื้อเชิญให้เด็กค้นคว้าเพลงสวดเพื่อหาวลีที่บอกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงปลอบโยนเราอย่างไร และพูดคุยกันว่าเหตุใดวลีเหล่านี้จึงมีความหมายต่อพวกเขา บอกความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ และเชื้อเชิญให้เด็กบอกความรู้สึกของพวกเขา
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กมองหาคนที่ต้องการการปลอบโยนในสัปดาห์นี้ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันกับบุคคลนี้ว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงรับเอาความเจ็บปวดของเราไว้กับพระองค์เพื่อพระองค์จะทรงปลอบโยนเราได้