“29 สิงหาคม–4 กันยายน: สุภาษิต 1–4; 15–16; 22; 31; ปัญญาจารย์ 1–3; 11–12: ‘ความยำเกรงพระยาห์เวห์เป็นที่เริ่มต้นของปัญญา’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“29 สิงหาคม–4 กันยายน: สุภาษิต 1–4; 15–16; 22; 31; ปัญญาจารย์ 1–3; 11–12” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
29 สิงหาคม–4 กันยายน
สุภาษิต 1–4; 15–16; 22; 31; ปัญญาจารย์ 1–3; 11–12
“ความยำเกรงพระยาห์เวห์เป็นที่เริ่มต้นของปัญญา”
ขณะที่ท่านศึกษาสุภาษิตและปัญญาจารย์ ให้นึกถึงเด็กที่ท่านสอน ข่าวสารเรื่องใดจากพระคัมภีร์เหล่านี้ที่สามารถช่วยให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้น?
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
วาดภาพสิ่งต่างๆ ที่กล่าวถึงในหนังสือสุภาษิตไว้บนกระดาน เช่น หัวใจ แสงสว่าง หรือทางเดิน ช่วยเด็กอ่าน สุภาษิต 3:5; 4:18, 26 และเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้จากพระคัมภีร์
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
ฉันวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจของฉัน
เมื่อเราวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจของเรา เราจะมีศรัทธาในพระองค์และรู้ว่าพระองค์จะทรงช่วยเรา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กคนหนึ่งถือภาพพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่ท่านอ่าน สุภาษิต 3:5 บอกเด็กว่าการวางใจในพระเจ้ามีความหมายต่อท่านอย่างไร เชื้อเชิญให้เด็กทำมือเป็นรูปหัวใจหรือกุมมือไว้เหนือหัวใจของพวกเขาขณะที่พูดทวนวลี “จงวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า” หลายๆ รอบ
-
วาดหัวใจดวงใหญ่ไว้บนกระดาน และช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาวางใจในพระเจ้า เชื้อเชิญให้พวกเขาวาดแนวคิดของตนภายในรูปหัวใจหรือบนแผ่นกระดาษ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันแนวคิดของตนกับครอบครัว
ฉันสามารถใช้คำพูดที่อ่อนโยน
ในสถานการณ์ตึงเครียดหรือน่าหงุดหงิด เราอาจถูกล่อลวงให้โต้ตอบด้วยความโกรธ สุภาษิต 15:1, 18 สอนเราว่าจะระงับความโกรธได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
อ่าน สุภาษิต 15:1 ให้เด็กฟัง และอธิบายคำหรือวลีต่างๆ ที่พวกเขาอาจไม่คุ้นเคย แบ่งปันตัวอย่างสถานการณ์ที่เด็กอาจรู้สึกโกรธ (เช่น โต้เถียงกับพี่ชายหรือพี่สาว) ช่วยให้พวกเขานึกถึง “คำตอบนุ่มนวล” หรือคำพูดอ่อนโยนที่พวกเขาอาจใช้แทนคำพูดที่รุนแรงเกรี้ยวกราด ช่วยพวกเขาฝึกพูดสิ่งเหล่านี้อย่างนุ่มนวลหรือด้วยน้ำเสียงสุภาพ
-
ร้องเพลงหนึ่งเพลงเกี่ยวกับความเมตตา เช่น “ความเมตตาเริ่มที่เรา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 83) เพลงนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการมีเมตตา?
-
เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการ “โกรธช้า” (สุภาษิต 15:18) ให้เล่าเรื่องราวส่วนตัวเมื่อท่าน (หรือคนที่ท่านรู้จัก) รู้สึกโกรธแต่เลือกที่จะมีเมตตา ให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองด้วย ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้แทนที่จะโกรธ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจนึกถึงพระเยซู ทูลขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยพวกเขา ร้องเพลงปฐมวัย หรือหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้เดินหนีออกมา
ฉันสามารถแบ่งปันสิ่งที่มีให้กับผู้อื่น
เด็กเล็กสามารถเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือผู้คนรอบข้างที่ขัดสน ท่านจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่มีให้กับผู้อื่นได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูภาพผู้อื่นรับใช้หรือช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนหลายๆ ภาพ รวมทั้งภาพพระผู้ช่วยให้รอด (เช่น หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 42, 44, 46) ขอให้เด็กบอกท่านว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละภาพ อ่าน สุภาษิต 22:9 ให้เด็กฟัง อธิบายว่าวิธีหนึ่งที่เราสามารถรับใช้ได้คือการให้ “อาหารแก่คนจน” แต่ยังมีอีกหลายวิธีในการช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน เชื้อเชิญให้เด็กวาดรูปตนเองกำลังช่วยเหลือใครบางคน
-
นำสิ่งของหลายๆ อย่างมาชั้นเรียนที่ท่านสามารถแบ่งให้เด็กได้ เช่น รูปภาพหรือดินสอสี ขณะที่ท่านให้สิ่งของกับเด็กแต่ละคน ให้พูดว่า “ฉันจะแบ่งปันให้กับ [ชื่อเด็ก]” ให้เด็กผลัดกันแบ่งปันสิ่งของให้กันและกัน มีอะไรอีกบ้างที่เราสามารถแบ่งปันกับผู้อื่นได้?
