“8–14 สิงหาคม สดุดี 1–2; 8; 19–33; 40; 46: ‘พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“8–14 สิงหาคม สดุดี 1–2; 8; 19–33; 40; 46” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
8–14 สิงหาคม
สดุดี 1–2; 8; 19–33; 40; 46
“พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ”
โครงร่างนี้แนะนำข้อความอันไพเราะบางส่วนในสดุดีที่จะเป็นพรแก่เด็ก แต่อย่ารู้สึกว่าต้องสอนแค่ส่วนเหล่านี้ จงทำตามการนำทางจากพระวิญญาณ
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ก่อนหน้าสองสามวัน ให้เชื้อเชิญเด็กสองสามคนนำภาพวาดมาชั้นเรียนที่แสดงถึงสิ่งที่พวกเขาและครอบครัวอ่านในสดุดีสัปดาห์นี้ เช่น คนเลี้ยงแกะ (ดู สดุดี 23:1) ถ้วย (ดู สดุดี 23:5) หรือหัวใจ (ดู สดุดี 24:4) เชื้อเชิญให้พวกเขาพูดคุยเกี่ยวกับภาพวาดและข้อพระคัมภีร์จากสดุดีที่กล่าวถึงภาพนั้น
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
“ท้องฟ้าประกาศพระสิริของพระเจ้า”
สดุดี 19 และ 33 สอนว่าเราสามารถพบหลักฐานแห่งพระสิริและพระคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าที่อยู่รอบตัวเราในงานสร้างที่สวยงามของพระองค์ ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะเห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในโลกรอบตัวพวกเขา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพสิ่งสวยงามที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง หรือมองออกไปนอกหน้าต่างด้วยกันเพื่อดูสิ่งเหล่านี้ ถามเด็กว่าพวกเขารักอะไรบ้างเกี่ยวกับงานสร้างของพระบิดาบนสวรรค์ อ่าน สดุดี 19:1 หรือ 33:5 และถามเด็กว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรต่อพระบิดาบนสวรรค์เมื่อพวกเขาเห็นงานสร้างของพระองค์
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับงานสร้างของพระผู้เป็นเจ้า เช่น “โลกสวย” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 123) เชื้อเชิญให้เด็กเลือกบางสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง (เช่น สิ่งที่กล่าวถึงในเพลง) และวาดรูปสิ่งนั้นเพื่อแบ่งปันกับครอบครัวพวกเขา
“พระยาห์เวห์ทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ”
หากเด็กสามารถเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อยว่าพระเจ้าทรงเป็นพระผู้เลี้ยงของพวกเขา พวกเขาจะมีแนวโน้มที่จะติดตามพระองค์ “ในทางชอบธรรม” มากขึ้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
แจกสำเนาหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ให้เด็กแต่ละคน หรือแจกภาพจากหน้ากิจกรรม เชื้อเชิญให้พวกเขาฟังขณะท่านอ่าน สดุดี 23 ขอให้พวกเขาชี้หรือชูภาพเมื่อได้ยินสิ่งที่กล่าวถึงในสดุดี แสดงประจักษ์พยานของท่านว่าพระเยซูทรงดูแลเราเช่นเดียวกับผู้เลี้ยงแกะดูแลแกะของเขา
-
บอกเด็กถึงวิธีบางอย่างที่ท่านรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักท่าน เชื้อเชิญให้เด็กยืนทีละคนและแบ่งปันวิธีที่พวกเขารู้ว่าพระเยซูทรงรักพวกเขา ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันที่ให้แนวคิดกับพวกเขา เช่น “ฉันรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วย” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 42–43)
พระเยซูคริสต์ทรงสามารถเปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นปีติได้
ไตร่ตรองว่าท่านจะช่วยให้เด็กได้รับพยานของตนเองถึงปีติที่พระเยซูคริสต์ประทานแก่เราเมื่อเราเศร้าได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กทำท่าร้องไห้ขณะท่านอ่านจาก สดุดี 30:5 “การร้องไห้อาจจะคงอยู่สักคืนหนึ่ง” จากนั้นขอให้พวกเขาทำท่าว่ามีความสุขขณะท่านอ่าน “แต่ความยินดีจะมาเวลาเช้า” ทวนซ้ำวลีนี้สองสามครั้ง และเป็นพยานต่อเด็กว่าเพราะพระเยซูคริสต์ ความเศร้าที่เรารู้สึกในชีวิตนี้สามารถแทนที่ด้วยปีติได้
-
ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอด และบอกเด็กเกี่ยวกับบางสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อท่านที่ทำให้ท่านมีความสุข ให้เด็กแต่ละคนผลัดกันถือภาพและแบ่งปันสิ่งที่พระเยซูทรงทำที่นำปีติมาสู่พวกเขา
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
