พันธสัญญาเดิม 2022
12–18 กันยายน อิสยาห์ 13–14; 24–30; 35: “​สิ่งทั้ง​ประ‌หลาด​และ​อัศ‌จรรย์”


“12–18 กันยายน อิสยาห์ 13–14; 24–30; 35: ‘สิ่งทั้ง​ประ‌หลาด​และ​อัศ‌จรรย์’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“12–18 กันยายน อิสยาห์ 13–14; 24–30; 35” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022

ภาพ
โจเซฟ สมิธเห็นพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ในป่าศักดิ์สิทธิ์

ป่าศักดิ์สิทธิ์ โดย เบรนท์ บอรัพ

12–18 กันยายน

อิสยาห์ 13–14; 24–30; 35

“สิ่งทั้งประหลาดและอัศจรรย์”

หลังจากศึกษา อิสยาห์ 13–14; 24–30; 35 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ให้วางแผนกิจกรรมเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ แนวคิดกิจกรรมด้านล่างสามารถปรับใช้ได้กับทุกกลุ่มอายุ

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

เชื้อเชิญให้เด็กยืนขึ้นหากพวกเขาต้องการแบ่งปันบางสิ่งที่เพิ่งเรียนรู้เกี่ยวกับพระกิตติคุณที่บ้านหรือที่โบสถ์ ให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสแบ่งปัน

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

อิสยาห์ 14:12–14

มีสงครามเกิดขึ้นในสวรรค์

ก่อนที่จะสร้างโลก พระบิดาบนสวรรค์ทรงเลือกพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา อิสยาห์ 14:12–14 อธิบายความหยิ่งจองหองที่ซาตานแสดงออกมาในสภาสวรรค์ในโลกก่อนเกิด

กิจกรรมที่ทำได้

  • ใช้ “บทนำ: แผนของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 1–3) หรือเพลง “ฉันอยู่ในสรวงสวรรค์” (เลียโฮนา, ต.ค. 2010, 83) เพื่อเล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับสงครามในสวรรค์ก่อนเราเกิด (ขณะที่เล่า ให้พูดถึงวลีจาก อิสยาห์ 14:12–14 ที่อธิบายถึงซาตานด้วย) จากนั้นให้เด็กผลัดกันเล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟัง เน้นว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำตามแผนของพระบิดาบนสวรรค์และทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

  • วาดหัวใจที่มีคำว่า ซาตาน และใบหน้าเศร้าอยู่ข้างในบนกระดาน อธิบายว่าซาตานพูดในใจว่า “ข้า​จะ​ตั้ง​พระ‍ที่‍นั่ง​ของ​ข้าเหนือ​ดวง‍ดาว​ทั้ง‍หลาย​ของ​พระ‍เจ้า” (อิสยาห์ 14:13) ซึ่งหมายความว่าเขาต้องการจะอยู่เหนือกว่าพระบิดาบนสวรรค์ เชื้อเชิญให้เด็กคนหนึ่งวาดหัวใจอีกดวง หัวใจดวงนี้มีคำว่า พระเยซู และใบหน้ามีความสุขอยู่ข้างใน ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพระเยซูทรงต้องการทำสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงขอให้พระองค์ทำ (ดู โมเสส 4:1–2) เราจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูได้อย่างไร?

ภาพ
พระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อหญิงที่อุโมงค์

“พระ‍องค์​จะ​ทรง​กลืน​ความ​ตาย​เสีย​เป็น​นิตย์” (อิสยาห์ 25:8)

อิสยาห์ 25:8

พระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์

พระเยซูคริสต์ทรงสามารถบรรเทาความโศกเศร้าที่เรารู้สึกเกี่ยวกับความตาย เพราะพระองค์ทรงมีชัยเหนือความตาย เราทุกคนจึงจะฟื้นคืนชีวิตเช่นกัน

