“13–19 กรกฎาคม แอลมา 32–35: ‘เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)
“13–19 กรกฎาคม แอลมา 32–35” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020
13–19 กรกฎาคม
แอลมา 32–35
“เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน”
นึกถึงเด็กที่ท่านสอนขณะท่านศึกษา แอลมา 32–35 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ขณะทำเช่นนั้น ท่านจะคิดออกและรู้สึกได้ว่าจะสอนพวกเขาอย่างไร บันทึกและทำตามความประทับใจเหล่านี้
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ใส่ชื่อเด็กแต่ละคนไว้ในภาชนะ ขอให้บางคนเลือกมาหนึ่งชื่อและให้เด็กคนนั้นแบ่งปันบางอย่างที่เขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์มอรมอนเมื่อเร็วๆ นี้ ทำต่อไปจนกว่าทุกคนมีโอกาสแบ่งปัน แต่อย่ากดดันให้ใครแบ่งปัน
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันสามารถช่วยให้ศรัทธาของฉันในพระเยซูคริสต์เติบโต
เมล็ดพืช ต้นไม้ และผลไม้เป็นสิ่งที่เด็กคุ้นเคยและจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมที่เป็นนามธรรมอย่างเช่นศรัทธาและประจักษ์พยาน ไตร่ตรองว่าท่านจะใช้การเปรียบเทียบของแอลมาสอนเด็กได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
สรุป แอลมา 32:28–43 ท่านอาจจะใช้ “บทที่ 29: แอลมาสอนเรื่องศรัทธาและพระคำของพระผู้เป็นเจ้า” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 81 หรือวีดิทัศน์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org) ให้ดูภาพต้นไม้ที่เติบโตในแต่ละช่วงและขอให้เด็กช่วยท่านเรียงลำดับให้ถูกต้อง (ดูภาพในหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) อธิบายว่าเมื่อเราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ประจักษ์พยานของเราเติบโต—เริ่มต้นเล็กๆ เหมือนเมล็ดพืชแต่จะใหญ่ขึ้นเหมือนต้นไม้
-
ให้เด็กดูเมล็ดพืชและอ่านสองสามบรรทัดแรกของ แอลมา 32:28 ให้พวกเขาฟัง บอกเด็กว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนเมล็ดพืช ถามว่าเราช่วยให้เมล็ดพืชเติบโตอย่างไร ให้เด็กทำท่าเพาะเมล็ด รดน้ำ และช่วยให้เติบโต ชี้ให้เห็นว่าเราจะไม่เห็นเมล็ดพืชหลังจากเราเพาะแล้ว แต่เรารู้ว่าเมล็ดพืชอยู่ที่นั่นและกำลังเติบโต เราไม่สามารถเห็นพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เช่นกัน แต่เรารู้ว่าทั้งสองพระองค์ดำรงอยู่จริงและทรงรักเรา ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อช่วยให้ศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์เติบโต
-
วาดภาพต้นไม้ต้นหนึ่งไว้บนกระดานและให้เด็กเติมใบหรือผลทุกครั้งที่พวกเขานึกถึงบางอย่างที่จะทำได้เพื่อช่วยให้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์เติบโต ให้พวกเขาทำท่าง่ายๆ แทนสิ่งที่พวกเขานึกถึง
พระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินฉันเมื่อฉันสวดอ้อนวอน
ชาวโซรัมสวดอ้อนวอนสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น โดยใช้คำพูดเดิมทุกครั้ง (ดู แอลมา 31:22–23) แอลมากับอมิวเล็กสอนว่าเราสวดอ้อนวอนได้ทุกเวลาเกี่ยวกับความต้องการทางวิญญาณหรือทางกายของเราทุกเรื่อง
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่านวลีที่ท่านเลือกไว้จาก แอลมา 33:4–11 ข้อเหล่านี้พูดถึงสถานที่ซึ่งเราสามารถสวดอ้อนวอน และช่วยให้เด็กนึกถึงสถานที่ซึ่งพวกเขาสามารถสวดอ้อนวอน จากนั้นให้พวกเขาวาดภาพตนเองกำลังสวดอ้อนวอนในสถานที่เหล่านั้น เป็นพยานว่าพวกเขาสามารถสวดอ้อนวอนได้ทุกที่ แม้จะสวดอ้อนวอนในใจ
-
เลือกวลีจาก แอลมา 34:17–27 ซึ่งพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เราสามารถสวดอ้อนวอนและอ่านให้เด็กฟัง ช่วยให้พวกเขานึกถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถทูลพระบิดาบนสวรรค์เมื่อพวกเขาสวดอ้อนวอน และเชื้อเชิญให้พวกเขาวาดภาพสิ่งเหล่านี้ เป็นพยานว่าพวกเขาสามารถพูดคุยกับพระบิดาบนสวรรค์ได้ทุกเรื่องที่พวกเขาคิดหรือรู้สึก แบ่งปันประสบการณ์ซึ่งพระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของท่าน
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งที่สอนเด็กเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน เช่น “การสวดอ้อนวอนของเด็กๆ” หรือ “เราน้อมศีรษะ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 6–7, 18b) ช่วยให้พวกเขาสังเกตว่าเพลงนั้นสอนอะไรเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