พระเจ้าประทานสันติสุข ความเข้มแข็ง และการนำทางให้แก่ฉัน
หลายเรื่องในสดุดีเป็นพยานถึงพรของพระเจ้าในชีวิตเรา ท่านสามารถใช้สดุดีเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะวางใจพระองค์และหันไปหาพระองค์
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนบนกระดานว่า พระเจ้าคือ ให้เด็กเลือกข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งข้อเพื่ออ่าน: สดุดี 23:1; 27:1; 28:1; 28:7; 32:7; 46:1 ขอให้พวกเขาเติมประโยคบนกระดานให้สมบูรณ์โดยใช้สิ่งที่เรียนรู้จากพระคัมภีร์ ช่วยให้เด็กพูดคุยกันว่าสัญลักษณ์เหล่านี้สอนอะไรเราบ้างเกี่ยวกับพระเจ้า
-
ให้เด็กดูภาพลูกแกะ ขอให้พวกเขาบอกบางสิ่งที่ลูกแกะต้องการเพื่อให้ปลอดภัยและแข็งแรง และกระตุ้นให้พวกเขาดูแนวคิดใน สดุดี 23:1–4 จากนั้นให้ดูภาพเด็กคนหนึ่ง เราต้องการอะไรบ้างเพื่อให้เข้มแข็งและปลอดภัยทางวิญญาณ? อ่าน สดุดี 23 ด้วยกัน และถามเด็กว่าสิ่งที่ผู้เลี้ยงแกะทำในสดุดีนี้สามารถเปรียบเทียบกับสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อเราได้อย่างไร
เพื่อเข้าพระวิหาร เราต้องมี “มือสะอาดและใจบริสุทธิ์”
ขณะที่เด็กเฝ้ารอว่าสักวันหนึ่งจะเข้าพระวิหาร ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาสามารถเตรียมพร้อมได้โดยทำให้สะอาดทางวิญญาณผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพพระวิหาร เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน สดุดี 24:3 และค้นหาคำที่ทำให้พวกเขานึกถึงพระวิหาร จากนั้นอ่าน ข้อ 4 ด้วยกันเพื่อเรียนรู้ว่าใครที่สามารถเข้าพระวิหารได้ (นิยามคำที่ไม่คุ้นเคย) มือเราสกปรกอย่างไร? มือและใจเราสกปรกทางวิญญาณอย่างไร? เราทำความสะอาดมืออย่างไร? พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเราทำความสะอาดมือและใจเราทางวิญญาณอย่างไร? (หากเป็นประโยชน์ ให้อธิบายว่า “มือ” ในข้อนี้หมายถึงการกระทำของเราและ “ใจ” หมายถึงความปรารถนาของเรา)
-
ทบทวนข้อกำหนดเพื่อรับใบรับรองพระวิหาร (ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “คำปราศรัยปิดการประชุม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 120–122; หรือเชิญสมาชิกฝ่ายอธิการมาพูดคุยถึงข้อกำหนดเหล่านี้กับชั้นเรียน) เชื้อเชิญให้เด็กเลือกสิ่งหนึ่งที่พวกเขารู้สึกว่าได้รับการดลใจให้ทำเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมมีค่าควรเข้าพระวิหาร
“จงนิ่งเสียและรู้เถิดว่าเราคือพระเจ้า”
การใช้เวลาเพื่อแสดงความคารวะและนิ่งสงบ แม้จะมีงานรัดตัวนั้นสามารถช่วยเราเสริมสร้างประจักษ์พยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์
กิจกรรมที่ทำได้
-
ช่วยให้เด็กท่องจำบรรทัดแรกจาก สดุดี 46:10: “จงนิ่งเสียและรู้เถิดว่าเราคือพระเจ้า” พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับความหมายของการ “นิ่ง” ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แบ่งปันกับเด็กถึงประสบการณ์ที่การ “นิ่ง” ได้เสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านในพระบิดาบนสวรรค์ ขอให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมี เหตุใดการนิ่งจึงเป็นวิธีสำคัญที่จะรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์?
-
เชื้อเชิญให้เด็กทบทวนกับท่านว่าพวกเขาทำอะไรบ้างในวันปกติ ช่วยให้พวกเขานึกถึงช่วงเวลาระหว่างวันที่พวกเขาอาจพยายาม “นิ่ง” และรู้สึกใกล้ชิดกับพระบิดาบนสวรรค์ได้ กระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายที่จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในสัปดาห์ที่จะถึงเพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์
-
เชื้อเชิญให้เด็กเขียนบางสิ่งที่เราทำได้เพื่อรู้ด้วยตนเองว่ามีพระบิดาบนสวรรค์อยู่จริงและพระองค์ทรงรักเรา เชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกบางสิ่งจากที่เขียนไว้ที่พวกเขาต้องการทำ
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กเลือกข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาชอบจากสดุดีที่พวกเขาพูดถึงในวันนี้ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ดังกล่าวกับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อน