“22–28 สิงหาคม สดุดี 102–103; 110; 116–119; 127–128; 135–139; 146–150: ‘จงให้ทุกสิ่งที่หายใจสรรเสริญพระยาห์เวห์”’ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“22–28 สิงหาคม สดุดี 102–103; 110; 116–119; 127–128; 135–139; 146–150” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022
22–28 สิงหาคม
สดุดี 102–103; 110; 116–119; 127–128; 135–139; 146–150
“จงให้ทุกสิ่งที่หายใจสรรเสริญพระยาห์เวห์”
สดุดี 119:105 สอนว่าพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเป็น “ความสว่างแก่ทาง [ของท่าน]” ขณะที่ท่านอ่านสดุดี ให้บันทึกวลีและแนวคิดที่ดลใจท่านและช่วยทำให้ทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ของท่านสว่างไสว
บันทึกความประทับใจของท่าน
ชื่อภาษายิวดั้งเดิมสำหรับหนังสือสดุดีคือคำฮีบรูที่หมายถึง “คำสรรเสริญ” Tehillim คำนั้นเชื่อมโยงกับการเปล่งเสียง “ฮาเลลูยา” (หมายถึง “สรรเสริญพระเยโฮวาห์” หรือ “สรรเสริญพระเจ้า”) ถ้าท่านต้องเลือกหนึ่งคำเพื่อสรุปข่าวสารหลักของสดุดี “สรรเสริญ” น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี สดุดีบางบทมีคำเชื้อเชิญโดยตรงให้ “สรรเสริญพระยาห์เวห์” (ดู สดุดี 146–150 เป็นพิเศษ) และทั้งหมดนั้นสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกอยากนมัสการและสรรเสริญ สดุดีเชื้อเชิญให้เราใคร่ครวญเดชานุภาพของพระเจ้า พระเมตตาของพระองค์ และสิ่งสำคัญยิ่งที่พระองค์ทรงทำ เราไม่มีวันตอบแทนพระองค์สำหรับสิ่งดังกล่าวได้เลย แต่เราสามารถสรรเสริญพระองค์สำหรับสิ่งนั้น การสรรเสริญนั้นอาจมีรูปแบบต่างกันไปในแต่ละคน—อาจเกี่ยวพันกับการร้องเพลง การสวดอ้อนวอน หรือการแสดงประจักษ์พยาน บ่อยครั้งนำไปสู่การให้คำมั่นสัญญาลึกซึ้งขึ้นกับพระเจ้าและการทำตามคำสอนของพระองค์ ไม่ว่าการ “สรรเสริญพระยาห์เวห์” มีความหมายอย่างไรในชีวิตท่าน ท่านจะพบแรงบันดาลใจให้สรรเสริญพระองค์ได้มากขึ้นขณะที่ท่านอ่านและไตร่ตรองสดุดี
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว
พระเจ้าทรงสามารถปลอบโยนฉันในความทุกข์ทรมานของฉัน
สังเกตว่า สดุดี 102:1–11 บรรยายความรู้สึกวิตกกังวลและความโดดเดี่ยวที่มักเกิดขึ้นระหว่างความทุกข์อย่างไร ท่านอาจเคยประสบความรู้สึกเช่นนั้น และคำบรรยายเหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจประสบการณ์ของท่านได้ดีขึ้น หรือข้อเหล่านี้อาจจะช่วยให้ท่านเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นที่กำลังทุกข์ทรมาน
ขณะที่ท่านอ่าน สดุดี 102:12–28; 103; 116 ให้มองหาวลีที่ให้ความเชื่อมั่นแก่ท่านว่าท่านสามารถ “ร้องออกพระนามพระยาห์เวห์” ในการทดลองของท่าน (สดุดี 116:13) ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมาย ท่องจำ หรือแบ่งปันวลีที่ให้ความหวังในพระองค์กับคนอื่นๆ
ดู อิสยาห์ 25:8; 2 โครินธ์ 1:3–7; ฮีบรู 2:17–18; แอลมา 7:11–13; อีวาน เอ. ชมุทซ์, “พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 116–118 ด้วย
สดุดีสามารถชี้นำฉันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด
สดุดีมีข้อที่ชี้นำไปถึงพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง:
ข้อเหล่านี้สอนความจริงอะไรท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์? การรู้ความจริงเหล่านี้เป็นพรแก่ท่านอย่างไร?
