จงตามเรามา
6–12 กรกฎาคม แอลมา 30–31: “อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า”


“6–12 กรกฎาคม แอลมา 30–31: ‘อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พระคัมภีร์มอรมอน 2020 (2020)

“6–12 กรกฎาคม แอลมา 30–31” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2020

ภาพ
แอลมาสอนคอริฮอร์

ทุกสิ่งชี้ให้เห็นว่ามีพระผู้เป็นเจ้า (แอลมากับคอริฮอร์) โดย วอลเตอร์ เรน

6–12 กรกฎาคม

แอลมา 30–31

“อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า”

ศึกษา แอลมา 30–31 พร้อมกับนึกถึงเด็กที่ท่านสอน ขณะที่ท่านไตร่ตรองความเข้มแข็งและความต้องการของพวกเขา พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยให้ท่านรู้วิธีสอนพวกเขา

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันคำตอบของคำถามดังต่อไปนี้: เราควรสวดอ้อนวอนเมื่อใด เรากล่าวอะไรเมื่อเราสวดอ้อนวอน มีใครแบ่งปันได้หรือไม่ว่าชาวโซรัมสวดอ้อนวอนอย่างไรหรือแอลมาสวดอ้อนวอนอย่างไร

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

แอลมา 30:44

ทุกสิ่งล้วนเป็นพยานถึงพระผู้เป็นเจ้า

แอลมาชี้ให้เห็นสิ่งต่างๆ ในท้องฟ้าและบนแผ่นดินโลกเพื่อเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์และทรงกำกับดูแลจักรวาล ท่านจะช่วยให้เด็กเห็นสิ่งใดรอบตัวพวกเขาได้บ้างที่เป็นพยานถึงพระผู้เป็นเจ้า

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน แอลมา 30:44 ให้เด็กฟังและขอให้พวกเขาฟังสิ่งที่แอลมากล่าวว่าจะช่วยให้เรารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่จริง ให้ดูภาพของสิ่งเหล่านี้ และขอให้เด็กชี้ภาพเมื่อท่านอ่านเกี่ยวกับภาพนั้นในข้อพระคัมภีร์ เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า

  • หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้ไปเดินเล่นกับเด็กหรือขอให้พวกเขายืนตรงหน้าต่างขณะท่านอ่าน แอลมา 30:44 ขอให้พวกเขาอธิบายสิ่งที่เห็นซึ่งช่วยให้พวกเขารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่จริง หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้จะช่วยได้เช่นกัน

  • ขอให้เด็กนั่งเป็นวงกลมและร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับงานสร้างของพระผู้เป็นเจ้า เช่น “พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 16–17) ขณะที่เด็กร้องเพลง ให้พวกเขาส่งของอย่างเช่นลูกบอลเวียนไปรอบๆ เมื่อเพลงหยุด ขอให้เด็กที่ถือของชิ้นนั้นบอกหนึ่งอย่างที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงสร้างและเขารู้สึกขอบพระทัย

แอลมา 31:5

พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีพลัง

เมื่อเด็กนึกถึงพลัง พวกเขาอาจนึกถึงซุปเปอร์ฮีโร่ ราชินี หรือกษัตริย์ ท่านสามารถช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีพลังมากกว่า “สิ่งใด” (แอลมา 31:5)

กิจกรรมที่ทำได้

  • วาดภาพดาบไว้บนกระดาน อ่าน แอลมา 31:5 ให้เด็กฟังว่าแอลมาพูดว่าอะไรมีพลังยิ่งกว่าดาบ แบ่งปันประสบการณ์หนึ่งเมื่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีอิทธิพลอันทรงพลังต่อท่าน

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เช่น “พลังพระคัมภีร์” (music.ChurchofJesusChrist.org) และขอให้เด็กฟังว่าพระคัมภีร์ช่วยเราอย่างไร พูดทวนประโยค “พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีพลังยิ่งกว่า …” ซ้ำหลายๆ ครั้ง และขอให้เด็กช่วยท่านเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์

แอลมา 31:8–35

พระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของฉัน

แอลมารู้สึกเศร้าเมื่อเห็นวิธีที่ชาวโซรัมสวดอ้อนวอน (ดู แอลมา 31:24)—พวกเขาไม่เชื่อในพระเยซูคริสต์และกล่าวคำสวดอ้อนวอนอย่างเดียวกันในที่ซึ่งทุกคนจะเห็นพวกเขาได้ (แอลมา 31:13–14) แต่การสวดอ้อนวอนของแอลมานอบน้อมและแสดงศรัทธาในพระคริสต์

กิจกรรมที่ทำได้

  • สรุปย่อเรื่องราวของแอลมากับชาวโซรัมให้เด็กฟังโดยใช้ข้อพระคัมภีร์จาก แอลมา 31:8–35 ท่านจะใช้ “บทที่ 28: ชาวโซรัมกับแรมีอัมทัม” ได้เช่นกัน (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 78–80 หรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ ChurchofJesusChrist.org) ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการสวดอ้อนวอนของชาวโซรัมกับการสวดอ้อนวอนของแอลมา เชื้อเชิญให้เด็กสมมติว่าพวกเขาพบเด็กชาวโซรัมคนหนึ่ง พวกเขาจะพูดอะไรเพื่อสอนเด็กคนนั้นให้รู้วิธีสวดอ้อนวอน

