พันธสัญญาเดิม 2022
ข้อคิดควรคำนึง: การอ่านกวีนิพนธ์ในพันธสัญญาเดิม


“ข้อคิดควรคำนึง: การอ่านกวีนิพนธ์ในพันธสัญญาเดิม” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“ข้อคิดควรคำนึง: การอ่านกวีนิพนธ์ในพันธสัญญาเดิม” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

ภาพ
ไอคอนความคิด

ข้อคิดควรคำนึง

การอ่านกวีนิพนธ์ในพันธสัญญาเดิม

ในหนังสือต่างๆ ของพันธสัญญาเดิมที่มาก่อนหนังสือโยบ เราพบเรื่องเล่าเป็นส่วนใหญ่—เรื่องราวเชิงบรรยายที่เล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จากมุมมองทางวิญญาณ โนอาห์ต่อเรือ โมเสสช่วยกู้อิสราเอล ฮันนาห์สวดอ้อนวอนขอให้มีบุตร เป็นต้น เริ่มกับโยบเราพบรูปแบบงานเขียนที่ต่างออกไปเมื่อผู้เขียนพันธสัญญาเดิมเปลี่ยนเป็นภาษากวีเพื่อแสดงความรู้สึกที่ลึกซึ้งหรือคำพยากรณ์ที่สำคัญมากได้อย่างน่าจดจำ

เราเห็นกวีนิพนธ์มาบ้างแล้วทั่วหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ของพันธสัญญาเดิม และจากหนังสือโยบเป็นต้นไป เราจะเห็นมากขึ้น หนังสือโยบ สดุดี และสุภาษิตเป็นกวีนิพนธ์เกือบทั้งหมด อันเป็นงานเขียนส่วนหนึ่งของศาสดาพยากรณ์เช่น อิสยาห์ เยเรมีย์ และอาโมส เพราะการอ่านกวีนิพนธ์ต่างจากการอ่านเรื่องเล่า บ่อยครั้งต้องใช้วิธีอ่านต่างจากเดิมจึงจะเข้าใจ ต่อไปนี้เป็นข้อคิดบางประการที่อาจทำให้การอ่านกวีนิพนธ์ในพันธสัญญาเดิมของท่านมีความหมายมากขึ้น

ทำความรู้จักกวีนิพนธ์ภาษาฮีบรู

ก่อนอื่นท่านต้องจำไว้ว่ากวีนิพนธ์ภาษาฮีบรูในพันธสัญญาเดิมไม่ได้ใช้คำสัมผัสเหมือนกวีนิพนธ์แบบอื่น และถึงแม้คำสัมผัส การเล่นคำ และการย้ำเสียงเป็นลักษณะทั่วไปของกวีนิพนธ์ภาษาฮีบรูสมัยโบราณ แต่มักหายไปในการแปล อย่างไรก็ดี ลักษณะหนึ่งที่ท่านจะสังเกตเห็นคือการย้ำความคิดหรือแนวคิด บางครั้งเรียกว่า “คำประพันธ์คู่ขนาน” ข้อนี้จากอิสยาห์มีตัวอย่างที่เข้าใจง่าย:

  • โอ ศิโยนเอ๋ย จงสวมกำลังของท่าน

  • โอ เยรูซาเล็ม จงสวมเสื้อผ้างดงามของท่าน (อิสยาห์ 52:1)

สดุดีบทที่ 29 มีคู่ขนานหลายคู่—ต่อไปนี้เป็นหนึ่งตัวอย่าง:

  • พระสุรเสียงของพระ‍ยาห์‌เวห์มีอำนาจ

  • พระสุรเสียงของพระ‍ยาห์‌เวห์แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ (สดุดี 29:4)

และต่อไปนี้เป็นตัวอย่างซึ่งการรู้ว่าบรรทัดสองขนานกับบรรทัดแรกจะทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น:

  • เราเองเป็นผู้ให้พวกเจ้าอดอยากในทุกเมือง

  • และให้เจ้าขาดแคลนอาหารในทุกแห่ง (อาโมส 4:6)

ในตัวอย่างเหล่านี้ย้ำแนวคิดด้วยความแตกต่างกันเล็กน้อย เทคนิคดังกล่าวสามารถเน้นแนวคิดซ้ำกันขณะใช้ความต่างอธิบายหรือขยายความให้ครบถ้วนมากขึ้น

ในกรณีอื่น วลีขนานกันสองวลีใช้ภาษาคล้ายกันเพื่อถ่ายทอดแนวคิดตรงข้ามกัน ดังตัวอย่างนี้:

  • คำตอบนุ่มนวลช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป

  • แต่คำกักขฬะเร้าโทสะ (สุภาษิต 15:1)

คำประพันธ์คู่ขนานเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผู้เขียนจงใจทำ เพื่อพวกเขาจะได้แสดงความรู้สึกทางวิญญาณหรือความจริงในแบบที่เหมือนมีพลังทั้งยังไพเราะด้วย ดังนั้นเมื่อท่านสังเกตคำประพันธ์คู่ขนานในการเขียนพันธสัญญาเดิม ให้ถามตัวท่านเองว่านั่นช่วยให้ท่านเข้าใจข่าวสารของผู้เขียนอย่างไร ตัวอย่างเช่น อิสยาห์อาจจะพยายามพูดอะไรอยู่เมื่อเชื่อมโยง “กำลัง” กับ “เสื้อผ้างดงาม” และเชื่อมโยง “ศิโยน” กับ “เยรูซาเล็ม”? [อิสยาห์ 52:1) เราสรุปอะไรได้บ้างเกี่ยวกับวลี “คำตอบนุ่มนวล” ถ้าเรารู้ว่า “คำกักขฬะ” เป็นคำตรงกันข้าม? (“สุภาษิต 15:1)

