“3–9 ตุลาคม อิสยาห์ 58–66: ‘องค์พระผู้ไถ่จะเสด็จมายังศิโยน’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“3–9 ตุลาคม อิสยาห์ 58–66” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
3–9 ตุลาคม
อิสยาห์ 58–66
“องค์พระผู้ไถ่จะเสด็จมายังศิโยน”
แนวคิดกิจกรรมในโครงร่างนี้มีไว้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ความคิดสร้างสรรค์ของท่าน อย่ารู้สึกว่าต้องทำตามแนวคิดนั้นทุกอย่าง แต่ให้ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณทั้งก่อนและระหว่างบทเรียนของท่าน
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ถ้อยคำของอิสยาห์หลายส่วนเป็นพยานและสอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด ให้ดูภาพพระเยซูคริสต์ และเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ในสัปดาห์นี้
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
สะบาโตเป็นวันปีติยินดีสำหรับฉัน
วันสะบาโตเป็นเวลาที่เราระลึกถึงพระเจ้าและพักผ่อนจากกิจกรรมประจำสัปดาห์ของเรา ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนทำให้สะบาโตเป็นวันปีติยินดีได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ขอให้เด็กพูดทวนวลี “เรียกสะบาโตว่าวันปีติยินดีและเรียกวันบริสุทธิ์ของพระยาห์เวห์” (อิสยาห์ 58:13) หลายๆ รอบ อธิบายว่า “ปีติยินดี” หมายถึงบางสิ่งที่ทำให้มีความสุข ขอให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข เป็นพยานว่าพระเจ้าประทานวันสะบาโตแก่เราเพราะพระองค์ทรงต้องการให้เรามีความสุข บอกเด็กว่าเหตุใดสะบาโตจึงเป็นวันปีติยินดีสำหรับท่าน
-
อ่านให้เด็กฟังจาก อิสยาห์ 58:14: “แล้วเจ้าจะปีติยินดีในพระยาห์เวห์” อธิบายให้เด็กฟังว่าวันสะบาโตเป็นวันพิเศษ—ช่วงเวลาที่เราจะนึกถึงสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูทรงทำเพื่อช่วยให้เรามีความสุข ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ในวันสะบาโตเพื่อระลึกถึงพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซู เชื้อเชิญให้พวกเขาวาดแนวคิดและแบ่งปันภาพกับอีกคนและครอบครัวของพวกเขา
ฉันสามารถฉายความสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดให้กับผู้อื่น
อิสยาห์พยากรณ์ว่าในวันเวลาสุดท้าย ผู้คนของพระเจ้าจะเป็นเหมือนความสว่างให้กับผู้ที่อยู่ในความมืด พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เด็ก “ลุกขึ้น” และ “ฉายแสง” ได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กหลับตาขณะท่านอ่าน อิสยาห์ 60:1–3 ขอให้พวกเขาลืมตาเมื่อได้ยินคำว่า “ความสว่าง” และหลับตาเมื่อได้ยินคำว่า “ความมืด” อธิบายว่าพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เป็นเหมือนความสว่างที่ช่วยให้เราเห็นทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์
-
แจกภาพแสงสว่างให้เด็กแต่ละคน (เช่น ดวงอาทิตย์ เทียนไข หรือหลอดไฟ) ช่วยพวกเขานึกวิธีที่พวกเขาจะแบ่งปันความสว่างของพระผู้ช่วยให้รอดให้กับผู้อื่นได้ ขณะแบ่งปันแนวคิดแต่ละข้อ เชื้อเชิญให้พวกเขา “ลุกขึ้น” และ “ฉายแสง” โดยถือภาพของพวกเขา บอกเด็กเกี่ยวกับวิธีที่ท่านเห็นพวกเขาแบ่งปันความสว่างของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับการแบ่งปันความสว่าง เช่น “ส่องไป” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 96) ช่วยเด็กสังเกตคำในเพลงที่เสริมกับสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก อิสยาห์ 60:1–3
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของฉัน
อิสยาห์ 61:1–3 ให้คำอธิบายที่ทรงพลังเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระผู้ช่วยให้รอดในการสอนและการเยียวยา มองหาวิธีช่วยให้เด็กเห็นว่าพระเยซูคริสต์ทรงสอนและเยียวยาพวกเขาเป็นการส่วนตัวได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กถือภาพพระเยซูทรงสอน รักษา และช่วยผู้อื่นขณะท่านอ่าน อิสยาห์ 61:1 (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ) อธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระเยซูคริสต์มาทำสิ่งเหล่านี้เพื่อเราทุกคน ขอให้เด็กแบ่งปันความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เป็นพยานถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงมีให้เด็กแต่ละคน
-
อิสยาห์ 61:3 อธิบายถึงคนที่ฟังและเชื่อฟังพระเจ้าว่าเป็น “ต้นโอ๊กแห่งความชอบธรรม” วาดต้นไม้บนกระดาน และเชื้อเชิญให้เด็กนึกถึงสิ่งชอบธรรมที่พวกเขาทำได้ สำหรับทุกแนวคิด ให้เด็กวาดใบไม้บนต้นไม้
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
การอดอาหารเป็นพรแก่ฉันและผู้อื่นที่ขัดสน
เด็กบางคนที่ท่านสอนอาจโตพอที่จะอดอาหาร แต่แม้คนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้เกี่ยวกับกฎแห่งการอดอาหารของพระเจ้าก็อาจเตรียมตัวอดอาหารเมื่อพวกเขาพร้อม
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนบนกระดานว่า เหตุใดเราจึงอดอาหาร? และ เราอดอาหารอย่างไร? เชื้อเชิญให้เด็กเขียนคำตอบบนกระดาน กระตุ้นให้พวกเขาทบทวน “อดอาหาร (การ)” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) และหาคำตอบเพิ่มเติมใน อิสยาห์ 58:6–11 อิสยาห์ 58:6–11 อาจช่วยเราได้อย่างไรเมื่อการอดอาหารเป็นเรื่องยาก?
