“1–7 สิงหาคม โยบ 1–3; 12–14; 19; 21–24; 38–40; 42: ‘แต่ข้าพระองค์จะวางใจในพระองค์’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“1–7 สิงหาคม โยบ 1–3; 12–14; 19; 21–24; 38–40; 42” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
1–7 สิงหาคม
โยบ 1–3; 12–14; 19; 21–24; 38–40; 42
“แต่ข้าพระองค์จะวางใจในพระองค์”
ขณะท่านศึกษาเรื่องราวของโยบ ท่านพบข่าวสารเรื่องใดสำหรับชีวิตท่านเอง? ข่าวสารเรื่องใดที่ท่านรู้สึกว่าเด็กที่ท่านสอนต้องการได้ยิน?
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ให้เด็กดูภาพโยบ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ถามเด็กว่าพวกเขาคิดว่าชายในภาพน่าจะรู้สึกอย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งอื่นๆ ที่พวกเขารู้เกี่ยวกับโยบ
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยฉันในยามยากลำบากเมื่อฉันมีศรัทธาในพระองค์
โยบวางใจพระผู้เป็นเจ้าและสามารถซื่อสัตย์ได้แม้เผชิญการทดลองที่ยากลำบาก เรื่องราวของโยบสามารถช่วยให้เด็กเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์เพื่อให้พวกเขาพร้อมเผชิญการทดลองที่ยากลำบากของตนเอง
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับโยบ และช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับโยบ (ดู โยบ 1–2; “โยบ” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) ถามเด็กว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรหากพวกเขาเป็นโยบ ใครช่วยเราได้บ้างเมื่อเรื่องร้ายเกิดขึ้นในชีวิตเรา? ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ และอธิบายว่าศรัทธาของโยบในพระเจ้าช่วยเขาในช่วงการทดลอง (ดู โยบ 1:21)
-
อ่านถ้อยคำของโยบให้เด็กฟังใน โยบ 13:15: “ข้าไม่มีความหวัง [แต่ข้าพระองค์จะวางใจในพระองค์]” เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการวางใจในพระผู้เป็นเจ้า พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับผู้อื่นที่พวกเขาวางใจ ตัวอย่างเช่น เราวางใจให้พ่อแม่ทำอะไร? เราวางใจให้ครูทำอะไร? เราวางใจให้พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงทำอะไร? พูดถึงความวางใจของท่านในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ และช่วยเด็กคิดวิธีที่พวกเขาสามารถแสดงให้เห็นว่าพวกเขารักและวางใจพระองค์
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของฉัน
โยบสามารถอดทนต่อการทดลองและความทุกข์ทรมานได้เพราะศรัทธาในพระเจ้า ท่านจะช่วยให้เด็กเสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์พระผู้ไถ่ของเราได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพโยบและอธิบายว่าโยบเจ็บปวดมากเพราะผิวหนังของเขามีแผลทั่วตัว เขาสูญเสียบ้าน และลูกๆ ของเขาก็สิ้นชีวิต แต่โยบรู้บางสิ่งที่สำคัญมากซึ่งปลอบโยนเขา อ่าน โยบ 19:25 และถามเด็กว่าโยบรู้อะไร แบ่งปันกับเด็กว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์ และเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันประจักษ์พยานถึงพระองค์
-
ขอให้เด็กระบายสีหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ขณะระบายสี ให้ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ เช่น “พระเยซูทรงฟื้นขึ้นจริงไหม” หรือ “พระเยซูทรงฟื้น” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 45, 44) ขอให้พวกเขาแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรต่อพระเยซู และช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าเราสามารถมีความรู้สึกดีๆ จากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้เรารู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์อยู่จริง
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะช่วยให้ฉันเอาชนะความท้าทายเมื่อฉันมีศรัทธาในพระองค์
