“17–23 ตุลาคม เยเรมีย์ 30–33; 36; บทเพลงคร่ำครวญ 1; 3: ‘เราจะกลับความโศกเศร้าของเขาให้เป็นความชื่นบาน’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“17–23 ตุลาคม เยเรมีย์ 30–33; 36; บทเพลงคร่ำครวญ 1; 3” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
การร่ำไห้ของศาสดาพยากรณ์เยเรมีย์ จากภาพแกะสลักโดยโรงเรียนนาซารีน
17–23 ตุลาคม
เยเรมีย์ 30–33; 36; บทเพลงคร่ำครวญ 1; 3
“เราจะกลับความโศกเศร้าของเขาให้เป็นความชื่นบาน”
หนังสือเยเรมีย์และบทเพลงคร่ำครวญอาจจะเข้าใจยากสำหรับเด็ก แต่ชั้นเรียนของท่านยังสามารถเรียนรู้บทเรียนจากหลักธรรมที่สอนในหนังสือเหล่านี้ได้ ท่านได้รับการดลใจให้แบ่งปันอะไรบ้าง?
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
ส่งพระคัมภีร์ไบเบิลเวียนไปรอบๆ ขณะที่เด็กถือพระคัมภีร์ ขอให้พวกเขาแบ่งปันบางสิ่งที่พวกเขาชอบเกี่ยวกับพันธสัญญาเดิม—อาจเป็นหลักธรรมหรือเรื่องโปรดที่พวกเขาเรียนรู้จากพระคัมภีร์ที่บ้านหรือที่โบสถ์
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูทรงรักฉัน
ความรู้สึกถึง “ความรักนิรันดร์” ของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเข้าใกล้พระองค์มากขึ้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้เด็กดูสิ่งของบางอย่าง (หรือภาพสิ่งของ) ที่อยู่คงทนยาวนานและบางอย่างที่อยู่ไม่นาน เช่นเหรียญโลหะและผลไม้ชิ้นหนึ่ง ถามเด็กว่าของชิ้นใดจะอยู่ได้นานกว่ากัน และสนทนาว่าเหตุใดบางสิ่งจึงอยู่ได้นานกว่าสิ่งอื่น อ่าน เยเรมีย์ 31:3 และช่วยให้เด็กเข้าใจว่าความรักที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงมีให้แก่พวกเขาคือ “นิรันดร์”
-
ขอให้เด็กแบ่งปันว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงแสดง “ความรักมั่นคง” ต่อพวกเขาอย่างไร (เยเรมีย์ 31:3) เพื่อให้แนวคิดแก่เด็ก ให้ร้องเพลงเกี่ยวกับความรักของพระองค์ที่ทรงมีให้เรา เช่น “ฉันรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วย” หรือ “พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักฉัน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 42–43, 16-17) หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ให้ดูภาพสิ่งต่างๆ ที่กล่าวถึงในเพลง เรารู้สึกอย่างไรเมื่อนึกถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?
พระคัมภีร์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เรากลับใจและหันมาหาพระเจ้า
พระคัมภีร์เป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้า
พระเจ้าตรัสบอกให้เยเรมีย์จดพระคำของพระองค์ และงานเขียนของเยเรมีย์ได้รับการเก็บรักษาไว้ให้เราในหนังสือเยเรมีย์ ช่วยให้เด็กรักพระคัมภีร์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งเราพบพระคำของพระผู้เป็นเจ้าในนั้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กคนหนึ่งแสร้งเป็นเยเรมีย์ และให้เด็กอีกคนแสร้งเป็นบารุค ช่วยเด็กที่แสดงเป็นเยเรมีย์พูดบางอย่างจาก เยเรมีย์ 36:3 ขณะเด็กอีกคนแสร้งทำเป็นจดเหมือนที่บารุคทำ เป็นพยานว่าพระคัมภีร์ในปัจจุบันเป็น “พระวจนะของพระยาห์เวห์” (เยเรมีย์ 36:4) ที่พระองค์ทรงขอให้ศาสดาพยากรณ์เขียนไว้
-
ให้ดูหนังสือสำหรับเด็กและพระคัมภีร์ และขอให้เด็กพูดถึงความแตกต่างที่พวกเขาสังเกตเห็นระหว่างหนังสือสองเล่มนี้ อะไรทำให้พระคัมภีร์มีความพิเศษ? ช่วยให้เด็กเข้าใจว่าพระคัมภีร์เป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้าที่เขียนโดยศาสดาพยากรณ์ เช่นเดียวกับหนังสือเยเรมีย์ที่เป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสบอกให้เยเรมีย์เขียน
ฉันสามารถแบ่งปันสิ่งที่ฉันเรียนรู้จากพระคัมภีร์
เด็กสามารถมีอิทธิพลอย่างมากต่อคนรอบข้าง เช่นเดียวกับบารุค พวกเขาสามารถแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ในพระคัมภีร์กับผู้อื่นได้
กิจกรรมที่ทำได้
-
เชื้อเชิญให้เด็กทำท่าประกอบถ้อยคำขณะที่ท่านอ่าน (หรือสรุป) เยเรมีย์ 36:4–10 เช่น แสร้งทำเป็นเขียนหนังสือ (ดู ข้อ 4) จับลูกกรงห้องขัง (ดู ข้อ 5) และอ่านพระคัมภีร์ให้ผู้คนฟัง (ดูข้อ 8, 10) เน้นว่าบารุคมีความกล้าหาญที่จะอ่านถ้อยคำของเยเรมีย์ให้ผู้คนฟังแม้ผู้นำในเยรูซาเล็มไม่ต้องการให้เขาอ่านก็ตาม ช่วยให้เด็กจดจำบางสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากพันธสัญญาเดิมและคิดวิธีที่พวกเขาจะแบ่งปันกับผู้อื่นได้
-
ร้องเพลงเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เช่น “ค้นหาไตร่ตรองและสวด” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 66) แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระคัมภีร์ และเชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันประจักษ์พยานของตนด้วย
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
ฉันสามารถรักษาพันธสัญญาของฉันกับพระผู้เป็นเจ้า
คำสอนของเยเรมีย์เกี่ยวกับพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของพระเจ้าสามารถช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเสริมสร้างความปรารถนาที่จะรักษาพันธสัญญาของพวกเขา
กิจกรรมที่ทำได้
-
วาดหัวใจบนกระดาน และเชื้อเชิญให้เด็กครึ่งหนึ่งอ่าน เยเรมีย์ 31:31–34 และอีกครึ่งหนึ่งอ่าน เยเรมีย์ 32:38–41 เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มเขียนสิ่งที่เรียนรู้จากข้อของตนเกี่ยวกับพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้าไว้ในรูปหัวใจ การมีกฎของพระผู้เป็นเจ้าจารึกไว้ในใจเรา (ดู เยเรมีย์ 31:33) แตกต่างจากการอ่านในพระคัมภีร์อย่างไร? เหตุใดเราจึงต้องการทำพันธสัญญากับพระเจ้า? เหตุใดพระองค์จึงทรงต้องการทำพันธสัญญากับเรา?
