พันธสัญญาเดิม 2022
25–31 กรกฎาคม เอสเธอร์: “เธอมา … เพื่อยามวิกฤตเช่นนี้”


“25–31 กรกฎาคม เอสเธอร์: ‘เธอมา … เพื่อยามวิกฤตเช่นนี้’” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“25–31 กรกฎาคม เอสเธอร์” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

เอสเธอร์กำลังสวดอ้อนวอน

เอสเธอร์ โดย เจมส์ จอห์นสัน

25–31 กรกฎาคม

เอสเธอร์

“เธอมา … เพื่อยามวิกฤตเช่นนี้”

ขณะที่ท่านอ่านเอสเธอร์ จงแสวงหาการดลใจจากพระวิญญาณที่ปรับให้เหมาะกับท่านและบันทึกความประทับใจทางวิญญาณที่ท่านได้รับ

บันทึกความประทับใจของท่าน

หลายเหตุการณ์ในหนังสือเอสเธอร์อาจเหมือนเป็นเรื่องโชคดีหรือความบังเอิญ ท่านจะอธิบายอย่างไรได้อีกบ้างที่เด็กกำพร้าชาวยิวกลายเป็นราชินีแห่งเปอร์เซียถูกจังหวะพอดีเพื่อช่วยเหลือผู้คนของเธอให้รอดพ้นจากการถูกประหาร? มีโอกาสใดบ้างที่โมรเดคัยลูกพี่ลูกน้องของเอสเธอร์จะบังเอิญได้ยินแผนลอบสังหารกษัตริย์? นั่นเป็นความบังเอิญ หรือเป็นแผนส่วนหนึ่งของพระเจ้า? เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์สังเกตว่า “สิ่งที่อาจเหมือนเป็นความบังเอิญนั้น อันที่จริงเป็นการควบคุมโดยพระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงรักเรา … พระเจ้าทรงอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตเรา” (“ตามแผนอันศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 55–56) เราอาจไม่รับรู้อิทธิพลของพระเจ้าใน “รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ” เหล่านี้เสมอไป แต่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของเอสเธอร์ว่าพระองค์ทรงสามารถนำทางเราและเตรียมเรา “เพื่อยามวิกฤตเช่นนี้” (เอสเธอร์ 4:14) เมื่อเราสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์พระองค์เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์

ดูคำอธิบายพอสังเขปของหนังสือเอสเธอร์ได้จาก “เอสเธอร์” ในคู่มือพระคัมภีร์

ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

เอสเธอร์

พระเจ้าทรงสามารถทำให้ฉันเป็นเครื่องมือที่จะเป็นพรแก่ผู้อื่น

ซิสเตอร์แอน ซี. พิงกรีสอนว่า “การเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้านับเป็นเกียรติและความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าเราอยู่ที่ใด ไม่ว่าสภาวการณ์ของเราเป็นเช่นไร ไม่ว่าสถานภาพสมรสของเราเป็นอย่างไรหรืออายุเท่าใด พระเจ้าทรงประสงค์ให้เรา แต่ละคน ทำส่วน [ของเรา] โดยเฉพาะในการสร้างอาณาจักรของพระองค์ในสมัยการประทานสุดท้ายนี้” (“รู้พระประสงค์ของพระเจ้าด้วยตัวท่านเอง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 133)

ขณะที่ท่านอ่านเรื่องราวของเอสเธอร์ ให้ไตร่ตรองว่าคำกล่าวนี้ประยุกต์ใช้กับเธออย่างไร มองหาวิธีที่พระเจ้าทรงทำให้เธอช่วยชีวิตคนยิวได้ (ดูตัวอย่างใน เอสเธอร์ 2:21–23; 3:10–14; 4:14–16) จากนั้นให้ไตร่ตรองว่าพระองค์ทรงนำทางชีวิตท่านอย่างไรในลักษณะที่เอื้ออำนวยให้ท่านเป็นพรแก่ผู้อื่น มีสภาวการณ์หรือความสัมพันธ์อะไรบ้างที่ท่านรู้สึกว่าพระองค์ทรงนำทางท่าน “เพื่อยามวิกฤตเช่นนี้”? (เอสเธอร์ 4:14) ถ้าท่านมีปิตุพร ให้อ่านเพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับงานที่พระเจ้าทรงมีให้ท่านทำ

เอสเธอร์ 3; 5:9–147

ความจองหองและความโกรธสามารถนำไปสู่ความล่มสลาย

ในหนังสือเอสเธอร์ เราเรียนรู้จากศรัทธาของเอสเธอร์และโมรเดคัย ทั้งยังเรียนรู้จากความจองหองและความโกรธของฮามานด้วย ขณะที่ท่านอ่าน เอสเธอร์ 3; 5:9–14 ท่านอาจสังเกตความรู้สึก คำพูด และการกระทำของฮามาน สิ่งเหล่านั้นเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับฮามานและแรงจูงใจของเขา? เขาได้รับผลอะไรบ้าง? (ดู เอสเธอร์ 7) การอ่านเรื่องฮามานอาจกระตุ้นให้ท่านประเมินว่าอะไรจูงใจความรู้สึกและการกระทำของท่าน ท่านได้รับการดลใจให้เปลี่ยนแปลงหรือไม่? ท่านจะหันมาขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างไร?

