พันธสัญญาใหม่ 2023
23–29 ตุลาคม 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน: “​จง​เป็น​แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ”


“23–29 ตุลาคม 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน: ‘​จง​เป็น​แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ,’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาใหม่ 2023 (2021)

“23–29 ตุลาคม 1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน,” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2023

ภาพ
สตรีสามคนเดินอยู่นอกพระวิหาร

23–29 ตุลาคม

1 และ 2 ทิโมธี; ทิตัส; ฟีเลโมน

“จงเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”

เปาโลสอนว่า “พระคัมภีร์ … อบรมในความชอบธรรม” (2 ทิโมธี 3:16) ขณะท่านศึกษาสาส์นเหล่านี้ ให้ไตร่ตรองว่าสาส์นเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมได้อย่างไร

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ขอให้เด็กพูดถึงใครบางคนที่เขาคิดว่าเป็น “แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ” พวกเขาทำอะไรบ้างเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น?

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

1 ทิโมธี 3:1–2; ทิตัส 1:7–9

อธิการนำวอร์ดในฐานะผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า

เปาโลสอนทิโมธีและทิตัสเกี่ยวกับความสำคัญของอธิการ ท่านจะสอนเด็กได้อย่างไรว่าอธิการทำอะไร? (ประธานสาขาเปรียบได้กับอธิการ)

กิจกรรมที่ทำได้

  • วาดภาพง่ายๆ ของอธิการบนกระดาน ขอให้เด็กบอกว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับอธิการ เขาเป็นคนอย่างไร? เขาทำอะไร? เขาเป็นพรแก่วอร์ดอย่างไร? (ท่านสามารถหาคุณลักษณะบางอย่างของอธิการได้ใน 1 ทิโมธี 3:1–2 และ ทิตัส 1:7–9) ขณะที่เด็กแบ่งปันแนวคิด ให้เขียนไว้ในแถบกระดาษและให้เด็กนำไปติดบนกระดานข้างภาพวาด

  • เขียนหน้าที่ของอธิการลงบนกระดาษ—เช่น การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวอร์ด รับส่วนสิบและเงินบริจาคอดอาหาร ให้การเรียก สัมภาษณ์สมาชิก และช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน ใส่แถบกระดาษลงในชาม และให้เด็กหยิบขึ้นมาคนละหนึ่งชิ้น จากนั้นช่วยเด็กแสดงบทบาทสมมุติหน้าที่เหล่านี้กับท่าน แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าอธิการได้รับเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปอธิการกำลังรับใช้สมาชิกวอร์ด แนะนำให้พวกเขามอบภาพวาดให้อธิการและขอบคุณเขา เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเขา?

ภาพ
ผู้สอนศาสนาสองคนกำลังพูดคุยกับชายคนหนึ่ง

“อย่าให้ใครหมิ่นประมาทความอ่อนวัยของท่าน แต่จงเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ” (1 ทิโมธี 4:12)

1 ทิโมธี 4:12

ฉันสามารถเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”

ท่านทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กทำตามแบบอย่างของท่านโดยการทำท่าทางต่างๆ ที่ท่านทำ ให้เด็กผลัดกันนำชั้นเรียนที่เหลือในการทำตามท่าทางของพวกเขา อ่าน 1 ทิโมธี 4:12 ถามเด็กว่าพวกเขาทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น

  • เล่าประสบการณ์เมื่อท่านพยายามเป็นแบบอย่างที่ดีต่อใครบางคนหรือเมื่อใครบางคนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อท่าน (บางทีท่านอาจรวมถึงเด็กในชั้นเรียนของท่าน) เชิญชวนให้เด็กเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขา

2 ทิโมธี 3:14–17

พระคัมภีร์จะช่วยฉันเรียนรู้ความจริง

หากท่านสามารถช่วยเด็กเรียนรู้ที่จะรักพระคัมภีร์ คำสอนในพระคัมภีร์จะเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาในอนาคตอีกหลายปี

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กดูพระคัมภีร์หนึ่งชุด ช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับพระคัมภีร์โดยให้พวกเขาดูหน้าแรกของพระคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า ให้เด็กคนหนึ่งถือพระคัมภีร์เหล่านี้ขณะที่ท่านอ่าน 2 ทิโมธี 3:15–17 บอกเด็กว่าเหตุใดท่านจึงรักพระคัมภีร์และให้เด็กแสดงความรู้สึกของพวกเขา

  • ขอให้เด็กพูดถึงสิ่งของล้ำค่าที่สุดที่พวกเขาเป็นเจ้าของ พวกเขาทำอะไรกับสิ่งของนั้น? พวกเขาดูแลสิ่งของนั้นอย่างไร? ให้พวกเขาผลัดกันถือพระคัมภีร์และค่อยๆ เปิดหน้าพระคัมภีร์ไปเรื่อยๆ เราใช้พระคัมภีร์สำหรับอะไร? เหตุใดเราจึงต้องดูแลพระคัมภีร์เป็นอย่างดี? เป็นพยานว่าพระคัมภีร์มีความจริงที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เรารู้

  • ช่วยเด็กทำท่าทางประกอบเพลงเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เช่น “ค้นหาไตร่ตรองและสวด” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 66)

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

1 ทิโมธี 4:12

ฉันสามารถเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ”