  • ช่วยเด็กระบุสิ่งที่ชาวโซรัมกล่าวในการสวดอ้อนวอน (ดู แอลมา 31:15–18) ขณะพวกเขาช่วยท่านสร้างหอสูงแรมีอัมทัมด้วยไม้บล็อกหรือก้อนหิน อธิบายว่าเราไม่ควรสวดอ้อนวอนแบบนี้ ถามเด็กว่าเราควรสวดอ้อนวอนอย่างไรและให้พวกเขาหยิบไม้บล็อกหรือก้อนหินออกหนึ่งก้อนเมื่อพวกเขาบอกหนึ่งอย่าง

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

แอลมา 30

พระคัมภีร์มอรมอนเตือนให้ฉันระวังคำสอนเท็จ

คำสอนเท็จของคอริฮอร์บรรยายไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนเพื่อช่วยให้เรามองออกและปฏิเสธคำสอนคล้ายกันในสมัยของเรา

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูของบางอย่าง (เช่นเงินหรืออาหาร) และของเล่นเลียนแบบสิ่งเหล่านี้ เด็กชอบแบบไหนมากกว่า ช่วยเด็กค้นคว้า แอลมา 30:12–18 เพื่อหาคำโกหกหรือคำสอนเท็จที่คอริฮอร์สอนเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า

  • ช่วยเด็กระบุคำโกหกที่คอริฮอร์สอนและเขียนบนแถบกระดาษติดไว้บนกระดาน (ดู แอลมา 30:12–18, 24) ขอให้เด็กค้นคว้า แอลมา 30:32–35 เพื่อหาวิธีที่แอลมาตอบสนองคำโกหกของคอริฮอร์ ถามเด็กว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่แอลมาสอนเป็นความจริง

    ภาพ
    คอริฮอร์พูดคุยกับแอลมา

    คอริฮอร์เผชิญหน้าแอลมา โดย โรเบิร์ต ที. แบร์เรตต์

แอลมา 31:5

พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีพลังยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

ท่านเคยรู้สึกถึงอานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด พิจารณาว่าประสบการณ์ของท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กที่ท่านสอนได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงบางสิ่งหรือบางคนที่มีพลัง หรือให้ดูภาพสิ่งที่มีพลัง อะไรทำให้สิ่งเหล่านี้มีพลัง อ่าน แอลมา 31:5 ด้วยกันและถามเด็กว่าพวกเขาคิดว่าข้อนี้หมายความว่าอย่างไร พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามีพลังยิ่งกว่าดาบอย่างไร พระวจนะมีพลังทำอะไร

  • ติดต่อเด็กหลายๆ คนล่วงหน้าและขอให้พวกเขานึกถึงประสบการณ์ที่จะแบ่งปันในชั้นเรียนเมื่อพระคัมภีร์หรือคำพูดจากผู้นำศาสนจักรช่วยให้พวกเขาทำสิ่งดีบางอย่าง เหตุใดพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจึงทำให้พวกเขาต้องการทำสิ่งดี

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งกับเด็กเกี่ยวกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เช่น “ค้นหาไตร่ตรองและสวด” หรือ “ทำตามศาสดา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 66, 58–59) พวกเขาจะร้องเพลง “พลังพระคัมภีร์” ได้เช่นกัน (music.ChurchofJesusChrist.org)

แอลมา 31:8–35

ฉันสามารถนอบน้อมถ่อมตน

ในบรรดาความผิดพลาดทั้งหมดที่ชาวโซรัมทำ ดูเหมือนความจองหองของพวกเขาจะทำให้แอลมาเศร้าเป็นพิเศษ นี่จะเป็นโอกาสให้สอนเด็กเรื่องความสำคัญของความนอบน้อมถ่อมตน

กิจกรรมที่ทำได้

  • ช่วยให้เด็กเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ความจองหอง กับ ความนอบน้อมถ่อมตน (ดู “จองหอง” และ “นอบน้อม, (ความ), อ่อนน้อมถ่อมตน (ความ)” ในคู่มือพระคัมภีร์) ขอให้เด็กผลัดกันอ่าน แอลมา 31:24–28 หรืออ่าน “บทที่ 28: ชาวโซรัมกับแรมีอัมทัม” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 78-90) ขณะพวกเขาอ่าน ขอให้พวกเขาสังเกตว่าชาวโซรัมแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาจองหอง แอลมาแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขานอบน้อมถ่อมตน (ดู แอลมา 31:30–33)

  • แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มๆ และขอให้แต่ละกลุ่มคิดคำตอบให้คำถามเหล่านี้: ชาวโซรัมมีใจหมกมุ่นอยู่กับอะไร (ดู แอลมา 31:24, 28) ผู้คนมีใจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งของทางโลกอะไรบ้างในทุกวันนี้ เหตุใดผู้คนจึงอาจจะคิดว่าพวกเขาดีกว่าคนอื่น เมื่อแต่ละกลุ่มแบ่งปันคำตอบ ให้พวกเขาวาดส่วนหนึ่งของหอสูงแรมีอัมทัมไว้บนกระดาน จากนั้นขอให้พวกเขาลบหอสูงทีละส่วนเมื่อคิดวิธีแสดงความนอบน้อมถ่อมตนได้หนึ่งวิธี

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กสอนครอบครัวบางอย่างที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับอานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าวันนี้

ปรับปรุงการสอนของเรา

ช่วยให้เด็กเรียนรู้จากพระคัมภีร์ เด็กเล็กอาจจะอ่านได้ไม่มาก แต่ท่านยังคงให้พวกเขามีส่วนในการเรียนรู้จากพระคัมภีร์ได้ ตัวอย่างเช่น ท่านจะอ่านพระคัมภีร์หนึ่งข้อและให้พวกเขายืนขึ้นหรือยกมือเมื่อได้ยินคำหรือวลีใดที่กำหนด แล้วช่วยให้พวกเขาเข้าใจคำหรือวลีนั้น (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 20–21)

พิมพ์