-
เพื่อทบทวนพันธสัญญาที่เราทำเมื่อรับบัพติศมา เชื้อเชิญให้เด็กทำแผนภูมิสองคอลัมน์ในแผ่นกระดาษที่มีหัวเรื่อง คำสัญญาของฉัน และ คำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้พวกเขาเติมลงในตารางโดยใช้ โมไซยาห์ 18:10,13; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 เชื้อเชิญให้เด็กแสดงกระดาษแผ่นนั้นที่บ้านเพื่อช่วยให้พวกเขาจำที่จะรักษาพันธสัญญาของพวกเขา
พระคัมภีร์เป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้า
เรื่องราวใน เยเรมีย์ 36 สามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้จากแบบอย่างของผู้คนที่ยอมรับพระคำของพระเจ้าในพระคัมภีร์
กิจกรรมที่ทำได้
-
เขียนคำถามเหล่านี้บนกระดาน: เหตุใด? ใครเห็นคุณค่าพระคัมภีร์? ใครไม่เห็นคุณค่าพระคัมภีร์? อ่าน เยเรมีย์ 36:1–3 ด้วยกัน และถามเด็กว่าเหตุใดพระเจ้าจึงทรงต้องการให้เยเรมีย์จดพระคำของพระองค์ จากนั้นขอให้เด็กจับคู่กันเพื่ออ่าน เยเรมีย์ 36:5–8, 20–25 และระบุว่าใครแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเห็นคุณค่าพระคัมภีร์และใครไม่เห็นคุณค่าพระคัมภีร์ พูดคุยถึงเหตุผลที่ท่านเห็นคุณค่าพระคัมภีร์ แบ่งปันข้อพระคัมภีร์หรือเรื่องราวที่มีความหมายต่อท่านเป็นพิเศษ เชื้อเชิญให้เด็กแบ่งปันเช่นเดียวกัน
-
เชื้อเชิญให้เด็กใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้เพื่อฝึกแบ่งปันเรื่องราวใน เยเรมีย์ 36 ให้กันฟัง เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์
บทเพลงคร่ำครวญ 1:1–2, 16; 3:22–26
พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้ฉันได้รับการอภัยบาป
ตามที่บทเพลงคร่ำครวญอธิบายไว้เป็นบทกวี เรามักจะรู้สึกเศร้าเมื่อเราทำบาป ความรู้สึกเหล่านี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราเปลี่ยนแปลงและทูลขอการให้อภัยจากพระบิดาบนสวรรค์
กิจกรรมที่ทำได้
-
อธิบายกับเด็กว่าเพราะชาวอิสราเอลไม่กลับใจ เยรูซาเล็มและพระวิหารที่นั่นจึงถูกทำลาย ขอให้เด็กพูดคุยกันว่าพวกเขาอาจรู้สึกอย่างไรหากพวกเขาอาศัยอยู่ในเยรูซาเล็มในเวลานั้น อ่าน บทเพลงคร่ำครวญ 1:1–2, 16 ด้วยกัน คำและวลีใดในข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าชาวอิสราเอลอาจรู้สึกอย่างไร? ข่าวสารใน บทเพลงคร่ำครวญ 3:22–26 อาจทำให้พวกเขามีความหวังอย่างไร?
-
ขอให้เด็กนึกถึงช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกเศร้ากับการเลือกที่ไม่ดีที่พวกเขาทำ พวกเขาพบอะไรใน บทเพลงคร่ำครวญ 3:22–26 ที่ช่วยให้พวกเขารู้ว่าพระเจ้าเต็มพระทัยให้อภัยพวกเขา?
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
เชื้อเชิญให้เด็กขอให้สมาชิกครอบครัวแบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่ท่านศึกษาในชั้นเรียน ตัวอย่างเช่น หากท่านสนทนาเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เด็กอาจขอให้สมาชิกครอบครัวแบ่งปันว่าเขารู้ว่าพระคัมภีร์เป็นความจริงได้อย่างไร
ปรับปรุงการสอนของเรา
ดึงดูดความสนใจของเด็ก ท่านอาจต้องคิดหาวิธีสร้างสรรค์ที่จะให้เด็กเล็กมีส่วนร่วม ตัวอย่างเช่น ใช้รูปภาพ เพลง เกม และกิจกรรมอื่นๆ