พันธสัญญาเดิม 2022
25–31 กรกฎาคม เอสเธอร์: “เธอมา … เพื่อ​ยาม‍วิกฤต​เช่น‍นี้”


“25–31 กรกฎาคม เอสเธอร์: ‘เธอมา … เพื่อ​ยาม‍วิกฤต​เช่น‍นี้’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“25–31 กรกฎาคม เอสเธอร์” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022

เอสเธอร์สวดอ้อนวอน

เอสเธอร์ โดย เจมส์ จอห์นสัน

25–31 กรกฎาคม

เอสเธอร์

“เธอมา … เพื่อ​ยาม‍วิกฤต​เช่น‍นี้”

พระคัมภีร์ทั้งหมดเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ ไตร่ตรองว่าท่านจะช่วยให้เด็กเห็นอิทธิพลของพระผู้ช่วยให้รอดในเรื่องราวของเอสเธอร์ได้อย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ส่งภาพเอสเธอร์ไปรอบๆ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) เมื่อเด็กถือภาพ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับเรื่องราวของเอสเธอร์

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

เอสเธอร์ 2:5–7

ฉันสามารถรับใช้ครอบครัวของฉันได้

เมื่อบิดามารดาของเอสเธอร์สิ้นชีวิต โมร‌เด‌คัยญาติของเธอดูแลเธอ ท่านสามารถใช้ประสบการณ์ของพวกเขาเป็นโอกาสที่จะพูดถึงการรับใช้สมาชิกในครอบครัวเรา

กิจกรรมที่ทำได้

  • วาดรูปที่เป็นตัวแทนเอสเธอร์ บิดามารดาของเธอ และโมรเดคัยญาติของเธอไว้บนกระดาน อธิบายว่าบิดามารดาของเอสเธอร์สิ้นชีวิต เอสเธอร์จึงต้องการใครบางคนดูแลเธอ อ่าน เอสเธอร์ 2:7 ให้เด็กฟังและขอให้พวกเขาฟังว่าโมรเดคัยทำอะไร ช่วยให้เด็กนึกถึงความต้องการของสมาชิกในครอบครัวที่เด็กสามารถช่วยได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กบางคนทำท่าทำสิ่งดีที่พวกเขาทำได้เพื่อรับใช้บางคนในครอบครัวพวกเขา และขอให้เด็กคนอื่นเดาว่าเขากำลังทำอะไร เชื้อเชิญให้พวกเขาพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อเป็นพรแก่ครอบครัว และบอกเกี่ยวกับบางสิ่งที่ท่านทำ

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับการช่วยเหลือครอบครัว เช่น “เมื่อเราช่วยเหลือ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 108) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าการช่วยเหลือครอบครัวทำให้เรามีความสุข

เอสเธอร์ 4:15–16

ฉันกล้าหาญได้

เด็กที่ท่านสอนจะเผชิญสถานการณ์ที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อให้มีความกล้า ท่านจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้จากแบบอย่างความกล้าหาญของเอสเธอร์ได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เด็กที่ท่านสอนรู้หรือไม่ว่ากล้าหาญหมายถึงอะไร? แบ่งปันคำนิยามง่ายๆ เช่น “การเป็นคนกล้าหาญหมายถึงทำสิ่งที่ถูกต้องแม้ว่าคุณจะกลัว” แบ่งปันเรื่องราวของเอสเธอร์ (ดู “ราชินีเอสเธอร์” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) และช่วยให้เด็กเห็นว่าเอสเธอร์กล้าหาญอย่างไร ขอให้เด็กใช้รูปคนในหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้เล่าเรื่องราว

  • ให้ดูภาพเอสเธอร์ (ดู โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว) ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับการเป็นคนกล้าหาญกับเด็ก เช่น “ฉันจะกล้าหาญ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 85) ชี้ให้เห็นคำและวลีในเพลงที่บรรยายถึงเอสเธอร์ และเป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยให้เด็กกล้าหาญได้

  • เล่าให้เด็กฟังถึงช่วงเวลาที่พระเยซูคริสต์ทรงกล้าหาญ ตัวอย่างเช่น เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์เพราะบาปของเราทั้งในเกทเสมนีและบนไม้กางเขน (ดู มัทธิว 26:36–39; 27:33–35) ขอให้เด็กเล่าถึงช่วงเวลาที่พวกเขากล้าหาญ (ท่านอาจติดต่อครอบครัวของพวกเขาล่วงหน้าเพื่อขอตัวอย่าง) มีอะไรบ้างที่ช่วยให้พวกเขากล้าหาญ? เล่าให้เด็กฟังว่าพระเจ้าทรงช่วยให้ท่านกล้าหาญอย่างไรเมื่อท่านกลัว

    เอสเธอร์และกษัตริย์

    เอสเธอร์ต่อหน้ากษัตริย์ โดย มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ต

ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

เอสเธอร์ 4:14

ฉันสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อเอสเธอร์หวาดกลัว โมรเดคัยให้กำลังใจเธอด้วยการสอนว่าบางทีพระเจ้าอาจทรงตั้งให้เธอเป็นราชินี “เพื่อยาม‍วิกฤต​เช่น‍นี้​” (เอสเธอร์ 4:14) ไตร่ตรองว่าพระเจ้าทรงเตรียมเด็กที่ท่านสอนอย่างไรสำหรับโอกาสที่จะเป็นพรแก่ผู้อื่น

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้บางคนเล่นเพลงสำหรับเด็กโดยใช้เครื่องดนตรี หรือแสดงภาพบุคคลที่กำลังเล่นเครื่องดนตรี พูดคุยว่าการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร ทบทวนเรื่องราวของเอสเธอร์กับเด็ก (ดู “ราชินีเอสเธอร์” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) และเชื้อเชิญให้พวกเขาพูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่เอสเธอร์เป็นเครื่องมือให้พระเจ้าในการบรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ เราจะเป็นเครื่องมือให้พระเจ้าได้อย่างไร?