ดู สุภาษิต 16:32; แอลมา 5:28 ด้วย

เอสเธอร์ 3–4; 5:2–3; 8:11–12

การอดอาหารแสดงให้เห็นว่าฉันพึ่งพาพระเจ้า

สังเกตปัจจัยแวดล้อมที่นำเอสเธอร์กับคนยิวที่เหลือให้อดอาหาร (ดู เอสเธอร์ 3:13; 4:1–3, 10–17) การอดอาหารเป็นพรแก่พวกเขาอย่างไร? (ดู เอสเธอร์ 5:2–3; 8:11–12) เหตุใดพระเจ้าทรงขอให้เราอดอาหาร? พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้การอดอาหารเป็นพรมากขึ้นในชีวิตท่าน

ดู อิสยาห์ 58:6–12; มัทธิว 4:1–4; 17:14–21

เอสเธอร์ 3:1–11; 4:10–17; 5:1–4

การทำสิ่งที่ถูกต้องมักเรียกร้องความกล้าหาญมาก

เมื่อโมรเดคัยกับเอสเธอร์ยืนหยัดในความเชื่อของตน พวกเขาเอาชีวิตเป็นเดิมพัน การเลือกของเรามีผลที่อาจจะรุนแรงน้อยกว่า แต่การทำสิ่งที่ถูกต้องยังคงเรียกร้องความกล้าเหมือนเดิม ท่านเรียนรู้อะไรจาก เอสเธอร์ 3:1–4; 4:10–17 เกี่ยวกับการกล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง? สังเกตผลต่างๆ ที่โมรเดคัยกับเอสเธอร์ประสบหลังจากแสดงความกล้าหาญ (ดู เอสเธอร์ 3:5–11; 5:1–4) บุคคลจำเป็นต้องรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำการเลือกแบบเอสเธอร์และโมรเดคัย—ทำสิ่งที่ถูกต้องไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร?

คราวหน้าถ้าท่านพิจารณาผลของการทำสิ่งที่ถูกต้อง ท่านอาจจะประยุกต์ใช้คำพูดที่กล้าหาญของเอสเธอร์ใน เอสเธอร์ 4:16 กับสถานการณ์ของท่านเอง ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะพูดกับตัวท่านเองว่า “เมื่อฉันเลือกสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าฉัน [เสียเพื่อน] ฉันก็ [เสียเพื่อน]”

ดู โธมัส เอส. มอนสัน, “ขอให้ท่านกล้าหาญ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 150–154 ด้วย

เอสเธอร์และกษัตริย์

เอสเธอร์ต่อหน้ากษัตริย์ โดย มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ท

ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

เอสเธอร์ 1–10หลังจากทบทวนเรื่องราวของเอสเธอร์แล้ว (ดู “ราชินีเอสเธอร์” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) ครอบครัวท่านอาจจะชอบทำหุ่นกระบอกง่ายๆ ของคนบางคนในเรื่อง (ดู หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย) จากนั้นพวกเขาจะใช้หุ่นกระบอกเล่าเรื่องอีกครั้ง ท่านอาจร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับความกล้าหาญและความแน่วแน่ เช่น “กล้าทำสิ่งที่ถูก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 80) หรือ “ทำแต่ความดี” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 117) คำใดในเพลงเตือนให้เรานึกถึงเอสเธอร์?

13:48

เอสเธอร์ 2:5–7เราสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของโมรเดคัยเกี่ยวกับการช่วยเหลือสมาชิกครอบครัวในยามยาก? ใครในครอบครัวเราต้องการการสนับสนุนของเรา? ลองวางแผนช่วยเหลือพวกเขา

เอสเธอร์ 4:15–17ความกล้าหาญของเอสเธอร์อาจดลใจครอบครัวท่านให้พูดถึงวิธีพัฒนาความกล้ายึดมั่นความจริงในสถานการณ์ที่พวกเขาพบเจอ เอสเธอร์หมายความว่าอย่างไรเมื่อเธอพูดว่า “ถ้า​ฉัน​พินาศ ฉัน​ก็​พินาศ”? คำพูดของเธอจะประยุกต์ใช้กับเราเมื่อเราต้องกล้าหาญได้อย่างไร?  

3:17

เอสเธอร์ 9:26–32เทศกาลปูริมของคนยิวจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงเรื่องราวของเอสเธอร์ ในเวลารับประทานอาหารสัปดาห์นี้ ท่านอาจเล่าเรื่องเมื่อสมาชิกครอบครัวท่าน รวมทั้งบรรพชน เป็นพรแก่ผู้อื่นโดยการยึดมั่นความถูกต้องเช่นเดียวกับเอสเธอร์

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “กล้าทำสิ่งที่ถูกหนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 80

ปรับปรุงการสอนของเรา

ทำตามพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด “พลังอำนาจของพระผู้ช่วยให้รอดในการสอนและยกระดับจิตใจผู้อื่นมาจากวิธีที่พระองค์ทรงดำเนินชีวิตและพระลักษณะที่พระองค์ทรงเป็น ยิ่งท่านพยายามอย่างขยันขันแข็งที่จะ ดำเนินชีวิต อย่างพระเยซูคริสต์มากเท่าใด ท่านก็จะยิ่งสามารถ สอน เหมือนพระองค์มากเท่านั้น” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 13)

เอสเธอร์

ราชินีเอสเธอร์ โดย มิเนอร์วา เค. ไทเชิร์ท © William and Betty Stokes