พันธสัญญาเดิม 2022
15–21 สิงหาคม สดุดี 49–51; 61–66; 69–72; 77–78; 85–86: “ข้าพ‌เจ้า​จะ​บอก​ว่า​พระ‍องค์​ได้​ทรง​ทำ​อะไร​เพื่อ​ข้าพ‌เจ้า​บ้าง”


“15–21 สิงหาคม สดุดี 49–51; 61–66; 69–72; 77–78; 85–86: ‘ข้าพ‌เจ้า​จะ​บอก​ว่า​พระ‍องค์​ได้​ทรง​ทำ​อะไร​เพื่อ​ข้าพ‌เจ้า​บ้าง’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“15–21 สิงหาคม สดุดี 49–51; 61–66; 69–72; 77–78; 85–86” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022

ภาพ
พระเยซูทรงถือตะเกียง

ช่วย​ผู้​ที่​หลง‍หาย​ไป​นั้น​ให้​รอด โดย ไมเคิล ที. มาล์ม

15–21 สิงหาคม

สดุดี 49–51; 61–66; 69–72; 77–78; 85–86

“ข้าพ‌เจ้า​จะ​บอก​ว่า​พระ‍องค์​ได้​ทรง​ทำ​อะไร​เพื่อ​ข้าพ‌เจ้า​บ้าง”

แบบอย่างของท่านในฐานะผู้เรียนพระกิตติคุณสามารถมีอิทธิพลที่ทรงพลังต่อเด็ก แบ่งปันกับพวกเขาถึงประสบการณ์ทางวิญญาณของท่านที่เกี่ยวกับการเรียนรู้พระกิตติคุณ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

แบ่งปันหนึ่งข้อจากสดุดี เพลงสวด หรือเพลงสำหรับเด็กที่ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอด เปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนทำเช่นเดียวกัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

สดุดี 51:10

เมื่อฉันเลือกผิด พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้ฉันเปลี่ยนแปลงได้

ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมรรตัยและเราสามารถได้รับความช่วยเหลือจากพระเยซูคริสต์เพื่อเอาชนะความผิดพลาดเหล่านั้น

กิจกรรมที่ทำได้

  • แบ่งปันเรื่องราวที่เรียบง่ายจากชีวิตท่านหรือจาก เพื่อนเด็ก หรือ เลียโฮนา เกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่เลือกผิดแต่ได้รับความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเป็นคนที่ดีขึ้น (ตัวอย่างเช่น ดูวีดิทัศน์ “The Shiny Bicycle” ที่ ChurchofJesusChrist.org) อ่าน สดุดี 51:10 และแบ่งปันปีติที่ท่านรู้สึกเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้ท่านมี “ใจสะอาด” และ “จิตใจหนักแน่น”

  • ให้เด็กดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ชี้ไปที่แต่ละรูป และขอให้เด็กบรรยายสิ่งที่เห็น อ่านคำบรรยายที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการกลับใจและการให้อภัย

สดุดี 71:8

ฉันสามารถบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ถ้อยคำที่เปี่ยมด้วยศรัทธาของเด็กคนหนึ่งมีพลังพิเศษในการสัมผัสใจ ช่วยให้เด็กมั่นใจว่าประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์สามารถช่วยผู้อื่นได้

ภาพ
เด็กชายสองคนนั่งด้วยกันบนเก้าอี้

เราสามารถพูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูทรงทำเพื่อเรา

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน สดุดี 71:8 ให้เด็กฟังและวาดรูปปากขนาดใหญ่ไว้บนกระดาน ขอให้พวกเขาช่วยท่านเติมสิ่งที่เราสามารถบอกผู้อื่นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ให้ “เต็ม” ปาก

  • ส่งภาพพระเยซูคริสต์เวียนไปรอบๆ ขอให้เด็กผลัดกันถือภาพและพูดสิ่งหนึ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับพระองค์ พระองค์ทรงทำอะไรเพื่อเรา? (ภาพใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ อาจให้แนวคิดบางประการ)

