“25 กันยายน–1 ตุลาคม กาลาเทีย: ‘ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2022)
“25 กันยายน–1 ตุลาคม กาลาเทีย,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023
25 กันยายน–1 ตุลาคม
กาลาเทีย
“ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ”
ขณะที่ท่านอ่าน กาลาเทีย ท่านมีความประทับใจว่าเด็กในชั้นเรียนของท่านจำเป็นต้องเรียนรู้อะไร?
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ให้เวลาเด็กสองสามนาทีในการวาดรูปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากการสนทนาพระกิตติคุณครั้งล่าสุดที่บ้านหรือที่โบสถ์ ให้เด็กแบ่งปันว่าภาพวาดแต่ละภาพหมายถึงอะไร
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้ฉันรู้สึกถึงความรัก ความยินดี และสันติสุข
เด็กเล็กสามารถรับรู้ผลของพระวิญญาณ สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาแสวงหาอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ตลอดชีวิต
กิจกรรมที่ทำได้
-
แสดงหรือให้ดูภาพผลไม้หลายชนิด และให้เด็กบรรยายว่าผลไม้แต่ละอย่างมีรสชาติอย่างไร อธิบายว่าเช่นเดียวกับที่ผลไม้มีหลายรส เราสามารถรู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ในหลากหลายวิธี เช่น ความรักและสันติสุข อธิบายถึงบางวิธีที่ท่านรู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตท่านและให้เด็กแบ่งปันว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์รู้สึกอย่างไรสำหรับพวกเขา
-
อ่าน กาลาเทีย 5:22–23 กับเด็กๆ และอธิบายคำที่พวกเขาอาจไม่คุ้นเคย เชื้อเชิญให้เด็กแต่ละคนเลือกผลของพระวิญญาณที่กล่าวถึงในข้อเหล่านี้และช่วยให้พวกเขานึกถึงเวลาที่เขาประสบกับผลนั้น เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปเรียบง่ายเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขา
พระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้ฉันช่วยเหลือคนขัดสน
คำแนะนำใน กาลาเทีย 6:2 คล้ายกับคำสอนของแอลมาใน โมไซยาห์ 18:8 ต่อผู้คนที่กำลังจะรับบัพติศมา ใช้โอกาสนี้ช่วยเด็กเตรียมรับพันธสัญญาแห่งบัพติศมา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพเด็กกำลังรับบัพติศมา (เช่น หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 104) ถามเด็กๆ ว่าเด็กคนนี้กำลังทำอะไร อธิบายว่าเมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญาหรือสัญญา อ่าน กาลาเทีย 6:2 หรือ โมไซยาห์ 18:8 เพื่อช่วยเด็กเรียนรู้สิ่งหนึ่งที่เราสัญญาจะทำ นั่นคือ รับภาระของกันและกัน เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปวิธีที่พวกเขาสามารถช่วยคนอื่นที่กำลังแบกภาระ
-
อ่านวลีนี้จาก กาลาเทีย 6:2 ให้เด็กฟัง “จงช่วยรับภาระของกันและกัน” เพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร ให้เด็กคนหนึ่งถือของหนักๆ บางอย่าง จากนั้นขออาสาสมัครมาช่วยเด็กคนนั้นถือของ อธิบายให้เด็กฟังว่ามีหลายสิ่งที่อาจรู้สึกเป็นภาระได้ เช่น ความเจ็บป่วยหรือรู้สึกเศร้าหรือเหงา เราทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยบุคคลที่มีปัญหาเช่นนี้?
การกระทำของเรา ทั้งดีและไม่ดีล้วนมีผลลัพธ์
โดยการสอนว่าเราเก็บเกี่ยวผลที่เราหว่านตามที่อธิบายไว้ใน กาลาเทีย 6:7–9 ท่านสามารถสอนเด็กให้พิจารณาถึงผลที่ตามมาของการกระทำของพวกเขา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูเมล็ดพืชและผักหนึ่งอย่าง อ่าน กาลาเทีย 6:7–9 ให้เด็กฟัง ขอให้เด็กทำเป็นปลูกเมล็ดพืชเมื่อพวกเขาได้ยินคำว่า หว่าน ขอให้พวกเขาทำเป็นเด็ดผักจากต้นเมื่อพวกเขาได้ยินคำว่า เก็บเกี่ยว
-
ให้เด็กดูผักหลายชนิด และช่วยพวกเขาหาเมล็ดที่อยู่ในผักแต่ละชนิด ใส่เมล็ดไว้ในกล่อง ให้เด็กผลัดกันเลือกคนละหนึ่งเมล็ดและบอกว่าผักอะไรจะงอกขึ้นมาหากพวกเขานำเมล็ดนั้นไปปลูก ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าเช่นเดียวกับเมล็ดที่เราปลูกเป็นตัวกำหนดว่าเราจะได้ผักอะไร การเลือกของเราก็กำหนดผลลัพธ์และพรที่เราจะได้รับในที่สุด