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ และขอให้เด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับภาพดังกล่าว หากจำเป็น ให้แบ่งปันเรื่องราวที่พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์กับพวกเขา (ดู “พระเยซูคืนพระชนม์” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่, 139–144) เล่นหรือร้องเพลงเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต เช่น “พระเยซูทรงฟื้น” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 44) และเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรที่ทราบว่าพระเยซูทรงฟื้นจากความตาย

  • เล่าให้เด็กฟังเกี่ยวกับคนที่ท่านรู้จักที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เรารู้สึกอย่างไรเมื่อคนที่เรารักสิ้นชีวิต? เชื้อเชิญให้เด็กวาดหน้าคนร้องไห้ จากนั้นอ่าน อิสยาห์ 25:8 ให้พวกเขาฟัง พระเยซูจะทรงทำอย่างไรกับน้ำตาของเราเมื่อเราคิดถึงคนที่สิ้นชีวิตไปแล้ว? เชื้อเชิญให้เด็กวาดใบหน้ามีความสุข แสดงประจักษ์พยานว่าเพราะพระเยซูคริสต์ฟื้นคืนพระชนม์ เราจึงรู้สึกได้รับการปลอบโยนเวลามีใครสักคนสิ้นชีวิตและรู้ว่าสักวันหนึ่งเราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิต

อิสยาห์ 29:12, 14

พระเจ้าทรงฟื้นฟูศาสนจักรของพระองค์ผ่านโจเซฟ สมิธ

การฟื้นฟูพระกิตติคุณคือ “สิ่งประหลาดและอัศจรรย์” (อิสยาห์ 29:14) แบ่งปันสิ่งมหัศจรรย์บางอย่างที่พระเจ้าทรงทำ—และยังทรงทำต่อไป—เพื่อฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระองค์ในสมัยของเรา

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชื้อเชิญให้เด็กบอกท่านว่าพวกเขารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ หากจำเป็น ให้แบ่งปัน “นิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ” (ใน เรื่องราวในหลักคำสอนและพันธสัญญา, 9–12) อ่าน อิสยาห์ 29:12 และอธิบายว่าแม้หลายคนจะมองว่าโจเซฟ สมิธ “อ่านไม่ออก” แต่พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นฟูพระกิตติคุณผ่านท่าน

  • อ่าน อิสยาห์ 29:14 ให้เด็กฟัง และแบ่งปันคำอื่นๆ ที่มีความหมายเหมือนกับคำว่า “ประหลาด” และ “อัศจรรย์” ให้ดูสิ่งของที่เป็นตัวแทนงานน่าอัศจรรย์บางอย่างของพระเจ้าในช่วงยุคสุดท้าย เช่น ภาพนิมิตแรกหรือภาพโจเซฟ สมิธได้รับฐานะปุโรหิต (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 90, 93, 94) หรือพระคัมภีร์มอรมอน เชื้อเชิญให้เด็กเลือกของหนึ่งอย่างและแบ่งปันว่าเหตุใดสิ่งนั้นจึงน่าอัศจรรย์สำหรับพวกเขา

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

อิสยาห์ 24:3–5; 29:7–10; 30:8–14

การละทิ้งความเชื่อคือการหันไปจากพระเจ้าและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

การอ่านคำเตือนของอิสยาห์เกี่ยวกับภัยของการละทิ้งความเชื่อสามารถช่วยให้เด็กตั้งใจแน่วแน่ต่อพระเจ้าและทำตามศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนคำว่า การละทิ้งความเชื่อ ไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้เด็กค้นหาความหมายใน “การละทิ้งความเชื่อ” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน อิสยาห์ 24:5; 30:9–11 และเขียนสิ่งที่ผู้คนทำในสมัยของอิสยาห์ซึ่งนำพวกเขาไปสู่การละทิ้งความเชื่อ จากนั้นให้เด็กเปลี่ยนสิ่งที่เขียนเป็นสิ่งที่เราทำได้เพื่อแน่วแน่ต่อพระเจ้า

  • แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ และมอบหมายให้อ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้คู่ละหนึ่งชุด: อิสยาห์ 24:3–5; อิสยาห์ 29:7–10; หรือ อิสยาห์ 30:8–14 เชื้อเชิญให้พวกเขาวาดรูปที่แสดงถึงสิ่งที่พวกเขาอ่าน ขณะที่พวกเขาแบ่งปันภาพวาด ให้ช่วยพวกเขาสนทนากันว่าถ้อยคำของอิสยาห์สอนอะไรเกี่ยวกับเหตุผลที่เราควรแน่วแน่ต่อพระเจ้า

อิสยาห์ 29:13–15, 18, 24

การฟื้นฟูพระกิตติคุณคือ “งานน่าอัศจรรย์”

ท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจได้อย่างไรว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของ “งานน่าอัศจรรย์” ของพระเจ้า (อิสยาห์ 29:14) ในยุคสุดท้าย?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้ดูภาพเหตุการณ์อัศจรรย์บางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อฟื้นฟูพระกิตติคุณ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 90–95 หรือหน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้) อ่าน อิสยาห์ 29:14, 18, 24 ด้วยกัน และเชื้อเชิญให้เด็กหาคำและวลีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในภาพ ถามเด็กว่าพวกเขาจะช่วย “งานน่าอัศจรรย์” ของพระเจ้าได้อย่างไร (ข้อ 14)

  • แบ่งปันประสบการณ์สั้นๆ เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจว่า การฟื้นฟู หมายความว่าอย่างไร ตัวอย่างเช่น พูดถึงสิ่งที่หายไปและท่านพบได้อย่างไร ช่วยเด็กเปรียบเทียบสิ่งนี้กับการฟื้นฟูพระกิตติคุณ ตามที่กล่าวไว้ใน อิสยาห์ 29:13–15 เหตุใดเราจึงต้องการการฟื้นฟู? งานน่าอัศจรรย์อะไรที่พระเจ้าทรงทำเพื่อฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระองค์?

อิสยาห์ 14:3; 25:8; 28:16

คำสอนของอิสยาห์ชี้นำฉันไปหาพระเยซูคริสต์

คำสอนของอิสยาห์สามารถชี้นำให้เด็กที่ท่านสอนไปหาพระผู้ช่วยให้รอดและช่วยให้พวกเขาจดจำสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อพวกเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ลงในกระดาษข้อละแผ่น: อิสยาห์ 14:3; อิสยาห์ 25:8; อิสยาห์ 28:16; มัทธิว 11:28–30; 1 โครินธ์ 15:53–57; ฮีลามัน 5:12 แจกกระดาษให้เด็ก และเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนความจริงที่เรียนรู้จากข้อพระคัมภีร์ลงบนแผ่นกระดาษและทำงานร่วมกันเพื่อจับคู่ข้อที่สอนความจริงที่คล้ายคลึงกัน ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเจ้าทรงทำสิ่งยิ่งใหญ่อะไรให้เราบ้าง?

  • ขอให้เด็กเลือกวลีจาก อิสยาห์ 14:3; 25:8; หรือ 28:16 ที่ทำให้พวกเขานึกถึงพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนวลีลงบนแผ่นกระดาษและวาดรูปพระผู้ช่วยให้รอดที่พวกเขาสามารถตั้งโชว์ในบ้านของพวกเขาได้

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เชื้อเชิญให้เด็กเขียนบันทึกหรือวาดรูปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในชั้นเรียนวันนี้ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันกับครอบครัวหรือสมาชิกชั้นเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมปฐมวัยวันนี้

ปรับปรุงการสอนของเรา

ปรับกิจกรรมให้เหมาะกับเด็กพิการ การปรับกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้เด็กทุกคนได้เรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ถ้ากิจกรรมแนะนำให้ดูภาพ ท่านจะร้องเพลงแทนการดูภาพเพื่อให้เด็กพิการทางสายตาได้มีส่วนร่วม

พิมพ์