-
แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับการอดอาหาร หรือแบ่งปันเรื่องราวจากนิตยสารศาสนจักรเกี่ยวกับการอดอาหาร เน้นย้ำถึงพรที่มาจากการอดอาหารด้วยจุดประสงค์ทางวิญญาณ หากเด็กคนใดเคยอดอาหาร ให้เชิญพวกเขาแบ่งปันประสบการณ์ของตน กระตุ้นให้เด็กพูดคุยกับบิดามารดาในวันอาทิตย์อดอาหารถัดไปเกี่ยวกับความหมายของการอดอาหาร ช่วยให้พวกเขาเข้าใจความหมายของการอดอาหารด้วยจุดประสงค์ที่จริงใจและสวดอ้อนวอนในใจ
-
อ่าน อิสยาห์ 58:6–7 ด้วยกัน และอธิบายว่าวิธีหนึ่งที่เรา “แบ่งอาหาร [ของเรา] กับคนหิว” เมื่อเราอดอาหารคือการบริจาคเงินที่เราจะต้องใช้ซื้ออาหารเป็นเงินบริจาคอดอาหาร ให้เด็กดูใบบริจาคส่วนสิบและเงินบริจาคอาหาร และอธิบายวิธีกรอกใบนั้น เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน อิสยาห์ 58:8–10 โดยมองหาพรที่เราได้รับสัญญาเมื่อเราอดอาหาร การอดอาหารเป็นพรแก่เราและผู้ที่ขัดสนได้อย่างไร?
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของฉัน
ไตร่ตรองว่าท่านจะใช้ถ้อยคำของอิสยาห์ให้ดีที่สุดได้อย่างไรเพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานของเด็กเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของพวกเขา
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เวลาเด็กสองสามนาทีเพื่ออ่าน อิสยาห์ 61:1–3 ด้วยตนเอง จากนั้นเชิญให้พวกเขาเขียนบนแผ่นกระดาษหรือในสมุดบันทึกการศึกษาว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนอะไรพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้เด็กสองสามคนแบ่งปันความคิดของตน
-
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันวลีหนึ่งจากข้อเหล่านี้ที่มีความหมายต่อพวกเขาเป็นพิเศษและอธิบายถึงเหตุผล ข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจได้อย่างไรว่าส่งพระเยซูคริสต์เสด็จมายังแผ่นดินโลกเพื่อทำอะไร?
มิลเลเนียมจะเป็นเวลาแห่งสันติสุขและปีติ
อิสยาห์เห็นช่วงเวลาที่ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าจะมีสันติสุขและปีติ คำพยากรณ์นี้จะเกิดสัมฤทธิผลเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จกลับมาแผ่นดินโลกและทรงครองราชย์เป็นเวลาพันปี—ยุคที่เรียกว่ามิลเลเนียม
กิจกรรมที่ทำได้
-
อิสยาห์ 65:17–25 อธิบายว่าโลกจะเป็นอย่างไรเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จมาอีกครั้ง แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยให้แต่ละกลุ่มอ่านข้อเหล่านี้สองสามข้อ หลังจากนั้นไม่กี่นาที ให้ช่วยกันเขียนบนกระดานว่าชีวิตจะต่างไปอย่างไรใน “แผ่นดินโลกใหม่” ที่อธิบายไว้ในข้อเหล่านี้ (ข้อ 17) เหตุใดจึงเป็นช่วงเวลาที่ “ชื่นบานและเปรมปรีดิ์เป็นนิตย์”? (ข้อ 18)
-
ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เตรียมแผ่นกระดาษที่มีคำและวลีจากหลักแห่งความเชื่อข้อที่สิบ เชื้อเชิญให้เด็กคนหนึ่งท่องหลักแห่งความเชื่อ และขอให้เด็กเรียงแผ่นคำตามลำดับ ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าหลักแห่งความเชื่อข้อนี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับมิลเลเนียม
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในวันนี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดกับครอบครัว กระตุ้นให้พวกเขาอ่านพระคัมภีร์กับครอบครัวในสัปดาห์นี้