พันธสัญญาเดิม 2022
1–7 สิงหาคม โยบ 1–3; 12–14; 19; 21–24; 38–40; 42: “แต่ข้าพระองค์จะวางใจในพระองค์”


“1–7 สิงหาคม โยบ 1–3; 12–14; 19; 21–24; 38–40; 42: ‘แต่ข้าพระองค์จะวางใจในพระองค์”’ จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“1–7 สิงหาคม โยบ 1–3; 12–14; 19; 21–24; 38–40; 42,” จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว: 2022

ภาพ
ชายสามคนพูดคุยกับชายคนหนึ่งบนพื้น

คำตัดสินของโยบ โดย โจเซฟ บริกคีย์

1–7 สิงหาคม

โยบ 1–3; 12–14; 19; 21–24; 38–4042

“แต่ข้าพระองค์จะวางใจในพระองค์”

ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับโยบ พระวิญญาณจะทรงนำท่านให้ค้นพบความจริงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับท่าน จดสิ่งที่ท่านค้นพบ และไตร่ตรองว่าจะประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้กับตัวท่านได้อย่างไร

บันทึกความประทับใจของท่าน

เป็นธรรมดาที่จะสงสัยว่าทำไมเรื่องร้ายๆ จึงเกิดกับคนดี—หรือยิ่งกว่านั้น ทำไมเรื่องดีๆ จึงเกิดกับคนไม่ดี ทำไมพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเที่ยงธรรมจึงทรงยอมให้เป็นแบบนั้น? คำถามทำนองนี้ถูกสำรวจผ่านประสบการณ์ของโยบ ประสบการณ์ของคนดีที่เกิดเรื่องไม่ดีกับเขา เพราะการทดลองของโยบ เพื่อนๆ ของเขาจึงสงสัยว่าเขาเป็นคนดีจริงหรือ โยบยืนยันความชอบธรรมของตนและสงสัยว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเที่ยงธรรมจริงหรือ แม้จะมีความทุกข์ทรมานและความสงสัย แต่โยบยังคงมีความซื่อสัตย์สุจริตและศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ในหนังสือโยบ ศรัทธาถูกตั้งคำถามและถูกทดสอบแต่ไม่เคยถูกทิ้งไปจนสิ้น นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคำถามได้รับคำตอบ แต่หนังสือโยบสอนว่าคำถามและศรัทธาอยู่ร่วมกันได้จนกว่าจะได้คำตอบ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างนั้น เราสามารถพูดถึงพระเจ้าของเราได้ว่า “กระนั้นข้าจะวางใจในพระองค์” (โยบ 13:15)

ดูคำอธิบายพอสังเขปของหนังสือโยบได้จาก “โยบ” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org)

ภาพ
Learn More image
ภาพ
ไอคอนการศึกษาส่วนตัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว

โยบ 1–3; 12–13

การวางใจพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์สามารถช่วยฉันให้ซื่อสัตย์เหมือนเดิมในทุกสภาวการณ์

บทแรกๆ ของโยบมุ่งหมายจะเน้นบทบาทของซาตานในฐานะปฏิปักษ์หรือผู้กล่าวหาเรา ไม่ใช่เพื่ออธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าและซาตานปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ขณะที่ท่านอ่านคำอ้างของซาตานเกี่ยวกับโยบ (ดู โยบ 1:9–11; 2:4–5) ท่านอาจจะไตร่ตรองว่าจะใช้คำอ้างนี้พูดถึงท่านได้หรือไม่ ท่านอาจจะถามตัวท่านเองว่า ฉันมีเหตุผลอะไรให้ซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้าเหมือนเดิม? ไตร่ตรองการทดลองที่โยบได้รับและการตอบสนองของเขา (ดู โยบ 1:20–22; 2:9–10) ท่านเรียนรู้อะไรจากเขาที่อาจจะช่วยท่านตอบสนองความท้าทายของท่าน?