ทุกคนมีวันที่ยากลำบาก และบางคนมีการทดลองที่ยาวนาน ศรัทธาของโยบในพระผู้เป็นเจ้าค้ำจุนให้เขาผ่านการทดลอง พิจารณาว่าเรื่องราวของเขาสามารถช่วยให้เด็กเสริมสร้างศรัทธาของตนในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้อย่างไรเพื่อพวกเขาจะสามารถเผชิญกับการทดลองทั้งในปัจจุบันและอนาคต
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องราวของโยบ โยบเป็นคนอย่างไร? เกิดอะไรขึ้นกับโยบ? โยบตอบสนองอย่างไรต่อความท้าทายของเขา? แนะนำให้พวกเขาดูที่ข้อพระคัมภีร์ใน โยบ 1–2 เพื่อช่วยให้พวกเขาเล่าเรื่อง (ดู โยบ 1:1, 13–22; 2:7–10; ดู “โยบ” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม ด้วย) เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นข่าวสารหลักของเรื่องราวของโยบ
-
ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ทรงปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และถามเด็กว่าพวกเขารู้สึกว่าภาพเหล่านี้สอนอะไรเราบ้างว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นใครและพระองค์ทรงเป็นอย่างไร เรารู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับพระองค์? เชื้อเชิญให้เด็กอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เพื่อค้นหาบางสิ่งที่โยบรู้เกี่ยวกับพระเจ้า: โยบ 12:10, 13, 16; 19:25–27 เหตุใดการรู้สิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจึงเป็นเรื่องที่ทรงคุณค่า?
-
เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน โยบ 19:14–19 และถามพวกเขาว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้พูดถึงวิธีที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อโยบอย่างไร เรารู้สึกอย่างไรหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเรา? เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน โยบ 19:23–27 เพื่อหาดูว่าโยบพบการปลอบโยนในสถานการณ์นี้อย่างไร ข้อเหล่านี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด? เหตุใดการรู้ว่าพระองค์ทรงพระชนม์และทรงรักเราจึงสำคัญ? (ดู ยอห์น 17:3)
-
ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันที่เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ เช่น “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” (เพลงสวด บทเพลงที่ 59) เพลงนี้แนะนำอะไรบ้างเกี่ยวกับเหตุผลที่การมีประจักษ์พยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์จึงสำคัญ? บอกเด็กว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์และเหตุใดท่านจึงสำนึกคุณสำหรับความรู้ดังกล่าว กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันความรู้สึกและประจักษ์พยานของพวกเขาด้วย
เพื่อนที่ดีหนุนใจและให้กำลังใจกัน
เมื่อโยบมีปัญหา เพื่อนของเขาพูดว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงลงโทษเขาเพราะเขาทำบาป เรื่องนี้สามารถช่วยสอนเด็กเกี่ยวกับวิธีตอบสนองที่ดีกว่าเมื่อเพื่อนมีความท้าทาย (ดู โยบ 16:1–5)
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กทบทวนสิ่งที่ยากลำบากมากมายที่เกิดขึ้นกับโยบ (ดู โยบ 1:13–19; 2:7) อ่าน โยบ 19:14, 19 ด้วยกัน โดยมองหาว่าเพื่อนของโยบมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการทดลองของเขา (ดู โยบ 22:1–5 ด้วย) เชื้อเชิญให้เด็กนึกภาพว่าพวกเขาเป็นเพื่อนของโยบ—เขาจะพยายามช่วยโยบอย่างไร? กระตุ้นให้พวกเขานึกถึงเพื่อนที่อาจจะอยู่ในช่วงยากลำบากและวางแผนบางสิ่งที่ทำได้เพื่อแสดงความรักและสนับสนุนเพื่อนของพวกเขา
-
ขอให้เด็กเขียนคุณสมบัติบางข้อของเพื่อนที่ดีและบอกชื่อเพื่อนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเพื่อนที่ดีต่อเราทุกคนในด้านใดบ้าง? เราจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไร?
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันกับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนเกี่ยวกับวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงช่วยพวกเขาได้เมื่อพวกเขามีช่วงที่ยากลำบาก