ภาพ
ชายคนหนึ่งกำลังเขียนบนม้วนหนังสือ

พระ‍องค์​ทรง​คืน​ความ​สด‍ชื่น​แก่​ชีวิต​ข้าพ‌เจ้า โดย วอลเตอร์ เรน

กวีนิพนธ์ภาษาฮีบรูเหมือนเพื่อนใหม่

อาจช่วยได้มากถ้าท่านเปรียบเทียบการอ่านกวีนิพนธ์กับการพบคนใหม่ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะเปรียบเทียบการอ่านกวีนิพนธ์ในพันธสัญญาเดิมกับการพบคนบางคนจากประเทศที่ห่างไกล มีวัฒนธรรมต่างจากเรา และไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา—และบังเอิญเป็นคนที่อายุเกินสองพันปี คนคนนี้อาจจะพูดสิ่งที่เราไม่เข้าใจตอนแรก แต่มิได้หมายความว่าเขาไร้สิ่งมีค่าที่จะบอกเรา ต้องอาศัยความอดทนพอสมควรและความเข้าอกเข้าใจพอสมควรจึงจะทำให้คนที่เราเพิ่งรู้จักกลายเป็นเพื่อนรักของเราในที่สุด เราแค่ต้องใช้เวลาด้วยกันพอสมควร พยายามมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองของเขา เราอาจพบว่าในใจเราจริงๆ แล้วเราเข้าใจกันดีทีเดียว

ฉะนั้นครั้งแรกที่ท่านอ่านข้อหนึ่งจากอิสยาห์ ยกตัวอย่าง ให้ถือว่าท่านเพิ่งรู้จักเพื่อนใหม่ครั้งแรก ให้ถามตนเองว่า “ความประทับใจโดยรวมของฉันคืออะไร?” ข้อนั้นทำให้ท่านรู้สึกอย่างไร—ถึงแม้ท่านไม่เข้าใจทุกคำก็ตาม? จากนั้นให้อ่านอีกครั้งหรือหลายครั้งหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ บางคนพบความหมายเพิ่มโดยอ่านออกเสียงข้อเหล่านั้น สังเกตคำจำเพาะที่อิสยาห์เลือกใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่ทำให้ท่านเห็นมโนภาพ ภาพเหล่านั้นทำให้ท่านรู้สึกอย่างไร? มโนภาพบอกอะไรเกี่ยวกับความรู้สึกของอิสยาห์? ยิ่งท่านศึกษาถ้อยคำของผู้ประพันธ์ในพันธสัญญาเดิมเหล่านี้มากเพียงใด ท่านจะยิ่งพบมากเพียงนั้นว่าพวกเขาจงใจเลือกคำและเทคนิคเหล่านั้นเพื่อแสดงข่าวสารอันลึกซึ้งทางวิญญาณ

บทกวีสามารถเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมได้เพราะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกและประสบการณ์ของเรา บทกวีในพันธสัญญาเดิมมีค่าอย่างยิ่งเพราะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกและประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดของเรา—ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้า

ขณะศึกษากวีนิพนธ์ในพันธสัญญาเดิม พึงจดจำว่าการศึกษาพระคัมภีร์มีค่าที่สุดเมื่อนำเราไปหาพระเยซูคริสต์ จงมองหาสัญลักษณ์ จินตภาพ และความจริงที่สร้างศรัทธาของท่านในพระองค์ ฟังการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะศึกษา

วรรณกรรมภูมิปัญญา

กวีนิพนธ์หมวดหมู่หนึ่งในพันธสัญญาเดิมคือสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่า “วรรณกรรมภูมิปัญญา” โยบ สุภาษิต และปัญญาจารย์จัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ ขณะที่สดุดีแสดงความรู้สึกของการสรรเสริญ การคร่ำครวญ และการนมัสการ วรรณกรรมภูมิปัญญาจะเน้นคำแนะนำที่ไม่ตกยุคหรือคำถามเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้ง ตัวอย่างเช่น หนังสือโยบสำรวจความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าและเหตุผลเบื้องหลังความทุกข์ของมนุษย์ สุภาษิตให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดำเนินชีวิตให้ดี รวมถึงคำคมที่คนรุ่นก่อนรวบรวมและส่งต่อกันมา และปัญญาจารย์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับจุดประสงค์ของชีวิต—เมื่อทุกอย่างดูเหมือนฉาบฉวยและไม่มีแบบแผน เราจะพบความหมายแท้จริงได้ที่ใด? ท่านอาจจะนึกถึงวรรณกรรมภูมิปัญญาว่าเป็นเหมือนการสนทนาที่เต็มไปด้วยสาระทางความคิดกับครูส่วนตัวที่ได้รับการดลใจผู้ต้องการแบ่งปันข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและโลกที่พระองค์ทรงสร้าง—และอาจจะช่วยให้ท่านเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีกว่าเดิม

พิมพ์