พันธสัญญาเดิม 2022
5–11 กันยายน อิสยาห์ 1–12: “พระ‍เจ้า​เป็น​ความ​รอด​ของ​ข้าพ‌เจ้า”


“5–11 กันยายน อิสยาห์ 1–12: ‘พระ‍เจ้า​เป็น​ความ​รอด​ของ​ข้าพ‌เจ้า’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“5–11 กันยายน อิสยาห์ 1–12” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022

ภาพ
งานเขียนของศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณ

ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์บอกล่วงหน้าถึงการประสูติของพระคริสต์ โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

5–11 กันยายน

อิสยาห์ 1–12

“พระ‍เจ้า​เป็น​ความ​รอด​ของ​ข้าพ‌เจ้า”

ถ้อยคำของอิสยาห์อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ ขณะพิจารณาวิธีสอนเด็กเกี่ยวกับอิสยาห์ ให้เน้นที่ความจริงอันเรียบง่ายที่สามารถเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเพิ่งทำเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เช่น กล่าวคำสวดอ้อนวอน แสดงความมีน้ำใจต่อใครบางคน หรือเชื่อฟังพระบัญญัติข้ออื่นๆ

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

อิสยาห์ 2:2–3

ในพระวิหารเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

อิสยาห์เห็นล่วงหน้าถึงช่วงเวลาที่พระวิหาร “ภูเขาแห่งพระนิเวศของ​พระ‍ยาห์‌เวห์” จะดึงดูดผู้คนจาก “ประชาชาติทั้งหมด” ท่านสามารถใช้คำพยากรณ์นี้เพื่อช่วยให้เด็กตั้งตารอเวลาที่พวกเขาจะไปพระวิหารได้

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กวาดรูปบ้านของตน จากนั้นอ่าน อิสยาห์ 2:2 ด้วยกัน และเชิญให้พวกเขาวาดรูป “พระนิเวศของพระยาห์‌เวห์” ซึ่งคือพระวิหาร อ่าน ข้อ 3 ด้วยกัน และเชิญให้พวกเขาวาดคนหลายๆ คนมาที่พระวิหาร รวมถึงครอบครัวพวกเขาเพิ่มลงในรูปภาพของตน เหตุใดเราจึงอยากไปที่พระนิเวศของพระเจ้า? แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพรที่เกิดขึ้นขณะที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าในพระนิเวศของพระองค์

  • ให้เด็กคนหนึ่งถือภาพพระวิหาร และขอให้เด็กพูดคุยกันเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นในภาพ ถามพวกเขาว่าชอบอะไรเกี่ยวกับพระวิหาร อ่าน อิสยาห์ 2:2–3 ด้วยกันและให้พวกเขาฟังเหตุผลเพิ่มเติมว่าเหตุใดเราจึงรักพระวิหาร บอกเด็กว่าเหตุใดท่านจึงรักพระวิหาร

  • ร้องเพลงกับเด็กหนึ่งเพลงเกี่ยวกับพระวิหาร เช่น “ฉันชอบมองดูพระวิหาร” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 99) ช่วยเด็กหาคำและวลีในเพลงที่สอนว่าพระวิหารคืออะไรและเราทำอะไรที่นั่น

  • วาดทางเดินบนกระดานแล้วติดภาพพระวิหารหรือพระผู้ช่วยให้รอดไว้ที่ปลายทาง (ดู การพัฒนาตนเอง: หนังสือแนะแนวสำหรับเด็ก, 2–3) ให้เด็กผลัดกันวาดรูปตนเองกำลังเดินไปตามทางเดิน ขณะพวกเขาวาดรูป เชิญให้พวกเขาพูดทวนวลีนี้จาก อิสยาห์ 2:3: “เรา​จะ​เดิน​ใน​มรรคา​ของ​พระ‍องค์” เราทำอะไรได้บ้างเพื่อเดินในทางของพระเจ้า?

ภาพ
สตรีอุ้มเด็กทารก

“ด้วยมีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา มีบุตรชายคนหนึ่งประทานมาให้เรา” (อิสยาห์ 9:6)

อิสยาห์ 9:6

อิสยาห์พยากรณ์ถึงพระเยซูคริสต์

ศาสดาพยากรณ์ทุกท่านเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ รวมถึงศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่นานก่อนพระองค์จะประสูติ เช่น อิสยาห์ พิจารณาว่าเด็กสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูจากคำพยากรณ์ของอิสยาห์ใน อิสยาห์ 9:6

กิจกรรมที่ทำได้

  • แบ่งปันเรื่อง “ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์” กับเด็ก (จาก เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) หยุดเป็นระยะๆ เพื่อให้เด็กสามารถพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่อิสยาห์รู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์หลายปีก่อนที่พระองค์จะประสูติ อ่าน อิสยาห์ 9:6 ให้เด็กฟัง และเชิญให้พวกเขาพูดทวนกับท่านแต่ละ “พระนาม” ที่อิสยาห์กล่าวว่าพระเยซูคริสต์จะทรงได้รับการ “ขนานนาม”

  • เขียนพระนามสองสามชื่อของพระเยซูคริสต์ที่พบใน อิสยาห์ 9:6 ลงบนแผ่นกระดาษ (ดูหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) เชื้อเชิญให้เด็กแต่ละคนเลือกมาหนึ่งพระนาม และช่วยเด็กอ่านพระนามนั้นให้ชั้นเรียนฟัง พูดคุยกับเด็กว่าแต่ละพระนามมีความหมายกับท่านอย่างไร ให้ภาพพระคริสต์กับเด็กคนหนึ่ง และขอให้เขาแบ่งปันบางสิ่งเกี่ยวกับพระเยซู จากนั้นส่งต่อภาพนั้นให้เด็กอีกคน ทำกิจกรรมนี้ซ้ำจนกว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสแบ่งปัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