ถึงแม้โยบจะพยายามซื่อสัตย์ แต่การทดลองและความทุกข์ทรมานของเขายังมีอยู่ (สังเกตคำคร่ำครวญของเขาใน บทที่ 3) ความทุกข์ทรมานของเขาดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นด้วยซ้ำ และเพื่อนๆ บอกว่าพระผู้เป็นเจ้ากำลังลงโทษเขา (ดู โยบ 4–5; 8; 11) ขณะที่ท่านอ่านการตอบสนองส่วนหนึ่งของโยบใน บทที่ 12–13 ให้พิจารณาว่าโยบรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าที่ทำให้เขาสามารถวางใจพระองค์ต่อไปแม้จะมีความทุกข์ทรมานและมีคำถามที่เขาไม่ได้คำตอบ ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าที่ช่วยท่านเผชิญความท้าทาย? ท่านรู้ความจริงเหล่านี้ได้อย่างไร และความจริงเหล่านั้นเพิ่มพลังศรัทธาของท่านอย่างไร?

โยบ 19

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของฉัน

บางครั้งความจริงสำคัญที่สุดเปิดเผยต่อเราท่ามกลางความปวดร้าวแสนสาหัสของเรา ไตร่ตรองการทดลองที่โยบบรรยายไว้ใน โยบ 19:1–22 และความจริงที่เขาประกาศใน โยบ 19:23–27 จากนั้นให้ไตร่ตรองว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระผู้ไถ่ของท่านทรงพระชนม์ ความรู้นี้สร้างความแตกต่างอะไรเมื่อท่านประสบการทดลองยากๆ?

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:1–12; 122 ด้วย

ภาพ
ผู้ชายแหงนมองฟ้า

โยบ โดย แกรีย์ แอล. เคพพ์

โยบ 21–24

“เมื่อทรงทด‍สอบข้าแล้ว ข้าก็จะเป็นอย่างทอง‍คำ”

ขณะที่ท่านอ่านเพิ่มเติมเรื่องการถกเถียงระหว่างโยบกับเพื่อนๆ เกี่ยวกับเหตุผลเบื้องหลังความทุกข์ทรมานของโยบ ท่านอาจจะไตร่ตรองว่าท่านจะตอบคำถามที่เป็นหัวใจของการถกเถียงเหล่านั้นว่าอย่างไร: เหตุใดบางครั้งคนชอบธรรมทนทุกข์ทรมานและบางครั้งคนชั่วไม่ถูกลงโทษ? นึกถึงคำถามนี้ขณะที่ท่านอ่าน โยบ 21–24 ท่านรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และแผนของพระองค์ที่จะช่วยให้คำตอบได้? ดูตัวอย่างใน 2 นีไฟ 2:11–13; โมไซยาห์ 23:21–23; 24:10–16; อับราฮัม 3:22–26; ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “การตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 114–117

ดู แอล. ทอดด์ บัดจ์, “ความวางใจอันคงที่และคงทน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 47–49 ด้วย

โยบ 38; 40; 42

มุมมองของพระผู้เป็นเจ้ากว้างกว่าของเรา

โยบท้อแท้ใจกับคำกล่าวหาของเพื่อนๆ (ดู โยบ 16:1–5; 19:1–3) เขาจึงร้องทูลพระผู้เป็นเจ้าซ้ำหลายครั้งเพื่อขอคำอธิบายสำหรับความทุกข์ทรมานของเขา (ดู โยบ 19:6–7; 23:1–931) เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อเราไม่มีน้ำอดน้ำทนกับจังหวะเวลาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรู้แจ้ง” เหมือนที่โยบเป็น “เรากำลังบอกเป็นนัยว่าเรารู้ว่าอะไรดีที่สุด แปลกใช่ไหม—เราผู้สวมนาฬิกาข้อมือพยายามแนะนำพระองค์ผู้ทรงควบคุมดูแลนาฬิกาและปฏิทินของจักรวาล” (“ความหวังใจโดยทางการชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 72 ไตร่ตรองถ้อยคำเหล่านี้ขณะที่ท่านอ่านพระดำรัสตอบของพระผู้เป็นเจ้าใน บทที่ 38 และ 40 พระองค์ทรงสอนความจริงอะไรกับโยบบ้าง? เหตุใดจึงสำคัญที่เราต้องรู้ความจริงเหล่านี้ขณะดิ้นรนต่อสู้กับความยากลำบากและคำถามที่นี่ในความเป็นมรรตัย? ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับคำตอบของโยบใน โยบ 42:1–6?