-
ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับการรับใช้ เช่น “ลำธารเล็กๆ พูดว่า ‘จงให้’” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 116) ถามเด็กว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาช่วยเหลือผู้อื่น
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
สุภาษิต 1:7; 2:5; 15:33; 16:6; ปัญญาจารย์ 12:13
การ “ยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า” หมายถึงรักและเชื่อฟังพระองค์
ข่าวสารสำคัญหนึ่งเรื่องในสุภาษิตและปัญญาจารย์คือ “จงยำเกรงพระเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (ปัญญาจารย์ 12:13) ไตร่ตรองว่าท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการยำเกรงพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กเขียนสิ่งที่ผู้คนอาจยำเกรง จากนั้นขอให้พวกเขาอ่าน สุภาษิต 1:7 และ ปัญญาจารย์ 12:13 การยำเกรงพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร? เพื่อช่วยตอบคำถามข้อนี้ ขอให้เด็กคนหนึ่งอ่านข้อพระคัมภีร์อีกครั้ง โดยแทนที่คำว่า “ยำเกรง” ด้วยคำว่า“ คารวะ” ทำกิจกรรมนี้ซ้ำกับคำเช่น “รัก” “การเชื่อฟัง” หรือ “เชื่อฟัง” เรื่องนี้เปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความหมายของการยำเกรงพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?
-
เชื้อเชิญให้เด็กแต่ละคนเลือกข้อพระคัมภีร์หนึ่งข้อต่อไปนี้เพื่ออ่าน โดยมองหาคำว่า “ยำเกรง”: สุภาษิต 1:7; 2:5; 15:33; 16:6 ขอให้เด็กแบ่งปันว่าข้อพระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับพรที่มาเมื่อเรายำเกรงพระเจ้า ซึ่งหมายถึงเราแสดงความคารวะและความเคารพต่อพระองค์ (ดู สุภาษิต 14:26–27 ด้วย) เราแสดงให้พระเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าเรารักและเคารพพระองค์?
“จงวางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้า”
-
อ่าน สุภาษิต 3:5–7 ด้วยกัน และเชื้อเชิญให้เด็กเขียนสิ่งที่ข้อเหล่านี้บอกว่าเราควรทำและไม่ควรทำ ถามพวกเขาว่าพวกเขารู้สึกว่าแต่ละข้อเหล่านี้อาจหมายถึงอะไร คนที่เราไว้วางใจมีคุณลักษณะอะไรบ้าง? พระเจ้าทรงมีพระคุณลักษณะอะไรบ้างที่ช่วยให้เราวางใจพระองค์?
-
เพื่อแสดงให้เห็นว่า “อย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง” มีความหมายว่าอย่างไร ให้เด็กลองพิงไม้หรือดินสอกับสิ่งของหลายๆ อย่าง เช่น หนังสือหรือแผ่นกระดาษ ของชิ้นใดที่พิงได้ดีที่สุด? เหตุใดการ “วางใจในพระเจ้า” และไม่พึ่งพา “ความรอบรู้ของตนเอง” จึงมีความสำคัญ?
“คำตอบนุ่มนวลช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป”
การพูดด้วยความโกรธมักจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดแย่ลงไปอีก ข้อเหล่านี้สอนว่าคำพูดและเจตคติของเราสามารถทำให้ความฉุนเฉียวหรือความโกรธหายไปได้
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนคำว่า ความโกรธเกรี้ยว และ การวิวาท ไว้บนกระดาน และแบ่งปันตัวอย่างการโต้เถียงที่เด็กอาจมี จากนั้นขอให้เด็กอ่าน สุภาษิต 15:1, 18; 16:32 และหาคำแนะนำที่พวกเขาอาจให้กับเด็กที่กำลังโต้เถียงกัน ทุกครั้งที่เด็กแบ่งปันแนวคิด ให้เชิญพวกเขาลบคำบางส่วนบนกระดาน เชิญให้พวกเขาแทนที่คำเหล่านั้นด้วยคำอื่นๆ ที่อธิบายถึงคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ที่ก่อให้เกิดสันติสุข
-
ช่วยให้เด็กนึกถึงเรื่องราวในพระคัมภีร์เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างของสิ่งที่สอนใน สุภาษิต 15:1, 18; 16:32 พวกเขาอาจดูแนวคิดได้จาก ยอห์น 8:1–11; 18:1–11 ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด เช่น “ฉันพากเพียรเป็นเหมือนเยซู” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 40–41) เราจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูได้อย่างไรขณะที่เราปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัว เพื่อน และผู้อื่น?
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
ช่วยเด็กเลือกข้อพระคัมภีร์ที่อ่านในชั้นเรียนที่พวกเขาชอบ กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันข้อนั้นกับครอบครัวและเล่าสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อนั้นให้ครอบครัวฟัง