ทิโมธีถือว่ายังหนุ่มมากสำหรับการเป็นผู้นำศาสนจักร แต่เปาโลต้องการให้เขารู้ว่าเขายังสามารถเป็นแบบอย่างได้ ท่านสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนรอบข้าง

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน 1 ทิโมธี 4:12 ด้วยกันและขอให้เด็กหาวิธีทั้งหกวิธีที่เปาโลบอกว่าเราสามารถเป็น “แบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อ” ได้ แบ่งเด็กเป็นคู่ๆ และเชื้อเชิญให้แต่ละคู่นึกถึงสถานการณ์ซึ่งพวกเขาสามารถเป็นแบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อได้ ขอให้พวกเขาแสดงบทบาทสมมุติสถานการณ์ของพวกเขาต่อชั้นเรียนที่เหลือ

  • ถามเด็กว่าพวกเขาอยากจะแบ่งปันประสบการณ์หรือไม่เมื่อพวกเขาพยายามเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น บอกพวกเขาว่าพวกเขาเป็นแบบ‍อย่าง​แก่​บรร‌ดา​ผู้​เชื่อต่อท่านอย่างไรและท่านสังเกตเห็นพวกเขาเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่นอย่างไร

1 ทิโมธี 6:7–12

สิ่งที่เป็นนิรันดร์มีคุณค่ามากกว่าเงิน

โลกให้ความสำคัญมากกับเงินและสิ่งที่เงินซื้อได้ ท่านจะช่วยให้เด็กยังคงมุ่งเน้นและรักพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กพูดว่าพวกเขาจะซื้ออะไรหากพวกเขามีเงินทั้งหมดในโลกนี้ อ่าน 1 ทีโมธี 6:7–12 กับเด็กและขอให้พวกเขาสรุปสิ่งที่เปาโลสอนทิโมธีเกี่ยวกับเงิน จากนั้นเชื้อเชิญให้เด็กอ่าน ข้อ 11–12 ซ้ำอีกครั้ง มองหาสิ่งที่เปาโลกล่าวถึงซึ่งมีค่ามากกว่าเงิน

  • วางภาพสิ่งของทางโลก (เช่น เงิน ของเล่น หรือสิ่งบันเทิง) และสิ่งที่เป็นนิรันดร์ (เช่น ครอบครัวหรือพระวิหาร) ให้เด็กแยกภาพออกเป็นสองกอง—สิ่งที่ทำให้เราใกล้ชิดพระคริสต์มากขึ้นและสิ่งที่อาจทำให้เราเขวจากพระคริสต์หากเรารักสิ่งเหล่านั้นมากกว่าเรารักพระองค์ เพราะเหตุใด “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด”? การมุ่งเน้นที่พระเยซูคริสต์ทำให้เรามีความสุขอย่างไร?

2 ทิโมธี 3:14–17

พระบิดาบนสวรรค์ประทานพระคัมภีร์ให้เราเพื่อช่วยให้เรารู้ความจริงจากสิ่งที่ผิด

ขณะที่ท่านสอนเด็กเกี่ยวกับพระคัมภีร์ มองหาวิธีกระตุ้นให้พวกเขามีประสบการณ์ที่ทรงพลังของตนเองกับพระคำของพระผู้เป็นเจ้า

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน 2 ทิโมธี 3:15–17 ให้ดูภาพที่แสดงเรื่องราวจากงานมาตรฐานทั้งสี่เล่ม และเชิญให้เด็กหลายคนเลือกคนละหนึ่งภาพและบอกเล่าเรื่องราว (ท่านสามารถค้นหาภาพใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ และในสื่อการเรียนการสอน จงตามเรามา) ขอให้เด็กแบ่งปันสิ่งอื่นที่พวกเขารู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์เล่มนั้น พระคัมภีร์ “สามารถ​ให้​ปัญญา​แก่ [เรา] ​ใน​เรื่อง​ความ​รอด” ได้อย่างไร?

  • แบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่ชอบเป็นพิเศษหรือประสบการณ์ที่พระคัมภีร์ช่วยให้ท่านสร้างศรัทธาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันข้อที่โปรดปรานหรือประสบการณ์ของพวกเขา

  • เชิญเด็กคนหนึ่งอ่าน โมโรไน 10:4–5 โมโรไนสัญญาอะไรในข้อเหล่านี้? ถามเด็กว่าพวกเขามีประจักษ์พยานว่าพระคัมภีร์เป็นความจริงได้อย่างไร เชิญชวนให้พวกเขาอ่านหรือฟังพระคัมภีร์เป็นประจำและถามพระผู้เป็นเจ้าว่าพระคัมภีร์จริงหรือไม่

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันกับครอบครัวถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์และให้หาข้อพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่พวกเขาสามารถแบ่งปันกับชั้นเรียนในสัปดาห์ถัดไป (ด้วยความช่วยเหลือจากพ่อแม่ของพวกเขา หากจำเป็น)

ปรับปรุงการสอนของเรา

ปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อตอบรับความต้องการ แทนที่จะมองโครงร่างเหล่านี้ว่าเป็นคำแนะนำที่ท่านต้องทำตาม ให้ใช้เป็นแหล่งข้อมูลของแนวคิดที่จุดประกายแรงบันดาลใจของท่านเองขณะที่ท่านไตร่ตรองความต้องการของเด็กที่ท่านสอน ท่านสามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้เข้ากับเด็กที่ท่านสอนได้ทุกวัย

พิมพ์