ภาพ
ไอคอนการศึกษากับครอบครัว

แนวคิดสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัวและยามค่ำที่บ้าน

โยบ 1:20–22เพื่อเข้าใจว่าโยบน่าจะรู้สึกอย่างไร ตามที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ ครอบครัวท่านอาจจะอ่าน “โยบ” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม หรือแสดงประกอบเรื่องใน โยบ 1:13–22 เราสามารถเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของโยบ?

โยบ 14:14เราจะตอบคำถามของโยบในข้อนี้อย่างไร? แอลมา 11:42–44 จะช่วยเราได้อย่างไร? (ดูวีดิทัศน์เรื่อง“พระองค์ทรงพระชนม์—เฉลิมฉลองอีสเตอร์เพราะพระเยซูคริสต์ทรงพระชนม์” ChurchofJesusChrist.org ด้วย)

โยบ 16:1–5เราเคยเป็นเหมือนเพื่อนๆ ของโยบที่ตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์โยบเวลาที่เขาต้องการการปลอบโยนหรือไม่? (ดู โยบ 16:1–4; ดู ยอห์น 7:24 ด้วย) คำพูดของเราจะให้กำลังใจคนที่กำลังทุกข์โศกได้อย่างไร? (ดู โยบ 16:5)

โยบ 19:23–27หลังจากอ่านข้อเหล่านี้ สมาชิกครอบครัวอาจแบ่งปันว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระผู้ไถ่ของเราทรงพระชนม์ ท่านอาจจะช่วยกันบันทึกประจักษ์พยาน (หรือเก็บภาพพระผู้ช่วยให้รอดที่เด็กวาด) ไว้ในสมุด เช่น สมุดบันทึกครอบครัว (ดู ข้อ 23) ท่านอาจร้องเพลงๆ หนึ่งที่เป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดด้วย เช่น “ฉันรู้พระผู้ไถ่ทรงพระชนม์” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 59) และแบ่งปันวลีที่เพิ่มพลังศรัทธาของท่านในพระองค์

โยบ 23:8–11“ออกมา” จากการทดลองของเรา “อย่างทองคำ” หมายความว่าอย่างไร? เรารู้จักใครที่เคยทำเช่นนี้? เด็กๆ อาจจะชอบประดิษฐ์บางอย่างโดยเขียนคำจาก ข้อ 10 ไว้บนนั้น ท่านอาจจะสนทนาด้วยว่าพระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะการทดลองของพระองค์อย่างไร (ดู ลูกา 22:41–44; หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–19)

ดูแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับสอนเด็กได้จาก โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย

เพลงที่แนะนำ: “พระผู้ไถ่ฉันทรงพระชนม์ เพลงสวด, บทเพลงที่ 58

ปรับปรุงการศึกษาส่วนตัว

จินตนาการ ข้อคิดที่มีความหมายจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราพยายามนำเอาตัวเราเข้าไปในพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น การนำเอาตัวท่านเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของโยบอาจช่วยท่านไตร่ตรองความสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

ภาพ
ชายหลายคนคุยกับชายคนหนึ่งบนพื้น

โยบกับเพื่อนๆ โดย อิลเยีย เรปิน

พิมพ์