สดุดี 86:7

พระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของฉัน

หลายข้อในสดุดีคล้ายกับคำสวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทูลขอความช่วยเหลือ การนำทาง หรือการปกป้อง พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เด็กสร้างศรัทธาของพวกเขาได้อย่างไรว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินและทรงตอบพวกเขาเมื่อพวกเขาสวดอ้อนวอน

กิจกรรมที่ทำได้

  • ถามเด็กว่าพวกเขาพูดคุยกับคนที่อยู่ห่างไกลกันอย่างไร ให้พวกเขาดูสิ่งที่เราสามารถใช้ในการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์หรือจดหมาย อ่าน สดุดี 86:7 ให้พวกเขาฟัง เรา “ร้องทูล” พระบิดาบนสวรรค์อย่างไร? พระองค์ทรงตอบเราอย่างไร?

  • เชื้อเชิญให้เด็กทำท่าสิ่งที่พวกเขาทำทุกวัน เช่น ตื่นนอน รับประทานอาหารเช้า ไปโรงเรียน หรือเข้านอน ช่วยพวกเขาหาเวลาระหว่างวันที่พวกเขาสามารถสวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์ เป็นพยานว่าเราสามารถสวดอ้อนวอนพระองค์ได้ทุกเวลาและพระองค์จะทรงได้ยินเราเสมอ

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน เช่น “การสวดอ้อนวอนของเด็กๆ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 6–7) เล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของท่าน

สดุดี 77:11

“ข้าพ‌เจ้า​จะ​ระลึก‍ถึง​พระ‍ราช‌กิจ​ทั้ง‍หลาย​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์”

พระคัมภีร์สามารถเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์โดยช่วยให้เราระลึกถึง “​บรร‌ดา​การ​อัศ‌จรรย์​ใน​สมัย​ก่อนๆ” ของพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน สดุดี 77:11 ให้เด็กฟัง และบอกพวกเขาว่าท่านพยายาม “ระลึก‍ถึง​พระ‍ราช‌กิจ​ทั้ง‍หลาย​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์” รวมถึงงานของพระองค์ในชีวิตท่านอย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปเพื่อช่วยให้พวกเขาจดจำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงทำ

  • ให้ดูภาพจากหนังสือเล่มนี้หรือจาก จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว เพื่อทำให้เด็กนึกถึงเรื่องราวที่พวกเขาเรียนรู้ในพันธสัญญาเดิมเกี่ยวกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงทำให้ผู้คนของพระองค์ ถามพวกเขาว่าเรื่องใดในบรรดาเรื่องเหล่านี้ที่พวกเขาชอบมากที่สุดและเพราะเหตุใด

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

สดุดี 51

การกลับใจคือการเปลี่ยนแปลงของใจ

สดุดี 51 มีความจริงหลายประการเกี่ยวกับการกลับใจ ท่านจะช่วยให้เด็กค้นพบความจริงเหล่านี้ได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • มอบหมายให้เด็กแต่ละคนอ่านข้อพระคัมภีร์ที่อ้างอิงในหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ขอให้พวกเขาหาคำที่สอนบางอย่างเกี่ยวกับการกลับใจ ให้พวกเขาเขียนคำเหล่านั้นไว้บนกระดาน หลังจากทุกคนแบ่งปันแล้ว ให้ถามเด็กว่าพวกเขาจะตอบเพื่อนอย่างไรเมื่อเพื่อนถามว่า “การกลับใจหมายความว่าอย่างไร?”