ขณะที่ท่านอ่านสดุดีสัปดาห์นี้ ให้จดบันทึกข้ออื่นที่สอนท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดต่อไป ท่านอาจจะอ่านหรือฟังเพลงสวดบางเพลงที่ท่านชื่นชอบและช่วยให้ท่านนึกถึงพระองค์
พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจะทำให้ฉันอยู่บนเส้นทางของพระองค์เสมอ
สดุดีบทนี้มีหลายวลีที่เปรียบเทียบชีวิตเรากับการเดินทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ ขณะที่ท่านอ่าน ให้มองหาคำอย่างเช่น ดำเนิน ทาง เท้า และ หลงไป ไตร่ตรองการเดินทางของชีวิตท่านเอง—ท่านเคยไปที่ใด ท่านอยู่ที่ใดตอนนี้ และท่านมุ่งหน้าไปทิศใด ท่านเรียนรู้อะไรจากสดุดีบทนี้เกี่ยวกับการเดินทางกลับบ้านของท่าน? ตามที่กล่าวไว้ในสดุดีบทนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดเตรียมอะไรไว้ช่วยให้ท่านอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง?
ท่านอาจจะสนใจใคร่รู้ว่าในภาษาฮีบรูดั้งเดิม แปดข้อแรกใน สดุดี 119 เริ่มด้วยอักษรตัวแรกในพยัญชนะฮีบรู แปดข้อถัดไปเริ่มด้วยอักษรตัวถัดไป เป็นเช่นนี้ไปจนถึงพยัญชนะตัวสุดท้าย
ดู อิสยาห์ 42:16; 2 นีไฟ 31:17–21; แอลมา 7:19–20 ด้วย
พระเจ้าทรงมีเดชานุภาพมากกว่ารูปเคารพใดๆ
สังเกตเหตุผลที่ให้ไว้ใน สดุดี 135:15–18 ว่าเหตุใดการวางใจพระปลอมจึงเป็นความโง่เขลา ท่านอาจจะถูกล่อลวงให้วางใจในสิ่งคล้ายๆ รูปเคารพดังบรรยายไว้ในข้อเหล่านี้?
ท่านอาจจะเขียนสิ่งทรงพลังต่างๆ มากมายที่พระเจ้าทรงสามารถทำได้ดังบรรยายไว้ใน สดุดี 134–136 พระองค์ทรงทำสิ่งทรงพลังใดเพื่อท่านบ้าง?
“สรรเสริญพระยาห์เวห์”
ขณะอ่านสดุดีแห่งการสรรเสริญในบทท้ายๆ นี้ ให้นึกถึงเหตุผลที่ท่านต้องสรรเสริญพระเจ้า เหตุใดการสรรเสริญพระองค์จึงสำคัญ? ท่านสามารถสรรเสริญพระองค์ด้วยวิธีใดบ้าง?
แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน
-
สดุดี 119:105ครอบครัวท่านอาจจะสร้างทางให้เดินในความมืดโดยใช้ไฟส่องทางข้างหน้า ขณะเดิน ท่านอาจถามคำถามทำนองนี้ “อะไรในชีวิตเราเหมือนความมืด?” หรือ “พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเหมือนความสว่างอย่างไร?” การร้องเพลงเกี่ยวกับความสว่างของพระผู้เป็นเจ้า เช่น “สอนฉันเดินในแสง” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 70) จะช่วยเสริมหลักธรรมที่สอนใน สดุดี 119:105
-
สดุดี 127–128การที่พระเจ้าจะทรงช่วยเรา “สร้างบ้าน [ของเรา]” มีความหมายอย่างไร? (สดุดี 127:1) เราจะให้พระองค์มีส่วนร่วมมากขึ้นในความพยายามสร้างครอบครัวที่ชอบธรรมของเราได้อย่างไร? เพื่อช่วยครอบครัวท่านตอบคำถามนี้ ท่านอาจจะวาดภาพบ้านบนกระดาษแผ่นหนึ่งแล้วตัดเป็นภาพตัวต่อ ด้านหลังตัวต่อแต่ละชิ้นให้สมาชิกครอบครัวเขียนหรือวาดวิธีทำให้พระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวท่าน จากนั้นช่วยกันต่อภาพ เราพบอะไรในสดุดีเหล่านี้อีกบ้างที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราดำเนินในทางของพระเจ้า?
-
สดุดี 139หลังจากอ่าน ข้อ 1–4 แล้ว สมาชิกครอบครัวอาจพูดคุยกันว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้จักพวกเขาเป็นการส่วนตัว (ดู ข้อ 14–15, 23–24 ด้วย)
-
สดุดี 146–150ท่านอาจจะเชิญครอบครัวท่านอ่านออกเสียง สดุดี 146–150 สองสามข้อโดยพยายามถ่ายทอดความรู้สึกของผู้เขียน เราจะกล่าวคำสรรเสริญพระเจ้าได้อย่างไร? สมาชิกครอบครัวอาจจะชอบเขียนสดุดีแห่งการสรรเสริญของพวกเขาเองและแบ่งปันกัน
ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย
เพลงที่แนะนำ: “สอนฉันเดินในแสง” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 70