อิสยาห์ 1:2–4, 16–19

เพราะพระเยซูคริสต์ ฉันจึงสามารถกลับใจและสะอาดได้

อิสยาห์มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้คนของเขาหลายคนหันไปจากพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าบาปของพวกเขาจะได้รับการให้อภัยหากพวกเขากลับใจ พระองค์ประทานคำมั่นสัญญานี้แก่เราเช่นกัน

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กอ่าน อิสยาห์ 1:2–4 และพูดคุยถึงเหตุผลบางประการที่พระเจ้าไม่พอพระทัยชาวยูดาห์ จากนั้นอ่าน อิสยาห์ 1:16–19 ด้วยกันเพื่อเรียนรู้สิ่งที่พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ผู้คนทำ หากจำเป็น ช่วยให้เด็กเข้าใจคำและวลีที่ยาก เพื่อช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพ ข้อ 18 ให้ดูบางสิ่งที่มีสีแดงสดและบางสิ่งที่มีสีขาวบริสุทธิ์ เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระกรุณาของพระเยซูคริสต์จากข้อเหล่านี้? เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับของประทานแห่งการให้อภัยของพระเยซูคริสต์ และแบ่งปันความรู้สึกของท่านเช่นกัน

  • ช่วยเด็กท่องจำ อิสยาห์ 1:18 เขียนข้อพระคัมภีร์บนกระดาน และเชิญให้เด็กท่องจำหลายรอบโดยลบทีละคำจนกว่าพวกเขาจะท่องได้จากความจำ ท่านอาจใช้แผ่นกระดาษที่มีคำจากพระคัมภีร์ข้อนั้นเขียนไว้ เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องจำสิ่งที่ข้อนี้สอนไว้เสมอ? สนทนาว่าการรับบัพติศมาและการรับส่วนศีลระลึกทำให้สัญญาข้อนี้มีผลกับเราอย่างไร

อิสยาห์ 2:2–5

ในพระวิหารเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับ “ภูเขาแห่งพระนิเวศของพระยาห์‌เวห์” เผยให้เห็นพรบางประการที่มาจากการนมัสการในพระวิหาร พร้อมกับพรอื่นๆ ที่จะมาในยุคสุดท้าย ไตร่ตรองว่าท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กแสวงหาพรเหล่านี้ได้อย่างไร

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กอ่านเกี่ยวกับสิ่งที่อิสยาห์เห็นใน อิสยาห์ 2:2–3 และวาดรูปสิ่งที่พวกเขาคิดว่าอาจจะดูคล้ายกัน อธิบายว่าอิสยาห์เรียกพระวิหารว่า “ภูเขาแห่งพระนิเวศของพระยาห์‌เวห์” เหตุใดภูเขาจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ดีของพระวิหาร?

  • เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน อิสยาห์ 2:2–3, 5 และระบุบางสิ่งในแต่ละข้อเหล่านี้ที่สร้างแรงบันดาลใจว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะไปพระวิหาร จากนั้นอ่าน ข้อ 4 ด้วยกัน และสนทนาว่าพระวิหารช่วยนำมาซึ่งสันติสุขที่อธิบายไว้ในข้อนี้อย่างไร ช่วยให้พวกเขานึกวิธีที่พวกเขาสามารถเตรียมตัวให้พร้อมตอนนี้เพื่อว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะไปพระวิหาร

อิสยาห์ 7:14; 9:6–7

อิสยาห์พยากรณ์ถึงพระเยซูคริสต์

อิสยาห์พยากรณ์ถึงการเกิดของเด็กคนหนึ่งที่จะนั่งบนบัลลังก์ของดาวิดและสร้างอาณาจักรที่ไม่มีวันล่มสลาย ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเข้าใจคำพยากรณ์เหล่านี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ขอให้เด็กยกตัวอย่างชื่อเรียกที่บุคคลอาจมี เช่น ชื่อที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงาน การเรียก ทีม หรือครอบครัว ชื่อเหล่านี้บอกอะไรเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเหล่านี้? ช่วยเด็กหาพระนามของพระเยซูคริสต์ใน อิสยาห์ 7:14 และ 9:6–7 พระนามเหล่านี้แต่ละพระนามสอนอะไรเราเกี่ยวกับพระองค์? เราเรียนรู้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์จากข้อเหล่านี้?

  • อ่าน มัทธิว 1:21–23 และ ลูกา 1:31–33 ด้วยกัน และสนทนาว่าคำพยากรณ์ของอิสยาห์ใน อิสยาห์ 7:14; 9:6–7 เกิดสัมฤทธิผลอย่างไรเมื่อพระเยซูคริสต์ประสูติ

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

ขอให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่พวกเขาจะแบ่งปันที่บ้านกับครอบครัวได้ เช่น พระนามหนึ่งของพระองค์

ปรับปรุงการสอนของเรา

ช่วยเด็กสร้างความเชื่อมั่น เด็กบางคนอาจรู้สึกว่าตนไม่สามารถเรียนพระกิตติคุณด้วยตนเอง วิธีหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นของพวกเขาคือชมเชยเมื่อพวกเขามีส่วนร่วมในชั้นเรียน สัญญากับเด็กว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยพวกเขาขณะพวกเขาเรียนรู้

พิมพ์