-
ติดเทปบนพื้นเป็นเส้นยาว วางหน้ามีความสุขและหน้าเศร้าไว้ตรงปลายเส้นที่อยู่ตรงข้ามกัน เชิญเด็กคนหนึ่งยืนอยู่กลางเส้น และช่วยให้เด็กคนอื่นๆ บอกการเลือกที่จะนำไปสู่ความสุขหรือความเศร้า สำหรับการเลือกแต่ละอย่าง ขอให้เด็กที่อยู่ตรงกลางเดินไปฝั่งที่มีความสุขหรือฝั่งที่เศร้า ทำกิจกรรมนี้ซ้ำหลายๆ ครั้ง และให้เด็กคนอื่นๆ ผลัดกันยืนบนเส้น
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
การรับบัพติศมาทำให้เรา “เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระคริสต์”
เปาโลเคยสอนวิสุทธิชนชาวกาลาเทียว่าเมื่อพวกเขารับบัพติศมา พวกเขาจะกลายเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกันในพระคริสต์” ท่านจะช่วยให้เด็กพยายามเป็นหนึ่งเดียวกันดังที่อธิบายไว้ใน กาลาเทีย 3:26–28 ได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชิญเด็กให้อ่าน กาลาเทีย 3:26–28 ด้วยคำถามนี้ในใจ: จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อฉันรับบัพติศมา? ท่านอาจต้องการมุ่งเน้นที่วลีเช่น “สวมชีวิตของพระคริสต์” หรือ “เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระคริสต์” วลีเหล่านี้อาจจะหมายถึงอะไร? “สวมชีวิตของพระคริสต์” เหมือนกับการรับพระนามของพระองค์มาไว้กับตัวเราอย่างไร? (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:75–79) เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเรารับพระนามของพระองค์ไว้กับตัวเรา?
-
อ่าน กาลาเทีย 3:28 ด้วยกันและระบุว่าผู้คนระบุตัวตนอย่างไรเมื่อได้รับบัพติศมาในสมัยของเปาโล ช่วยเด็กบอกได้ว่าพวกเขาระบุตัวตนอย่างไรในวันนี้ เปาโลพยายามสอนอะไรเราเกี่ยวกับว่าเราควรมองกันและกันอย่างไรเมื่อเรารับบัพติศมา?
ถ้าฉัน “ดำเนินชีวิตตามพระวิญญาณ” ฉันจะได้รับ “ผลของพระวิญญาณ”
เมื่อเรารับบัพติศมาและได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะรับผลของพระวิญญาณได้มากขึ้นในชีวิตเรา ท่านจะช่วยให้เด็กตระหนักถึงผลนี้ในชีวิตพวกเขาได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้กระดาษแก่เด็กแต่ละคน (ท่านอาจตัดกระดาษเป็นรูปทรงผลไม้) และขอให้เด็กหา “ผลของพระวิญญาณ” ที่อยู่ใน กาลาเทีย 5:22–23 เชื้อเชิญพวกเขาเขียนผลหนึ่งลงในกระดาษด้านหนึ่งและคำที่มีความหมายตรงกันข้ามในกระดาษอีกด้านหนึ่ง (ช่วยให้พวกเขาเข้าใจคำที่ไม่คุ้นเคย) เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันผลของพวกเขากับชั้นเรียน เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้พระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่กับเราเสมอ?
-
เชื้อเชิญให้เด็กอ่านเกี่ยวกับผลของพระวิญญาณใน กาลาเทีย 5:22–23 และเขียนหรือวาดรูปเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขารู้สึกถึงผลหนึ่ง ขอให้พวกเขาแบ่งปันเรื่องราวหรือภาพวาดกับอีกคนหนึ่งในชั้นเรียน เหตุใดผลจึงเป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้เราเข้าใจว่าพระวิญญาณทรงมีอิทธิพลต่อเราอย่างไร?
การกระทำของเราทั้งดีและไม่ดีล้วนมีผลลัพธ์
ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าบางครั้งผลของความประพฤติของเราเกิดขึ้นทันทีและบางครั้งเกิดขึ้น “ในเวลาอันสมควร” (ข้อ 9)
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน กาลาเทีย 6:7–9 ด้วยกัน ให้รายการการกระทำ (หรือเมล็ดพืชที่เรา “หว่าน”) และผลที่ตามมา (หรือผลไม้ที่เรา “เก็บเกี่ยว”) ขอให้เด็กจับคู่การกระทำกับผลที่ตามมา
-
เชื้อเชิญให้เด็กเขียนพรบางอย่างที่พวกเขาหวังจะได้รับจากพระบิดาบนสวรรค์ ช่วยให้พวกเขานึกถึง “เมล็ด” ที่ต้องหว่านเพื่อจะ “เก็บเกี่ยว” พรเหล่านี้
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ช่วยให้เด็กมองหาวิธีที่ความจริงที่เรียนรู้ในวันนี้ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาเฝ้าดูผลลัพธ์ที่ดีที่ตามมาหรือ “ผล” ที่ตามมาเนื่องจากการตัดสินใจที่ดีของพวกเขา