ถ้าฉันนอบน้อมถ่อมตน พระเจ้าทรงสอนฉันได้
แอลมากับอมิวเล็คประสบความสำเร็จในการสอนชาวโซรัมผู้นอบน้อมถ่อมตนและพร้อมจะฟังพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า คิดหาวิธีที่ท่านสามารถกระตุ้นให้เด็กเลือกนอบน้อมถ่อมตน
กิจกรรมที่ทำได้
-
ถามเด็กว่าพวกเขาจำอะไรที่เรียนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้บ้างเกี่ยวกับชาวโซรัม (ดู แอลมา 31:8–24) เตือนพวกเขาว่าเหตุผลหนึ่งที่แอลมากังวลเกี่ยวกับคนนั้นคือความจองหองของพวกเขา (ดู แอลมา 31:24–28) อ่าน แอลมา 32:1–5 ด้วยกัน และขอให้เด็กสรุปว่าเกิดอะไรขึ้นกับชาวโซรัมที่ยากจน จากนั้นให้เชิญเด็กอ่าน ข้อ 12–13 เพื่อหาให้พบว่าเหตุใดแอลมาจึงรู้สึกว่าการถูกขับไล่ออกจากธรรมศาลา (หรือโบสถ์) เป็นเรื่องดีสำหรับชาวโซรัมเหล่านี้ พรที่มาจากการเป็นคนนอบน้อมถ่อมตนมีอะไรบ้าง
-
ช่วยเด็กหานิยามของ นอบน้อมถ่อมตน หรือ ความนอบน้อมถ่อมตน ใน คู่มือพระคัมภีร์ หรือพจนานุกรม พวกเขาพบคำไขอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับความหมายของคำเหล่านี้ใน แอลมา 32:13–16 เชื้อเชิญให้พวกเขาคิดวิธีเติมประโยคอย่างเช่น “ฉันกำลังนอบน้อมถ่อมตนเมื่อฉัน ” ให้สมบูรณ์
ประจักษ์พยานของฉันในพระเยซูคริสต์เติบโตเมื่อฉันบำรุงเลี้ยง
ช่วยให้เด็กที่ท่านสอนค้นหาสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อ “เพาะ” พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าไว้ในใจพวกเขา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูของแข็ง (เช่นก้อนหิน) เพื่อแทนใจที่แข็งกระด้างหรือจองหองและของนุ่ม (เช่นดิน) เพื่อแทนใจที่อ่อนโยนหรือนอบน้อมถ่อมตน ให้เด็กสัมผัสของทั้งสองอย่าง จากนั้นให้เด็กดูเมล็ดพืชที่แทนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญให้พวกเขาลองดันเมล็ดพืชลงในของแข็งและของนุ่ม อ่าน แอลมา 32:27–28 ด้วยกันและคุยกันว่า “ให้ที่” (ข้อ 27) สำหรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจเราจะหมายความว่าอย่างไร
-
ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 32:26–43 ด้วยกัน ให้หยุดเป็นช่วงๆ และเชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพเมล็ดพืชหรือต้นพืชที่บรรยายไว้—ตัวอย่างเช่น เมล็ดพืชและต้นอ่อน (ข้อ 28) ต้นที่กำลังโต (ข้อ 30) และต้นที่โตเต็มที่และกำลังออกผล (ข้อ 37) กระตุ้นให้พวกเขาเขียนข้อความอ้างอิงจาก แอลมา 32 ไว้ที่ภาพของพวกเขา การบำรุงเลี้ยงเมล็ดพืชเหมือนการบำรุงเลี้ยงประจักษ์พยานของเราในพระเยซูคริสต์อย่างไร เราบำรุงเลี้ยงประจักษ์พยานของเราอย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กคิดในใจว่าประจักษ์พยานของพวกเขากำลังเติบโตอย่างไรและพวกเขาจะทำอะไรเพื่อบำรุงเลี้ยง
พระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินเมื่อฉันสวดอ้อนวอน
ชาวโซรัมมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน เรายังคงเห็นความเข้าใจผิดบางอย่างในทุกวันนี้ แอลมากับอมิวเล็คสอนความจริงอันทรงพลังเพื่อลบล้างความเข้าใจผิดเหล่านี้
กิจกรรมที่ทำได้
-
ช่วยให้เด็กค้นคว้า แอลมา 33:2–11 เพื่อหาคำและวลีสำคัญๆ ที่กล่าวซ้ำเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน คำและวลีเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน
-
ช่วยเด็กเขียนสถานการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาสามารถสวดอ้อนวอนได้ รวมถึงสถานการณ์ที่กล่าวไว้ใน แอลมา 33:4–10 และ 34:17–27 ตลอดจนสถานการณ์ในชีวิตพวกเขา เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงหรือแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาสวดอ้อนวอนและรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขา
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แจกเมล็ดพืชให้เด็กแต่ละคนนำกลับบ้านไปเพาะเพื่อเตือนพวกเขาว่าต้องช่วยให้ประจักษ์พยานของตนในพระเยซูคริสต์เติบโต กระตุ้นให้พวกเขาบอกครอบครัวว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการใช้ศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์