“26 กันยายน–2 ตุลาคม อิสยาห์ 50–57: ‘ท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)
“26 กันยายน–2 ตุลาคม อิสยาห์ 50–57” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022
26 กันยายน–2 ตุลาคม
อิสยาห์ 50–57
“ท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป”
อิสยาห์ 50–57 มีภาษาที่สละสลวยในบางคำซึ่งเด็กที่ท่านสอนอาจไม่เข้าใจ ขณะเตรียมสอน ให้ไตร่ตรองถึงความจริงอันเรียบง่ายที่คำเหล่านี้สอนและวิธีที่ท่านจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างไร
บันทึกความประทับใจของท่าน
เชื้อเชิญให้แบ่งปัน
กระตุ้นให้เด็กแต่ละคนแบ่งปันว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูคริสต์ทรงรักพวกเขา ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขารักพระเยซู
สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก
พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์แทนฉันเพราะพระองค์ทรงรักฉัน
โดยผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงทนทุกข์เพราะบาปของเราและทรงรับเอา “ความเจ็บไข้” และ “ความเจ็บปวด” ของเราไว้กับพระองค์เอง ท่านจะเป็นพยานแก่เด็กเกี่ยวกับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์บนกางเขนและในสวนเกทเสมนี (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 56, 57 หรือ บทที่ 51–53 จาก เรื่องราวในพันธสัญญาใหม่) ขอให้เด็กอธิบายสิ่งที่พวกเขาเห็นในภาพและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เหตุใดพระเยซูจึงทรงทนทุกข์เพื่อเรา?
-
อ่านให้เด็กฟังจาก อิสยาห์ 53:4: “ท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป” ให้เด็กดูสิ่งของที่หนัก (หรือภาพสิ่งของชิ้นนั้น) และเชื้อเชิญให้พวกเขาแสร้งทำท่ายกของหนัก อธิบายว่า “ความเจ็บไข้” และ “ความเจ็บปวด” (หรือความโศกเศร้า) อาจรู้สึกหนักและยากที่จะแบกรับ เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์จะทรงช่วยเราแบกรับสิ่งเหล่านี้เพราะพระองค์ทรงรักเรา
ฉันสามารถแสวงหาพระเจ้าและเรียกหาพระองค์
พิจารณาว่าท่านจะช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของการ “แสวงหา” พระเยซูตลอดชีวิตได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ซ่อนภาพพระเยซูไว้ที่ใดที่หนึ่งในห้อง และให้เด็กหา อ่าน “จงแสวงหาพระยาห์เวห์ ขณะที่จะพบพระองค์ได้” จาก อิสยาห์ 55:6 ขอให้เด็กตั้งชื่อวิธีที่พวกเขาสามารถแสวงหาพระเจ้า—ซึ่งหมายถึงพวกเขาพยายามอย่างหนักที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์และเข้าใกล้พระองค์ ทุกครั้งที่เด็กตอบ ให้ซ่อนภาพอีกครั้งและเชิญให้เด็ก “แสวงหา” ภาพนั้น
-
ช่วยให้เด็กเรียนรู้คำร้องของเพลง “เร่งแสวงหาพระเจ้า” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 67) หรือเพลงอื่นที่เกี่ยวกับการเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ช่วยให้เด็กเลือกสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อ “แสวงหา … พระเจ้า”
-
อ่านวลี “จงทูลพระองค์ ขณะที่พระองค์ทรงอยู่ใกล้” จาก อิสยาห์ 55:6 เราร้องทูลพระบิดาบนสวรรค์อย่างไร? ขอให้เด็กพูดคุยกันถึงสิ่งที่พวกเขากล่าวในคำสวดอ้อนวอน เป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักพวกเขาและทรงได้ยินเมื่อพวกเขาสวดอ้อนวอน
สอนหลักคำสอน: เด็กโต
พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ฉัน “สวมกำลัง [ของฉัน]”
ใน อิสยาห์ 51 และ 52 พระเจ้าทรงใช้วลีเช่น “ตื่นขึ้น” “ยืนขึ้น” และ “สวมกำลังของเจ้า” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนของพระองค์ดำเนินชีวิตตามศักยภาพแห่งสวรรค์ของพวกเขา พิจารณาว่าวลีเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กที่ท่านสอนได้อย่างไร
กิจกรรมที่ทำได้
-
ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เขียนวลีต่างๆ จาก อิสยาห์ 51–52 บนกระดานที่แสดงถึงการกระทำที่พระเจ้าทรงต้องการให้ผู้คนของพระองค์ทำ เช่น “เงยหน้าของพวกเจ้า” “ตื่นขึ้น” “ยืนขึ้น” “ยกตัวออกจากผงคลี” และ “เปล่งเสียงแห่งความยินดี” (อิสยาห์ 51:6, 17; 52:2, 9) ให้พวกเขาผลัดกันทำท่าตามวลีหนึ่งขณะคนที่เหลือในชั้นเรียนพยายามทายว่าการกระทำนั้นคืออะไร หลังจากผลัดกันแต่ละรอบ ให้เด็กดูวลีในพระคัมภีร์และสนทนากับพวกเขาเกี่ยวกับความหมายทางวิญญาณของวลีนั้น พระเจ้าทรงขอให้เราทำอะไร? เราจะทำสิ่งเหล่านี้แต่ละอย่างได้อย่างไร?