  • วาดรูปหัวใจบนกระดาน ขอให้เด็กบอกชื่อบาปบางอย่างที่ซาตานล่อลวงให้เราทำ เขียนบาปเหล่านั้นไว้ในรูปหัวใจ ขอให้เด็กหาคำว่า ใจ ใน สดุดี 51:10, 17 ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราบ้างเกี่ยวกับการกลับใจ? (ดู ข้อ 6 ด้วย) ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าแม้เราจะหยุดทำบาป แต่ใจเราต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อเราจะกลับใจ ขอให้เด็กลบบาปในรูปหัวใจบนกระดานและเขียนคำใหม่ที่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงในใจเราเมื่อเรากลับใจ แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถ “​เนร‌มิต‍สร้าง​ใจ​สะอาด​ใน​ [เรา] ได้” เมื่อเรากลับใจ (ข้อ 10)

สดุดี 66:16; 77:11; 78:7

“ข้าพ‌เจ้า​จะ​ระลึก‍ถึง​พระ‍ราช‌กิจ​ทั้ง‍หลาย​ของ​พระ‍ยาห์‌เวห์”

ชาวอิสราเอลสอนลูกหลานเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้พวกเขาเพื่อให้ลูกหลาน “​จะ​ตั้ง​ความ​หวัง​ไว้​ใน​พระเจ้า” (สดุดี 78:7)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กแบ่งปันเรื่องราวที่พวกเขาชื่นชอบจากพระคัมภีร์กับท่าน (ภาพจาก หนังสือภาพพระกิตติคุณ อาจช่วยให้พวกเขานึกถึงเรื่องราวได้) เหตุใดพวกเขาจึงชอบเรื่องเหล่านี้? เรื่องเหล่านี้สอนอะไรเราบ้างเกี่ยวกับพระเจ้า? อ่าน สดุดี 77:11; 78:7 ด้วยกัน เหตุใด “การระลึกถึงงานของพระเจ้า” จึงสำคัญ?

  • ขอให้เด็กอ่าน สดุดี 66:16 และนึกหรือเขียนคำตอบสำหรับคำถาม “พระเจ้า​ทรง​ทำ​อะไร​เพื่อ​ข้าพ‌เจ้า​บ้าง?” จากนั้นให้พวกเขาแบ่งปันคำตอบของตน หากพวกเขาต้องการ เราทำอะไรได้บ้างเพื่อ “ระลึกถึงตลอดเวลา” (โมโรไน 4:3; 5:2) ในสิ่งที่พระเจ้าทรงทำให้เรา?

สดุดี 86:5, 13, 15

พระเจ้าทรงต้องการให้อภัย

เมื่อเราทำบาป ซาตานต้องการให้เราคิดว่าพระเจ้าจะไม่มีวันให้อภัยเรา ช่วยเด็กสร้างศรัทธาของพวกเขาว่าพระเจ้าทรง “ให้​อภัยอุดม​ด้วย​ความ​รัก‍มั่น‍คง​” (สดุดี 86:5)

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอด (เช่นภาพหนึ่งใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) และถามเด็กว่าพวกเขาจะพูดบรรยายถึงพระองค์ว่าอย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาหาคำที่บรรยายถึงพระองค์ใน สดุดี 86:5, 13, 15 หากจำเป็น ให้ช่วยพวกเขานิยามคำเหล่านี้ เราจะพูดอะไรกับเพื่อนที่รู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้ากริ้วเมื่อพวกเขาทำบาป?

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งที่ท่านรู้สึกว่าจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจพระอุปนิสัยแห่งการให้อภัยของพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “ฉันเฝ้าพิศวง” (เพลงสวด บทเพลงที่ 193) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้อภัยเรา

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กแต่ละคนบอกเหตุผลหนึ่งข้อที่พวกเขารักพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันเหตุผลข้อนั้นกับใครบางคนที่บ้าน เป็นพยานว่าคำพูดของพวกเขาจะเป็นพรแก่คนคนนั้น

ปรับปรุงการสอนของเรา

แสดงความมั่นใจ “หาก [เด็ก] สัมผัสได้ว่าท่านไว้ใจพวกเขา ความมั่นใจของพวกเขาในศักยภาพแห่งสวรรค์ของพวกเขาจะเติบโต … จงสื่อสารด้วยความรักว่าท่านรู้ว่าพวกเขาจะมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองได้ (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 28)

พิมพ์