  • หลังจากทบทวนเรื่องราวของเอสเธอร์ ให้ติดการ์ดที่มีชื่อของตัวละครคนใดคนหนึ่งจากเรื่องราวไว้ที่หลังของเด็กแต่ละคน เชื้อเชิญให้เด็กพยายามค้นหาว่าชื่อของใครอยู่ที่หลังของเขาโดยถามคำถามเด็กคนอื่น เช่น “คนนี้เป็นคนชอบธรรมหรือไม่?” หรือ “คนนี้เป็นผู้หญิงหรือไม่?” จากนั้นพูดคุยกันว่าโมรเดคัยและเอสเธอร์เป็นเครื่องมือให้พระเจ้าเพื่อช่วยชาวยิวให้รอดอย่างไร

เอสเธอร์ 3:1–11; 4:10–17

พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยให้ฉันมีความกล้าเมื่อฉันกลัว

ท่านเคยเห็นเด็กที่ท่านสอนกล้าหาญเมื่อใด? ท่านแบ่งปันประสบการณ์อะไรได้บ้างเมื่อต้องการความช่วยเหลือของพระเจ้าเพื่อให้มีความกล้า?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนบนกระดาน โมรเดคัยแสดงความกล้าหาญโดย … และ เอสเธอร์แสดงความกล้าหาญโดย … เชื้อเชิญให้เด็กบางคนอ่าน เอสเธอร์ 3:1–11 และให้อีกคนอ่าน เอสเธอร์ 4:10–17 ขอให้พวกเขาใช้สิ่งที่อ่านเติมประโยคบนกระดานให้สมบูรณ์ จากนั้นเขียน ฉันจะแสดงความกล้าหาญโดย … และเชิญให้เด็กเขียนสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้พวกเขาทำซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญ เราจะเป็นเหมือนโมรเดคัยและเอสเธอร์ได้อย่างไร?

  • เชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำสิ่งถูกต้อง เขียนถ้อยคำที่กล้าหาญของเอสเธอร์ไว้บนกระดาน “แล้ว​ฉัน​จะ​เข้า‍เฝ้า​กษัตริย์​ … และถ้า​ฉัน​พินาศ ฉัน​ก็​พินาศ” (เอสเธอร์ 4:16) ช่วยให้เด็กประยุกต์ใช้ถ้อยคำของเอสเธอร์กับตนเองโดยแทนที่ “เข้าเฝ้ากษัตริย์” ด้วยการเลือกที่ชอบธรรมแต่ยากที่พวกเขาอาจต้องทำ จากนั้นเชื้อเชิญให้พวกเขาแทนที่คำว่า “พินาศ” ด้วยสิ่งที่ไม่น่าพอใจซึ่งอาจมาจากการทำสิ่งที่ถูกต้อง เหตุใดจึงดีกว่าที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าจะมีผลที่ยากลำบากก็ตาม?

  • ให้ดูวีดิทัศน์ “Choose the Harder Right” (ChurchofJesusChrist.org) และเชื้อเชิญให้เด็กตัดสินใจเลือก “สิ่งถูกต้องที่ยากกว่า” ในชีวิตที่พวกเขาจะเลือก พูดคุยกันว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของหลักธรรมข้อนี้อย่างไร

เอสเธอร์ 4:1–3, 10–17

การอดอาหารสามารถช่วยฉันและเป็นพรแก่ผู้อื่นได้

ในยามยากลำบาก เอสเธอร์และชาวยิวอดอาหาร ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเข้าใจพรทางวิญญาณของการอดอาหารได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กเขียนสิ่งที่พวกเขาสามารถอดอาหารให้ (หากจำเป็น พวกเขาอาจดูที่ “การอดอาหารและเงินบริจาคอดอาหาร” ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา, 90–93) จากนั้นขอให้พวกเขาอ่าน เอสเธอร์ 4:1–3, 10–17 เพื่อหาว่าเหตุใดชาวยิวและเอสเธอร์จึงอดอาหาร กระตุ้นให้เด็กนึกถึงเหตุผลที่พวกเขาอาจต้องการความช่วยเหลือพิเศษจากพระเจ้า และแนะนำให้พวกเขาทำให้เหตุผลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการอดอาหารในวันอาทิตย์อดอาหารถัดไป

  • เชื้อเชิญให้เด็กทำท่าอธิบายให้เพื่อนฟังว่าเหตุใดพวกเขาจึงอดอาหาร พวกเขาจะพูดอะไร? แนะนำให้พวกเขาไปที่คู่มือพระคัมภีร์ “อดอาหาร (การ)” (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ แบ่งปันประสบการณ์เมื่อท่านอดอาหารเพื่อรับความช่วยเหลือจากพระเจ้า เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยมีกับการอดอาหาร

ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เรียนรู้ในชั้นเรียนวันนี้ (ดูแนวคิดใน ดัชนีหัวข้อ ใน หนังสือเพลงสำหรับเด็ก) เชื้อเชิญให้เด็กร้องเพลงกับครอบครัว

ปรับปรุงการสอนของเรา

ดำเนินชีวิตตามสิ่งที่ท่านสอน การสอนของท่านจะมีพลังมากขึ้นถ้าท่านสามารถเป็นพยานจากประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับพรของการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เมื่อท่านเลือกหลักธรรมที่จะสอนเด็ก จงไตร่ตรองว่าท่านจะดำเนินชีวิตตามหลักธรรมเหล่านั้นให้ครบถ้วนมากขึ้นได้อย่างไร (ดู การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 13–14)