-
เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน อิสยาห์ 51:1, 4, 7 ระบุบุคคลที่พระเจ้าตรัสด้วยและสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการให้พวกเขาทำ “จงฟัง” พระเจ้าทรงหมายความว่าอย่างไร? เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้เด็กคนหนึ่งให้คำแนะนำอย่างง่ายที่คนอื่นต้องทำตาม เหตุใดบางครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่จะฟังและเชื่อฟังพระเจ้า? เราจะแสดงให้พระเจ้าเห็นได้อย่างไรว่าเรา “ฟัง” พระองค์?
พระเยซูคริสต์ทรงรับเอาบาปและความโศกเศร้าของฉันไว้กับพระองค์
ท่านจะใช้ถ้อยคำของอิสยาห์เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อพวกเขาได้อย่างไร?
กิจกรรมที่ทำได้
-
ให้ดูภาพต่างๆ ที่แสดงถึงความทุกข์ทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ (ดูตัวอย่างใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 56, 57, 58) อ่าน อิสยาห์ 53:3–6, 9 ด้วยกัน และเชื้อเชิญให้เด็กมองหาวลีที่อธิบายเหตุการณ์ในภาพ เป็นพยานว่าหลายร้อยปีก่อนพระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อเรา ศาสดาพยากรณ์เช่นอิสยาห์สอนเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ เหตุใดจึงสำคัญสำหรับผู้คนที่จะต้องรู้เรื่องเหล่านี้ล่วงหน้าหลายปี? (ดู แอลมา 39:15–19)
-
เชื้อเชิญให้เด็กอ่าน อิสยาห์ 53:4–7 และหาคำที่อธิบายสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์เพื่อเรา ขอให้พวกเขาเขียนคำเหล่านี้บนกระดาน เหตุใดพระองค์จึงต้องทรงทนทุกข์กับ “ความเจ็บไข้” “ความโศกเศร้า” และ “ความชั่วช้าสามานย์” ของเรา? (ดู แอลมา 7:11–12 ด้วย) แบ่งปันกับเด็กว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านแบกรับความเจ็บไข้และความโศกเศร้าของท่านอย่างไร ให้เด็กแบ่งปันว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อพวกเขา
วิถีทางของพระเจ้าสูงกว่าวิถีทางของฉัน
เมื่อเราเข้าใจว่าพระดำริและวิถีทางของพระเจ้าสูงกว่าของเรา การวางใจในพระองค์จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น
กิจกรรมที่ทำได้
-
ถามเด็กว่าพวกเขาจะไปหาใครหากมีปัญหายุ่งยากและเพราะเหตุใด อ่าน อิสยาห์ 55:8–9 กับเด็ก และขอให้พวกเขาฟังเหตุผลว่าเหตุใดเราควรแสวงหาการนำทางจากพระเจ้าเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือ
-
วาดท้องฟ้าและพื้นดินบนกระดาน แล้วติดป้ายชื่อ ฟ้าสวรรค์ และ แผ่นดินโลก จากนั้นเชื้อเชิญให้เด็กอ่าน อิสยาห์ 55:9 เพื่อดูว่าพระเจ้าทรงเปรียบเทียบกับฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกอย่างไร และขอให้พวกเขาเพิ่มป้ายชื่ออื่นๆ เหล่านี้ลงในภาพวาด วิถีทางและพระดำริของพระเจ้า “สูงกว่า” ของเราหมายความว่าอย่างไร? เหตุใดการรู้เรื่องนี้จึงสำคัญ?
-
สนทนากับเด็กเกี่ยวกับวิถีทางของพระเจ้าที่สูงกว่าวิถีทางของเรา ตัวอย่างเช่น วิธีปฏิบัติของพระองค์ต่อคนบาปเป็นอย่างไร? (ดู มาระโก 2:15–17) วิธีของพระองค์ในการนำผู้อื่นเป็นอย่างไร? (ดู มัทธิว 20:25–28) วิถีทางของพระองค์แตกต่างจากวิถีทางของผู้อื่นอย่างไร? บอกเด็กว่าท่านเรียนรู้ที่จะไว้วางใจวิถีทางและพระดำริที่สูงกว่าของพระเจ้าอย่างไร
กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน
แนะนำเด็กว่าพวกเขาควรตั้งเป้าหมายที่จะช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์มากขึ้น โดยยึดจากสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในชั้นเรียนวันนี้ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันเป้าหมายนั้นกับสมาชิกครอบครัว